ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.
Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ
ความนำ
Strike the Shepherd and the Sheep will Scatter.
จัดการกับคนเลี้ยงแกะและฝูงแกะจะกระจัดกระจาย
จัดการกับคนเลี้ยงแกะและฝูงแกะจะกระจัดกระจาย
Shepherd = คนเลี้ยงแกะ, พระสอนศาสนา, สุนัขเลี้ยงแกะ, อันหมายถึงผู้นำคนอื่นๆ
ความยุ่งยากมักจะเกิดจากคนนำเพียงส่วนน้อย เป็นคนก่อเหตุที่ทำให้งานไม่บรรลุผล จึงมีความเชื่อว่าหากปล่อยให้คนเหล่านี้ยังลอยนวลอยู่ก็จะทำให้ส่งอิทธิพลต่อคนอื่นๆ จึงไม่รอให้ความยุ่งยากเหล่านี้เกิดขึ้น โดยการต้องกำจัดคนนำนี้เสีย ในการเมืองและความสับสนของยุโรปยุคกลาง คือการทำอย่างไรที่จะทำให้คนนำดังกล่าวหมดไป จึงเป็นไปด้วยการลอบสังหาร การจับกุมคุมขัง แยกเขาออกจากกลุ่ม การเนรเทศ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้คนนำเหล่านี้ไม่สามารถกลับมานำได้อีก
ในสงครามกองโจร เขามีหลักว่า เมื่อต้องหนี ก็จะลอบโจมตีฝ่ายที่ติดตามมาคนแรกก่อน และหากลอบโจมตีคนนำหน้าจนเป็นที่ล่ำลือ ท้ายสุดจะไม่มีใครกล้าเป็นคนนำหน้า และฝ่ายคนตามก็จะยิ่งไม่มีใครอยากจะตามมา
ในกระบวนการมาเฟีย (Mafia) กลุ่มอาชญากรรม ขบวนการผิดกฎหมาย จึงมีการเด็ดชีพหัวหน้าฝ่ายตรงกันข้าม แล้วลูกน้องทั้งหลายก็จะแตกกลุ่ม ไม่สามารถรวมตัวได้ติด
ในกระบวนการทางการเมือง เมื่อการต่อสู้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น หัวหน้าพรรคและแกนนำจะต้องเป็นคนรับหน้าการโจมตีทั้งปวง ทั้งเรื่องนโยบาย ความซื่อสัตย์ ความจริงจัง ฉลาด กล้าหาญ หรือขลาดกลัว ในทางส่วนตัว ก็จะโดนโจมตีเช่นกัน ดังนั้นหากมองกลับกัน หากใครอยากจะเป็นใหญ่ รับหน้าที่ ก็ต้องอดทน อดกลั้น พร้อมที่จะรับการโจมตีนานาประการอย่างมียุทธศาสตร์ และเมื่อถูกโจมตี ก็แสดงความเรามีความสำคัญ และฝ่ายตรงกันข้ามตระหนักในความจริงข้อนี้
อัล คาโปน
ในกลุ่มอาชญากรรมก็มีหลักในการจัดการกับฝ่ายตรงกันข้าม
ภาพ อัล คาโปน (Al Capone)
อัล คาโปนเกิดในเขตบรูคลินในเมืองนิวยอร์ค จากครอบครัวชาวอิตาลีอพยพ คาโปนเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมตั้งแต่วัยเด็ก ในวัย 14 ปี เขาถูกให้ออกจากโรงเรียน พออายุได้ 20 ปี เขาย้ายจากนิวยอร์คไปอยู่ที่เมืองชิคาโก และได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมทำกิจกรรมนอกกฎหมายต่างๆ รวมถึงการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ การค้าโสเภณี แต่แม้เขาจะมีกิจกรรมนอกกฎหมาย แต่อัล คาโปนกลับเป็นคนทำตนให้คนได้เห็นเป็นข่าวได้รับรู้ เขาบริจาคเงินให้กับสาธารณกุศลโดยใช้เงินจากที่หาได้จากอาชญากรรมของเขา จนทำให้คนมองว่าเขาเป็น “โรบินฮูดในยุคใหม่” (modern-day Robin Hood)
คาโปนถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในวันแห่งความรัก (Saint Valentine's Day Massacre) ซึ่งปรปักษ์ของเขา 7 คนถูกสังหารพร้อมกันอย่างอุกอาจและเฉียบพลัน รัฐบาลกลางโดยหน่วยงานสอบสวนกลาง (FBI) พยายามหาทางจัดการกับเขาในส่วนที่เกี่ยวกับงานอาชญากรรม แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ง่ายนัก ด้วยไม่สามารถหาหลักฐานหรือไม่มีใครอยากเป็นพยายาน จนในที่สุดฝ่ายปราบปรามได้ใช้ช่องทางฟ้องเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษี (tax evasion) จนทำให้ศาลตัดสินจำคุกเขาได้ในที่สุด โดยเขาถูกจองจำอยู่ที่คุกของรัฐบาลกลางที่ Alcatraz ในช่วงท้ายของชีวิต เขาป่วยด้วยโรคซิฟิลิสขึ้นสมอง (Neurosyphilis) อันเป็นผลมาจากการที่เขาได้รับเชื้อกามโรคมาตั้งแต่วัยรุ่น ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1947 เขาเสียชีวิตลงด้วยหัวใจล้มเหลว (Cardiac arrest)
