Sunday, November 30, 2014

ตระกูลแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt family) ตระกูลที่เคยมั่งคั่งที่สุดในอเมริกา

ตระกูลแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt family) ตระกูลที่เคยมั่งคั่งที่สุดในอเมริกา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Updated: Monday, December 1, 2014

Keywords: ประวัติศาสตร์, เศรษฐกิจ, สหรัฐอเมริกา, แวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt family, กิจการเดินเรือ, shipping, การรถไฟ, railway

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

ความนำ

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำกล่าวว่าความมั่งคั่งของตระกูลใดๆ มักจะคงอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วคน และหลังจากนั้นก็จะลดความสำคัญลง กิจการของครอบครัวแม้จะยังคงชื่อไว้ แต่ก็จะเปลี่ยนมือไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ บ้านใหญ่ที่เคยอยู่ ก็จะถูกขายหรือทุบทำลายเพื่อใช้พื้นที่ทำกิจการอื่นๆที่ให้มูลค่าตอบแทนทางธุรกิจมากกว่าต่อๆไป

ครอบครัวแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นประจักษ์พยานของการเกิดและการดับสูญ ไม่มีครอบครัวใดหรือราชวงศ์ใดที่จะคงอยู่ได้อย่างยืนยาวตลอดไป แต่สิ่งที่จะคงอยู่ได้แท้จริง คือสิ่งที่เขาได้มอบไว้ให้แก่สังคมต่อๆมา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย โรงพยาบาล กองทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ ที่ดินเพื่อสาธารณะ ฯลฯ จะยังคงปรากฏด้วยชื่อของวงศ์ตระกูลหรือตัวเขาที่ติดตราตลอดไป


ภาพ หนึ่งในคฤหาสน์ของบุคคลในตระกูลแวนเดอร์บิลท์ เมื่อสถานะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ก็ต้องขายทิ้ง หลายแห่งถูกเก็บรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์



ภาพ สุสานของตระกูลแวนเดอร์บิลท์The Vanderbilt family mausoleum

ตระกูลแวนเดอร์บิลท์
Vanderbilt

เชื้อสาย
Ethnicity
อเมริกัน-ดัช
Dutch-American
เขตในสหรัฐอเมริกา
Current region
ฝั่งตะวันออกของอเมริกา
United States East Coast
แรกเริ่มสะกดว่า
Earlier spellings
Van der Bilt, van Derbilt
แหล่งกำเนิด
Place of origin
สมาชิกครอบครัวที่มีชื่อเสียง
Notable members
ที่พัก
Estate
ชื่อและความหมาย
Name origin and meaning
Dutch Van de[r] Bilt("from De Bilt")

แวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt family) เป็นตระกูลชาวดัช (Dutch, Netherlands) หนึ่งที่ได้เติบโตมั่งคั่งในสหรัฐอเมริกา ในยุคก้าวสู่ความมั่งคั่ง (Gilded Age) ความสำเร็จของตระกูลเกิดจากการมีธุรกิจเดินเรือและอาณาจักรรถไฟ (Shipping and railroad empires) ซึ่งเริ่มโดยนายคอเนลเลียส แวนเดอร์บิลท์ (Cornelius Vanderbilt) ครอบครัวได้ขยายกิจการไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ และรวมถึงกิจกรรมสาธารณกุศล ลูกหลานตระกูลเมื่อมีความมั่งคั่งแล้วก็สร้างคฤหาสหรูเอาไว้มากมาย รวมทั้งที่ถนนสายที่ 5 อันมีชื่อเสียงของเกาะแมนฮัตตันของเมืองนิวยอร์ค (Manhattan, New York City) คฤหาสน์ดูร้อน (Summer Cottage) ที่เมืองนิวพอร์ต รัฐโรดไอซ์แลนด์ (Newport, Rhode Island) บ้านบิลมอร์ ที่รัฐแคโลไรน่า (Bilmore House, North Carolina) และบ้านหรูอื่นๆอีกมาก

ความหรูหรามั่งคั่งของตระกูลแวนเดอร์บิลท์ยืนยาวจนกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อบ้านที่ถนนสายที่ 5 ในเขตแมนฮัตตัน เมืองนิวยอร์คต้องถูกทำลายลง และบ้านหรูอื่นๆของตระกูลต้องขายและกลายเป็นพิพิธภัณฑ์หรือกิจการอื่นๆ การล่มสลายของตระกูลแวนเดอร์บิลท์ถูกขนานนามว่า “การล่มสลายของราชวงศ์แวนเดอร์บิลท์” (Fall of the House of Vanderbilt) แม้ปัจจุบันความมั่งคั่งของตระกูลได้ลดลงไปอย่างมาก แต่ตระกูลแวนเดอร์บิลท์ก็ยังได้ชื่อว่าเคยเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา

