Tuesday, September 20, 2011

กฎข้อที่ 37 รู้จักสร้างบรรยากาศ รู้จักสร้างภาพ

กฎข้อที่ 37 รู้จักสร้างบรรยากาศ รู้จักสร้างภาพ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Create Compelling Spectacles
สร้างความตื่นตา ประทับใจ

การต้องรู้จักวางตัว ทำให้คนเห็น สนใจ และการมีบุคลิกภาพที่โดดเด่น

นักบริหารและผู้นำ บางครั้งต้องไปเรียนรู้วิธีการนำเสนอตนเอง เริ่มตั้งแต่การแต่งกาย การพูด การเดิน การแสดงท่าทางและบุคลิกภาพโดยรวม

นักธุรกิจและวงการจะทราบดีว่า ทำไมเขาจึงให้ความสำคัญต่อนาฬิกาที่สรวมใส่ หัวเข็มขัด เนคไทร์ รองเท้า เสื้อผ้า รถยนต์ที่เลือกใช้ ตลอดจนการตกแต่งสำนักงานที่เขาทำงาน ฯลฯ

คนทุกคนต้องการชมสิ่งที่สวยงาม ต้องการเห็นสิ่งที่ตื่นตาประทับใจ ความสวยงามของสิ่งที่ปรากฏต่อสายตานี้นับเป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่ผู้นำและนักบริหารต้องเข้าใจและรู้จักใช้

นักการเมือง

นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้รับอำนาจมาด้วยการได้รับเลือกตั้ง และการจะได้รับเลือกตั้งก็ด้วยความพึงพอใจในผลงาน และความชอบพอในความเป็นตัวตนของนักการเมืองคนนั้น

นักการเมืองที่ต้องอาศัยความเป็นที่รู้จักของคนโดยกว้างขวาง เขาจึงต้องทำตนให้เป็นที่ปรากฏต่อผู้คน ตั้งแต่ไปงานศพ ก็เลือกที่จะให้มีบทบาทที่คนเห็นมากๆ เช่นการทอดผ้า และเป็นสง่า ไปงานแต่งงานก็ต้องให้มีโอกาสกล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว หรือหากเป็นงานเลี้ยงแบบเลี้ยงรับรอง ไม่มีนั่งโต๊ะ เขาก็อยากที่จะได้เดินไปทั่วๆงาน แล้วได้มีโอกาสพบปะผู้คน

การปรากฏตัวต่อสาธารณะของคนที่จะเป็นผู้นำ ส่วนหนึ่งเขาอาจไปอย่างเงียบๆ เพื่อได้ไปเห็นสภาพความเป็นจริงของชีวิตผู้คน ได้เห็นในสิ่งที่เป็นปกติ ไม่ใช่มีการสร้างภาพขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือการไปปรากฏตัวเพื่อให้ผู้คนได้รู้จัก เป็นการได้สร้างความชื่นชอบเพื่อเป็นผลดีเมื่อต้องรับการเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้แทนฯ หรือผู้นำ ก็จะได้เปรียบในเรื่องเป็นที่รู้จักของผู้คน

การแต่งกายดี มีความเหมาะสม เป็นจุดเด่น เห็นแล้วดีเสริมกับบุคลิกภาพ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่จะต้องเป็นการแต่งกายที่หรูหรา และแพงเสมอไป

การดูแลรักษาสุขภาพ มีบุคลิกภาพที่ดี ที่คนเห็นแล้วเกิดศรัทธา ปรากฏภาพที่ดี เช่นไม่ปล่อยตัวเองให้อ้วน น้ำหนักเกินอย่างมาก การรักษาความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม การดูแลรักษาปากและฟัน อันจะทำให้คนเห็นว่าเป็นคนไม่ดูแลตนเอง หรือดื่มเหล้าจนติดกลายเป็นคนมีลักษณะเป็นพิษสุราเรื้อรัง พูดจาอ้อแอ้ หรือดูโทรมกว่าที่วัยควรจะเป็น

