Wednesday, September 21, 2011

กฎข้อที่ 36 อย่าเอาเรื่องเล็กมาเป็นเรื่องใหญ่ การทำเป็นลืมเสียเป็นการแก้แค้นที่ดีที่สุด

กฎข้อที่ 36 อย่าเอาเรื่องเล็กมาเป็นเรื่องใหญ่ การทำเป็นลืมเสียเป็นการแก้แค้นที่ดีที่สุด

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Disdain Things you cannot have: Ignoring them is the best Revenge
ดูถูกในสิ่งที่ไม่มี การเพิกเฉยเป็นการแก้แค้นที่ดีที่สุด

Disdain = การดูหมิ่น, ความไม่ชอบ, การเหยียดหยาม, คำปรามาส, การดูถูก, การรังเกียจ, คำสบประมาท

บางทีสิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ในบางสถานการณ์คือไม่ต้องทำอะไรเลย การทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เหมือนเป็นการใส่เชื้อไฟที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น หากเราปล่อยให้สถานการณ์บางอย่างลากเราให้จมลงไป มันก็จะไปเข้าทางของฝ่ายตรงกันข้าม

บ่อยครั้งสิ่งที่เราต้องการได้มากที่สุดในชีวิต คือสิ่งที่เราไม่มีและอาจจะมีไม่ได้ ยิ่งเราต้องการมันมากเท่าใด เราก็จะต้องวิ่งตามมันและสุดท้ายมันจะทำให้เรากลายเป็นคนที่น่าสมเพช เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คือเราต้องมาตั้งหลัก หันหลังให้กับสิ่งที่เราต้องการ แต่ไม่มีโอกาสได้ อย่าไปให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านั้น แล้วมันอาจจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามกับเรานั้น อาจจะแทบบ้าตายก็ได้ และมันจะทำให้เขาผิดแผนไปหมด

ในสุภาษิตไทยอาจเรียกว่า “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ” อย่านำเรื่องเล็กๆ น้อยๆมาเป็นเรื่องหยุมหยิม ทำให้เสียโอกาสในเรื่องใหญ่ๆ บางครั้งการให้ความสำคัญต่อคู่แข่งมากเกินไป จะทำให้เท่ากับไปเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเขา บางทีลองอดทน และปล่อยให้เรื่องผ่านไปจะดีกว่า บางทีมีสิ่งที่อยากได้ แต่ลองทำใจเสีย ลองทำตนไม่สนใจ ในที่สุดสิ่งนั้นก็จะกลับมาหาเองด้วยข้อเสนอที่เปลี่ยนไป

ในทางจิตวิทยามีกลไกปกป้องตนเองแบบหนึ่งเรียกว่า “องุ่นเปรี้ยว” (The sour-grapes approach) หากมีสิ่งใดที่เราอยากได้ แต่แล้วไม่ได้ วิธีการคือแทนที่จะแสดงความผิดหวัง หรือบ่นว่าแสดงอารมณ์ไม่พอใจ ก็เปลี่ยนไปเสีย เหมือนดังว่าสิ่งนั้นไม่เคยอยู่ในความสนใจของท่าน เหมือนองุ่นที่เด็กๆอยากกิน แต่เมื่อไม่ได้ ก็บอกว่าองุ่นนั้นเปรี้ยว ไม่อร่อย

ตัวอย่างกิจการซื้อขายที่ดิน

ท่านเป็นผู้ทำธุรกิจหนึ่ง อยากได้ที่ดินแปลงหนึ่ง เพราะเป็นแปลงที่ติดกับกิจการที่มีอยู่แล้ว เป็นการขยายกิจการที่สะดวกในการจัดการ แต่เจ้าของที่ดินไม่ยอมขาย เพราะเขารู้ว่าท่านต้องการมากๆ ต่อมาเจ้าของที่ดินเสนอขายโดยตั้งราคาเอาไว้สูงกว่าจนไม่สามารถรับได้

การเจรจากระทำได้โดยไม่ดำเนินการเอง แต่ให้มีนายหน้า เพื่อปิดบังความต้องการ

แนวทางการเจรจาก็คือ ให้การพิจารณาซื้อที่ดินนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดซื้อที่ดินของบริษัทที่มีผู้เสนอมาหลายรายในหลายทำเล บริษัทของท่านคงมีเงินจัดซื้อได้เพียงส่วนหนึ่งในบริเวณที่ต้องการจัดซื้อ ดังนั้นราคาที่จะพิจารณาซื้อต้องเป็นในราคาที่เหมาะสม ตามราคาตลาดหรือต่ำกว่า หากฝ่ายเจ้าของที่ๆต้องการซื้อเสนอขายมาในราคาต่ำพอ ก็จัดซื้อได้ หากราคาสูงเกินไป ก็จะใช้เงินทุนไปจัดซื้อในที่อื่นๆแทน

หากการซื้อขายที่ดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป หรือเจ้าของคิดว่าท่านต้องการมาก จนจะขายด้วยราคาที่สูงเกินความเป็นจริงไปมาก ท่านก็ต้องทำใจและปล่อยไป ต้องคิดเสียว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจที่ต้องมีได้มีเสีย แต่ที่สำคัญคือการกระทำได้ด้วยวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพราะอารมณ์หรือความอยากที่อธิบายไม่ได้

No comments:

Post a Comment