Friday, January 13, 2012

หน้าที่ของรัฐบาลคือการบริหารความเสี่ยงของสังคม

หน้าที่ของรัฐบาลคือการบริหารความเสี่ยงของสังคม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: เศรษฐกิจ, การเงิน, การคลัง, Risk management, การจัดการความเสี่ยง

หน้าที่ของภาคเอกชนคือการออกไปแข่งขันกับโลกภายนอกด้านธุรกิจ (Competitive function) นับเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในโลกปัจจุบัน ไม่มีรัฐบาลที่ไหนสามารถทำหน้าที่ไปแข่งขันกับโลกภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ล่มสลายลงไปจนเกือบหมดแล้ว เพราะการแข่งขันในตลาดเสรีนั้นรุนแรง และจริงจังมากสำหรับทุกประเทศ สิ่งที่บริษัทเอกชนต้องเผชิญอยู่ทุกวันทุกปี คือความเสี่ยง

หน้าที่ของรัฐบาลคือการบริหารความเสี่ยง (Risk management)

เมื่อเอกชนต้องทำหน้าที่ไปแข่งขันกันทางธุรกิจที่มีความเสี่ยงมาเกี่ยวข้อง และความเสี่ยงบางส่วนนี้ อะไรที่ภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง ดังเช่น ระบบสาธารณูปโภค (Infra-structure) ระบบขนส่ง ระบบป้องกันน้ำท่วม และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ภาครัฐบาลก็แบกรับส่วนนี้ไป เมื่อเอกชนบริษัทห้างร้านแข่งขันไม่ได้ เขาก็เลิกกิจการไป แต่คนงาน ตลอดจนคนที่ต้องตกงานทั้งหลายก็ต้องได้รับการดูแล ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของภาครัฐบาล

ภาพ อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย แข่งขันกับต่างประเทศได้ ด้วยความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมต่างชาติ และนักธุรกิจฝ่ายไทย และแรงงานไทยที่มีฝีมือ แข่งขันได้กับต่างประเทศ รัฐบาลมีหน้าที่ทำระบบ Infra-structure ให้อุตสาหกรรมในประเทศ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ประชาชนต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเองและครอบครัว

เมื่อหน้าที่การออกไปแข่งขันคือภาคเอกชน ภาคประชาชน คนแต่ละคนก็จะต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเองและครอบครัว ต้องทำตนให้พึ่งตนเองได้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่มีทัศนคติแบมือขอเขา นั่นคือประชาชนต้องสร้างตนเองให้เข้มแข็งที่สุด เพื่อให้ภาคราชการทำหน้าที่เฉพาะในส่วนที่จำเป็น และต้องไม่ลืมว่า เมื่อใดที่เราพยายามทำให้รัฐบาลรับงานมากและมีขนาดใหญ่เกินเหตุ นั่นก็เป็นปัญหาด้านความแข็งกระด้าง การสูญเสียประสิทธิภาพทางการจัดการไป

ส่วนในภาครัฐบาล ทั้งรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องทำหน้าที่เหมือนเป็น “แม่บ้าน” ให้กับภาคเอกชนนี้ ก็ต้องทำหน้าที่ดูแลการเงินที่หามาได้ นั่นคือเรื่องของภาษีและการจัดเก็บภาษี นำมาจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นอันเป็นประโยชน์และเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุกฝ่าย อันได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ระบบชลประทาน โครงสร้างการขนส่ง การสื่อสาร สุขภาพอนามัย ดังการดูแลสวัสดิการสุขภาพ การรักษาพยาบาลฟรี การดูแลด้านการศึกษา การพัฒนากำลังคนก่อนเข้าทำงาน และเมื่อต้องเปลี่ยนงาน ออกจากงาน และดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัย ดังเช่นการทหารและการป้องกันประเทศทั้งมวล

