ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การศึกษา, การฝึกอบรม, การเรียนการสอน, ภาษาอังกฤษ
ภาพ ครูกุมารี แย้มศรี โรงเรียนระยองวิทยาคม
จากรายการไปเยี่ยมเยียนคนทำงานครูที่น่าสนใจ thaiteachers.tv โดยโทรทัศน์ ThaiPBS ตอนราวสักตี 5 ของวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555
เรียนๆ เล่นๆ เดี๋ยวก็เก่งภาษา ครูกุมารี แย้มศรี เรื่องราวของครูมืออาชีพ คุณครูกุมารี แย้มศรี โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัด ระยอง จากการศึกษาดูงานในห้องเรียนภาษาอังกฤษในหลายๆประเทศ ได้เห็นประโยชน์ของการใช้เกมในการเรียนภาษาอังกฤษ ทำให้นำประสบการณ์มาต่อยอดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษ Make up story คือ เกมที่จะทำให้นักเรียนได้ฝึกเรื่อง Tense ผ่านการต่อเติมเรื่องราวของเพื่อน ๆ ที่ขึ้นต้นประโยคไว้เพียง 1 ประโยค ซึ่งในท้ายที่สุด จินตนาการของนักเรียน จะสร้างเรื่องราวที่ชวนขันได้อย่างคาดไม่ถึง
ที่โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง www.rayongwit.ac.th เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาสำคัญของจังหวัด มีนักเรียนชาย 1,573 คน และหญิง 2,209 คน รวม 3,782 คนจัดว่าเป็นโรงเรียนชั้นนำของจังหวัด แน่นอนว่าในฐานะที่เป็นจังหวัดพัฒนาด้านอุตสาหกรรม คงมีทรัพยากรมากมายจะพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีอยู่ 4 รายการที่โรงเรียนของรัฐทุกแห่งมักมีปัญหาด้านการเรียนการสอน คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษที่ท้าทายฝ่ายบริหาร
ในวันนี้จะขอยกตัวอย่างเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ สำคัญที่สุดคือต้องมีครูสอนภาษาอังกฤษที่ดี วัสดุอุปกรณ์อื่นๆเป็นเรื่องรอง
จากที่ดูในโทรทัศน์ มีอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่ดี ดังที่เห็นมีอาจารย์ที่เป็นชาวต่างประเทศ ฟังสำเนียง น่าจะเป็นหนุ่มอเมริกันคนหนึ่ง และอีกคนเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่มีสำเนียงที่ดีชัดเจน ไม่ติดไปทาง Tagalish หรือภาษาอังกฤษสำเนียงแข็งๆแบบฟิลิปปินส์ หากเรามีเงินพอ เราคงลงทุนจ้างอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอนได้มากขึ้น
แต่ที่จะหายาก คือครูสอนภาษาอังกฤษที่ทำหน้าที่ได้ดี ที่เป็นคนไทยที่ไม่ได้ไปเรียนในต่างประเทศ อย่างครูท่านหนึ่ง คือครูกุมารี แย้มศรี ดูและฟังอย่างคร่าวๆ ครูเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สนับสนุนให้กำลังใจได้ไปเปิดหูเปิดตาในต่างประเทศ
ในสารคดีได้สัมภาษณ์ครูกุมารี แย้มศรี ที่มีบุคลิกร่าเริง สามารถพูดและเรียบเรียงสิ่งที่พูดได้อย่างเป็นระบบชัดเจน และเข้าใจได้ง่าย มีความสนใจไฝ่หาที่จะพัฒนาการสอนให้ดี มีวิธีการสอนที่กระตุ้นเร้าให้เด็กนักเรียนกล้าแสดงออก และครูก็ทำหน้าที่เป็นดังผู้จัดการประสบการณ์ที่นักเรียนได้นำสิ่งที่เขามีอยู่ได้แสดงออกมาอย่างสร้างสรรค์และสนุกสนาน
ในตอนจบ ครูกุมารี ได้สรุปหลักการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ดีในทัศนะของครูกุมารี แย้มศรี
ครูที่ดี คือต้องเป็น Manager ซึ่งเป็นหลักในการจำคำหลัก 6 ประเด็นต่อไปนี้
Model = การเป็นแบบอย่าง
Apprentice = การได้ฝึกปฏิบัติ ครูที่ดีต้องฝึกฝน มีความรู้และทักษะในสิ่งที่เรียน
Nice = อารมณ์ดี ไม่เครียด ไม่น่ากลัว ยิ้มแย้ม
