ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.
Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ
Play a Sucker to Catch a Sucker – Seem Dumber than your Mark
แกล้งทำเป็นโง่เพื่อจัดการกับคนโง่
การฝึกตนให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ฟังคน เคารพในความคิดเห็นของเขา ฟังเขาอย่างตั้งใจ ไม่จำเป็นต้องไปแสดงตัวเป็นผู้รู้ตลอดเวลา
กฎข้อที่ 21 กล่าวว่าคนต้องเล่นบทเป็นคนโง่บ้าง เพื่อจะให้คงความฉลาดเอาไว้ การแสดงบทเป็นคนโง่เป็นการได้เปรียบ มันทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามรู้สึกว่าเหนือกว่า คนที่รู้สึกเหนือกว่าจะมีความชะล่าใจ คนที่อวดรู้อวดฉลาดนั้น มักเป็นการหุนหันพลันแล่นหรือผลีผลามที่จะแสดงความเหนือผู้อื่น หรือที่เรียกว่า “กร่าง” ส่วนการแสร้งทำตนเองว่าโง่ จะเป็นการไปทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกมั่นใจในตนเอง และลดความระวังตนเองลง
ความฉลาดอย่างหนึ่ง คือการลดระดับการแสดงความสามารถปราดเปรื่องของเราเองลง การทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกเหนือกว่า ทันสมัยกว่า จะทำให้เขาลดความระวังตัวลง และนั่นเป็นช่วงที่เหมาะที่เราจะดำเนินการ
ลองติดตามศึกษากฎข้อที่ 21 ดังต่อไปนี้
ม้าไม้เมืองทรอย
จาก Wikipedia ภาษาไทย
ภาพ ม้าไม้เมืองทรอย (Trojan Horse)
สงครามกรุงทรอย (อังกฤษ: Trojan War) หรืออาจรู้จักกันในชื่อ สงครามม้าไม้ เป็นสงครามที่สำคัญตำนานของกรีก โดยเกิดขึ้นที่กรุงทรอย ซึ่งตั้งอยู่ในเอเชียน้อย หรือบริเวณประเทศตุรกีในปัจจุบัน และเป็นสงครามระหว่างกองทัพของชาวกรีกและกรุงทรอย หลังจากที่ปารีสแห่งทรอยได้ลักพาตัวเฮเลนซึ่งเป็นภรรยาของเมนนิลิอัส กษัตริย์ของสปาร์ตาในขณะนั้น สงครามเมืองทรอยถูกเล่าผ่านงานเขียนที่สำคัญสองเรื่องของกรีก คืออีเลียดและโอดิสซีย์ โดยอีเลียดเล่าเรื่องราวตั้งแต่ปีที่สิบ จนถึงสิ้นสุดสงคราม ส่วนโอดิสซีย์เล่าเรื่องราวหลังจากสงครามจบสิ้น
หลังจากสู้รบกันเป็นเวลาสิบปีแต่กรีกก็ยังตีเมืองทรอยไม่แตก จนกองทัพกรีกก็ได้คิดแผนการที่จะตีกรุงทรอย โดยการสร้างม้าไม้จำลองขนาดยักษ์ ที่เรียกว่าม้าไม้เมืองทรอย (Trojan Horse) โดยทหารกรีกได้เข้าไปซ่อนตัวอยู่ในม้าไม้ แล้วก็ทำการเข็นไปไว้หน้ากรุงทรอย เหมือนเป็นของขวัญและสัญลักษณ์ว่าชาวกรีกยอมแพ้สงคราม และได้ถอยทัพออกห่างจากเมืองทรอย ชาวทรอยเมื่อเห็นม้าโทรจัน ก็ต่างยินดีว่ากองทัพกรีกได้ถอยทัพไปแล้ว ก็ทำการเข็นม้าโทรจันเข้ามาในเมือง แล้วทำการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ เมื่อชาวทรอยนอนหลับกันหมด ทหารกรีกที่ซ่อนตัวอยู่ ก็ออกมาจากม้าโทรจัน แล้วทำการเปิดประตูเมืองให้กองทัพกรีกเข้ามาในเมือง แล้วก็สามารถยึดเมืองทรอยได้ ก่อนที่จะทำการเผาเมืองทรอยทิ้ง
เล่าปี่
ภาพ เล่าปี่ (Lao Bei) บุคคลในนิยายอิงประวัติศาสตร์จีน ที่ปรากฏในภาพยนตร์ยุคใหม่
ภาพ เล่าปี่ (Lao Bei) บุคคลในนิยายอิงประวัติศาสตร์จีน หนึ่งในผู้นำหนึ่งก๊ก ของสามก๊ก