ระบบสวัสดิการเป็นสิ่งจำเป็นของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะยามคนขาดที่พึ่ง และช่วยตนเองไม่ได้

บทบาทการดูแลสวัสดิการ (Social welfare) ของประเทศ ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นก็ต่างกันไปในแต่ละประเทศ ประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก ก็ต้องกระจายความรับผิดชอบให้กับท้องถิ่น ส่วนประเทศไทยมีขนาดกลางๆ ก็ต้องหาความพอเหมาะของรัฐบาลส่วนกลาง กับบทบาทรัฐบาลท้องถิ่น และสามารถทำให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอเหมาะ ไม่ใหญ่โตเทอะทะจนเกินไป และเขาจะไม่ปล่อยให้บทบาทดูแลสวัสดิการสังคมไปตกอยู่กับภาคเอกชนมากจนไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ การผลักภาระการดูแลสวัสดิการสังคมให้ไปตกอยู่กับภาคเอกชนมากเท่าใด ก็จะถูกผลักภาระนี้ไปในราคาสินค้าและบริการ และราคาเหล่านี้หากสูงมาก หากสินค้าเป็นเพื่อการบริโภคในประเทศ ก็สามารถแบกรับได้ในระดับหนึ่ง แต่หากสินค้านั้น ต้องผลิตเพื่อการส่งออก ก็จะทำให้สินค้านั้นๆไม่สามารถแข่งขันกับโลกภายนอกได้

ยกตัวอย่าง บริษัทรถยนต์ในสหรัฐ (Cars & Vehicle Industries) นอกจากจะต้องจ่ายค่าแรงงานคนงานบริษัทรถยนต์สูงมากในแบบประเทศพัฒนาแล้ว ยังมีเรื่องของการเสียค่าประกันสุขภาพของคนงาน การเสียค่าสมาชิกของคนงานให้กับสหภาพแรงงานโดยทางอ้อม รวมแล้วทำให้รถยนต์ในสหรัฐแข่งขันกับภายนอกประเทศได้ยาก กิจการอุตสาหกรรมในยุโรปก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน อุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกาเหนือและยุโรปจึงได้แต่คิดในเรื่องรถยนต์ราคาแพง หรือรถยนต์ที่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศที่คิดว่าจะยังพอสู้ได้

สำหรับตลาดที่ยังเหลืออยู่ในอเมริกาเหนือและยุโรป กิจการใดยังพอมีช่องว่างด้านการวิจัยและพัฒนา ทำให้สินค้ามีคุณภาพที่สูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา กิจการนั้นๆก็พอจะดำรงอยู่ได้ แต่หากกิจการใดมีการแข่งขันกันสูง ดังเช่น รถยนต์ระดับล่าง สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อาหารและการเกษตร เหล่านี้ก็ต้องเสียตลาดไปให้กับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ

ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กำลังหาจุดพอเหมาะในการดำรงอยู่ในโลกของการค้าเสรีและตลาดเปิด และเราอยู่ในสถานะที่สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาระบบอุตสาหกรรม การผลิต บริการการท่องเที่ยว และการเกษตร ในปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไปได้ในระดับดีถึงดีมาก หากไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักจากวิกฤติการเมือง หรือภัยธรรมชาติ แต่กระนั้นประเทศไทยก็ต้องมีการจัดการความเสี่ยงในทุกเรื่อง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งหน้าที่นำนี้เป็นของรัฐบาล โดยเริ่มจากรัฐบาลกลาง