สงครามยาเสพติดในเมกซิโก
ในยุคปัจจุบัน ยาเสพติดแพร่หลาย มีประเทศอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นแหล่งรับซื้อและกระจายยาเสพติด กระทำกันอย่างเป็นขบวนการ ส่วนประเทศผู้ผลิต และขบวนการค้ายาก็แพร่ขยายไปทั่วโลก และมีผลเกี่ยวเนื่องกับฝ่ายการเมืองในประเทศเมกซิโกอันมีชายแดนกว้างขวางติดกับสหรัฐอเมริกาตอนใต้ กำลังมีสงครามยาเสพติด (Mexican Drug War) เป็นความขัดแย้งต่อสู้กันด้วยการใช้อาวุธสงครามระหว่างกลุ่มค้ายาเสพติด (Drug cartels) ที่ต่อสู้กันเอง และกับฝ่ายกองกำลังของรัฐบาลที่ต้องการจะปราบปรามเส้นทางค้ายาเสพติดนี้
กลุ่มอาชญากรค้ายาเสพติดนั้นมีมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่หลังการตายของเจ้าพ่อค้ายาเสพติดใหญ่ในกลุ่ม Cali และ Medellín ในโคลัมเบียได้เสียชีวิตในช่วงปีค.ศ. 1990s กลุ่มค้ายาก็ได้กลายเป็นกลุ่มผูกขาดตลาดค้ายาใหญ่ในสหรัฐ การพยายามจับกุม Tijuana และกลุ่ม Gulf cartels ยิ่งนำไปสู่การต่อสู้ที่รุนแรง เพื่อหวังควบคุมเส้นทางค่ายาไปสู่ตลาดในสหรัฐ
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐประมาณว่ามีการค้ายามูลค่าระหว่าง 13,000 ถึง 48,400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และการค้ายานี้ได้มีการลักลอบนำเงินกลับเข้ามาในเมกซิโกโดยอาศัยรถยนต์และรถบันทุกที่ข้ามชายแดนสู่เมกซิโก ซึ่งเป็นผลจากการที่สหรัฐใช้กระบวนการติดตามเงินทางอิเลคโทรนิกส์อย่างได้ผล การค้าจึงเน้นไปที่เงินสดที่ต้องมีการส่งกันจริงๆมากขึ้น
ภาพ การต่อสู้กับฝ่ายอาชญากรค้ายาเสพติด เจ้าหน้าที่ต้องใส่เกราะป้องกันกระสุน ใช้อาวุธปืนยิงเร็ว และใส่หน้ากากเพื่อพรางตัวจากฝ่ายอาชญากร
ภาพ สำหรับคนที่สงสัยว่าจะเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ หรือไปเข้ากับฝ่ายตรงกันข้าม ก็จะถูกกำจัด แล้วทิ้งศพไว้เพื่อสร้างความหวาดกลัวสำหรับคนอื่นๆ ในการค้ายาเศพติด มักไม่มีใครอยากเป็นพยานให้กับตำรวจ
ภาพ สงครามปราบปรามยาเสพติดในเมกซิโก การเข้าปราบปรามยาเสพติดในสลัม ต้องเตรียมพร้อมด้วยรถหุ้มเกราะ และอาวุธสงครามพร้อมมือ และในจำนวนมากพอที่จะต่อสู้ ไม่ต่างอะไรจากการเข้าสู่สงคราม
· เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1,000+ คน
· ทหารเสียชีวิต 138 คน
· นาวิกโยธินเสียชีวิต 14 คน
· เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง 318 คน
· ผู้สื่อข่าวเสียชีวิต 58 คน
· เด็กๆเสียชีวิต~1,000 คน
มีผู้ต้องสงสัย 121,199 คน ถูกจับกุมและควบคุมตัว แต่มีจำนวนเพียง 8,500 ถูกตัดสินลงโทษ และในการต่อสู้มีทั้งอาชญากรและชาวบ้านที่ต้องเสียชีวิตจากการต่อสู้และความรุนแรงที่รุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน
· 62 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2006
