10 ข้อแนะนำสู่ความสุขด้วยการใช้จ่ายอย่างจำกัด
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: เศรษฐกิจ, การเงิน, Sufficiency economy, เศรษฐกิจพอเพียง
เก็บความ และปรับเขียนใหม่ให้สอดคล้องกับสังคมไทย จาก “10 Frugal Living Tips To Happiness On A Tight Budget” จาก Cando Finance โดย Matthew Cenzon
Tight budget = การมีงบประมาณใช้จ่ายได้อย่างจำกัด
Frugal = ประหยัด, ออม, กระเหม็ดกระแหม่, ตระหนี่
ความนำ
เมื่อน้ำท่วมใหญ่เดือนกันยายนถึงต้นธันวาคม พ.ศ. 2554 ทำให้หลายครอบครัวประสบปัญหา บางครอบครัวยังแก้ปัญหากันไม่จบ บางครอบครัวต้องใช้เงินไปเพื่อซ่อมบ้าน ซ่อมร้านค้า ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เป็นภาระในการต้องหาเงินมาจ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินกว่าที่คาดคิดเอาไว้
ปัญหาใหญ่ของวิกฤติการเงินในโลกนี้คือการไม่รู้จักการออม (Savings) การใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง เป็นการใช้มากกว่าความสามารถที่จะหาได้ ในช่วงหนึ่งอาจจะมีรายได้พอที่จะจ่ายได้ แต่ในบางอาชีพ ไม่มีความมั่นคงในระยะยาวพอที่จะหามาใช้จ่ายได้อย่างฟุ่มเฟือยตลอดเวลา แต่เราไม่รู้จักที่จะเก็บหอมรอมริบ ไม่รู้จักมีเงินสำรองยามวิกฤติ
เราจะแก้ปัญหาที่หลายคนทั่วโลกประสบนี้ได้อย่างไร
หลักง่ายๆ คือ “การหารายได้ให้มากกว่าใช้จ่าย” หรือ More income than expense. เมื่อใดอยู่ในสถานะที่หาได้มากกว่าใช้ เมื่อนั้นก็แสดงว่ามีสถานะทางการเงินที่ยังดีอยู่ และยิ่งนานวัน สถานะก็จะดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ
แต่เหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางการเงินดังในโลกปัจจุบัน ทำให้เราต้องกลับมาตรวจสอบว่า เราใช้จ่ายเงินทองกันอย่างไร ในสมัยก่อน ผู้ใหญ่จะสอนว่า “ทำเมื่อหนุ่มไว้กินเมื่อแก่ ทำเมื่อดีไว้ใช้เมื่อไข้” นั่นคือให้รู้จักทำงาน และรู้จักออม
ในปัจจุบัน เศรษฐกิจในโลกมีการแข่งขันกันสูง มีการกระตุ้นให้เกิดใช้จ่ายตามระบบทุนนิยม จึงทำให้แม้เรามีวัตถุนิยม มีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ใช้สอยมากมาย แต่เราก็จะประสบปัญหาอย่างหนึ่ง คือมีการใช้จ่ายเกินตัว ใช้มากกว่าที่เรามีรายได้ หรือมีขีดความสามารถที่จะจ่ายได้
ในปัจจุบัน ท่านอาจจะประสบกับปัญหาหนี้ท่วม หรือพยายามจะหาเงินให้เพียงพอสำหรับเวลาเกษียณอายุ มีหลายสถานการณ์ที่จะบังคับให้ท่านต้องเปลี่ยนนิสัยการใช้เงินใหม่ คำว่า Frugal เป็นคำที่มีความหมายเป็นไทยได้ว่า “ตระหนี่ถี่เหนียว” ซึ่งดูเป็นคำไม่ดี ไม่ทันสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นคำเหมือนต้อง “สูญเสีย” บางอย่าง ต้อง “ทนทุกข์” แต่ความจริงแล้วอาจไม่ได้ต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ลองศึกษาจากหลัก 10 ประการที่เขาแนะนำให้ใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมอเมริกันที่ก็ประสบปัญหาแบบเดียวกับในประเทศไทยเรา
