Tuesday, May 10, 2016

สถาบันอุดมศึกษาไทย กับการกระจายอำนาจการศึกษา

สถาบันอุดมศึกษาไทย กับการกระจายอำนาจการศึกษา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com


ภาพ อาคารฝายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (SRRU)

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การกระจายอำนาจ, decentralization, การอุดมศึกษา, higher education, tertiary education, มหาวิทยาลัย, สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

เรื่องยืดเยื้อในการแต่งตั้งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่ในที่สุดศาลตัดสินจำเลย คืออดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการแห่งประเทศไทยมีความผิด ติดคุก และต้องจ่ายค่าปรับ ลองอำนจากข้อความเหล่านี้ครับ


สะเทือนทั้งแผ่นดิน

เปิดคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 2812/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 2042/2559 ศาลอุทธรณ์ ความอาญา นางอัจฉรา ภาณุรัตน์ โจทก์ นายสุเมธ แย้มนุ่น จำเลยที่ 1 จำเลยมีหน้าที่ทำคำเสนอแนะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯอธิการบดี โดยไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจยับยั้ง หน่วงเหนี่ยว หรือสั่งการให้สภามหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงมติแต่อย่างใด

แต่จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ เพื่อมิให้โจทก์มีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับเดิมของมหาวิทยาลัยจำเลยทราบอยู่แล้วว่า ข้อบังคับเดิมที่กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีขัดกับ พรบ.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาและข้อกล่าวหาก็ไม่ใช่ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยไม่ดำเนินการสอบสวนให้เสร็จภายในกำหนด 180 วัน จำเลยมอบให้สภาฯสอบข้อเท็จจริงเป็นเบื้องต้น ปรากฏว่าไม่มีมูล จำเลยกลับตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงใหม่ แต่งตั้งบุคคลภายนอกที่มีตำแหน่งต่ำกว่าโจทก์เป็นประธานกรรมการ สภามหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ความเห็นชอบในการตั้งกรรมการ ขัดกับข้อบังคับมหาวิทยาลัย

จำเลยไม่เคยเร่งรัดการดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จและไม่เคยโต้แย้งการดำเนินการสรรหาอธิการบดีของสภามหาวิทยาลัยว่าไม่ชอบด้วยข้อบังคับแต่อย่างใด

การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย พยายามหาเหตุต่างๆมาอ้างเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามและหลีกเลี่ยงที่ไม่ดำเนินการเสนอชื่อโจทก์เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็นอธิการบดีจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท รอลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี

เรื่องนี้มีผลต่อวิธีการคิดเรื่องการบริหารสถาบันอุดมศึกษาของไทยอย่างไร (Governance of higher education in Thailand) ฐานคิดของคนทำงานในทบวงมหาวิทยาลัย หรือสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา คิดอย่างหนึ่ง คือคิดว่าสถาบันอุดมศึกษา คือหน่วยงานในสังกัดของส่วนกลาง ต้องเชื่อฟังอำนาจของส่วนกลาง แต่วิถีการบริหารสถาบันอุดมศึกษาในยุคใหม่ เขามอบอำนาจให้กับแต่ละสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้มีคณะกรรมการสภาสถาบัน หรือจะเรียกในภาษาอังกฤษว่า Boards of governance, Boards of trustees, หรือ Board of regents คณะกรรมการเหล่านี้มีหน้าที่เป็นตัวแทนของสาธารณะหรือประชาชน เข้าไปดูแล กำกับ และตัดสินใจกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้น เพื่อให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อย่างมีความโปร่งใส และเพื่อประโยชน์ของมหาชนเป็นหลัก
วิธีการคิดของส่วนกลางที่ยื้ออำนาจ แสดงอำนาจเกินของเขต ย่อมเป็นผลเสีย เกิดความกระอักกระอ่วนในการบริหารงานโดยไม่จำเป็น ขยายความขัดแย้งในแต่ละสถาบัน 

หากฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยกระทำผิดกฎหมาย ส่วนกลางก็สามารถสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้ สั่งฟ้องร้องได้ ส่วนฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย แม้ยังมีเรื่องฟ้องร้องกัน ก็ยังบริหารงานต่อไปได้ แต่ไม่ใช่เข้าไปยื้ออำนาจกับสถาบันในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนอนุบาลหรือประถมศึกษา

