เรื่อง | อนาคตภาพเขตพื้นที่การศึกษาในสองทศวรรษหน้า พ.ศ. 2573 |
ผู้วิจัย | อิสรพงษ์ แสงตะวัน, นาย |
หน่วยงาน | วิทยานิพนธ์ ในโครงการดุษฎีบัณฑิตทางความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยมี ผศ.ดร. กัญญา โพธิวิวัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และ ผศ.ดร. จุมพล พูลภัทรชีวิน, และ ผศ.ดร. สวัสดิ์ โพธิวัฒน์ เป็นกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ |
ตอบข้อคำถามและเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม โดย รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์
รายการเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ – 13 ข้อ
ตอบ ใช่ ทุกข้อ ยกเว้น ข้อ 10
ข้อ 10. ในอนาคต 10-20 ปี ข้างหน้า เศรษฐกิจในโลกตะวันออก นำโดย จีน-อินเดีย และภูมิภาค ASEAN จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป อเมริกาเหนือ
ในอนาคต เมื่อประกอบกับจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลง ดูจาก Population Growth ที่ลดลง ประเทศไทยจะมีเงินที่น่าจะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาได้มากขึ้น การศึกษาจะเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพได้มากขึ้น
รายการเกี่ยวกับด้านสังคม – 12 ข้อ
ตอบใช่ทุกข้อ ยกเว้น ข้อ 5, 6, 10
ข้อ 5. ไม่คิดว่าสังคมไทยในอนาคตจะมีแหล่งมั่วสุมอบายมุขเพิ่มมากขึ้น ระบบสังคมและรัฐควรมีความเข้มแข็งมากขึ้นที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมทางสังคมได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ข้อ 6. สังคมไทยในอนาคตจะลดความแตกแยก และความขัดแย้งรุนแรงลงได้ ความขัดแย้งในปัจจุบัน เป็นผลจากสภาพความแตกต่างทางเศรษฐกิจ คนจนกับคนรวย แต่ในอนาคต ความเป็นประชาธิปไตยในสังคม จะทำให้มีกลไกในการจัดการกับความขัดแย้งได้มากขึ้น ทั้งด้วยกระบวนการทางการเมือง และวิธีการทางสังคม ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
โดยรวมสังคมปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (In transition) สังคมอนาคตจะมีกลไก Conflict Management ที่ดีขึ้น
ข้อ 10. เมื่อระบบสังคมพัฒนาขึ้น ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) จะลดลง สังคมจะต้องยึดถือระบบคุณธรรม (Merit System) ในการจัดการศึกษา และระบบอื่นๆในสังคม ช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมจะลดลง ทุกสถาบันสังคมจะมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป
รายการเกี่ยวกับด้านการเมือง – 11 ข้อ
ตอบใช่ทุกข้อ ยกเว้น ข้อ 6, 7
ข้อ 6. งบประมาณที่มาจากรัฐบาลเพื่อการจัดการศึกษาจะมีการกระจายตัวมากขึ้น และต้องมีเกณฑ์การพิจารณาที่เป็นธรรม โดยมีสูตรค่าใช้จ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางที่ชัดเจน นอกจากนี้ ท้องถิ่นจะมีแหล่งเงินทุกจากรัฐบาลท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นในระดับจังหวัด ตำบอล ฯลฯ ที่จะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาได้มากขึ้น
ข้อ 7. การเมืองมีการเปลี่ยนผ่านกันมากในปัจจุบัน นั่นหมายถึงการเมืองในส่วนกลาง แต่ด้วยขนาดประเทศไทยที่ใหญ่ทั้งพื้นที่และประชากร เราจำเป็นต้องกระจายอำนาจการปกครองและการจัดการศึกษา การเมืองระดับชาติที่แกว่งตัวเปลี่ยนแปลงมากๆ ก็จะต้องกลับสู่ความนิ่ง (Stability) เหมือนลูกตุ้มที่แกว่งไกว แต่แล้วก็จะกลับมาอยู่สภาพนิ่ง มิฉะนั้นก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ และในขณะเดียวกัน เมื่อการเมืองระดับชาติยังไม่นิ่งดังในปัจจุบัน การเมืองท้องถิ่นก็จะต้องพัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็ง และด้วยระบบการศึกษาไม่ว่าจะประเทศใดๆที่ต้องมีการกระจายอำนาจ การบริหารการศึกษาจะต้องปลอดจากการเมืองระดับชาติ “การศึกษาคือการบ้าน” ไม่ใช่การเมืองและการช่วงชิงผลประโยชน์
