ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: Proverbs, สุภาษิต, การสังเกต, Research, การวิจัย, สถิติ
มีสุภาษิตในภาษาอังกฤษบทหนึ่งกล่าวว่า “One swallow doesn't make a summer.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ด้วยความหมายใกล้เคียงว่า “เห็นนกกระจอกหนึ่งตัว ไม่ได้หมายความว่าฤดูร้อนมาถึงแล้ว” ~ สุภาษิตอังกฤษ
ในต่างประเทศ เมื่อยามฤดูหนาว นกเล็กๆอย่างนกกระจอกจะต้องบินลงใต้ เพื่อหลบลมหนาว เมื่อยามอากาศหนาวสุด ในอเมริกาหรือยุโรป มีหิมะตก มีน้ำแข็งเกาะ ก็จะไม่ได้ยินเสียงนกเลย นกเล็กดังนกกระจอก จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ และการก้าวย่างเข้าฤดูร้อน
ในโลกเรานี้ คนเป็นอันมากสรุปบทเรียนของเขาจากสิ่งที่พบเป็นเพียงครั้งแรก และอาจเป็นครั้งเดียวของเขา และในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้
ตัวอย่าง มีเพื่อนคนเหนึ่งสมัยไปเริ่มต้นเรียนหนังสือในต่างประเทศ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา แล้วไปเดินเที่ยวยามเย็นในย่านหนึ่งของกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington D.C.) อันเป็นเมืองหลวง แล้วในวันแรกของเขาก็ถูกคนผิวดำทำร้าย จนสลบไป ต้องไปนอนโรงพยาบาลอยู่หลายวัน และด้วยเหตุดังกล่าว เขาจึงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา และพลอยมีทัศนคติไม่ดีต่อคนผิวดำที่มีเชื้อสายจากอัฟริกาอื่นๆด้วย
ด้วยเหตุของการที่คนๆหนึ่งอาจกำหนดค่านิยม หรือทัศนคติต่อสิ่งต่างๆนั้น จากเพียงประสบการณ์สั้นๆ หรือเพียงครั้งเดียวนี้ หากต้องใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้น คนจะทำงานบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ต้องมีการเก็บข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริง ก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ และมีผลต่อเรื่องนั้นๆทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในที่หนึ่ง และยังที่อื่นๆทั่วประเทศ
ผมเคยพบการวิจัยด้านทัศนคติทางการเมืองที่ทำกันอย่างง่ายๆ โดยใช้ตัวอย่างประชากรในกรุงเทพฯ จำนวนเพียงไม่กี่ร้อยคน และอาศัยวิธีการสุ่มตัวอย่างผู้ตอบจากทางโทรศัพท์ ซึ่งนับว่าง่ายที่สุด แต่เวลาเขาสรุปผลทัศนะทางการเมืองนั้น กลับไปสรุปในภาพรวมระดับประเทศ ประการแรก กรุงเทพฯไม่ใช่ตัวอย่างประชากรที่จะแทนคนทั้งประเทศได้ และประการที่สอง การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ง่ายดี ไม่ต้องเดินทางไปถึงตัวกลุ่มตัวอย่าง แต่มันจะต่างจากประชากรที่เขาไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะใช้โทรศัพท์ มักจะได้แก่คนทำงาน จะมีโอกาสได้ประชากรคนสูงอายุน้อยกว่า ในทางการวิจัย (Research methodology) จึงต้องให้ความสำคัญต่อกลุ่มตัวอย่างอย่างมาก
ในรายการข่าวโทรทัศน์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถนำเสนอภาพอย่างที่เห็น (Perceptions) แต่มีส่วนบิดเบือนภาพความเป็นจริงได้อย่างมาก เช่นถ้าหากอยากจะโจมตีรัฐบาล ไปสัมภาษณ์คนที่เขาไม่พอใจ แล้วนำมาออกรายการ เพียงหนึ่งคนพูด แต่มีคนฟังและดูหลายล้านคน ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลเองก็ใช้กลไกสื่อนี้เอง สร้างกระแสนิยมรัฐบาลที่อาจไม่ใช่ของจริงได้ โดยใช้คนที่ให้สัมภาษณ์ หรือทำเรื่องตามคนๆหนึ่งที่ต้องการจะแสดงความสำเร็จของนโยบายหนึ่ง แล้วให้เขาพูดอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ พูดอย่างเป็นจริง แต่เป็นการพูดเชียร์รัฐบาล ดังนี้ก็มีส่วนโน้มน้าวคนให้คล้อยตามได้
ด้วยเหตุดังกล่าว ประชาชนคนทั่วไปจึงต้องรับฟังความคิดเห็น หรือได้เห็นข้อเท็จจริงที่กว้างขวางมากกว่าการเห็นหรือได้ฟังมาเพียงครั้งเดียวแล้วนำมาสรุป เพราะ “การเห็นนกกระจอกหนึ่งตัว ไม่ได้หมายความว่าฤดูร้อนมาถึงแล้ว”
ภาพ Nick Santorum หนึ่งในผู้สมัครแข่งขันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2012
Nick Santorum ได้คะแนนเสียงนำในการหยั่งเสียงครั้งแรกที่รัฐ Iowa คู่กับ Mitt Romney ผู้สมัครที่เป็นตัวเก็งได้อย่างเหลือเชื่อ ประเด็นอยู่ที่ว่ารับ Iowa เป็นรัฐชาวนาที่คนมีทัศนะเป็นอนุรักษ์ คนที่นำเสนอสิ่งที่เป็นแนวอนุรักษ์ก็ได้รับความนิยม แต่เมื่อต้องหาเสียงไปทั่วประเทศ ซึ่งคนมีลักษณะหลากหลาย มีทั้งที่เป็นสายกลาง หัวก้าวหน้า มีพวกแรงงานที่มีความคิดเห็นที่ต่างกันออกไป คะแนนเสียงของ Nick Santorum จึงต้องได้รับการพิสูจน์ในแวดวงที่กว้างขวางออกไป และที่สำคัญที่สุด ผู้สมัครที่จะได้เป็นตัวแทนนั้น อาจไม่ชนะคะแนนเสียงในการหยั่งเสียงครั้งแรก แต่หากโดยรวม เขาสามารถทำคะแนนได้ดีที่สุด นั่นแหละ คือการตัดสิน
No comments:
Post a Comment