1. ทำบัญชีเกี่ยวกับการใช้จ่าย
Keep Track of Your Spending
Keep track = ติดตามร่องรอยการใช้เงิน คือการทำบัญชี
การดูการใช้เงินจากบัตรเครดิต การเก็บบิลค่าใช้จ่ายเมื่อไปจ่ายของ
ใช้บัตรเครดิต เมื่อจะจ่ายเลือกที่จะจ่ายเต็มตามจำนวนที่ใช้ อย่าเสียค่าดอกให้กับบริษัทบัตรเครดิต เพราะมันเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ
หากท่านวางแผนจะใช้จ่ายเงินให้อยู่ในกรอบ ท่านต้องเริ่มต้นติดตามร่องรอยการใช้จ่ายเงินของท่านเอง เริ่มตั้งแต่งบค่าซ่อมรถยนต์ ค่ากาแฟที่ต้องซื้อทุกเช้า เหล่านี้ต้องบันทึกเอาไว้ เมื่อจ่ายของก็ให้เก็บต้นขั้วใบเสร็จเอาไว้ หากใช้บัตรเครดิต ก็ให้ติดตามจากรายงานที่เขาเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตนั้นๆ
หากท่านเป็นพวกจ่ายเงินบัตรเครดิตด้วยจำนวนน้อยที่สุดที่เขาให้กรอบไว้ นั่นแสดงว่าไม่ถูกต้องแล้ว เพราะดอกเบี้ยของบัตรเครดิตเป็นอัตราที่สูงกว่าทั่วไป เป็นจุดเริ่มต้นที่จะพอกหนี้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องเปลี่ยนใหม่ เป็นพยายามจำกัดงบใช้จ่าย เลิกจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นเสียบ้าง หากมีบัตรเครดิตหลายใบ ให้เลิกเสียบ้าง แล้วใช้เพียงใบหลักๆ แล้วเมื่อใช้ ทุกเดือนตั้งเป้าจ่ายคืนจนหมดโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่ม
2. เปลี่ยนนิสัยการใช้เงิน
Change Your Spending Habits
เมื่อท่านติดตามการใช้จ่ายเงินในแต่ละสัปดาห์ว่าได้ใช้ไปอย่างไร แล้วนำข้อมูลการใช้เงินมามองหาดูส่วนที่ใช้เกินความจำเป็น ที่สามารถจะตัดทอนได้ในเดือนต่อๆไป คำว่า “ต้องการ” ในภาษาอังกฤษมีคำว่า “Needs” กับ “Want” คำแรกเป็นความต้องการที่จำเป็นจริงๆ เหมือนอาหารที่เราจำเป็นต้องบริโภคในแต่ละวัน ส่วนคำหลัง “Want” นั้น ต้องการเหมือนกัน แต่บางครั้งมันเป็นความอยาก เช่น อยากได้ อยากมี อยากกิน แต่ลองถามใจจริงๆ มันอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในชีวิตเลยก็ได้
คำแนะนำคือให้ตัดในสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต เช่น การอยากซื้อของจับจ่าย ได้ใช้ของมียี่ห้อ บางทีก็มีของเหล่านั้นเต็มบ้านอยู่แล้ว ของบางอย่างจำเป็น แต่เราสามารถเลือกใช้ของมือสองได้ หรือของบางอย่างที่มียี่ห้อเหมือนกัน แต่เลือกซื้อตอนที่เขาลดราคา
เปลี่ยนนิสัย แต่ไม่ใช่เลิกซื้อสิ่งที่ชอบ แต่เลิกซื้อสิ่งไม่สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
3. ติดตามเงินว่าได้ใช้ไปอย่างไร
Monitor Your Money
Monitor = สังเกตการณ์, รับและจับคลื่นวิทยุ, ตักเตือน