อีกส่วนหนึ่งที่ส่วนกลางสามารถทำได้ คือ ศึกษาเรื่องการได้มาของกรรมการสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นว่ายังเป็นปัญหาอยู่ในหลายๆสถาบัน แต่เรื่องดังกล่าวพึงกระทำโดยการดึงเอาประชาชน ส่วนท้องถิ่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของสถาบัน กรรมการสถาบันที่มีฐานอำนาจจากชุมชน มีเงินและทรัพยากรสนับสนุนให้มากขึ้น ลดจำนวนกรรมการสถาบันที่เป็นตัวแทน ทั้งฝ่ายบริหาร และตัวแทนฝ่ายอาจารย์ลงไป การมีตัวแทนจากภายในมากเกินไป กลับไปสร้างรูปแบบการบริหารแบบอิงการเมือง (Political model) บั่นทอนประสิทธิภาพการบริหารโดยไม่เกิดประโยชน์

ส่วนการได้มาซึ่งอธิการบดี เป็นบทบาทและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย หากมีข้อบกพร่อง นายกหรือประธานสภาฯ กรรมการสภาฯ ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบ แต่โดยประเพณี หากอธิการบดีทำผิดพลาด สภาก็มีสิทธิในการว่ากล่าว ตักเตือน หรือให้ออกจากงาน แต่หากเขาทำดีมีประโยชน์ ก็ต้องส่งเสริม

ส่วนกลางไม่พึงเข้าไปขัดขวางการทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย แต่ควรส่งเสริมให้สภาฯได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ต้องเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยของรัฐ คือ มหาวิทยาลัยของประชาชน และชุมชน ไม่ใช่ของอาจารย์ หรือฝ่ายบริหาร

ประเทศไทยต้องมีการกระจายอำนาจ (Decentralization) เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็เดินทางไปในแนวนี้ สถาบันอุดมศึกษาเป็นส่วนที่ง่ายที่สุดที่จะมีการกระจายอำนาจ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับคนที่มีความรู้ความสามารถ

การตัดสินของศาลดังได้พรรณนาในเบื้องต้นนี้ น่าจะบันทึกไว้เป็นบรรทัดฐานแก่มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค และส่วนกลางทั้งหลาย

ก้าวต่อไป มหาวิทยาลัยของรัฐอย่างกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ควรได้คิดรูปแบบการออกจากระบบราชการ แล้วให้ไปอิงกับฐานชุมชน จังหวัด ฝ่ายบริหารส่วนกลางดังเช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ก็ต้องไปคิดรูปแบบและสัดส่วนการสนับสนุนทางการเงินและทรัพยากรแก่สถาบันพัฒนาท้องถิ่นเหล่านี้

แต่สิ่งที่ไม่ควรทำ คือการไปยื้ออำนาจของสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่นเหล่านี้

Friday, May 6, 2016

ถึงเวลาต้องปฏิวัติกรุงเทพฯ – เริ่มจากปัญหาพื้นฐานอย่างแผงลอยบนทางเท้า

ถึงเวลาต้องปฏิวัติกรุงเทพฯ – เริ่มจากปัญหาพื้นฐานอย่างแผงลอยบนทางเท้า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, ชุมชนเมือง, urban, urbanization, 
กรุงเทพมหานคร, Bangkok, Bangkok metropolitan area, street vendors, การขนส่ง, transportation, การวางผังเมือง, city planning


ภาพ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

แผงลอยบนทางเท้า – กรณีศึกษาของการเปลี่ยนแปลง (Planned Change)

ภาพ ขายน้ำและเครื่องดื่มด้วยรถเข็น ในกทม.


ภาพ การตั้งแผงลอยขายของในย่านผู้คนหนาแน่นในกทม.

