ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.
Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ
Concentrate Your Forces
จงผนึกกำลังของท่าน
การรบ ต้องรู้จักสงวนกำลัง จะบุกก็ต้องเตรียมกำลังและความพร้อมที่จะบุก และนำชัยชนะให้ได้มาอย่างรวดเร็ว ไม่ยืดเยื้อ
สิงโต (Lions)
สิงโตเป็นสัตว์แข็งแรง มีกำลัง และมีความเร็วสุง แต่จะใช้เวลานอนและพักผ่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเก็บกำลังไว้ เมื่อต้องการล่าเหยื่อ จะมีเวลาวิ่งอย่างเร็วและมีพลังไม่ได้นานนัก จึงต้องรู้จักเลือกเหยื่อที่อ่อนแอที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุด และมีโอกาสที่จะตะครุบเหยื่อได้อย่างเร็วและพลาดได้น้อยที่สุด และถ้าหากพลาดแล้วก็ต้องมาเริ่มกันใหม่ โดยที่หิวขึ้น เหนื่อยอ่อนมากขึ้นการจะรบ ก็ต้องรู้จักเลือกรบ ไม่ใช่ไปเปิดศึกเสียทุกด้าน เวลาจะรบก็ยังต้องมีจังหวะพักบ้าง ไม่ใช่ให้ทหารต้องเหนื่อยหนักอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน
การจะทำเหมืองแร่ ก็ต้องเลือกทำแบบเจาะจุด และขุดลึกลงไปเป็นจุดๆ อย่างมีแผนการ มากกว่าที่จะทำเหมืองแร่แบบขุดสะเปะสะปะไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อจะเลือกทำเหมือง ก็ต้องพยายามหาแหล่งที่มีการสำรวจแล้วว่าดี เหมาะสมมีโอกาสพบสายแร่สูง และเมื่อพบว่ามีแร่ในปริมาณมากพอ ก็ต้องพร้อมที่จะทำกิจการอย่างจริงจัง ออกแบบวิธีการบริหารเหมือง เพื่อที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ ทำแล้วมีกำไร
ในการทำธุรกิจ ก็ต้องรู้จักเลือกลงทุน ทำในสิ่งที่ตนเองมีความรู้และวิทยาการ ทำอย่างได้เปรียบ และทำอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน เรียกว่าเป็น “วัวอ้วน” (Milking cows) ที่สามารถให้น้ำนมไปได้นานๆ
ยึดหลัก Focus.
มีหลักหนึ่งที่จำได้ง่ายๆกับการทำอะไรให้ประสบผล นั่นคือ FOCUS หมายถึงการมีจุดรวม
F - Find your FORTE
หาจุดแข็งและพลังของตนเอง
เรื่องของห่านกับม้า
ภาพ ม้า เป็นสัตว์ใหญ่วิ่งได้เร็วบนภาคพื้นดิน
ภาพ นกเป็นสัตว์ตัวเบา บินได้เร็ว
ภาพ ปลา เป็นสัตว์น้ำ ว่ายน้ำได้ดีเป็นหลัก
ภาพ ห่าน บินได้ ว่ายน้ำได้ และเดินบนบกได้
เรื่องของผืนดิน ผืนน้ำ และอากาศ
คนเราทุกคนต้องสำรวจว่าเรามีจุดเด่นจุดแข็งที่ตรงไหน เรามีพรสวรรค์ ความชอบ ความถนัดอย่างไร อะไรที่ทำแล้วให้งานสำเร็จได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ ยกตัวอย่าง ม้ากับห่าน ฝ่ายแรกมีความถนัดด้านเดียวคือวิ่งได้เร็วบนภาคพื้นดิน ฝ่ายหลังมีความสามารถทั้ง 3 ด้าน คือเมื่อจะเคลื่อนไหว ก็มีความสามารถทั้งบนดินก็เดินและวิ่งได้ ในน้ำก็สามารถว่ายน้ำได้ และในอากาศก็สามารถบินได้ ส่วนม้านั้นมีความสามารถเฉพาะที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วไปบนพื้นดิน ว่ายน้ำไม่เก่ง และบินไม่ได้