คำว่า Monitor เป็นคำกิริยา สังเกตการณ์ เหมือนมีจอภาพคอยติดตามตลอดเวลา พบสิ่งผิดปกติก็เตือนได้ในทันที่
การรู้ว่ามีเงินอยู่ในกระเป๋าเท่าไร การรู้ว่าในบัญชีนั้นมีเงินเหลืออยู่เท่าใด รู้อยู่ตลอดเวลา
หลายคนทำผิดอย่างหนักตรงที่ไม่รู้ว่ามีเงินอยู่ในกระเป๋า ณ เวลานั้นๆเท่าใด ไม่รู้ว่าในแต่ละวันจะมีเงินใช้เท่าใด แย่ยิ่งกว่านั้น หลายคนไม่รู้ว่ามีเงินในบัญชีธนาคาร หรือเหลืออยู่ในธนาคารเท่าใด
และหากไม่รู้ว่ามีเงินเหลืออยู่ในธนาคารเท่าใด แล้วท่านจะทำงานได้อย่างไร สมมุติว่า ท่านทำเงินหายไป หล่นอยู่ในรถแท็กซี่ หรือมีคนมาแอบกด ATM ยักยอกเงินเอาไปใช้ ก็ไม่รู้ได้ หรือกว่าจะรู้ เงินที่เก็บไว้ในบัญชีก็หมดเสียแล้ว ทางที่ดีต้องสร้างนิสัยใหม่ ให้รู้ว่าท่านมีเงินอยู่กับตัวเท่าใด และโดยรวมทั้งในธนาคารด้วยนั้น มีเงินอยู่เท่าใด ง่ายที่สุดสำหรับคนมีปัญหาเก็บเงินไม่ได้ แถมมีหนี้ ก็คือให้มีเงินสดในกระเป๋า แล้วใช้เงินสดนั้นไปเท่าที่มี แล้วท่านจะดูแลการเงินของท่านเองได้ง่ายขึ้น แม้จะดูโบราณอยู่บ้าง แต่จะได้ผลกว่า
4. ให้พกกระเป๋าใส่เหรียญ
Carry a Coin Purse
หากต้องการใช้ชีวิตให้มีความสุขในงบใช้จ่ายอย่างจำกัด ให้เริ่มจากมีกระเป๋าสตางค์เล็กๆไว้เก็บเศษเงิน หรือสตางค์ อย่าปล่อยเศษเงินนั้นให้กระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ คนบางคนเวลาจะต้องใช้เศษเงินเพื่อซื้ออะไรบางอย่าง แต่รู้สึกกวนใจที่จะต้องควานหาเศษเงิน จึงเลือกธนบัตรใบใหญ่มาจ่ายเงิน ซึ่งอาจเป็นใบละ 500 หรือใบละ 1,000 บาท แทนที่จะจ่ายไปด้วยเศษเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า
ต้องเปลี่ยนนิสัยใหม่ เช่นหากเป็นธนบัตรใบย่อย ก็ให้พับเรียบจัดธนบัตรใบละ 20 บาทให้เป็นชุดๆละ 10 ใบเท่ากับ 200 บาท ให้เก็บเศษเงินหรือเหรียญใส่กระเป๋าใส่เศษเหรียญ และเมื่อกลับบ้าน ให้กลับมารวบรวมเศษเงินใส่กระปุก เมื่อเต็มกระปุก เอาไปแลกซื้อของกับร้านของช้ำใกล้บ้านก็ได้
ในอเมริกา เมื่อมีเงินเศษเหรียญจำนวนมาก เขาใช้เพื่อการซื้อของตามร้านปกติไม่ได้ ก็นำไปแลกเงินที่ร้าน Supermarket ที่มีเครื่องนับเหรียญ แล้วเปลี่ยนเป็นบัตรแลกซื้อสินค้าในร้านนั้นๆ ก็ยังได้ใช้ค่าของเศษเงินให้มีคุณค่า
ในประเทศไทย มีคนที่เขาอยากรับเศษเงิน เช่น พวกขับรถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก รถประจำทาง แม่ค้าขายของข้างถนน ร้านสะดวกซื้อ เหล่านี้เขาไม่รังเกียจเศษธนบัตร หรือเศษเหรียญ เพราะเขาต้องมีเศษเงินไว้เป็นเงินทอนให้ลูกค้า แต่ในทางตรงกันข้าม อย่าไปใช้เศษเหรียญบาทกับการจ่ายค่าทางด่วน พวกนี้เขาต้องการให้มีเงินจ่ายตามค่าผ่านทางจริง เพื่อความสะดวกของเขา
5. กำหนดการใช้จ่ายรายเดือนของตนเอง
Give Yourself an Allowance.