เหมือนการจัดการน้ำ (Water Management) ที่มีการเมืองเข้าไปวุ่นวายมาก ประเทศไทยจึงประสบปัญหาน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี พ.ศ. 2554 รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 50 ปี ซึ่งทำให้หลายฝ่ายได้ตระหนักแล้วว่า เรื่องน้ำนั้นหนักหนากว่าที่จะปล่อยให้เป็น “การเมือง” หรือระบบพวกมากลากไปเข้ามาสร้างความสับสน ซึ่งเรื่องนี้สามารถเรียนได้จากประสบการณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เขาต้องจัดการน้ำด้วยประสบการณ์มาเกือบพันปี และเขาได้แยกระบบการจัดการน้ำออกจากระบบการเมืองการเลือกตั้ง และความขัดแย้งอย่างที่เป็นอยู่ในบ้านเรา
ในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาดูแลการศึกษาในระดับท้องถิ่นด้วย Community spirit เพราะเขาทำให้กับชุมชนของเขาเอง หากไม่ใส่ใจ ระบบอ่อนแอ ลูกหลานของเขาเองจะเป็นคนรับเคราะห์
รายการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ – 17 ข้อ
ตอบใช่ทุกข้อ ยกเว้น ข้อ 16, 17
ข้อ 16. เยาวชนในอนาคตจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในทางที่ถูกและที่ผิด การใช้ ICT เป็นตัวแปรตาม ตัวแปรต้นก่อนหน้านี้เกิดจากความเป็นผู้นำทางการเมือง สังคม และอื่นๆ หากต้นทางมาในทางที่ถูก ปลายทางก็จะได้รับผลดี
ข้อ 17. เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพื่อการศึกษานั้นจะไม่ใช่ความหรูหราสิ้นเปลือง หากเรามีความสามารถที่จะใช้การนำและการจัดการที่ดี ที่จะรู้จักใช้ ICT อย่างเหมาะสม หากเราลงทุนใช้ ICT ด้วยค่าใช้จ่ายไปในด้านหนึ่ง เราก็ต้องมีหนทางลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เช่นเพิ่ม ICT ก็ต้องลดจำนวนคนที่จะทำงานซ้ำซ้อน ลดเวลาที่ใช้ในการทำงาน ลดเวลาเรียนของนักเรียน ลดหนังสือหรือสื่อในแบบดั่งเดิม (Traditional Media)
เทคโนโลยีไม่ใช่ความฟุ่มเฟือย หากเรามีสติและปัญญาที่จะจัดการ นอกจากนี้ Hardware และ Software ในอนาคต ก็จะมีให้ใช้อย่างกว้างขวาง เรื่องของ Applications ที่เคยเป็นค่าใช้จ่ายมากมายนั้น ในอนาคต ทุกอย่างจะถูกลง จนระดับที่ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือยอีกต่อไป
แนวโน้มการวางแผนของเขตพื้นที่การศึกษาในทศวรรษหน้า – 13 ข้อ
ตอบใช่ทุกข้อ ยกเว้น ข้อ 1
ข้อ 1. เขตพื้นที่การศึกษาวางแผนการศึกษา ไม่ใช่กระบวนการจากเบื้องล่างสู่เบื้องบนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทั้งระบบจากบนสู่ล่าง และจากล่างสู่บนร่วมกันไป
จากล่างสู่บน มิได้หมายถึงเพียงระหว่างครูจากเบื้องล่างสู่ฝ่ายบริหารเบื้องบน แต่หมายถึงระดับชาวบ้านที่เป็นผู้รับประโยชน์ทางการศึกษา ก็ต้องมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ความต้องการของชาวบ้านและชุมชนด้วย เช่นเดียวกับข้อมูลจากภาคธุรกิจ ชุมชน และระดับชาติจากภายนอกด้วย ก็จะต้องส่งผลให้ระบบการศึกษาต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้ตอบรับกับความต้องการ
ด้านการจัดองค์การของเขตพื้นที่การศึกษา – 13 ข้อ
ตอบใช่ทุกข้อ ยกเว้น ข้อ 7
ข้อ 7. การจัดองค์การทางการศึกษาหากเป็นแบบ Top down ดังในปัจจุบัน จะทำให้มีลักษณะโครงสร้างที่เป็นระบบไปในทำนองเดียวกัน แต่หากมันมีฐานประวัติศาสตร์ที่ต่างกันในแต่ละท้องที่ หรือแต่ละรัฐ (States) ดังในกรณีของสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร ซึ่งเขามี 4 ประเทศอิสระในหนึ่งราชอาณาจักรใหญ่ (UK) แต่ความเป็นระบบนั้นไม่สำคัญเท่ากับทำให้ระบบมีความเหมาะสมในการดำเนินการ (Functionality) เช่นบางจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ ดังเช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ อุบลราชธานี ฯลฯ ก็อาจมีรูปแบบอย่างหนึ่ง แต่ในจังหวัดที่มีขนาดเล็ก มีประชากรต่ำกว่า 400,000 คน ก็อาจมีรูปแบบไปในอีกลักษณะหนึ่ง