ม้าจะคุยถึงความสามารถของมันในการเคลื่อนไหวไปบนดิน เร็วกว่าใครๆ แต่ห่านก็จะคุยว่ามันมีความสามารถทั้งสามด้าน ว่ายน้ำได้ แต่ว่ายไม่ได้ดีเท่ากับปลา บินได้แต่ไม่เก่งเท่ากับนกทั้งหลาย และวิ่งไปบนดินได้ แต่เก่งเท่าม้า
ไม่ว่าจะเป็น ปลา นก ม้า หรือห่าน ล้วนมีจุดเด่นจุดแข็งของตน และต้องหาให้พบ เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันและดำรงอยู่ได้ เพราะสรรพสิ่งมีชีวิตล้วนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความแข็งแกร่งที่มีอยู่
เรื่องของ ปลา นก และม้า เมื่อเปรียบเทียบกับห่าน ห่านว่ายน้ำได้ไม่เท่าปลา บินไม่ได้เท่านก และวิ่งไม่ได้เร็วเท่าม้า แต่โดยรวม ห่านก็มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวของมัน และมันก็ยังคงมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้
O – Override others by attacking their weakness
เอาชนะคนอื่นๆได้ด้วยการโจมตีจุดอ่อนของเขา
การรบที่เปิดแนวรบที่ละด้าน ก็พอจะรวบรวมกำลังรบชนะได้ แต่การรบที่เปิดแนวรบกว้างยิ่งขึ้นๆ ในที่สุดก็ทำให้โอกาสในการป้องกันตัวเองลดลง ในที่สุดก็เปิดให้มีจุดอ่อนที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้
การที่จะทำให้มีอำนาจ เราต้องไม่เพียงเข้าใจในจุดแข็งของตนเอง แต่ต้องสามารถวิเคราะห์ศัตรูได้ การจะชนะคู่ต่อสู้ได้ คือต้องหาจุดอ่อนของเขาให้พบ แล้วโจมตีจุดนั้นให้หนัก ในประวัติศาสตร์นโปเลียนชนะศึกได้ด้วยการรวบรวมกำลังและความแข็งแกร่ง แล้วโจมตีจุดอ่อนของคู่ต่อสู้
ครั้งหนึ่งในอาณาจักรวูของจีน พระจักรพรรดิได้สูญเสียความแข็งแกร่งไป เพราะได้รับอาณาเขตที่กว้างขวาง และขยายอาณาจักรออกไปกว้างใหญ่เกินไป และยิ่งขยายออกไป ความอ่อนแอก็จะยิ่งปรากฏชัดมากขึ้น จนกองทัพไม่สามารถมีกำล้งพอที่จะป้องกันอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ได้ จนในที่สุด กองทัพของพวกหยวนที่มีพื้นฐานของชาวป่า ก็สามารถเข้ามามีอิทธิพลเหนืออาณาจักรวูได้ ดังนั้นต้องเข้าใจว่า ยิ่งใหญ่ ก็อาจจะยิ่งอ่อนแอ
C – Converge your strength within your clan
ทำให้ความแข็งแกร่งฝ่ายตนเองมาบรรจบกัน
Converge = มาบรรจบกัน, รวมกัน, ประจบ, เบนเข้าหากัน, ก้มหน้าก้มตา
ภาพ สิงโตล่าเหยื่อเป็นหมู่ แบ่งหน้าที่กันล้มสัตว์ใหญ่อย่างความป่า แล้วก็แบ่งกันกิน