Allowance = เบี้ยเลี้ยง, การอนุญาต, การอนุมัติ, การยินยอม, การลดราคา, การให้อภัย, การตอบรับ, เบี้ยกันดาร, เงินสมทบ
ความหมายของคำว่า Allowance สำหรับเด็กนักเรียน พ่อแม่อาจเรียกว่าเงินค่าขนมก็ได้ หรือหากเป็นเด็กโตหน่อย พ่อแม่ส่งไปเรียนหนังสือในเมืองใหญ่ ต้องพักอาศัยเองอย่างอิสระ พ่อแม่ก็จ่ายเงินให้เป็นก้อน จ่ายเป็นรายเดือน แล้วให้ลูกต้องรู้จักดูแลตนเอง ดังนี้ก็เรียกว่า Allowance เหมือนกัน
Allowance ไม่ใช่ Salary หรือเงินเดือน เพราะนั่นหมายถึงเป็นค่าตอบแทนแก่คนทำงาน ลูกจ้างหรือพนักงานที่เขาจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน
เมื่อเด็กๆ ผมเองมีปัญหาใช้เงินอย่างไม่ระมัดระวัง มักจะหมดภายในไม่นานหลังจากที่แม่ให้ค่าอาหารกลางวัน และเป็นค่าขนม และค่าเดินทางด้วยรถประจำทาง การที่เขาจ่ายเป็นรายสัปดาห์ เมื่อเราไม่สามารถรับผิดชอบได้ เพราะใช้เงินหมดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ ทางบ้านจึงจ่ายให้เป็นรายครึ่งสัปดาห์ เงินอย่างนี้เรียกว่า Allowance เพราะหากให้เต็มสัปดาห์ เขาเกรงว่าจะไม่มีเงินค่าอาหารกลางวัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
เมื่อเราโตขึ้นแล้ว มีรายได้เองมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้นเช่นกัน แต่หากจะให้มีเงินเหลือเก็บ ก็ต้องกำหนดกรอบการใช้เงินในช่วงเวลา เช่นได้รับเงินเดือนมาเป็นรายเดือน แต่แบ่งการใช้สอยเป็นรายสัปดาห์ วิธีการคือให้แยกเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าอาหารที่ต้องกินอยู่ที่บ้าน ซึ่งเรียกว่า Groceries หรือของกินของใช้ที่เราไปซื้อตาม Supermarket นั้นเอง ของพวกนี้ต้องเลือกซื้อในส่วนที่เป็นของจำเป็น เช่นพวกอาหาร หมู ไก่ ไข่ นม ผัก ผลไม้ ฯลฯ ของพวกนี้ต้องซื้อเท่าที่จำเป็น และไม่จำเป็นต้องซื้อของแพง แต่เป็นของที่มั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ
ตั้งเป้าไว้ว่าในแต่ละสัปดาห์จะใช้เงินสักไม่เกินเท่าใด เช่นสัปดาห์ละ 3,000 บาท ก็แสดงว่ามีเงินจ่ายได้เฉลี่ยวันละ 400-500 บาท หากต้องใช้กัน 2 คนสามีภรรยา ก็ต้องดูว่าอย่าใช้ให้เกินกรอบดังกล่าว แต่หากว่าในแต่ละวัน เราสามารถประหยัดได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ก็ยิ่งดี ก็แสดงว่ามีเงินเหลือเก็บได้
ที่ผมลองสังเกตดู บางทีการดื่มกาแฟชงเองกินที่บ้าน ต้นทุนกาแฟถ้วยละ 1-2 บาท หรือดื่มที่สำนักงานที่เขามีกาแฟชงเองไว้บริการ ก็แทบไม่ต้องเสียเงิน กับซื้อที่ร้านกาแฟสด มีตั้งแต่แก้วละ 40 บาทจนถึง 150 บาท การกินอาหารกลางร้านข้าวแกงมื้อละ 30-40 บาท กับบางทีไปกินที่ร้านอาหารหรูขึ้นมาสักหน่อย ตกหัวละ 300-400 บาท หรือการแวะดื่มเบียร์หรือไวน์กับเพื่อนๆ ก่อนกลับบ้าน เหล่านี้เป็นตัวเหตุที่ทำให้ใช้เงินเกินงบฯมากที่สุด แล้วบางทีเราจะไม่รู้ตัว