ครอบครัวแวนเดอร์บิลท์ยังปรากฏในอเมริกาฝั่งตะวันออก บุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นเชื้อสายของตระกูล ได้แก่ แซนดรา ทอปปิง (Sandra Topping) หลานสาวของ Alfred Gwynne Vanderbilt นักออกแบบเสื้อผ้า Gloria Vanderbilt มีลูกชายคนหนึ่ง คือ Anderson Cooper ซึ่งเป็นผู้ประกาศขาวและจัดรายการข่าวชื่อดังของโทรทัศน์ CNN


ภาพ ส่วนหนึ่งของวิทยาเขตมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) ที่ริเริ่มก่อตั้งด้วยเงินส่วนหนึ่งของตระกูลแวนเดอร์บิลท์


Monday, November 24, 2014

จากแนวคิดคิบบุตส์ (Kibbutz) สู่ชุมชนเกษตรกรรมยุคใหม่ ในประเทศไทย

จากแนวคิดคิบบุตส์ (Kibbutz) สู่ชุมชนเกษตรกรรมยุคใหม่
ในประเทศไทย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Updated: Monday, November 25, 2014

Keywords: การพัฒนาชุมชน, community development, การเกษตร, agriculture, ชุมชนเกษตรกรรม, agricultural development, คิบบุทซ์, Kibbutz, อิสราเอล, Israel, ประเทศไทย, Thailand

ความนำ

ผมไปท่องเที่ยวประเทศอิสราเอลมา 2 สัปดาห์ ได้แรงดลใจในการคิดพัฒนาชนบทประเทศไทย จึงได้รับปากสถาบันเอเซียศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ว่าจะเขียนเรื่อง "จากแนวคิดคิบุตส์สู่ชุมชนเกษตรกรรมยุคใหม่ในประเทศไทย" -  From Kibbutz of Israel to new idea of Agri-community development in Thailand จะใช้เวลาประมวลความคิดให้ชัดเจน และนำเสนอเป็นภาษาไทยเสียก่อน แล้วจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษในแนวเดียวกัน

ขณะนี้ได้จัดเวลาว่างวางแนวเรื่องและเริ่มเขียนแล้วครับ ฉบับร่างแรกๆ ก็จะเปิดไว้ใน Facebook เพื่อฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากเพื่อนๆผู้มีประสบการณ์และความคิดเห็น และเปิดเพื่อรับฟังทัศนะจากบุคคลทั่วไป

ภาพ ขึ้นรูปด้วยหนุ่มสาวอิสราเอลที่ในประวัติศาสตร์ ไปก่อตั้งดินแดนใหม่ด้วยชุมชนเกษตรกรรมใหม่ Kibbutz ไปด้วยความหวังและอุดมการณ์ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการมากนัก แต่ใจครับ ใจที่แข็งแกร่ง และความหวังที่ยิวทั่วโลกได้ฝากไว้ เขาทำมันสำเร็จ ครับ มันก็เหมือนกับภาพ งานใหม่หรือความคิดใหม่ที่ต้องเดินขึ้นเขา

วัตถุประสงค์

บทความนี้เป็นเอกสารเริ่มต้นด้านแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนการเกษตรอุดมคติขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบ (Pilot project) ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการพัฒนาชนบทในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.    การสร้างความกินดีอยู่ดีอย่างพอเพียง (Sufficiency economy) กับประชาชนในภาคชนบท ด้วยการพัฒนาชุมชนการเกษตร (Agricultural community) ในแบบต้องรวมกลุ่มกัน (Collectiveness)
2.    การใช้ที่ดินขนาดใหญ่พอ วัสดุอุปกรณ์ และมีการลงทุนอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ (Optimal use of resources) ลดต้นทุนการผลิตในส่วนที่ต้องไปเช่าที่เพื่อมาทำการเกษตร ลดต้นทุนความซ้ำซ้อน
3.    สามารถใช้วิทยาการก้าวหน้า (Advanced technology) มาใช้ในการเกษตร แม้กับชาวชนบทที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกฝนด้านการเกษตรยุคใหม่
4.    สามารถใช้ความเป็นปึกแผ่น เป็นองค์กรนำในการแก้ปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy and environment) ในประเทศไทย

