Friday, January 6, 2012

เพื่อความยุติธรรม ผมควรอธิบายทัศนะของผมต่อหนังสือพิมพ์มติชนอย่างครบถ้วน

เพื่อความยุติธรรม ผมควรอธิบายทัศนะของผมต่อหนังสือพิมพ์มติชนอย่างครบถ้วน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: สื่อสารมวลชน, หนังสือพิมพ์, การเมือง, มติชน

จาก @AquariusNick ถึงผม @pracob --- ผมนึกว่ารู้สึกคนเดียวซะอีกครับอาจารย์ อ่านมา8ปี 2ปีหลังปกแดงมาก พอได้นายกปู ปกมีแต่ตัวละครเดิมซ้ำไปมา+คอลัมน์คำผกา สุดยอดละครับ

@AquariusNick << เพื่อความยุติธรรม ผมควรอธิบายทัศนะของผมต่อหนังสือพิมพ์มติชนอย่างครบถ้วนมากกว่าเพียงบอกว่าเลิกบอกรับหนังสือพิมพ์ของเขาใน Twitter หรือ Social Media อื่นๆ

ในราวปี ค.ศ. 2521 เมื่อผมกลับจากศึกษาต่อปริญญาขั้นสูงในต่างประเทศและกลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเป็นนักวิชาการที่ต้องรู้เรื่องราวบ้านเมืองของตน ต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองผมได้อ่านข่าวสารเศรษฐกิจการเมือง โดยอาศัยหนังสือพิมพ์อย่างมติชนเป็นหลัก นั่นเริ่มตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2521-2523 เป็นต้นมา ผมเลือกอ่านมติชน เพราะเห็นว่าหากจะอ่านหนังสือพิมพ์อะไรสักเล่ม ก็เพื่อให้มีคนช่วยมองภาพสังคมประเทศอย่างมีสายตาเป็นกลางและอย่างมีหลักวิชา ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์นั้น ผมอ่านเอาไว้จับกระแสความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยทั่วไปในยุคนั้นสมัยนั้นๆ

เมื่อย้ายมาทำงานที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานภาควิชาไม่ได้มีการบอกรับหนังสือพิมพ์ฉบับใด ผมจึงบอกรับเองที่บ้าน โดยมีร้านหนังสือใกล้บ้าน มาส่งให้เป็นประจำทุกเช้า ผมได้อ่านก่อนไปทำงาน แล้วบางทีก็นำติดตัวไปอ่านต่อบนรถตอนรถติด ขณะเดียวกัน นอกจากเขียนบทความทางวิชาการตามหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ผมก็ได้เขียนเผยแพร่ความคิดของผมลงในสื่อ และสื่อหลักที่ผมส่งบทความไปลงคือหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งผมถือว่าเป็นเกียรติที่เขาตีพิมพ์บทความของผม

ในระยะหลัง ผมเลิกบอกรับหนังสือพิมพ์มติชนไม่ใช่เพราะไม่ชอบ แต่เพราะคนส่งหนังสือพิมพ์ส่งให้เราช้าเกินไป จนจะออกรถไปทำงานแล้ว หนังสือพิมพ์ยังมาไม่ถึง ผมเลยเลิกบอกรับ แต่ยังเลือกซื้ออ่านจากแผงหนังสือเมื่อใดที่เห็นโปรยข่าวที่น่าสนใจ และต้องการอ่านในรายละเอียด แต่ขณะเดียวกัน เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ผมเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์กระดาษน้อยลง เพราะใช้อินเตอร์เน็ตอ่านข่าวผ่านๆทั้งจากภายในและจากต่างประเทศ และอีกด้านหนึ่งก็อาศัยรับฟังข่าวจากโทรทัศน์ ที่ก็นำข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างๆมานำเสนอในตอนเช้า ขณะที่ขับรถยนต์ที่แสนจะติดขนัดบนถนน ก็ยังมีข่าวจากวิทยุให้รับฟัง และทันเหตุการณ์กว่า รวมความว่านิสัยบริโภคสื่อนั้นหลากหลายลักษณะมากขึ้น