6. ใช้ชีวิตที่ทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
Start Living a Healthier Lifestyle
ความหมายของ Healthy lifestyle คือการใช้ชีวิตที่เน้นสุขภาพอนามัย ดูแลตนเองเรื่องการกิน การอยู่ การพักผ่อนหลับนอน และตลอดจนการออกกำลังกาย
การไม่สูบบุหรี่ ก็ได้ประหยัดเงิน ได้มีสุขภาพปอดที่ดีมีอายุยืนยาวขึ้น การไม่ดื่มเหล้า หรือลดการดื่มลง ก็ได้ประหยัดเงินค่าเหล้า ไวน์ หรือเบียร์ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มมีราคา ได้ลดโอกาสการป่วยเป็นติดสุราเรื้อรัง ไม่ดื่มน้ำอัดลม ดื่มน้ำเปล่า ก็ประหยัดเงินค่าเครื่องดื่ม และยังทำให้ลดโอกาสการเป็นเบาหวานเมื่ออายุมากขึ้น ลดโอกาสการลงพุง ทำให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ
การประหยัดการขับรถ ไม่ต้องใช้รถยนต์ได้ ก็ประหยัดเงินได้มาก ใช้เดินหรือขี่จักรยานเอา หากอยู่ในต่างจังหวัด การใช้ชีวิตอย่างเน้นสุขภาพอนามัย ทำให้เราไม่ต้องใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับสิ่งที่ไม่ดีกับสุขภาพ ลดค่ารักษาพยาบาล เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน มีความตื่นตัวมากขึ้น ไม่ต้องอดหลับอดนอน ไม่เที่ยวดึก ก็มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สุขภาพโดยรวมก็ดีขึ้น ได้มีเวลากับครอบครัวได้มากขึ้น
7. หาทางให้มีรายได้ นอกเหนือจากที่มีอยู่
Look for Ways to Earn on the Side
การหารายได้พิเศษ ทำให้เป้าหมายเก็บเงินไว้ยามเกษียณบรรลุได้เร็วยิ่งขึ้น
แต่งงานแล้วเป็นสามีภรรยา มีภรรยาที่ทำงานด้วยก็ยิ่งดี เพื่อให้มั่นใจ รายได้ส่วนภรรยาให้เขาเป็นคนเก็บไว้เพื่ออนาคตของลูก หรือยามที่ขัดสน ยามสามีต้องตกงาน ก็ยังมีเงินสำรองไว้ใช้ คนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีแล้วเก็บจะรู้สึกเสียดายหากต้องใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย และอีกอย่างหนึ่ง จะมีเวลาน้อยลงที่จะไปเที่ยวจับจ่ายในสิ่งฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น
มีเงินเหลือไว้ให้อุ่นใจไปจนแก่เฒ่า ดีกว่าเงินหมดก่อนแก่ แล้วไม่มีหลักประกันในชีวิตเหลือเลย
ในต่างจังหวัด มีตัวอย่างอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แม้จบการศึกษาในระดับปริญญาขั้นสูง แต่รายได้จากเงินเดือนมีจำกัด บางคนมีที่ดินของพ่อแม่ 40-50 ไร่ พัฒนาเป็นสวนยางพารา ทำให้มีรายได้เพิ่มพูน มากเสียกว่าเงินเดือนเป็นอาจารย์ในระบบราชการ