ความหมายของ  Kibbutz

คิบบุทซ์ (Kibbutz) ในภาษฮิบรู แปลเป็นอังกฤษว่า Gathering, clustering และแปลเป็นไทยได้ว่า “การมารวมกัน การเกาะกลุ่มกัน” และหากคิบบุทซ์หลายๆแห่งหรือมากกว่า 1 ขึ้นไปเรียกว่า Kibbutzim และคนที่อาศัยอยู่ในคุบบุทซ์เรียกว่า kibbutznik (Hebrew:קִבּוּצְנִי )


ภาพ ชุมชนคิบบุทซ์ (Kibbutz) ในประเทศอิสราเอลแห่งหนึ่ง

คิบบุทซ์เป็นชุมชนอยู่ร่วมกันในประเทศอิสราเอลที่โดยกำเนิดหวังเป็นชุมชนการเกษตร คิบบุทซ์แห่งแรกตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1909 ในปัจจุบันการทำไร่ทำนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุมชนคิบบุทซ์ เพราะยังมีสิ่งที่ทำให้เกิดรายได้เลี้ยงตัวเองของคิบบุทซคืออุตสาหกรรม ตลอดจนถึงการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

คิบบุทซ์เริ่มต้นด้วยความเป็นชุมชนอุดมคติ (Utopian communities) เป็นการประสมประสานระหว่างสังคมนิยมและยิวชาตินิยม (Socialism and Zionism) ในทศวรรษหลังๆ คิบบุทซ์บางแห่งได้กลายเป็นเอกชนและวิถีชีวิตคนในชุมชนก็เปลี่ยนไป

ในปี ค.ศ. 2010 มีคิบบุทซ์ในอิสราเอล 270 แห่ง มีโรงงานและฟาร์มที่ให้ผลผลิตเป็นร้อยละ 9 ของอุตสาหกรรมของอิสราเอล มีผลผลิตรวม 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (USD) หรือ 256,000 ล่านบาท/ปี เป็นผลผลิตทางการเกษตร USD 1,700 หรือ 54,400 ล้านบาท คิบบุทซ์บางแห่งได้พัฒนาไปทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมทางการทหาร ยกตัวอย่างคิบบุทซ์ซาซา (Kibbutz Sasa) มีสมาชิก 200 คน สามารถสร้างรายได้ปีละ USD 850 ล้านจากอุตสาหกรรมพลาสติกที่ใช้ในทางการทหาร

ปัญหาความยากจนในชนบทไทย

ปัญหาของชนบทไทยในปัจจุบันเป็นประเด็นใหญ่ๆดังต่อไปนี้

·       ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนในเมืองกับชนบท
·       ลำพังการเกษตรไม่เพียงพอต่อรายได้เพื่อการดำรงชีพของเกษตรกร
·       ปัญหาการจัดการน้ำ ซึ่งน้ำมีอยู่อย่างจำกัด ต้องมีการจัดการน้ำและการเกษตรที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
·       ประชาชนในภาคการเกษตรในชนบทลดลง ขาดแรงงานที่จำเป็นที่มีทักษะยุคใหม่ในการทำงานในชนบท คนอยู่ในภาคชนบทนับวันจะมีอายุสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นภาระของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยรวมจะขออธิบายปัญหาชนบทไทยเป็นประเด็นดังต่อไปนี้

การเกษตรเคยเป็นรายได้หลักของประเทศ ดังในช่วงทศวรรษที่ 1960s และ 1970s ผลิตผลการเกษตรมีการขยายตัว เพราะมีการรุกป่าแผ้วถางมาทำเป็นนาและไร่การเกษตร

ในช่วงปี ค.ศ. 1962 ถึง 1983 ภาคการเกษตรเติบโตร้อยละ 4.1 ต่อปี และในปีค.ศ. 1980 คนทำงานร้อยละ 70 อยู่ในภาคการเกษตร ในยุคนั้นเมื่อการเกษตรเป็นรายได้หลักของประเทศ เงินภาษีที่ได้ส่วนหนึ่งคือการจัดเก็บจากการเกษตร ผลิตผลการเกษตรที่ขายในประเทศจะถูกทำให้ราคาต่ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีผลิตผลบริโภคได้ในราคาประหยัด และขณะเดียวกัน รัฐบาลสามารถนำมาใช้เพื่อการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะใช้เพื่อพัฒนาภาคการผลิตและบริการอื่นๆ

