กฎข้อที่ 38 เป็นตัวของตัวเอง แต่ประพฤติเหมือนดังคนอื่นๆ
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.
Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ
Think as you like but Behave like others
คิดอย่างอิสระ แต่ประพฤติเยี่ยงคนอื่นๆ
ในวัฒนธรรมแบบฝรั่งเขาเรียกว่า Assertiveness คือ การทำตนแบบไม่ยอมปล่อยให้เรื่องคาใจผ่านไป มีอะไรก็จะแสดงออก หรือพูดออกมาอย่างตรงไปตรงมา
แต่ในทางตรงกันข้าม ในโลกความเป็นจริง มนุษย์ก็มีความเชื่อในอีกด้านหนึ่ง คือ “การเข้าเมืองตาหลิ่ว ก็ต้องหลิ่วตาตาม” ฝรั่งเขามีคำกล่าวว่า เมื่ออยู่ในโรม ก็ต้องทำตนดังเป็นชาวโรมัน คนส่วนใหญ่ไม่ชอบให้คนมานำเสนอความคิดอะไรแปลกแยก และทำให้ตัวเขาเองดูเป็นโบราณ ไม่ทันสมัย ดังนั้นในบางที่บางโอกาส การทำตัวให้กลมกลืนไปกับกลุ่มคน และเลือกจังหวะอันเหมาะสม เมื่อเขารับเราในฐานะเพื่อนหรือฝีมือการทำงาน รู้จักเราเป็นการส่วนตัวดีพอที่จะรับฟัง นั่นจึงเป็นโอกาสในการนำเสนอ
หากท่านแสดงออกในลักษณะไม่สอดคล้องกับลักษณะเวลา โดยมีความคิดเห็นที่เป็นของตนเอง คนอาจคิดว่าท่านกำลังดูถูกความคิดของเขา เขาจะหาทางลงโทษท่านที่มีความคิดไปในลักษณะดูถูกเขา ดังนั้นมันจะปลอดภัยกว่าที่จะประสมประสานความคิดที่เป็นตัวของท่านเองกับความอดทนกับความคิดที่แตกต่างของคนอื่นเขา
วิธีการหนึ่งที่ทำได้ คือการทำให้เกิดความคิดใหม่ๆนี้ขึ้น แต่แทนที่จะมาจากตัวท่านเอง แต่อาจมาจากแหล่งอื่นๆ เช่นวิทยุ โทรทัศน์ ข่าวจากต่างประเทศ วิทยากรที่เชิญมาพูด หรือจากลักษณะที่ท่านปล่อยให้มีการเปิดใจสักระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ท่านไม่จำเป็นต้องไปแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่าเห็นด้วยหรือไม่กับความคิดแปลกใหม่เหล่านั้น จนกว่าความคิดเหล่านั้นจะตกผลึกในระดับหนึ่ง หรือเมื่อกาลเวลาและจังหวะที่พร้อมแล้วสำหรับการดำเนินการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง
คนที่เป็นผู้นำและผู้บริหารทั้งหลายทราบดีว่า ความคิดใหม่ๆ (Ideas) มีความสำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน จากความคิดใหม่ไปสู่การทดสอบว่ากระทำได้ สังคมมีความพร้อมแล้ว และเมื่อจะทำก็ต้องทำให้ระดับโครงการนำร่อง ไม่ใช่ต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรใหญ่ไปในทันใด แต่ให้เป็นในระดับเล็กไปก่อน เสียหายก็เสียไม่มาก แต่ถ้าได้ผลดีแล้วค่อยขยายความคิดต่อไป
ข้อเสนอแนะ
เมื่อท่านเป็นผู้มีอำนาจ แล้วต้องการนำเสนอความคิดใหม่ เปิดโอกาสให้องค์กรของตนเองได้รับความคิดใหม่ ลองใช้แนวทางดังต่อไปนี้
1. แสร้งแสดงความคิดเห็นว่าท่านไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่เป็นอันตรายนั้น แต่ในความไม่เห็นด้วยนี้ ท่านได้ให้โอกาสที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันนี้ออกมา ไม่ปิดกั้น
2. ท่านแสดงความคิดเห็นที่เป็นแบบอนุรักษ์ แต่คนที่รู้จักท่านได้เข้าใจดีถึงความลำบากที่เกิดขึ้น ท่านเองได้รับการปกป้อง
3. ต้องคิดเสียว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะแสดงจุดยืนที่ยังเป็นความคิดที่อันตราย หากมันต้องทำให้ท่านต้องลำบากและถูกกระทำให้หมดอนาคตไป ต้องมองว่าหากยังมีอำนาจอยู่ โอกาสอื่นๆยังรอให้ทำได้
4. การเป็นวีรบุรุษหรือสตรีที่ตายแล้ว (Martyrdom) ไม่ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ เราควรมีชีวิตอยู่และอาศัยจังหวะเวลาที่พร้อมจะดีกว่า
5. หาวิธีการที่จะแสดงความคิดที่เป็นของตัวท่านกับคนวงใน เพื่อให้เขาเข้าใจท่าน
6. มนุษย์เราในบางโอกาสเมื่อยังไม่พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ มันก็อาจเหมือน “ไก่ได้พลอย” พลอยนั้นมีค่าสำหรับมนุษย์ แต่สำหรับไก่มันมีค่าเป็นเพียงกรวดเม็ดหนึ่งเท่านั้น
No comments:
Post a Comment