การมีที่ดินแล้วลงทุนพัฒนาระดับไม่เสี่ยงมาก ทำที่พักอาศัยให้เช่าในทำเลที่มั่นใจได้ว่ามีความต้องการ เก็บกินค่าเช่าทำให้มีรายได้เพิ่ม แทนที่มีรายได้เพียงจากดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งมักจะได้ต่ำ และอาจต่ำกว่าค่าเงินเฟ้อในแต่ละปี แต่หากนำไปซื้อที่ดินในชนบท บางที่ไม่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เพราะที่ดินอยู่ไกลตัว โดยเฉพาะหากไม่ได้เป็นชาวนา หรือมีวัยเกินกว่าจะมีแรงทำการเกษตรแล้ว
เรื่องเงินนี่ก็แปลก เมื่อเราสนใจเป็นคนหาเงิน กลับจะพบว่าเราจะใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น เพราะทำให้เห็นคุณค่าของเงินที่หามาได้ ซึ่งก็ไม่มีอะไรง่ายนัก ต้องใช้ความสามารถและความพยายาม เพราะ “เงินงอกไม่ได้ดังผลจากต้นไม้” อีกประการหนึ่ง การใช้เวลาไปกับกิจกรรมหาเงิน ทำให้มีเวลาเหลือน้อยลงที่จะไปคิดแต่เรื่องการจับจ่ายใช้สอยในสิ่งเกินจำเป็น
8. เลิกนิสัยชอบใช้เงินจับจ่ายอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล
Stop Impulse Buying
หากอยากจะซื้ออะไร รอสัก 24 ชั่วโมงก่อน แล้วกลับมาคิดอีกที่ว่าสิ่งนั้นจำเป็นสำหรับท่านหรือไม่ เลิกนิสัย Shopaholic คือจับจ่ายเหมือนคนติดยาเสพติด
Shopaholic = Shopping + Alcoholic
Shopaholic เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่ชอบจับจ่ายมากเสียจนเหมือนติดยาเสพติด เหมือนกับคนติดเหล้า ไม่ไปจ่ายของอะไรบางอย่างเหมือนชีวิตขาดอะไรไปที่ทำให้ไม่สมบูรณ์
เด็กหนุ่มบางคนชอบซื้อรองเท้าตามแฟชั่น บางคนซื้ออะไรก็ตามที่เขาโฆษณา ทั้งๆที่มีรองเท้ามากจนไม่มีที่เก็บอยู่แล้ว
ผู้หญิงบางคนชอบซื้อกระเป๋าถือยี่ห้อแพงๆ แล้วก็ใช้แล้วเปลี่ยนไปตามแฟชั่นอีกต่างหาก บางคนชอบซื้อเครื่องสำอาง ซึ่งซื้อมากจนดูแล้วไม่มีโอกาสใช้ได้หมด เวลานานๆทีก็ต้องกวาดของเหล่านี้ออกไป แล้วก็ไปเริ่มต้นซื้อใหม่อีก ซึ่งนิสัยชอบซื้อของอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลนี้ต้องเลิก ก่อนที่จะกลายเป็นคนป่วยทางจิต ติดยึดกับวัตถุนิยมจนถอนตัวไม่ขึ้น เป็นชีวิตที่สิ้นเปลืองและไร้ทิศทาง
ลองตรองสักนิด การใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเก่า นานต่อไปสัก 1 ปี ก็ประหยัดเงินไปได้กว่า 4,000-5,000 บาทต่อเครื่องต่อปี บางคนไม่ได้ทำงานทางเทคโนโลยีอะไร แต่กลัวตกเทรนด์ มีทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องแบบ Laptop หรือ Notebook มีทั้ง Tablet PC และ Smartphone ซึ่งแต่ละอย่างมีราคาระดับใกล้ 20,000 บาท ต้องถามตัวเองว่าถ้าจะใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ อาจมีเพียงสัก 2 รายการก็พอ ที่เหลืออดใจไว้ ไม่ต้องซื้อ