การปราศรัย การนำเสนอวิสัยทัศน์ นักการเมืองที่ดีจะต้องฝึกวิธีการพูดที่เข้าใจง่าย สื่อสารกับกลุ่มผู้ฟังได้ดี และที่สำคัญต้องสอดคล้องกับเนื้อหาสาระและสิ่งที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งในภาษาอังกฤษ เรียกว่า ต้องมีทั้งลีลาและเนื้อหา หรือ Style and substance ซึ่งต้องมีทั้งสองอย่าง

ลองดูตัวอย่างจากบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เราอาจได้เรียนรู้บ้างดังนี้

รักไม่เสื่อมคลาย

ไดแอน เดอ พอยติเอ นับเป็นสตรีที่รู้จักสร้างความตื่นตาประทับใจ

ภาพ พระเจ้าเฮนรี่ที่สอง (Henry II) ของประเทศฝรั่งเศส

ภาพ Diane de Poitiers

ไดแอน เดอ พอยติเอ (Diane de Poitiers) เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1499 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1566 เป็นสตรีในราชสำนักฝรั่งเศสในสมัยของพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 (Francis I) และพระโอรส พระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 (Henry II of France) ของฝรั่งเศส เธอมีชื่อเสียงในฐานะภรรยาลับคนโปรด (favourite mistress) ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 และด้วยสัมพันธภาพนี้ทำให้เธอมีอิทธิพลและอำนาจในราชสำนักฝรั่งเศส ซึ่งมีอย่างต่อเนื่องยาวนานในช่วงที่เฮนรี่ที่ 2 ครองราชย์ จนกระทั่งพระองค์ได้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจากการแข่งขัน

เธอเป็นภาพที่ปรากฏในงานวาดของ François Clouet และผู้วาดคนอื่นๆ

ภาพวาด Diane de Poitiers ในลักษณะเปลือยอก วาดโดย François Clouet แม้กาลเวลาได้ผ่านไปหลายศตวรรษ แต่งานนี้ก็ยังเป็นความงามที่ทำให้คนต้องหันไปศึกษาความเป็นมาของ Diane

เธอเป็นภรรยาลับของพระเจ้าเฮนรี่คนแรก และคนเดียว ทั้งๆที่มีอายุมากกว่าพระองค์ถึง 20 ปี

เมื่อกษัตริย์ Francis I ของฝรั่งเศสถูกกองทหารของ Charles V จับตัวได้ในสงครามแห่งปาเวีย (battle of Pavia) เจ้าชายองค์น้อยสองพระองค์ François และ Henri ถูกกักตัวไว้เป็นประกันในสเปนเพื่อรอแลกเปลี่ยนกับค่าไถ่จากพระบิดา ซึ่งทั้งสองพระองค์ขณะนั้นมีอายุได้เพียง 8 และ 7 ปี ต้องใช้เวลาเกือบ 4 ปีในปราสาทที่เย็นยะเยือกกับอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน

เฮนรี่ใช้เวลากับการอ่านนิยายเรื่อง knight-errantry tale Amadis de Gaula โดยในการอ่านนิยายนั้น เขาประทับใจไดแอนที่เป็นดังสุภาพสตรีในอุดมคติของเขาใน Amadis เพราะมารดาของเฮนรี่ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว ไดแอนเป็นคนจูบลาเขาเมื่อเขาต้องถูกส่งตัวไปสเปน และเมื่อเขาได้กลับมาฝรั่งเศสเมื่ออายุได้ 12 ปี กษัตริย์ Francis I ได้สั่งให้ไดแอนมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของเฮนรี่ สอนให้เจ้าชายน้อยได้เข้าใจการวางตัวในราชสำนัก ในที่พิธีบรมราชาภิเษกในพระราชินีใหม่ Eleanor.ในปี ค.ศ. 1531 ในขณะที่ Francois แสดงความคารวะต่อพระราชินี แต่เฮนรี่แสดงความคารวะต่อไดแอน