สิงโต หากหากินแบบเดี่ยว อาจอดตาย แต่ถ้าร่วมกัน เมื่อจะออกล่าเหยื่อ หากินร่วมกัน ก็ต้องช่วยกันต้อนเหยื่อ แล้วเมื่อได้เหยื่อก็แบ่งกันกิน
ภาพ วาลเพชฆาต หรือ Killer whales เป็นสัตว์สังคม อยู่และหากินรวมกันเป็นฝูง
วาลเพชฆาต หรือ Killer whale มีความฉลาดที่หากินเป็นฝูง เมื่อจะต้อนแมวน้ำ หรือฝูงปลา มันจะทำอย่างประสานสัมพันธ์กัน แล้วช่วยกันจับเหยื่อกิน นั่นหมายความว่า หากต้องทำงานตามลำพังอาจจะไม่สามารถบรรลุผลได้ แต่หากร่วมกันทำ ประสานกันตี ก็ย่อมจะชนะศัตรูที่มีความแข็งแกร่งกว่าได้
ดูตัวอย่างธุรกิจศูนย์การค้า หรือ Supermall เขาจะทำทุกสิ่งเองย่อมจะกระทำได้ยากกว่า แต่หากเขาไปรวบรวมพันธมิตรธุรกิจ ร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายอยู่แล้ว ธนาคารและบริการการเงิน ร้านขายเสื้อผ้าเฉพาะทาง ร้านขายยา ร้านขายสินค้าเครื่องไฟฟ้า ฯลฯ เหล่านี้เข้ามาร่วมเปิดบริการ ก็ทำให้กิจการใหญ่ๆสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิผล กิจการที่อาจเป็นจุดอ่อนก็ได้รับการแก้ไข และกิจการเหล่านี้มีความได้เปรียบร้านค้าในแบบห้องแถวเดิมๆ ที่ไม่มีบริการที่จอดรถ ขาดระบบ Logistics ที่ไม่สามารถมีกำลังซื้อและจัดส่งสินค้าได้อย่างบริษัทขนาดใหญ่ได้ และขาดระบบอื่นๆที่ทันสมัยกว่า
U – Undertake intensity rather than extensity
การเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าที่จะปล่อยให้เฉื่อยจางลง
Intensity = ความรุนแรง, ความเข้มข้น, ความหนาแน่น, ความเร่าร้อน, การเอาจริงเอาจัง, ความแรงกล้า
ลองมาดูจุดเด่นของม้า จุดเด่นของม้า สามารถวิ่งบนพื้นดินได้ดี เร็ว และสามารถแบกรับคนขี่ได้อีกต่างหาก นี่เป็นลักษณะเด่นของม้า
หากจะทำอะไรสักอย่างแล้วทำให้ดีเป็นเลิศก็สามารถดำรงอยู่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากจะทำอะไรแล้วทำหลายอย่าง แต่ทำไม่ได้ดีสักอย่าง ท้ายที่สุดก็จะอยู่ในวงการได้ลำบาก ขอเล่าตัวอย่างของจริงเรื่องร้านอาหารที่มีชื่อเสียงสักร้านหนึ่ง
ภาพ สัญญลักษณ์ร้านสเต๊ก Peter Luger ในเขต Brooklyn, New York City, สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887
ภาพ ลักษณะสเต๊กที่เขาบริการสำหรับโต๊ะขนาด 3-4 คน เสิร์ฟร้อนๆ
ร้านสเต๊กปีเตอร์ ลูเกอร์ (Peter Luger Steak House) เป็นร้านอาหารประเภทสเต๊กเนื้อวัว ที่เขาเรียกว่า steakhouse ตั้งอยู่ในแถบ Williamsburg ในเขตบรูคลิน (Brooklyn), มหานครนิวยอร์ค (New York City) ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาได้เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 นอกจากนี้ยังมีสาขาที่สองเปิดที่ Great Neck, New York, บริเวณ Long Island.