การไม่ซื้อรถใหม่ ก็ประหยัดเงินไปได้ในแต่ละปี 60,000 บาท การที่อยากมีรถหรูคันละ 4-5 ล้านบาท กับซื้อคันละ 5-6 แสนบาท ก็เป็นยานพาหนะได้เหมือนกัน แถมยังมีค่าดูแลรักษาที่ต่ำกว่ากันมา
อีกอย่างหนึ่ง ต้องคิดถึงนิสัยที่เดินหลงเข้าไปในศูนย์การค้า อย่าติดนิสัยกับการเดินเข้าไปในร้านค้าแล้วจ่ายอะไรมาบางอย่าง โดยไม่ได้ใช้ความคิดให้ดีแต่แรกว่าซื้อมาทำอะไร จำเป็นหรือไม่ หากจะใช้ชีวิตอย่างประหยัดตระหนี่ถี่เหนียว ก็ต้องฝึกให้รู้จักไตร่ตรอง ก่อนจะซื้ออะไร ก็ให้ชะลอไว้สัก 24 ชั่วโมง แต่หลังจากนี้แล้วยังคิดอยากจะซื้ออีก ก็อาจเป็นไปได้ว่ามันมีค่าที่จะซื้อจริงๆ
9. ไม่ซื้ออะไรในราคาเต็ม ซื้อของลดราคา
Never Buy Anything at Full Price
ซื้อของลดราคา ซื้อของมือสอง แต่ยังใช้ได้ดีเหมือนใหม่ ซื้อของอย่างเดียวกันได้ในราคาพิเศษ
ท่านคงเคยซื้อของแบบเห็นแล้วซื้อทันที่ด้วยความพึงพอใจ แล้วไปพบว่าที่อีกร้านหนึ่งเขาขายของอย่างเดียวกันนี้ แต่ในราคาที่ถูกกว่าอีกร้อยละ 20 หรือซื้อของไปแล้ว อีก 2-3 วันสินค้านั้นก็มีการกระหน่ำลดราคาประจำปีลดลงร้อยละ 50 บรรดาสินค้าแฟชั่นนั้น เรามักจะพบว่าราคาจะแพงเป็นพิเศษในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ แต่พอสินค้านั้นออกมามากๆแล้ว ราคาก็จะลดลงอย่างมาก สินค้าด้านคอมพิวเตอร์ทั้งหลายก็เหมือนกัน เมื่อออกสินค้านั้นๆมาได้สัก 5-6 เดือน เราจะกลับไปพบว่าราคาได้ลดลงมาแล้วร้อยละ 30-40 ดังนั้นให้อดใจรอไว้สักหน่อย แล้วรอซื้อของที่ดีเหมือนกัน แต่ราคาถูกลงมาอีกมาก
มีบางคนที่ชอบพาคนไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารบรรยากาศดีๆในโรงแรมหรู ความจริงในแวดวงธุรกิจ การดูแลต้อนรับคนที่ดีนั้นมีคุณค่า สร้างความประทับใจให้กับผู้คบค้า แต่คอยสังเกตให้ดีเถอะ ร้านพวกนี้เขาก็จะมีส่งเสริมการตลาดพิเศษ ลดราคาให้ หากไปกินวันนั้นวันนี้ มีคูปอง ลดราคาให้จริงๆถึงครึ่งต่อครึ่งก็มี หากไปรับประทานในวันเวลา หรือเดือนที่เขาต้องการส่งเสริมการขาย
อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นประสบการณ์ของผมเอง ผมเป็นคนเขียนหนังสือ ต้องการสาระที่ทันสมัย ค้นจากอินเตอร์เน็ตก็ส่วนหนึ่ง แต่มีบางส่วนที่ลึกๆ หาได้ก็ด้วยต้องอ่านพวกนิตยสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือนจากต่างประเทศ ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้จะไม่มีในอินเตอร์เน็ต ด้วยความที่ผมเป็นลูกค้าประจำนิตยสารต่างประเทศฉบับหนึ่งนานนับสิบปี เวลาเขามีนิตยสารดีอื่นๆในเครือ ทีมีการบอกลดราคาเป็นพิเศษ เขาจะติดต่อเสนอให้ราคาพิเศษ เช่นนอกจากลดราคาหากบอกรับเป็นรายปีแล้ว เขาเสนอขายลดราคาแบบจ่ายสด 2 ปี ได้เป็นสมาชิก 3 ปี แถมมีหนังสือดีแถมให้อีกหนึ่งเล่ม หากใช้วิธีการไปเดินซื้อตามร้าน ได้ราคาหนึ่ง แต่สำหรับผมบอกรับประจำในแบบดังกล่าว ราคาจะเหลือเพียงร้อยละ 30 ที่สำคัญนิตยสารเหล่านี้ เขาส่งตรงถึงบ้านอีกต่างหาก