ในยุคต่อมาเมื่อการเกษตรไม่ได้มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น คนในภาคการเกษตรโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวก็หลั่งไหลไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จนรัฐต้องหันมาให้การสนับสนุนฐานการผลิตและการส่งออกสินค้าการเกษตรไว้ ในช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรมปี ค.ศ. 1983-2007 การเกษตรเติบโตช้าลงเหลือที่ปีละ 2.2 การเกษตรยังคงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของรัฐด้านการธนาคารเพื่อการเกษตร การพัฒนาการศึกษาในชนบท ระบบชลประทาน และการพัฒนาถนนในชนบท งานด้านการเกษตรลดลงเหลือเพียงร้อยละ 50 เกษตรกรเองก็หันไปลงทุนทางด้านอื่นๆเพิ่มขึ้น ลูกหลานชาวนาเองก็ย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในภาคอุตสาหกรรม บริการ และอื่นๆมากขึ้น

พื้นที่เพื่อการเกษตร

ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,120 ตารางกม. จัดเป็นประเทศมีพื้นที่มากที่สุดอันดับที่ 51 ของโลก มีขนาดเล็กกว่าเยเมน (Yemen) เล็กน้อย และใหญ่กว่าสเปน (Spain) เล็กน้อย เทียบกับประเทศอิสราเอล (27,000 ตารางกม.) แล้วใหญ่กว่าประเทศอิสราเอลเกือบ 20 เท่า

ประเทศไทยมีภูมิประเทศที่หลากหลาย ภาคเหนือมีลักษณะเป็นภูเขาและที่ราบสูง ส่วนที่สูงสุดคือดอยอินทนนท์ (Doi Inthanon) สูง 2,565 เมตร ภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วยที่ราบสูงโครา (Khorat Plateau) มีชายแดนไปจรดแม่น้ำแม่โขง นับเป็นเขตที่มีพื้นที่และประชากรมากที่สุด ส่วนภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya River Valley) ซึ่งเชื่อมโยงสายทางต้นน้ำในภาคเหนือไหลไปสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาออกทะเลที่อ่าวไทย (Gulf of Thailand) ภาคใต้เป็นส่วนแคบยาวลงไปจนจรดแหลมมลายู (Malay Peninsula)

ภูมิอากาศของประเทศไทยมีลักษณะเป็นเขตร้อนชื้น (Tropical zone) ในแต่ละปีมีฝนตกเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 1622 มม. เทียบกับประเทศอิสราเอล 435 มม.ในปีค.ศ. 2011 โดยพื้นที่กว่าครึ่งประเทศของอิสราเอลเป็นทะเลทรายหรือกึ่งทะเลทราย (Desert, Semi-desert) ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตามธรรมชาติ โดยรวมประเทศไทยจัดเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีสงวนไว้เพื่อเป็นเขตป่าสงวนประมาณร้อยละ 25-30 ของประเทศ แต่ในข้อเท็จจริงมีการรุกล้ำป่าสงวนไปมากกว่าที่กล่าว

ประเทศไทยมีพื้นที่ใช้เพื่อการเกษตรของประเทศร้อยละ 40.9 ในปี ค.ศ. 2009 และ 42.8 ในปี ค.ศ. 2012 เทียบกับประเทศอิสราเอลมีพื้นที่ของประเทศที่ใช้เพื่อการเกษตรได้ร้อยละ 21.2 พื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่เป็นทะเลทราย (Desert) ที่แห้งแล้งในระดับทำการเพาะปลูกได้ยาก

การขยายตัวของเมือง พื้นที่การเกษตรลดลง

ในการจัดลำดับความเป็นเมือง (Urbanization) ของไทย ไทยยังมีลักษณะเป็นชุมชนชนบท มีสัดส่วนคนที่อยู่ในเขตเมืองน้อย อยู่ในกลุ่มเดียวกับเคอร์กิสถาน อันดับที่ 150, Kyrgyzstan, มีประชากรเมืองร้อละ 35.3; มาลี (151, Mali, 34.9); สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (152, Democratic Republic of the Congo, 34.3);  สาธารณัฐประชาชนลาว (153, Laos, 34.3); และประเทศไทย (154, Thailand, 34.1) แต่ด้วยความที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอย่างรวดเร็ว อัตราการเปลี่ยนลักษณะชุมชนชนบทไปสู่ชุมชนเมือง (Urban areas) จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะไม่สามารถสังเกตได้ชัดจากสถิติเปรียบเทียบระหว่างประเทศข้างต้นนี้