ปีเตอร์ ลูเกอร์จัดเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดของเมืองนิวยอร์คโดย Zagat Survey เป็นเวลา 26 ปีติดต่อกัน ร้านหลักของเขาที่เขตบรูคลินที่มีบาร์ขนาดใหญ่ยาวแบบเยอรมันโบราณ (Teutonic air) และบรรยากาศโดยรวมแบบเคร่งขรึมโบราณ
การจะทำร้านสเต๊กที่มีผลิตภัณฑ์ที่อร่อยจนคนยอมรับได้นั้น ต้องเริ่มมาตั้งแต่การหาเนื้อวัวตามประเภทที่ต้องการอย่างดีสม่ำเสมอ ในอเมริกาเขามีเนื้อวัวมาตรฐานสูงที่เรียกว่า USDA Choice อยู่แล้ว แต่ที่ร้านนี้ต้องเลือกเป็นพิเศษมาตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังต้องผ่านกระบวนการทำให้เนื้อนุ่ม การเข้ากระบวนการบ่มแบบ Aging ในอุณหภูมิเย็นแต่ไม่แข็งที่ประมาณ 5c เป็นเวลานานตามกำหนด ก่อนที่จะนำมาทำปรุงทำเป็นอาหาร ดังนั้นจึงต้องมีห้องเย็นจัดเก็บเนื้อวัวขนาดใหญ่มาก เหมือนที่ร้านไวน์มีห้องจัดเก็บไวน์โดยเฉพาะ นอกจากนี้คือการมีพ่อครัวที่มีประสบการณ์ในการตัดแต่งเนื้อวัว การปรุงด้วยเครื่องปรุง และการปิ้งหรือย่างตามกระบวนการ ตลอดจนการบริการที่โต๊ะที่ต้องคงให้สเต๊กที่บริการนั้นมียังร้อนอยู่ พร้อมเครื่องเคียงต่างๆ
สำหรับคนที่จะไปกินร้านอาหารที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกนี้ ราคาก็ไม่แพงไปกว่าร้านทั่วไปนัก แต่ที่แน่ๆคือ ต้องโทรจองล่วงหน้ากันหลายวัน ไม่ใช่อยู่ดีๆจะเดินเข้าไปสั่งอาหารกินเหมือนอย่างทั่วไป ปีเตอร์ ลูเกอร์บริการสเต๊กเนื้อวัวอย่างเดียว ไม่มีบริการเนื้อแกะ ปลา หรือไก่ที่ร้านนี้ และหลักการมีอยู่ว่า หากคนเราทำอะไรสักอย่างที่มีความเป็นเลิศก็สามารถที่จะอยู่ในวงการได้อย่างเข้มแข็ง
S – Sustain an idea of single-mindedness
ดำรงอยู่กับความคิดนั้นด้วยใจเด็ดเดี่ยว
ความเพียร หรือ Perseverance สำคัญสำหรับการต้องมีใจเด็ดเดี่ยว คนจะทำอะไรสำเร็จต้องมีใจจดใจจ่อกับเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง และต้องทำอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน ดังนั้นเขาจึงต้องสงวนเวลาและพลังงานเพื่อการแสวงหาหนทางในการบรรลุเป้าหมายของเขา
Perseverance = ตามพจนานุกรม เป็นคำนาม หมายถึง ความเพียร, ความอุตสาหะ, ความขยันหมั่นเพียร, วิริยะ, วิริยภาพ, ความบากบั่น
I do not think that there is any other quality so essential to success of any kind as the quality of perseverance. It overcomes almost everything, even nature. ~ John D. Rockefeller
ผมยังนึกไม่ออกว่าจะมีคุณสมบัติอื่นใดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของอะไรก็ตามได้มากเท่าการมีความเพียร (Perseverance) มันสามารถชนะได้ทุกอย่างแม้กระทั่งธรรมชาติ ~ จอห์น ดี รอคกีเฟลเลอร์
ผู้เขียนจะยกตัวอย่างสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จในประวัติศาสตร์ เมื่อคนเรามีความเด็ดเดี่ยว พยายามทำในสิ่งที่เขาต้องการบรรลุผลมาให้เป็นตัวอย่าง
มารี กูรี
จากวิกิพีเดียภาคภาษาไทย (Wikipedia)
มารี กูรี (อังกฤษ: Marie Curie) เดิมชื่อ มารืออา ซกวอดอฟสกา (โปแลนด์: Marya Skłodowska) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2410 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2477 เธอเป็นนักเคมีผู้ค้นพบรังสีเรเดียม (Radium) ที่ใช้ยับยั้งการขยายตัวของมะเร็ง (Cancer) ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีอัตราการตายของของคนไข้เป็นอันดับหนึ่งมาทุกยุคสมัย ด้วยผลงานที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติเหล่านี้ ทำให้มารี กูรีได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้งด้วยกัน