แผงลอยบนทางเท้าในกรุงเทพฯ (Street vendors in Bangkok) เกิดขึ้นและเพิ่มมากที่สุดในช่วงมีการเมืองการเลือกตั้ง โดยนักการเมืองอ้างประชาชนไม่มีที่ทำกิน ต้องผ่อนผัน นักการเมืองได้คะแนนเสียง ได้พวก แถมได้เงินค่าส่งส่วย ร่วมไปกับข้าราชการทั้งส่วนตำรวจและการปกครองท้องถิ่น ต่างช่วยกัน ปกป้องกัน และได้ผลประโยชน์ร่วมกัน แผงลอยผิดกฎหมาย เป็นสัญลักษณ์ของการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีนักการเมืองและข้าราชการที่ได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้แน่

แผงลอยที่เกิดขึ้นบนทางเท้า ตามย่านชุมชนต่างๆในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ทิศทางของสังคมเมืองยุคใหม่ โดยเฉพาะในเมืองอย่างกรุงเทพฯที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองนักท่องเที่ยวอันดับต้นๆของโลก ทิศทางของการพัฒนาประเทศและโลก คือการมีเมืองที่มีระเบียบ เคารพในสิทธิของทุกฝ่าย โดยเฉพาคนเดินถนนที่ต้องการสัญจรอย่างสะดวก ปลอดภัย แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่การรุกล้ำทางเท้ากลับหนักยิ่งขึ้น แต่ในที่สุด มันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนด้วยเหตุใด และอย่างไร?

1.    คนโดยทั่วไปในกรุงเทพฯมีสภานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีคนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ต้องการวิถีชีวิตที่สะดวก สะอาด สบาย และในราคาค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงเกินไป คนทั่วไปปัจจุบัน หันไปเดินตามห้างทั้งใหญ่เล็ก ที่เดินทางไปมาสะดวก สภาพอากาศสบายไม่ร้อนและอบอ้าว มีสินค้าและบริการที่ราคาไม่แพง ซึ่งศูนย์การค้าทั่วไปมีทางเลือกที่เป็นคำตอบให้ได้ ส่วนการซื้อสินค้าได้สะดวกใกล้บ้าน ก็มีร้านสะดวกซื้อ (Convenient stores) ต่างๆ ผลุดขึ้นนับเป็นหมื่นๆร้านทั่วประเทศ และกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล

2.    มีร้านค้าแบบห้องแถว นับหลายแสนร้าน ที่ทรุดโทรมลง เพราะคนเดินทางไปจับจ่ายไม่สะดวก ลองไปศึกษาค่าเช่าร้านแล้ว ถูกเกือบเท่าๆกับห้องพักหรืออพาร์ทเมนท์ ห้องแถวเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกเจ้าของทุบทิ้งเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ แต่ห้องแถวเก่าที่ยังมีอยู่ มีทางเลือกอื่นๆที่จะพัฒนาเพื่อฟื้นฟูได้ เช่น การพัฒนาให้มีที่จอดรถร่วม (Parking lots) มีที่จอดรถจักรยาน ที่คนในชุมชนใกล้เคียง สามารถมาซื้อสินค้ากลับบ้านได้อย่างสะดวก ผู้เขียนได้ทดลองใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแล้ว ภายในระยะ 5 กม.จากบ้าน คนสามารถใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้อย่างสบาย จักรยานทั่วไป สามรรถขนสินค้าได้ขนาด 10-12 กิโกกรัมได้เป็นปกติ

3.    เพิ่มแรงผลักเพื่อการเปลี่ยนแปลง – คนไม่พอใจต่อสภาพไร้ระเบียบของกรุงเทพฯและประเทศไทยมีมากขึ้น คนไม่ชอบคนเห็นแก่ตัวที่ใช้ความได้เปรียบจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ในขณะที่คนอื่นๆที่ทำถูกกฎหมายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ประชาชนทั่วไปอยากให้เอาจริงกับพวกบุกรุกป่า พวกรุกทางเดินเท้าข้างถนนที่ก็แคบมากๆแล้ว

การลดแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง - กรุงเทพฯ ถึงเวลาที่ต้องเก็บกวาดให้สะอาดแล้ว แต่ทำอย่างไรจึงจะให้มีแรงต่อต้านที่น้อยที่สุด คนยากจนมีทางออกทางเลือก ลองวิเคราะห์ประเด็นต่อไปนี้