· 2,837 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2007
· 6,844 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2008
· 9,635 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2009
· 15,273 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2010
รวมทั้งสิ้น 39,392 คนถูกสังหารในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2006–ธันวาคม ปี ค.ศ. 2010
ฮาเฟ อัล อัสซาด แห่งซีเรีย
ฮาเฟส อัล อัสซาด (Hafez al-Assad - Arabic: حافظ الأسد Ḥāfiẓ al-Asad) เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1930 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2000 เป็นประธานาธิบดี (President) ของประเทศซีเรีย (Syria) 3 ทศวรรษ อัสซาดสามารถรวบรวมอำนาจของรัฐบาลกลางหลังจากประเทศได้มีการรัฐประหารและต่อต้านรัฐประหารหลายครั้ง การปกครองของเขาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่สมัยใหม่ ดังเช่นเรื่องการให้สิทธิสตรีที่เท่าเทียมกับชายในสังคม
อัสซาดพยายามนำประเทศเขาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และเปิดสู่ระบบตลาดเสรี โดยลงทุนในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค การศึกษา การสาธารณสุข และการก่อสร้างในเขตเมือง มีการปรับปรุงด้านการอ่านออกเขียนได้ การสำรวจและค้นพบน้ำมัน และการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ
แต่ขณะเดียวกัน ได้รับคำวิพากษ่ว่าใช้การปกครองแบบกดขึ่ประชาชนของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำสั่งสังหารหมู่ Hama massacre ในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการกระทำโหดที่สุดโดยรัฐบาลใดๆในอาหรับที่กระทำต่อประชาชนของตนเองในตะวันออกกลาง กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเปิดเผยว่า มีคนหลายพันคนได้ถูกสังหารเพราะการเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลของอัสซาด
เมื่อเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2000 บุตรชายของเขา คือบาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) ได้รับการสืบทอดอำนาจเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา การนำและการปกครองในแบบของอัสซาดยังเป็นการโต้แย้งกันอีกมาก และในยุคต่อมาที่ปกครองโดยประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด ผู้เป็นบุตรชายก็ประสบปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในช่วงการลุกฮือของฝ่ายต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศอาหรับที่เรียกว่า “ฤดูใบไม้ผลิแห่งอาหรับ” (Arab Spring) และดูไม่มีท่าที่จะยุติ
การหาคนก่อความวุ่นวาย (Hell Raisers) ให้พบ
ในโลกของความขัดแย้งและการเอาชนะกันแบบเด็ดขาดนั้น ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องทางจริยธรรมการบริหาร
ในสถานการณ์สู้รบ การต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรง การกำจัดคนที่ก่อความวุ่นวายนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นและกระทำกันอยู่ และด้วยเหตุดังกล่าว ในประวัติศาสตร์ไทย พม่าก็อยากที่จะกำจัดคนอย่างสมเด็จพระนเรศวร หรือพระยาตาก ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าตากสิน แต่เขามีแนวคิดการกำจัดคนในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายได้อย่างไร ลองติดตาม