แต่ในระยะหลัง 3-5 ปีที่ผ่านมา ผมเลิกอ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวันอย่างตั้งใจ เรียกว่าเลิกเป็นแฟนประจำ เพราะเห็นว่าหนังสือพิมพ์นี้ ได้เปลี่ยนไปอย่างชัดแจ้ง เกือบจะกลายเป็นกระบอกเสียงของคนเสื้อแดง นปช. และคุณทักษิณ ชินวัตร ความจริงในฐานะนักวิชาการ ผมควรจะอ่านสื่อหลายๆด้าน เพื่อให้เข้าใจวิธีการคิดของคน แม้เมื่อมีการชุมนุมของฝ่ายคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ผมไปสังเกตการณ์ทั้งในต่างจังหวัด และในกรุงเทพฯก็มี

ความจริงผมไม่ได้เป็นกลาง ความคิดทางเศรษฐกิจและการเมืองของผมเปลี่ยนไปตามเวลาและวัยของตนเอง ผมไม่ได้ชื่นชอบต่อคนเสื้อเหลือง หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และไม่ได้รังเกียจคนเสื้อแดง นปช. หรือพรรคเพื่อไทย สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น ในอดีตก็เคยเลือกพรรคไทยรักไทยมาหลายครั้งการเลือกตั้งทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น กทม. แต่กระนั้นในทัศนะต่อสื่อทั้งหลาย ผมก็อยากเห็นสื่อที่เป็นอิสระ ปลอดจากการเมือง การเงิน หรืออำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง

เมื่อก่อน หนังสือพิมพ์มติชน จัดเป็นสื่อหลักของนักวิชาการ ปัญญาชน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ได้จัดว่าเป็นสื่อฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจน หรือเป็นฝ่ายขวาอย่างสุดขั้ว แต่ทำหน้าที่สื่ออย่างตรงไปตรงมา ไม่มีพรรคการเมืองใดเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น แต่มาในระยะหลัง ผมไม่แน่ใจ เช่นเดียวกับผู้อ่านหลายๆคนก็จะรับรู้ได้ว่า มติชนได้เสียความเป็นสื่ออิสระไปแล้ว ในประเทศไทยเรารับรู้ได้ว่าสื่อฉบับใด มีนักการเมืองใดหรือกลุ่มธรุกิจใดหนุนหลัง แต่สำหรับสื่อใหญ่ที่มีสถานะความเป็นสถาบัน สังคมยังหวังว่า สื่อนั้นไม่พึงมีพรรคหรือนักการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าของ ให้สื่อหลักนั้นมีทัศนะที่เอนเอียงอย่างชัดแจ้ง และอย่างต่อเนื่อง

ในต่างประเทศ หนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่าง Time, Newsweek, New York Times, ฯลฯ หรือสื่อโทรทัศน์อย่าง CNN, BBC, Aljazeera เขาต้องมีความเป็นอิสระจากพรรคการเมือง รัฐบาล หรือแม้แต่ฐานประเทศของเขา และนั่นทำให้เขาได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่านและผู้ชม ผมหวังให้สื่อไทย โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์สื่อกระดาษ ที่คนทั่วไปยังเลือกอ่านกัน ให้วางตัวเป็นกลาง เน้นให้วิทยาการและปัญญาแก่ผู้คน

สำหรับสื่อหนังสือพิมพ์นั้น มีโอกาสที่จะเป็นอิสระได้มากกว่าโทรทัศน์ เพราะโทรทัศน์แม้เข้าถึงคนได้มากกว่า แต่ไม่มีอิสระที่จะทำงานสื่อเสรีได้มากเท่า

ในบางครั้ง เมื่อหาสื่อหนังสือพิมพ์ภาษาไทยอ่านไม่ได้อย่างที่ต้องการ ผมก็เลยอาศัยสื่อออนไลน์ ที่จ่ายเงินค่าบอกรับอินเตอร์เน็ตไปทั้ง iPhone และ ADSL เพื่อใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้าน รวมแล้วหลายสตางค์ ก็เลยใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายให้คุ้ม สำหรับตัวเอง ก็ทำตัวเป็นผู้สื่อข่าวอาสาสมัคร อ่านข่าวต่างประเทศ แล้วเลือกแปลและเรียบเรียงนำเสนอเอง แล้วส่งต่ออ่านกันในหมู่วงการ และขณะเดียวกัน ในทางการเมือง ผมก็รับฟังทุกพรรคการเมือง แต่ไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคใดๆ เพื่อจะวิจารณ์ทุกพรรคการเมืองได้อย่างอิสระ

สำหรับผมในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคใดแล้ว นอกจาก “พักผ่อน”

No comments:

Post a Comment