Active = ผู้สอนตื่นตัว สอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม กระตือรือร้น ข้อนี้จากกิจกรรมที่ครูอยากให้เด็กได้เรียนด้วยเกมส์ (Games) ในชั้นเรียนนั้นใช่เลย
Generous = ใจดี ใจกว้าง เผื่อแผ่ การสอนที่ดีทำให้เด็กรู้สึกเหมือนได้รางวัล แม้คนที่เรียนอ่อน ก็ไม่รู้สึกเหมือนถูกลงโทษ การสอนที่ดีต้องเปลี่ยนใจของเด็กให้ได้ จากเกลียดเป็นไม่เกลียด จากไม่ชอบเป็นชอบ
Entertaining = การสอนที่ดีต้องทำให้ผู้เรียนสนุก ได้มีส่วนร่วม การได้ยิ้มแย้ม มีอารมณ์ขัน เหล่านี้เป็นหลักความสำเร็จของครูที่ดี
Reliable = ครูเป็นที่พึ่งของนักเรียนได้ นักเรียนมีปัญหาก็เข้ามาถามครูได้ในทุกเรื่อง ไม่เพียงเรื่องที่เรียน ข้อนี้ต้องเป็นครูที่มากกว่าครูภาษาอังกฤษ ครูทุกคนควรมีคุณสมบัติข้อนี้
นี่เป็นทัศนะของครูผู้สอนคนเหนึ่งที่เห็นว่าครูที่ดีความมีลักษณะดังกล่าว
สำหรับผม การเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้ดีนั้นต้องให้มีได้ 3 อย่าง คือ Head, Heart และ Hand
Head = หัว หรือ เกี่ยวกับความรู้ หลักวิชา สติปัญญา (Cognitive Domain) ดังเช่น การสอนไวยกรณ์ภาษาอังกฤษ หลักภาษา ซึ่งต่างจากภาษาไทยหลายประการ และผู้เรียนจำเป็นต้องรู้
Heart = หัวใจ ความรัก ความชอบ หรือทัศนคติ (Affective Domain) ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เรียนได้ชอบในสิ่งที่เรียน ผู้สอนก็รักในสิ่งที่จะสอน และเห็นความสำคัญของสิ่งที่จะสอน
Hand = มือ หรือทักษะ หรือ Skills (psycho-motor Domain) การได้ฝึกฝน ได้ทำบ่อยๆ เริ่มจากทำช้า ทำน้อย แต่ทำให้ถูกหลัก แล้วค่อยๆขยายไป
ครูสอนภาษาอังกฤษที่ดีไม่ใช่หาได้โดยง่าย แต่ละแห่งมักจะมีปัญหาในการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษ จนถึงกับต้องจ้างอาจารย์ชาวต่างประเทศ แต่ในทัศนะของผม เห็นว่านอกจากเราต้องจ้างครูชาวต่างประเทศที่มีความสามารถมาสอนในโรงเรียนของเราให้ได้นั้น เราน่าจะจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่ดีที่เป็นคนไทยได้ด้วย
ง่ายที่สุด คือการจ้างครูที่เป็นครูที่ดีแล้ว มีระบบรางวัล ค่าตอบแทนอันควร เพื่อให้เขามาทำหน้าที่สอนในโรงเรียน แต่หากหาได้ยาก ก็ต้องเลือกจากครูที่มีศักยภาพ ในระยะแรก อาจจะไม่ได้คนที่มีคุณสมบัติพร้อม แต่หากเรามีระบบสรรหา คัดเลือก และพัฒนาครูที่ดี ท้ายสุดก็จะได้ครูที่มีความสามารถเพียงพอสำหรับพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย
หากปัจจุบันยังไม่มีครูที่ดีพอ ก็ต้องมีระบบกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาครูภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นมา ซึ่งทำได้โดย การมีระบบรางวัลค่าตอบแทนที่ดี ตลอดจนการมีทุนให้กับครูไทยได้ไปศึกษา ดูงาน หรือฝึกอบรมระยะสั้นในต่างประเทศ ได้ใช้ภาษาในสภาพแวดล้อมในประเทศที่เขาใช้ภาษานั้นๆในการสื่อสารเป็นภาษาหลัก
การมีรางวัลที่ดีสำหรับครูที่สอนในโรงเรียน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักบริหารการศึกษาที่ต้องทำให้ได้ ผมไปเห็นครูเก่งที่ต้องไปแสวงหารายได้สอนนอกโรงเรียน สอนในโรงเรียนกวดวิชาเป็นหลัก จนการสอนในโรงเรียนเป็นงานรอง ผมอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ หากเรามีครูที่ดีสอนในโรงเรียนเป็นหลักได้ สอนให้พอ มีรางวัลค่าตอบแทนให้เขาอย่างเพียงพอ เด็กๆก็ไม่ต้องใช้เวลาเรียนสัปดาห์ละหลายโรงเรียน เกิดความเครียดเกินไป และเป็นผลลบต่อทัศนคติเรียนรู้ตลอดชีวิตของเขา
No comments:
Post a Comment