ผู้นำก๊กหนึ่งใน 3 ก๊ก ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน และที่สำคัญ ไม่แสดงตนเป็นผู้มีอำนาจหรือบุญวาสนา ทำให้โจโฉตายใจ และเล่าปี่รอดจากการถูกทำร้ายและกำจัดในช่วงต้นๆ
แม้ยามต้องพบกับฝ่ายศัตรู ก็ทำตนเป็นดังคนโง่ ปล่อยให้คนอื่นๆ ได้พูดไป แต่ตนเองรับฟังและเก็บความคิดดีๆ ไว้ การทำตนเป็นคนโง่บางครั้งทำให้ฝ่ายตรงข้ามตายใจ และเห็นเราเป็นคนไม่มีพิษมีสง แต่เขาจะไม่รู้ว่าเรากำลังคิดการใหญ่อะไร
เล่าปี่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ฮั่น โดย จงซานจิ้งอ๋องผู้เป็นโอรสของพระเจ้าฮั่นเก้งเต้กษัตริย์เเห่งราชวงศ์ฮั่น ในลำดับอาลักษณ์ราชวงศ์ฮั่น เล่าปี่มีศักดิ์เป็น เสด็จอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ จึงทรงมีราชโองการเเต่งตั้งให้มีตำเเหน่งทางเชื้อพระวงศ์เป็นพระเจ้าอา ส่วนตำเเหน่งทางการเมืองดำรงตำเเหน่งขุนพลฝ่ายซ้าย
รูปพรรณสันฐานของเล่าปี่ เป็นคนผิวขาว หน้าขาวดังหยวก ตาเรียวเล็กสามารถมองถึงใบหู แววตาแจ่มใส หูยาวถึงบ่า ปากแดงดังชาดบ่งบอกถึงสุขภาพที่ดี แขนยาวถึงเข่า เดิมเป็นคนยากจน มีอาชีพทอเสื่อขาย ได้ร่วมสาบานเป็นพี่น้องกับ กวนอู เตียวหุย ที่สวนดอกท้อ เพื่อปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง เมื่ออายุได้ 28 ปี โดยเป็นพี่ชายคนโต นิสัยมีน้ำใจดีงาม เป็นที่รักใคร่แก่คนทั่วไปใช้กระบี่คู่เป็นอาวุธคู่กาย
เล่าปี่แม้มีเชื้อสายกษัตริย์ แต่ด้วยชะตาชีวิตทำให้ตกทุกข์ได้ยากมาก่อน ต้องหกระเหเร่ร่อนไปอาศัยเจ้าเมืองต่างๆ คอยอาศัยเมืองต่างๆ อยู่ ไม่ว่าซีจิ๋วที่ถูกลิโป้ยึดครอง ฮูโต๋ที่ไปอาศัยโจโฉอยู่
ครั้งหนึ่งเมื่อโจโฉเป็นใหญ่ ในขณะที่เล่าปี่อยู่ในฐานะไม่ต่างอะไรจากเป็นตัวประกัน
หลังจาก"โจโฉ"ยึดเมืองซีจิ๋วและแฮโต แล้วฆ่า"ลิโป้" แต่รับ"เตียวเลี้ยว"ไว้เป็นทหารเอก โดยความช่วยเหลือจาก"เล่าปี่" โจโฉก็ยกทัพกลับยังเมืองฮูโต๋ ฮ่องเต้จัดการปูนบำเหน็จความชอบให้ทุกคนและเปิดตัวเล่าปี่ พอไล่เรียงลำดับพระญาติ แม้จะเป็นสาแหรกที่ห่างกัน แต่เพื่อคานอำนาจโจโฉ ฮ่องเต้จึงตั้งเล่าปี่เป็นพระเจ้าอา
ตอนนี้โจโฉถือว่ามีอำนาจสูงแล้ว บรรดาลูกน้องยุให้โจโฉตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ แต่โจโฉยังเกรงคนที่ยังจงรักต่อราชวงศ์ฮั่น จึงคิดจะทดสอบใจผู้คน โดยการทูลเชิญฮ่องเต้ออกล่าสัตว์ โดยใช้ธนูของฮ่องเต้ และยึดเอาธนูนั้นไปด้วย
การกระทำของโจโฉถือเป็นการหยามฮ่องเต้ต่อสาธารณะ แต่ผู้คนก็นิ่งเฉยมีแต่ "กวนอู" ที่ชักดาบออกจะทำร้ายโจโฉ แต่เล่าปี่ปรามไว้
กลับเข้าวัง ฮ่องเต้จึงเขียนพระราชโองการเลือด ซ่อนไว้ในเสื้อคลุมและเข็มขัด มอบให้ตังสินไปรวบรวมผู้ที่ยังจงรักษ์ภักดีต่อราชวงศ์ช่วยกันกำจัดโจโฉ
เล่าปี่มาอยู่ในฮูโต๋ว เหมือนเป็นตัวประกันของโจโฉ ได้แต่ปลูกผัก อ่านหนังสือ เพื่อไม่ให้โจโฉระแวง โจโฉเองก็ไม่ได้วางใจเล่าปี่ วันหนึ่งจึงเชิญเล่าปี่มาดื่มสุรา ระหว่างนั้นบนท้องฟ้า มีเมฆรวมตัวกันเป็นสายคล้ายมังกร คนรับใช้มาแจ้งแก่โจโฉว่า มีมังกรอยู่บนฟ้า โจโฉจึงชวนเล่าปี่ชมมังกร และพูดออกมาว่า....