พื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นและเกิดการเก็งกำไรอย่างเกินจริง พื้นที่เพื่อการเกษตรจะไปอยู่ในมือนายทุน ที่ทำกินทางการเกษตรจะลดลง และต้นทุนในการทำการเกษตรจะเพิ่มขึ้น

ภาพ การเกษตรแบบดั่งเดิมยังใช้วัวและควายไถนาอยู่ แต่ในปัจจุบันได้หันมาใช้เครื่องจักรกลมากขึ้น แต่ก็ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ในระดับที่ทำให้ชาวนาไทยไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ที่น่าที่เป็นเจ้าของก็ลดน้อยลง และกลายเป็นชาวนาต้องเช่าที่นาของตนเองมาดำเนินการ และก็เป็นหนี้สินวนเวียนต่อเนื่อง
ภาพ ควายที่เคยใช้ไถนาในสมัยก่อน กำลังจะหมดไปและแทนที่ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรที่ต้องมีต้นทุนสูงขึ้น - Herding water buffalo in Chaiyaphum Province.

เพื่อทำให้ชีวิตเกษตรกรพอดำรงอยู่ได้ การพัฒนาทางด้านการเกษตรจึงหันไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมแบบประสมประสาน ลดต้นทุนการผลิต และทำให้มีผลิตผลการเกษตรไว้กินไว้ใช้ในแต่ละครัวเรือน รัฐบาลเองก็มองภาคการเกษตรไม่ใช่ในฐานะภาคการผลิตที่นับมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาทางสังคม การเงิน ในการวางแผนมีการผนวกการดูแลสิ่งแวดล้อมและการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย ในปี ค.ศ. 2004 เกษตรกรที่ทำงานอย่างใช้วิทยาการที่เรียกว่า “ชาวนามืออาชีพ” (Professional farmers) มีเพียงร้อยละ 19.5 ของเกษตรกรทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเกษตรแบบตามมีตามเกิด ทำเหมือนอย่างที่เคยทำมาแต่เก่าก่อน

ผลของภาวะโลกร้อนและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่โลกร้อนขึ้น ปริมาณน้ำฝนลดลงในภาคกลาง แต่เพิ่มขึ้นทั่วไปในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 1400 มม.ต่อปีในช่วง 5 ปีต่อไปนี้ ปรากฏการณ์น้ำมากในช่วงฤดูฝน และแห้งแล้งในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันจากน้ำไหลหลากในหลายๆพื้นที่ รวมถึงแม้แต่ในอีสานที่ว่าแห้งแล้งที่สุด และในช่วงนอกฤดูฝน ก็ยังมีปัญหาแห้งแล้งไม่สามารถทำการเกษตรได้

ชนบทเป็นฐานของความยากจนในประเทศไทย ร้อยละ 88 ของประชาชนยากจน 5.4 ล้านคนอาศัยอยู่ในชนบท การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จไม่ได้มีการกระจายตัวและแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะระหว่างกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีประชากรชาวเมือง (Urban population) ประมาณร้อยละ 15 กับประชากรส่วนที่เหลือ

หลักแนวคิด

การใช้ชุมชนการเกษตรอุดมคติในแบบคิบบุทซ์ (Kibbutz) ของอิสราเอลมาประยุกต์ใช้ในสังคมชนบทของไทย โดยยึดหลักดังต่อไปนี้

1.    การใช้ชุมชนการเกษตรประสมประสาน (Integrated farming) ไม่ใช้การปลูกแบบพืชเดี่ยว แต่เป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และหรือทำกิจกรรมอื่นๆอย่างประสมประสาน เหมาะสมแก่ที่ดินและลักษณะกำลังคน
2.    ขนาดใหญ่พอเหมาะ เป็นประโยชน์แก่การลงทุน ในขั้นเบื้องต้นกำหนดให้ใช้ที่ดินประมาณ 2,000 ไร่ โดยที่ดินร้อยละ 10-20 เป็นที่ดินที่ต้องซื้อหา เพื่อความมั่นคงในกิจการ และส่วนที่เหลือหรือร้อยละ 80-90 ใช้การเช่าจากชาวนารายย่อย โดยให้ราคาตามตลาด ที่กล่าวถึงขนาดที่เป็นตัวเลขนี้ ไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นเช่นนี้แน่นอน มันสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานที่และความเป็นจริง
3.    ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ ในปัจจุบันแนวโน้มคือการใช้เครื่องจักรกลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังเช่นรถแทรกเตอร์เพื่อการไถ และการมีเครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยว หากมีที่ดินขนาดเล็กเกินไป ก็ไม่คุ้มกับการดำเนินการ ต้องไปเช่าเครื่องมือ และใช้กำลังคนจากภายนอก
4.    เกษตร + อุตสาหกรรม + ภาคบริการ/การศึกษา การดำเนินการจะไม่ติดยึดว่าจะต้องเน้นภาคใดภาคหนึ่ง อาจเป็นการเกษตร อุตสาหกรรม หรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบฝึกอบรมในสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับความต้องการและโอกาสในการทำรายได้เลี้ยงตัวเองและสมาชิกในชุมชน
5.    การสาธิตกิจการและแนวคิด การดำเนินการในระยะแรกนี้เป็นการดำเนินการจากแนวคิดไปสู่การทำให้เป็นจริง โดยใช้เป็นโครงการต้นแบบ (Pilot project) หากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นต้นแบบในการขยายผลต่อไป หากประสบปัญหาใดๆ ก็จะใช้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงในการดำเนินการขั้นต่อๆไป