บทบาทของรัฐบาลก็ต้องอยู่ในจุดของความสมดุลที่พอเหมาะ ไม่ทำมากหรือน้อยจนเกินไป ทำในส่วนที่จำเป็น ลดความเสี่ยงของสังคมโดยรวม และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับภาคส่วนต่างๆ บทบาทรัฐบาล ระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจึงต้องมีความสมดุล มีการกระจายอำนาจและรวมศูนย์อย่างพอเหมาะและสอดคล้องกัน บางอย่างต้องรวมศูนย์ แต่ละท้องที่ไม่สามารถดำเนินการได้เอง ดังเช่น ระบบป้องกันน้ำท่วม (Flood Management) ต้องนำโดยส่วนกลาง และต้องปลอดจากการเมือง ไม่ทำให้ช่องว่างทางการเมืองเป็นปัญหาในการจัดการน้ำ มีความฉับไวและแม่นยำด้านข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ แต่ในบางอย่าง เช่น การศึกษาระดับพื้นฐาน ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และการอาชีวศึกษานั้น เป็นเรื่องที่สามารถกระจายความรับผิดชอบและดึงภาคท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นผู้ร่วมได้เสีย สนับสนุนการศึกษาได้

ส่วนบทบาทภาคเอกชน มีทั้งบทบาทภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งกิจการขนาดใหญ่ กิจการขนาดกลาง และกิจการขนาดเล็ก กิจการใดได้รับผลกระทบจากระบบตลาดเปิดต้องแข่งขันระหว่างประเทศ เราก็ต้องดูแลว่า สินค้าและบริการที่ต้องมีการส่งออกนั้น ต้องไม่ปล่อยให้เขาแบกรับภาระที่ไม่จำเป็นมากจนกระทั่งทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน (Economic Competiveness) แล้วท้ายสุดก็ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งก็จะนำมาสู่สภาพเศรษฐกิจถดถอยของประเทศโดยรวม

กิจการใดที่ต้องระบายออกนอกประเทศ เพื่อให้สามารถควบคุมราคาสินค้าในประเทศให้พอเหมาะ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ก็ต้องทำอย่างพอเหมาะ แต่ไม่ใช่ไปอุ้มหรือแบกรับ จนกิจการนั้นขาดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการผิดข้อตกลงการค้าเสรี และอาจถูกปรับ หรืออยู่ในข่ายถูกลงโทษทางการค้าได้ ยกตัวอย่าง ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา เหล่านี้มีทั้งเพื่อตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ หากกลไกราคาถูกสร้างมาที่ผิดจากความเป็นจริงมาก ก็จะทำให้ขายออกนอกประเทศไม่ได้ หรือได้ก็ด้วยการต้องนำเงินส่วนอื่นๆไปสนับสนุนมากจนเกินไป

สิ่งที่รัฐบาลควรดูแลโดยรวมแล้ว ก็คือ การทำหน้าที่บริหารความเสี่ยง ลดความเสี่ยงของทุกภาคส่วนลง ทำให้แต่ละส่วนมีความแข็งแกร่ง ให้ดำรงอยู่ได้ แข่งขันได้ในระบบเปิด อะไรที่ผลิตหรือบริการไม่ได้ดี ต้องมีการนำเข้า ก็ต้องยอมรับสภาพ ลดหรือเลิกผลิต และหันไปทำในส่วนอื่นๆที่เรายังมีความได้เปรียบอยู่ และในช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยแทรกแซง เพื่อลดความเดือดร้อนของคน และทำให้เขาเปลี่ยนผ่านไปสู่จุดที่กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง

ภาพ ข้าวไทย เป็นสินค้าทั้งบริโภคในประเทศและส่งออกอย่างมีความสมดุลมาตลอด เมื่อส่งออกก็สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ส่วนในประเทศก็มีสินค้าในราคาพอเหมาะสมที่คนทุกระดับบริโภคได้ ส่วนราคานั้นให้เหมาะสมที่ชาวนาสามารถดำรงอยู่ได้

ภาพ เมื่อแรงงานมีราคาสูงขึ้น หาแรงงานหายากในภาคการเกษตร เกษตรกรก็ปรับตัวด้วยการหาเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตร ภาพที่เห็นเป็น Combine ที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวข้าวได้ ลดแรงงานคนในการเกี่ยวข้าวลงไปได้มาก

No comments:

Post a Comment