4.    วิเคราะห์ให้ดี คนที่ค้าขายของข้างถนนอย่างผิดกฎหมาย ไม่ใช่คนยากจนอีกต่อไป หากไปสังเกตตามข้างถนน สินค้ามาจากคนลงทุน มีระบบสายส่ง จัดรถขนของมาส่ง คนขายที่เป็นคนไทยที่ยากจน จริงๆแล้วเปลี่ยนอาชีพไปเยอะ ไม่ใช่ผู้ประกอบการ แต่เป็นพวกรับจ้างขาย บางส่วน คนขายกลายเป็นคนต่างชาติ โดยเฉพาะในบริเวณที่การซื้อขายต้องการคนรู้เรื่องภาษาอังกฤษ ภาษาจีน สื่อสารได้ ทางเท้าย่านที่เคยขายนักท่องเที่ยว เดี๋ยวนี้เขารู้ราคาสินค้ามากขึ้น เขาสามารถไปซื้อเอาตามห้างที่มีบริการขายปลีกและขายส่ง ติดต่อกันทั้งออนไลน์ มาดูสินค้า แล้วเลือกซื้อไปได้เป็นจำนวนมาก

5.    ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ครั้งต่อไป คนจะหันไปเลือกคนที่มีนโยบาย “คนแข็งแรง” (Strong man) ที่ซื่อสัตย์ เข้มแข็งพอที่จะทำให้กรุงเทพฯสะอาด มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีกลยุทธหาเสียงที่หวังได้คะแนนเสียงคนชั้นกลาง เพียงแต่ต้องไม่ไปต่อต้านทำลายล้างคนระดับล่าง เหมือนที่ครั้งหนึ่ง คนเลือกพลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะเชื่อมั่นว่าไม่โกง และกล้าพอที่จะทำในสิ่งต่างๆอย่างบริสุทธิยุติธรรม คนที่จะได้รับเลือก คือคนที่แสดงให้เห็นขั้นตอนว่าจะนำกรุงเทพฯไปสู่ความเป็นเมืองแบบอย่างได้อย่างมีขั้นตอน (Planned change)

6.    ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนต่อไป ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค แต่แน่นอนว่าต้องเป็นคนที่มีฐานเสียงจากส่วนตัว ด้วยผลงานการทำงานให้สาธารณะรูปแบบใดแบบหนึ่ง ที่สำคัญต้องมีวิสัยทัศน์ และวิธีการคิดแบบใหม่ ดังเช่น เรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสำหรับคนกรุงเทพฯและชานเมือง ต้องมองภาพการมีระบบขนส่งมวลชน ยานพาหนะทางเลือก ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถประจำทางไฟฟ้า ซึ่งต้องมีระบบชาร์จไฟในที่สาธารณะ ต้องมองศักยภาพการใช้รถจักรยานในกรุงเทพฯ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง ต้องมีทั้งนโยบายกีดกันยานพาหนะบางประเภท และส่งเสริมบางประเภท


ภาพ ในกทม. การแก้ปัญหาหาบเร่ แผงลอย ต้องคิดร่วมไปกับการแก้ปัญหาจราจร


ภาพ การเดินทางและขนส่งด้วยรถจักรยานยนต์ในเมืองใหญ่อย่าง กทม. ต้องมีการจัดระเบียบใหม่ อาจใช้รถเมล์เล็กเพิ่มขึ้น โดยให้เป็นรถไฟฟ้าหรือไฟฟ้าลูกประสม ลดมลพิษทางอากาศ ลดความแออัดบันท้องถ่นน

ภาพ ถนนบางสายในกทม. ที่เป็นย่านการจราจรหนาแน่น แต่ในบางวันได้เปลี่ยนเป็นถนนคนเดิน (Walking streets) 


ภาพ หาบเร่ หรือขายของข้างถนน สามารถจัดระบบ หาที่ขายที่เป็นที่เป็นทาง กึ่งถาวร ไม่ต้องขนมาขายทุกเช้า และต้องรอเก็บของในทุกเย็นหรือดึก ย่อมเป็นประโยชน์ต่อคนขายมากขึ้น