ทำไมต้องเริ่มอย่างอุดมคติ

ต้องเริ่มด้วยอุดมคติ แต่แบบไม่ติดยึด

·       ความสำเร็จของโครงการนี้ คือการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยการพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด หากต้องพึ่งพารัฐบาลไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นหรือรัฐบาลกลางมากเท่าใด ก็จะทำให้โครงการมีความอ่อนแอ และขาดขีดความสามารถในการดำเนินการต่อไปในระยะยาว เพราะขาดเงินช่วยเหลือเมื่อใด โครงการก็จะต้องล้มลง หรือเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลกลางหรือของท้องถิ่น ก็จะกระทบต่อการดำเนินการของโครงการ
·       ยังเป็นงานยาก โดยเฉพาะในช่วงก่อตั้ง โครงการยังไม่มีบทเรียนจากสิ่งที่ประสบความสำเร็จ โครงการต่างๆที่ได้เกิดขึ้น มักจะต้องอาศัยเงินจากรัฐบาลกลาง และยิ่งใช้เงินรัฐบาลกลางมากเท่าใด ปัญหาการคอรัปชันก็จะยิ่งตามมา
·       คนทำต้องเสียสละ อย่างน้อยในช่วงแรก ต้องได้คนนำ คนที่มาร่วมโครงการตั้งแต่แรก ต้องมีความเข้มแข็ง เห็นความจำเป็นของโครงการในระยะสั้นและระยะยาว แม้ต้องยากลำบาก ก็สามารถอดทนรอได้ เพื่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในระยะยาว
·       การต้องดูแลผู้สูงอายุ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์อันหนึ่งคือ การช่วยดูแลสมาชิก ซึ่งในระยะต่อๆไป จะมีคนสูงอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐบาล ท้องถิ่น ครอบครัว ผู้สูงอายุเหล่านี้ในระบบราชการ เมื่อเกษียณอายุก็ถือว่าจบการทำงาน แต่แล้วในชีวิตที่ยืนยาวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จะไม่มีใครดูแล แม้แต่ญาติพี่น้อง จุดมุ่งหมายของโครงการฯ คือการต้องดูแลสมาชิกของชุมชนนี้ไปตลอดชีวิต
·       Subsidy ต้องมาร่วมกับ Transparency เงินและทรัพยากรเป็นอันมากในระยะแรก หวังว่าจะได้มาจากการบริจาค ซึ่งต้องอธิบายให้ผู้สนับสนุนเข้าใจถึงความจำเป็นของโครงการ การวางแผน การบริหารโครงการ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ทั้งการได้มา และการใช้จ่ายที่ต้องมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าแก่การลงทุน

โดยรวม โครงการต้องเริ่มจากมีผู้นำ (Leadership) ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องสัก 10-15 ปี นั่นต้องแสดงว่าได้คนทำงานหลักที่ไม่สูงวัยนัก เช่นคนวัย 45 ปี ทำงาน 15 ปี อายุได้ 60 ปี แต่หากได้คนอายุ 60 ปี ก็ต้องเป็นฝ่ายกำลังเสริม เพราะภายใน 15 ปี เขาจะอายุ 75 ปี ซึ่งไม่ใช่วัยทำงานโดยทั่วไป
แต่คนอายุ 30-45 ปี หากเขาทำอะไรโดยคิดถึงตนเองเป็นหลัก ก็ย่อมจะมองไม่ออกว่างานที่เขาจะทำนั้นจะเดินไปได้อย่างไร โครงการจำเป็นต้องใช้ความพยายามแสวงหาคนที่มีความเหมาะสมด้านความสามารถและคุณลักษณะพิเศษ ที่ทำงานได้อย่างมีอุดมคติ