มารี เป็นชาวโปแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2410 ที่เมืองวอร์ซอ เขตวิสทูลา จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศโปแลนด์ บิดาเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ และมักพาเธอมาที่ห้องทดลองเสมอ จึงทำให้เธอสนใจวิชาด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก แม้จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อรัสเซียมาปกครองโปแลนด์ และบังคับให้ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาทางการก็ตาม
ในสมัยนั้นค่านิยมในสังคมของผู้หญิงส่วนใหญ่ จะต้องเรียนการเป็นแม่บ้าน ซึ่ง มารี กูรี่ แตกต่างโดยสิ้นเชิง ที่ใส่ใจค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์
หลังจบการศึกษาระดับต้นแล้ว เธอกับพี่สาวก็ทำงานด้วยการเป็นครูอนุบาล สอนหนังสือให้กับเด็กๆ แถวๆ นั้น โดยทั้งสองมุ่งหวังอยากไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส แต่เงินไม่พอกับค่าใช้จ่าย เธอจึงให้พี่สาวคือ บรอนยา ไปเรียนต่อด้านแพทย์ศาสตร์ก่อน พอจบแล้วค่อยส่งเสียเธอเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป จนพี่สาวจบมาเธอก็ได้ไปเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยปารีส สมใจแต่ด้วยเงินอันน้อยนิดจากพี่สาว ไม่พอต่อค่าใช้จ่ายเธอจึงดิ้นรนหางานทำ จนได้เป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการทางเคมี ของ ปิแอร์ กูรี (Pierre Curie) จนทั้งสองแต่งงานมีลูกด้วยกัน แต่ ปิแอร์ เสียชีวิตก่อนเพราะอุบัติเหตุรถม้าชน ระหว่างที่เรียนไปทำงานไป เธอก็มุ่งมั่นศึกษาทดลองไปเรื่อยๆ จนมาพบรังสีแร่ธาตุเรเดียม (Radium) โดยได้มาจากแร่พิทช์เบลน (pitchblende และ torbernite) ที่เป็นออกไซต์ชนิดหนึ่งสามารถแผ่รังสีได้ จากการเพียรพยายามทดลองมาหลายปีในการสกัดแร่ชนิดต่างๆ จนมาพบรังสีดังกล่าวทำให้เธอได้รับปริญญาเอก ในการค้นพบแร่ธาตุเรเดียม
จนในปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) เธอก็สามารถสกัดแร่เรเดียมให้บริสุทธิ์ได้ เรียกว่า เรเดียมคลอไรด์ ที่สามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียม (Uranium) ถึง 2,000,000 เท่า มีคุณสมบัติคือ ให้แสงสว่าง และความร้อนได้ และเมื่อแร่นี้แผ่รังสีไปถูกวัตถุอื่น วัตถุนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นธาตุกัมมันตรังสี และสามารถแผ่รังสีได้เช่นเดียวกันกับแร่เรเดียม จนทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลต่อมา
การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแร่เรเดียมอย่างหนัก และต่อเนื่องกว่า 4 ปี ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลอีกครั้ง แม้สามีจะเสียชีวิตก็ตาม ด้วยกำลังใจอันล้นเปี่ยม เมื่อเกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งผู้คนส่วนมากล้มตายและถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เธอจึงอาสาสมัครเป็นอาสากาชาดเพื่อช่วยทหารที่บาดเจ็บ โดยใช้วิทยาการที่ค้นพบเพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ ในการเอกซเรย์เคลื่อนที่ตระเวนรักษาตามหน่วยต่างๆ จนสงครามสงบเธอก็กลับมาทำงาน แต่ก็ต้องล้มป่วยเพราะผลมาจากการทำงานหนัก และโดนรังสีเรเดียม ทำให้ไขกระดูกถูกทำลายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
อนึ่ง มารี กูรี่ สามารถจดสิทธิบัตรได้ และทำให้เธอเป็นเศรษฐีได้ในพริบตา แต่เธอกลับเลือกที่จะมอบสื่งที่เธอค้นพบให้กับโลก ทำให้เธอและครอบครัวเป็นเพียงครอบครัวนักวิทยาศาสตร์จนๆ ตลอดจนเสียชีวิต