10. เปลี่ยนนิสัยการกินนอกบ้าน
Change the Way You Eat Out
ลองนึกดูว่าการกินนอกบ้านแต่ละครั้งใช้เงินไปประมาณเท่าใด ถ้าเป็นร้านอาหารหรูพอประมาณ ก็ตกประมาณ 350-500 บาทต่อหัว ถ้าหากหรูจริงๆ ก็ตกหัวละ 800-1,200 บาท ยังไม่นับรวมค่าไวน์ เหล้า หรือเบียร์
การเลิกไปกินอาหารตามร้านอาหารหรูนอกบ้าน นับเป็นวิธีการประหยัดเงินได้อย่างหนึ่ง แต่หากจะเลิกไปเลย ก็จะทำให้ชีวิตดูจืดชืดเกินไป จึงให้ใช้วิธีการลดจำนวนครั้งต่อปี หรือต่อเดือน เช่นเคยต้องไปทุกสัปดาห์ ก็ให้ลดลงเหลือ 1-2 ครั้งต่อเดือน และเวลาสั่งของมากินนั้น ก็ให้เลือกในรายการที่ดี แต่ราคาพอเหมาะ ไม่ใช่เลือกอย่างต่ำสุด หรือสูงสุด บางคนนิสัยเสียพอรู้ว่ามีคนเลี้ยง ก็เลยเลือกอย่างที่แพงที่สุด ดูว่าจะแพงสักเท่าใด คนแบบนี้ ถ้าเราต้องเป็นคนเลี้ยงเขา ก็จะรู้ว่าเขามีนิสัยเป็นเช่นไร คงไม่น่าคบนักหรอก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ไปกินแล้วสั่งอย่างถูกที่สุดเท่าที่ในร้านเขาจะมี ดังนี้ก็ดูจะไม่เป็นเหตุเป็นผล เรากินอาหารเพื่อรสอาหาร แต่พอถึงเรื่องเครื่องดื่ม บางคนสั่งไวน์มาขวดละตั้ง 5,000-8,000 บาท ไม่รู้จะกินหรือจะผลาญกันแน่
พวกรสนิยมเลิศวิไลพวกนี้มีสามลักษณะ คือรวยจนกินอะไรก็เป็นของถูกหมด อีกพวกคือกินแพงเต็มที่ หากไม่ต้องเป็นคนจ่าย เขาอยากได้ประสบการณ์เต็มที่ เพื่อเอาไว้คุยต่อๆไป อีกพวกหนึ่งคือไม่ว่าจะเป็นรับเลี้ยงหรือเป็นคนเลี้ยงเขา ก็จะกินอย่างเลิศหรู พวกนี้บางทีหน้าใหญ่ ซึ่งเป็นอันมาก หากไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน อนาคตพวกนี้มักจะเป็นพวกจนลงเรื่อยๆ
ผมเป็นคนเกษียณอายุแล้ว การกินนอกบ้านกับเพื่อนร่วมรุ่นเป็นครั้งคราว พรรคพวกผู้ชายด้วยกันเลือกกินมื้อกลางวันสัปดาห์ละครั้ง เขามักจะเลือกกินที่สโมสรนายทหาร ซึ่งมีสมาชิกบางส่วนเป็นอดีตนายทหารใหญ่ ก็กินกันไม่แพง และใช้ต่างคนต่างจ่าย ทำให้ได้พบปะเพื่อนฝูง และไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล เพราะด้วยวัยก็ไม่ควรดื่มอยู่แล้ว จึงทำให้ต้นทุนอาหารมื้อนี้ไม่ซอมซ่อ แต่ไม่แพง
อีกลักษณะหนึ่ง คือ มีพรรคพวกที่แม้เป็นคนมีเงิน แต่เขาเป็นสถาปนิก ต้องไปออกแบบอาคารสถานที่ต่างๆ รู้ร้านอาหารอร่อยซอกแซกไปทั่ว เป็นร้านอาหารชาวบ้านนี้แหละ แต่อร่อยชนิดจำได้ โดยรวมแล้ว เมื่อจะกินนอกบ้าน ก็ได้มีบรรยากาศที่ดี ไม่แพง และยังมีชีวิตที่น่ารื่นรมย์อีกต่างหาก
No comments:
Post a Comment