การเปลี่ยนแปลง

การนำแนวคิดคิบบุทซ์ (Kibbutz) ชุมชนเกษตรกรมอุดมคติ มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยนั้น ให้การเริ่มจาก “เล็กไปหาใหญ่” เริ่มจากการวางแผนโครงการต้นแบบให้ชัดเจนก่อน โดยมีการเขียนสื่อสาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหมู่คนสนใจ แล้วจึงนำไปสู่การลงปฏิบัติ

การสื่อสารกันในหมู่ผู้สนใจนั้น เท่ากับเป็นการประชาสัมพันธ์ไปยังทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง เหมือนการระดมสรรหาผู้มาร่วมงาน ผู้สนใจที่จะมาเป็นสมาชิกของชุมชน สำหรับคิบบุทซ์ในประเทศอิสราเอล ที่ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1905 หรือกว่า 100 ปีมาแล้วนั้น มีการระดมสรรหาชักชวนคนมาอยู่ร่วมกันไกลไปถึงในหลายประเทศในยุโรป ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก

ความจำเป็น

เริ่มอย่างมีเสาค้ำยัน เริ่มต้นอย่างมีระบบบ่มเพาะ (Incubators) ซึ่งเมื่อไม่ดำเนินการแบบเป็นโครงการของรัฐบาล ก็ต้องมีองค์การที่จะระดมความช่วยเหลือในระยะเริ่มต้น โดยทั้งนี้เพื่อการแก้ปัญหาเกษตรกรสูญเสียที่ดิน

ในปัจจุบัน ชาวนาระดับจะอยู่ได้ ต้องมีที่ดิน 30-40 ไร่ขึ้นไป เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ต้องมีต้นทุนด้านค่าเช่า ไร่ละ 1200 บาท/ปี ในปัจจุบัน เนื่องจากมีขนาดที่ดินใหญ่พอ ผลตอบแทนโดยรวมจึงมากกว่าผู้มีที่ดินขนาดเล็ก ซึ่งชาวนากลุ่มนี้มีโอกาสดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองสูงกว่าผู้มีที่ดินระดับ 8-10 ไร่ ซึ่งมีมีโอกาสจะสูญเสียที่ดินไปในที่สุด

ผู้มีที่ดินน้อยเหล่านี้ ยิ่งหากเป็นขาวนาที่สูงอายุ มีหนี้สินที่พอกพูนมาเพราะการทำการเกษตรที่ไม่ประสบผลมายาวนาน ในที่สุดก็จะขายที่ดินให้กับนายทุน แล้วตัวเองก็ต้องไปอาศัยอยู่กับลูกหลาน หากมีลูกหลานที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และมีจิตใจที่จะดูแลพ่อแม่ของตนก็เป็นเรื่องดี แต่บางครอบครัวเมื่อมีภาระในครอบครัวของตนเองมาก และได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นๆในเมืองใหญ่แล้ว ก็อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนต่อพ่อแม่ที่แก่เฒ่าแล้ว

ส่วนชาวนาที่มีที่ดินระดับ 30-40 ไร่ แต่เห็นคุณประโยชน์ของการเข้าร่วมในระยะยาว คนกลุ่มนี้ก็เป็นประโยชน์ ซึ่งทางโครงการต้องไปหาสูตรในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เหมาะสม

รวมความ คนมีที่ดินน้อยที่อายุมากแล้ว เริ่มอ่อนแรงไม่สามารถทำอาชีพการเกษตรได้อย่างแข็งขัน จะเป็นกลุ่มที่ควรเข้าร่วมในโครงการก่อนกลุ่มอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน หากสรรหาแต่คนที่มีลักษณะดังกล่าวมามากๆ แล้วไม่มีคนมีแรงงานที่แข็งขัน ก็จะทำให้ขาดกำลังคนทำงานหนักไปด้วย จึงต้องมีการประสมประสานกำลังคนให้มีคนหนุ่มสาวที่แข็งแรง มีความสามารถเฉพาะงานมาร่วมด้วย

โครงสร้างการบริหาร

ชุมชนเกษตรกรอุดมคติควรมีโครงสร้างการบริหารอย่างไร

ควรมีการจดทะเบียนองค์กรชุมชนเกษตรกรรมนี้เป็นนิติบุคคลอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างเป็นบริษัทหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นมูลนิธิ (Foundation) เป็นองค์กรดำเนินการโดยไม่แสวงกำไร (Non-Profited Organization)