หลังการเสียชีวิตของ มารี กูรี หนึ่งในลูกสาวของเธอ ก็ได้ทำการค้นคว้างานวิจัยของเธอต่อไป จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา
ประกาศนียบัตรรางวัลโนเบลของมารี กูรี
- รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1903 จากผลงานการพบธาตุเรเดียม[3]
- Davy Medal ค.ศ. 1903
- Matteucci Medal ค.ศ. 1904
- รางวัลโนเบลสาขาเคมี ค.ศ. 1911 จากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม
ภาพ Pierre and Marie Curie ในห้องทดลองที่กรุงปารีส เมื่อก่อนปี ค.ศ. 1907
ภาพ Pierre ลูกสาว Irène และ Marie Curie
สตีฟ จอบส์
คนในวงการคอมพิวเตอร์คงจะต้องศึกษาและเรียนรู้จากประวัติการทำงานของสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ต่อการทำงานของเขาที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง และเมื่อบริษัทเกิดวิกฤติ เขาได้เข้ามารับงานบริหาร และพาบริษัท Apple สู่ความยิ่งใหญ่ หลังจากที่บริษัทเกือบจะต้องปิดตัวเอง สูญหายตายจากไปในช่วงที่ผ่านมา
สตีเฟน พอล "สตีฟ" จอบส์ หรือ Steve Jobs (เกิด 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1955) เป็นผู้นำธุรกิจและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธาน อดีตประธานกรรมการบริหารของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ และยังเคยเป็นประธานกรรมการบริหารพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ (Pixar Animation Studios) และเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ (The Walt Disney Company) ใน ค.ศ. 2006 หลังดิสนีย์ซื้อกิจการพิกซาร์
เขาร่วมก่อตั้งแอปเปิลคอมพิวเตอร์กับสตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) และ Mike Markkula ใน ค.ศ. 1976 เป็นผู้มีส่วนช่วยทำให้แนวความคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่นิยมขึ้นมา ด้วยเครื่อง Apple II ต่อมา เขาเป็นผู้แรกที่มองเห็นศักยภาพทางการค้าของส่วนประสานงานผู้ใช้แบบกราฟิกส์และเม้าส์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในศูนย์วิจัยซีร็อกซ์พาร์ค ของบริษัทซีร็อกซ์ และได้มีการผนวกเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไว้ในเครื่องแมคอินทอช (Macintosh) หลังพ่ายแพ้ในการแย่งชิงอำนาจกับคณะกรรมการบริหารใน ค.ศ. 1984 จอบส์ลาออกจากแอปเปิลและก่อตั้งเน็กซ์ (NeXT) บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและตลาดธุรกิจ การซื้อกิจการเน็กซ์ของแอปเปิลใน ค.ศ. 1996 ทำให้จอบส์กลับเข้าทำงานในบริษัทแอปเปิลที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นนั้น และเขารับหน้าที่ CEO ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง 2011 จอบส์ยังเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูงของพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ ผู้นำด้านการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ 50.1% กระทั่งบริษัทวอลต์ดิสนีย์ซื้อกิจการไปใน ค.ศ. 2006[8] จอบส์เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดของดิสนีย์ที่ 7% และเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของดิสนีย์
ภาพ iPhone ของ Apple ที่ปัจจุบันครองคลาดเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่ม SmartPhone
ภาพ iPad ที่ปัจจบุันเป็น Tablet PC พัฒนาโดย Apple ที่นำหน้าของตลาด
No comments:
Post a Comment