สำหรับฝ่ายต้องการปราบปรามหัวหน้าผู้ก่อความวุ่นวาย เขากระทำดังนี้
1. ประการแรก ต้องรู้ว่าผู้ก่อความวุ่นวายคือใคร ทั้งนี้โดยการสังเกตลักษณะของเขา และการที่เขาแสดงอาการกระด้างกระเดื่อง
2. เมื่อท่านพบผู้ก่อความวุ่นวายแล้ว ไม่ต้องปล่อยให้เขาปรับตัวหรือปฏิรูป หรือไปเอาใจเขา เพราะมันจะทำให้สิ่งต่างๆยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น
3. อย่าโจมตีเขาเหล่านี้โดยตรง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว คนเหล่านี้มีพิษสงทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องใช้วิธีการใต้ดิน เพื่อจัดการกับเขา หรือมิฉะนั้น เขาก็จะใช้วิธีการใต้ดินที่จะทำลายท่าน
4. ใช้วิธีการเหมือนดังในสงคราม คือขับไล่หรือจัดการกับเขาก่อนที่จะสายเกินไป
Banish = กริยา – ขับไล่, กำจัด, ขับไล่ไสส่ง, เนรเทศ, ไล่
5. แยกเขาออกจากกลุ่ม ก่อนที่เขาจะกลายเป็นศูนย์กลางของวังวนแห่งปัญหา
Whirlpool = นาม – วังวน, น้ำวน, สิ่งที่ดูดอย่างน้ำวน
6. อย่าให้เวลาเขาที่จะกระตุ้นความกังวลในหมู่คน และหว่านเม็ดพืชแห่งความขัดแย้งให้ขยายวงออกไป
7. อย่าให้พื้นที่เขาเคลื่อนไหว ให้เขาต้องเดือดร้อนเพียงคนเดียว ดีกว่าให้ที่เหลือทั้งหมดได้อยู่อย่างสงบสุข
8. เมื่อแยกคนก่อกวนออกจากกลุ่มได้ ก็ให้ชี้ไปยังคนอื่นๆในกลุ่ม เพื่อให้ได้เห็นและตระหนักในสิ่งที่เป็นไป ดังลักษณะที่เรียกว่า “เชือดไก่ให้ลิงดู”
9. การทำความเข้าใจเกี่ยวกับพลภาพของกลุ่มก่อความวุ่นวายนับว่าเป็นความสำคัญยิ่ง เพราะลักษณะกลุ่มไม่ได้มีการหยุดนิ่ง มันอาจขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนที่ทาง หรืออาจกำลังประสบปัญหาบางด้าน
10. คนก่อกวนมักจะแอบอยู่กับกลุ่ม ซ่อนการกระทำของเขาอยู่ข้างหลังคนอื่นๆ
สรุป
ในการต่อสู้ทางการเมืองซึ่งในบางครั้งได้ก้าวเข้าสู่สถานการณ์สงคราม หรือสงครามกลางเมือง ความรุนแรงจะยิ่งขยายแผ่กว้างยิ่งขึ้น การต่อสู้ไม่ใช่เรื่องความผิดถูก แต่จะเป็นทำอย่างไรจึงจะชนะในสงครามและยุติความขัดแย้งนั้นๆ
ในสงครามการปราบปรามยาเสพติด (Wars against drugs) บางประเทศใช้วิธีการที่ไม่เลือกว่าถูกหรือผิดกฎหมาย แต่ทำอย่างไรจึงจะจัดการกับกลุ่มอาชญากรรมค้ายาเสพติด ซึ่งอาจรวมถึงการฆ่าตัดตอน หรือวิสามัญฆาตกรรม โดยฝ่ายอาชญากรเสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ในการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่มีการใช้ระบบศาลเพื่อตัดสินความผิดถูก และไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ประเทศเมกซิโก บราซิล และหลายประเทศในอเมริกาใต้ ตลอดจนประเทศไทยก็กำลังประสบปัญหาอาชญากรรมค้ายาเสพติด ที่ได้ขยายตัวออกไป และเพิ่มความรุนแรงในการดำเนินการ
ในบทนี้จึงไม่สรุปในแง่ความผิดความถูกในด้านศีลธรรม แต่เปิดเพื่อการอภิปรายกันในหมู่ผู้เรียนและผู้ศึกษา ว่าในสังคมไทยเรานั้น จะมีแนวทางในการจัดการกับปัญหากันอย่างไร ส่วนข้อมูลที่นำเสนอนี้ อย่างน้อยเป็นเพื่อให้เข้าใจปรากฏการณ์ “Strike the Shepherd and the Sheep will Scatter” หรือ “จัดการกับคนเลี้ยงแกะและฝูงแกะจะกระจัดกระจาย”
No comments:
Post a Comment