ด้านภาวะผู้นำของเขตพื้นที่การศึกษา – 19 ข้อ
ตอบใช่ทุกข้อ ยกเว้น ข้อ 1, 7
ข้อ 1. การศึกษาของผู้บริหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคุณสมบัติผู้ทำหน้าที่ทางการศึกษา หากเขาเป็นดำรงตำแหน่ง Director of LEA ดังในสหราชอาณาจักร หรือเป็น Superintendent of School District ดังในประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่ความเป็นผู้นำทางการศึกษา อาจมาจากฝ่ายการเมืองที่ต้องเข้าใจการศึกษา อาจมาจากบุคคล ตัวแทนกลุ่มอาชีพ ชุมชน ที่เข้ามาเป็นกรรมการในระบบการศึกษา (Board Members, Chairpersons) ดังเช่นคณะกรรมการการศึกษาในแต่ละระดับ
ข้อ 7. ผู้นำที่จะมีบทบาททางการศึกษาอาจมาจากหลายฝ่าย อาจไม่ได้เป็นนักการศึกษา ไม่ได้เป็นครูมาก่อน แต่เขาอยู่ในฐานะทำงานด้านการศึกษาได้ดี เป็นผู้นำทางการศึกษาที่ดีได้
ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา มีคนที่เรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ เช่น Government and Policies แต่ได้รับการนำเข้ามาเป็นนักบริหารการศึกษา เป็น Superintendent ของ School District แล้วเขาก็ทำหน้าที่ได้ดี และเป็นตัวนำในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
ความรู้ความสามารถทางวิชาการอาจเป็นคุณสมบัติเพียงด้านเดียว ความสำเร็จทางด้านอื่นๆ ก็สามารถนำมาเป็นประโยชน์ต่อการบริหารและนำทางการศึกษาได้
ด้านการควบคุมของเขตพื้นที่การศึกษา – 15 ข้อ
ตอบใช่ทุกข้อ ยกเว้น 1, 3, 8, 9, 10,
ข้อ 1. หลักของการควบคุมเขตพื้นที่การศึกษาในอนาคตนั้นมีหลายระดับ
รัฐบาลกลาง ในฐานะผู้จ่ายเงินสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ก็ต้องเข้ามาดูแลระบบการศึกษา แต่จะเป็นในระดับห่าง คุมเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายหลักๆ (Policies)
ระบบเขตพื้นที่การศึกษาเอง (School districts, หรือ LEAs ของสหราชอาณาจักร) ก็ต้องมีระบบควบคุมภายใน ทั้งทางด้านการเงิน การบริหาร ต้องมีระบบตรวจสอบภายใน หรือที่เรียกว่า Internal Auditing ซึ่งจะต้องทำให้ระบบข้อมูลมีความตรงไปตรงมา และโปร่งใส
ระบบที่โปร่งใส (Transparency) ก็ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้ให้การสนับสนุนก็สามารถติดตามตรวจสอบการทำงานของเขตพื้นที่การศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ 3. ระบบการควบคุมเขตพื้นที่การศึกษาในอนาคตเมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง ก็จะเริ่มมีระบบที่ทุกฝ่ายรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร
· บางอย่างต้องรายงานเป็นประจำวัน – Daily report
· บางอย่างรายงานเป็นทุกสัปดาห์ หรือเดือน – Monthly report
· บางอย่างรายงานทุก 3 เดือน เรียกว่า Quarterly report
· บางอย่างรายงานเป็นรายปี – Annual reports
ข้อ 8. การควบคุมระบบการศึกษา ต้องมีทั้งส่วนที่เป็นระบบรายงานที่ต้องมี Uniformity คือระบบรายงานนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นกรอบที่จะรายงานให้เป็นไปตามที่กำหนด แต่ขณะเดียวกัน ก็จะเปิดให้แต่ละเขตพื้นที่ต้องมีเป้าหมายที่สามารถกำหนดได้อย่างเฉพาะตัว และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม
ข้อ 9. ระบบบริหารจะไม่มีระบบที่ดีที่สุดที่ตายตัวแน่นอน (There is no one best way.) บางระบบกำลังมีปัญหา ต้องได้รับการแทรกแซงจากภายนอก หรือจากเบื้องบน แต่ในระบบที่สามารถดำเนินการไปได้อย่างดีแล้ว ก็จะได้รับการมอบอำนาจ หรือแม้แต่ให้เป็นผู้นำสำหรับเป็นแบบอย่างแก่ส่วนอื่นๆ ส่วนการจะได้รับการต่อต้าน หรือไม่ต่อต้านนั้น ต้องเป็นศิลปะและศาสตร์ในการบริหาร ที่ผู้นำและผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาจะต้องนำไปดำเนินการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ข้อ 10. – การควบคุมด้วยการไม่ควบคุมนั้น ไม่ใช่สิ่งถูกต้องตายตัว
No comments:
Post a Comment