"...ท่านเล่าปี่ ดูสิ มีมังกรอยู่กลางเวหา ช่างเหมือนมังกรฟ้อนเมฆคะนองฤทธิ์ พลิกคว่ำทะเลจริงๆ"
"ท้องฟ้าวันนี้ช่างงามนัก" เล่าปี่เอ่ย
"ท่านรู้ฤทธิ์เดชของมังกรบ้างไหม" โจโฉถามหยั่งเชิง
"ข้าปัญญาน้อย ท่านบอกมาจะดีกว่า" เล่าปี่มิวายถ่อมตัว
"มังกร ย่อมเปลี่ยนแปรตามสถานการณ์ ยามใหญ่ก็ฟ้อนเมฆเหินหาว ยามเล็กก็ซ่อนตัวตน ยามปรากฏจะผงาดกลางฟ้า ยามเร้นกายก็แทรกบังอยู่ในคลื่น มังกรแปรเปลี่ยนไปตามกาลโอกาส เช่นเดียวกับคนผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร พญามังกรก็เหมือนวีรบุรุษ ตัวท่านออกท่องไปทั่วบนแผ่นดิน คิดว่าใครเป็นวีรบุรุษบ้างเล่า......"
โจโฉพยายามทดสอบเล่าปี่ว่าเป็นคนมีสติปัญญามีฝีมือที่อาจจะเป็นอันตรายต่อตนในอนาคตหรือไม่ แต่ความฉลาดของเล่าปี่คือ ไม่แสดงความเก่งกาจใดๆให้เห็น กลับแสดงตนเป็นคนไม่มีสติปัญญานัก ไม่มีความรู้อะไรลึกซึ้ง แถมยังเป็นคนขี้ตกใจ ซึ่งทำให้โจโฉตายใจว่า เล่าปี่นี้ไม่ใช่คนที่จะมาเป็นคู่แข่งกับตน เล่าปีจึงรอดตัวมาได้ ไม่ถูกำจัดทิ้งเสีย
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ภาพ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
การเมืองในอดีตของไทยเป็นยุคทหารครองเมือง ในการเติบโตในวงราชการทหารของไทยในยุคที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร และทุกครั้งมักจะเป็นลูกน้องที่ได้เติบใหญ่มาในราชการทหาร คิดการรัฐประหารต่อเจ้านายผู้บังคับบัญชาของตน
ส่วนการล้มอำนาจของทหารด้วยกันเองนั้น ก็ต้องมีท่าทีที่ทำให้คนตายใจ เพื่อให้เจ้านายไม่คิดว่าตนกำลังคิดการใหญ่ คนจะทำรัฐประหารมักจะต้องกระทำการอย่างเงียบๆ โดยไม่แสดงตนเองว่าคิดการอย่างไร สร้างความตายใจให้กับเจ้านาย จนกระทั่งถึงการปฏิวัติ ก็ดำเนินการอย่างเงียบและเฉียบพลัน และโดยส่วนใหญ่มักจะไม่เสียเลือดเนื้อ
ลองดูตัวอย่างการเติบโตและก้าวหน้าจนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ปกครองประเทศ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (Field Marshal Sarit Thanarat) เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดมุกดาหาร จากนั้นเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในปี พ.ศ. 2462 ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ใช้เวลาเรียนอยู่ 10 ปี จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2471 ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472
การได้เรียนโรงเรียนนายร้อยจปร. นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีพรรคพวกที่จะนำไปสู่การก่อการใดๆ
การรับราชการทหาร
การเติบโตในราชการทหาร คือการต้องทำงานรับใช้ชาติควบคู่กับการรับใช้เจ้านาย
ในปี พ.ศ. 2476 ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ติดยศร้อยตรี ได้เกิดกบฏบวรเดช นำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหนึ่งในผู้บังคับหมวดปราบปรามกบฏของฝ่ายรัฐบาล ที่มีพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชา หลังจากรัฐบาลได้รับชัยชนะ ได้รับพระราชทานยศ ร้อยโท จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก
ในปี พ.ศ. 2484 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 จังหวัดลำปาง มียศเป็นพันตรี และได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ จนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2488 จึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง โดยก่อนหน้านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2487 อำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (Field Marshal Plaek Pibulsonggram) ได้เริ่มเสื่อมถอยลง[6] หลังจากลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับเติบโตขึ้นโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ[7]
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2490 คณะนายทหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยความเคารพเลื่อมใสที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเข้าร่วมคณะรัฐประหาร เป็นการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นขุนพลคู่ใจตั้งแต่นั้น
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชีวิตราชการของพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานยศ พลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงเมื่อปีเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็น พลโท ต่อด้วยการก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2493 ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ได้ครองตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ครองยศ พลเอก