สิ่งที่ไดแอนทำ คือใช้สัญลักษณ์และภาพลักษณ์ ที่สร้างความประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน งานศิลปะ การจัดตกแต่งสถานที่ ลักษณะความมีรสนิยม ที่ทำให้เธอติดตรึงใจกษัตริย์เฮนรี่อย่างไม่รู้ลืม ภาพลักษณ์ที่เธอสร้างขึ้นเป็นดังเทพไดแอนน่าของชาวโรม และเมื่อประสมประสานกับรูปโฉมที่งดงาม การรู้จักแบ่งใจและแบ่งปัน ดังเมื่อเฮนรี่ต้องมีมเหสี (Queen) เธอรู้ว่าเธอเองไม่มีโอกาสเป็นตัวจริง เธอก็เลือกคนที่จะเป็นมิตรกับเธอได้มากที่สุด คือ Catherine de' Medici ทำให้เธอยังมีสัมพันธภาพกับเฮนรี่อย่างใกล้ชิดตลอดมา ที่สำคัญไดแอนเป็นคนมีสติปัญญา สามารถให้คำปรึกษาแก่เฮนรี่ในกิจการบ้านเมือง แม้แต่ช่วยแต่งจดหมาย และร่วมเขียนจดหมายติดต่อกับบุคคลสำคัญในราชการแผ่นดิน และงานต่างประเทศ จนเฮนรี่สวรรคต เฮนรี่มีใจให้กับเธออย่างดีมาตลอดจนมาเป็นเวลา 25 ปี แม้เมื่อพระองค์จะสวรรคต ก็ได้แต่งตั้งเธอเป็น Duchess และให้สมบัติแก่เธอที่จะมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต

แครี แกรนท์ (Cary Grant)

ภาพ แครี แกรนต์ (Cary Grant) ดารานำฝ่ายชายที่ประสบความสำเร็จในการเป็นดารานำของฮอลลิวูด ที่ยาวนาน

ในฮอลลิวูด (Hollywood) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองหลวงภาพยนตร์ในยุครุ่งเรือง ดารากับภาพลักษณ์เป็นเรื่องสำคัญ และดาราชายคนหนึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างของการฉายภาพลักษณ์ตนเองที่ดี

แครี แกรนท์ มีชื่อจริงว่า Archibald Alexander Leach เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1904 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1986 ชื่อในการแสดงของเขาคือ แครี แกรนท์ (Cary Grant) เขาเป็นนักแสดงชาวอังกฤษที่ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน เขามีสำเนียงแบบอังกฤษ หรือยุโรป มีบุคลิกภาพมีมารยาท อ่อนโยน สนุกสนาน มีเสน่ห์ (Debonair) โดยรวมเขาเป็นคนมีรูปร่างหน้าตาดี อย่างที่คนไทยเรียกว่า “หล่อเหลา” เขาเป็นดารานำชายแบบฉบับของฮอลลิวูด

Debonair = คุณศัพท์มีมารยาท, อ่อนโยน, สุภาพ, สนุกสนาน, มีเสน่ห์, ร่าเริง, น่ารัก

แครี แกรนท์จะใส่ใจตนเองเสมอว่าภาพที่ปรากฏออกมาต่อสาธารณะนั้นเป็นสิ่งที่ดูดีทั้งในและนอกจอ เขาได้รับการบันทึกว่าเป็นดาราชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอันดับสองตลอดกาลของวงการภาพยนตร์อเมริกัน เขาประสบความสำเร็จในการแสดงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี นับเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จหลายสิบเรื่อง ดังเช่นเรื่อง Bringing Up Baby (1938), Gunga Din (1939), The Philadelphia Story (1940), Penny Serenade (1941), Arsenic and Old Lace (1944), None but the Lonely Heart (1944), Notorious (1946), To Catch A Thief (1955), An Affair to Remember (1957), และเรื่อง North by Northwest (1959) เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสก้าดารานำฝ่ายชายยอดเยี่ยม 5 ครั้งแต่ไม่ได้ ในปี ค.ศ. 1970 เขาได้รับรางวัลเกียรติยศในผลงานตลอดชีวิตของเขา ดารานักร้องและนักแสดงอัมตะ Frank Sinatra ได้กล่าวสดุดีเขาว่า “เขามีความสามารถอย่างยิ่งยวดในการใช้ศิลปะการแสดงภาพยนตร์ และด้วยความเคารพและรักจากเพื่อนร่วมงาน”

No comments:

Post a Comment