ส่วนตำแหน่งในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และได้รับพระราชทานยศ จอมพล ในช่วงดังกล่าวนี้จอมพลสฤษดิ์ได้รับความไว้วางใจจากจอมพลป. พิบูลสงครามอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผู้เป็นอธิบดีกรมตำรวจที่คุมอำนาจการดูแลความมั่นคงภายในประเทศอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็เติบโตและมีอำนาจมาควบคู่กัน สำหรับจอมพลป. พิบูลสงคราม การมีเผ่า ศรียานนท์จึงเป็นการมีขั้วคนมีกำลังไว้คานอำนาจกับจอมพลสฤษดิ์อีกทางหนึ่ง
บทบาททางการเมือง
ภาพ (จากซ้าย) จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, จอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี การเป็นผู้นำประเทศที่ต้องมีทหารติดอาวุธค้ำยันนั้น ไม่ต่างอะไรจากการขี่หลังเสือ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มักจะมีภาพลักษณ์ของคนที่ไม่คิดใหญ่ไฝ่สูง เพื่อสร้างความไว้วางใจจากจอมพลป. พิบูลสงครามผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ก็ฉลาดพอที่จะเล่นเกมส์การเมือง รู้ว่าจังหวะใดควรหรือไม่ควรทำอะไร
ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก โดยสาเหตุการลาออกนั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อันธพาลที่เรียกโดยสุภาพในขณะนั้นว่า "ผู้กว้างขวาง" ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมาก เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ลุกลาม เกิดความวุ่นวายอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบอีก ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า "วีรบุรุษมัฆวานฯ"
ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามขาดความชอบธรรมที่จะปกครองบ้านเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[13] คงเหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียงอย่างเดียว
แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนั้นแท้จริงแล้ว ใครๆก็รู้ว่าเป็นฝ่ายคุมอำนาจแท้จริง ใครคิดจะปฏิวัติรัฐประหารอันใด แล้วผบ.ทบ.ไม่เล่นด้วยก็ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ
เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการจะรักษาอำนาจต่อไป จึงทำให้มีทั้งนายทหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ประเภท 1 และประเภท 2 ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลบางส่วนลาออก บางส่วนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วยอีกต่อไป ต่างก็พากันไปร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีเป้าหมายคือให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลงจากอำนาจ
ภาพ รูปปั้นนูนต่ำชีวประวัติของจอมพลสฤษดิ์ ณ อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จังหวัดขอนแก่น แสดงภาพเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2500
ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจากจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยคสำคัญที่ยังติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"
จนเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปที่บ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กำลังจะเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏที่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลแต่ยังไม่ทันที่ดำเนินการใด ๆ
ในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่น ล้มจอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากตำแหน่ง ในคืนนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ ท่ามกลางความยินดีของประชาชนชาวไทย รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้สิ้นสุดอย่างสิ้นเชิงนับแต่นั้น
หลังจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากรัฐบาลนายพจน์ สารสินจัดการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย พลโทถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 แต่กาลต่อมา ได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีขึ้นในรัฐบาลพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทถนอม กิตติขจรก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วร่วมมือกับพลโทถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง
สรุป
ประวัติศาสตร์ม้าไม้เมืองทรอยก็ดี เล่าปี ตลอดจนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในประเทศไทย ล้วนเป็นแบบอย่างของการแกล้งทำเป็นโง่ เป็นคนไม่มักใหญ่ไฝ่สูง เป็นคนที่ภักดีต่อเจ้านาย เหล่านี้ล้วนทำให้ฝ่ายตรงข้าม หรือเจ้านายตายใจ และให้การสนับสนุน เพื่อจะเป็นฐานอำนาจของเราต่อไป วิธีการขึ้นสู่อำนาจของนักการเมืองและผู้นำในแถบเอเชียเป็นอันมากเป็นเรื่องของการต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน หรือที่เรียกว่าคนคมในฝัก และไม่ชักดาบออกจากฝักมาแสดงอำนาจบ่อยๆ แต่ว่าเมื่อใดที่ชักดาบออกมาแล้ว นั่นแสดงว่า เขาพร้อมแล้ว และต้องชนะอย่างเดียว และแน่นอน
No comments:
Post a Comment