เจ้าภาพหลักในลักษณะนี้เป็นได้ทั้งองค์การศาสนาและสถาบันการศึกษา แต่ในทัศนะของผู้เขียน อยากให้เริ่มที่มหาวิทยาลัย ซึ่งมีคนรู้เรื่องการปกครองและการจัดการ (Governance and Management) อยู่มาก และทำให้ไม่ไปเป็นอุปสรรคด้านความเชื่อศรัทธาของผู้มาร่วมเป็นสมาชิก

ที่ดินในการดำเนินการ

ที่ดินในการดำเนินการ 2,000 ไร่ เป็นที่เช่าร้อยละ 80

มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ ดังมหาวิทยาลัยราชภัฏในท้องถิ่นเป็นองค์กรร่วมดำเนินการ ทำไม? เหตุผลก็คือทำให้องค์กรนั้นๆมีแก่นที่น่าเชื่อถือ เพราะในช่วงของการเริ่มต้น ยังไม่มีใครเชื่อถือในองค์การ ครั้นจะหาคนที่มีที่ดินจำนวนมากมาบริจาคให้กับองค์การ เช่นเริ่มต้นบริจาคให้ 200-300 ไร่ หากราคาที่ดินอยู่ที่ไร่ละ 50,000 บาท รวมคิดเป็นเงิน 15 ล้านบาท แต่หากมีมหาวิทยาลัยมาร่วมเป็นเจ้า

ภาพ หาคนมาบริจาคเงินคนละ 100,000 บาท/ราย หรือคนละ 2 ไร่ ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก และบริจาคเป็นที่ดินหรือเงินซื้อที่ดิน ก็มีหลักฐานความเป็นเจ้าของที่น่าไว้วางใจ และโดยทั่วไป ประสบการณ์ในต่างประเทศ ดังในสหรัฐอเมริกา การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งที่ผู้มีจิตศรัทธากระทำอยู่แล้ว และหากเริ่มต้นได้ดังกล่าว อย่างน้อยก็มีเงินทุนมูลค่า 15-20 ล้านบาทขึ้นไป

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยท้องถิ่น ดังเช่นมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สามารถเป็นผู้จ้างงาน เช่น การใช้สถานที่เป็นที่ฝึกอบรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเป็นการจ้างงานแก่คนที่อาจไม่แข็งแรงพอที่จะทำงานในไร่นา แต่สามารถทำงานได้หลายๆอย่างในกิจการด้านการบริการต้อนรับขับสู้ (Hospitality Management) และอื่นๆ

ประมาณการร้ายได้/รายจ่าย

ประมาณการรายรับ/รายจ่ายที่จะใช้เป็นเงินหมุนเวียนของโครงการฯ

ขนาดที่ดิน 2,000 ไร่ ร้อยละ 10-20 หรือ 200 ไร่ เป็นที่ดินมหาวิทยาลัยจัดซื้อ ที่เหลือให้ใช้การเช่าจากชาวนาท้องที่ เช่าระยะยาว ซึ่งทั่วไปควรเป็นการเช่าระยะ 20-30 ปี และผู้เช่าอันเป็นองค์การไม่แสวงกำไร ก็จ่ายค่าเช่าในอัตราตลาด คือประมาณ 1,000-1,200 บาท/ไร่ และมีวิธีการคิดเพิ่มให้ทุก 5 ปีร้อยละ 15 หรือเพิ่มให้ร้อยละ 3 ต่อปี

หากต้องเช่าที่ดิน 1800 ไร่ คิดค่าเช่าปีที่ 1 ไร่ละ 1200 บาท/ปี จะเป็นมูลค่า 2.16 ล้านบาท

หากมหาวิทยาลัยมองเป้าการสร้างรายได้ที่ดิน 2,000 ไร่ จากทุกๆด้านรวมกันที่ไร่ละ 50,000 บาท/ปี ก็จะเท่ากับ 100 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะเป็นเงินจำนวนมากพอที่จะนำมาหมุนเวียน ใช้จ่ายเพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิก และการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งมหาวิทยาลัยเอง หากมองที่ดินดังกล่าวเป็นเหมือนวิทยาเขตภาคขยายของมหาวิทยาลัย (University Extension) โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นผุ้ใช้ประโยชน์ระยะยาว โดยไม่ต้องมีความเป็นเจ้าของ ก็นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

การมีรายได้ที่ปีละ 200 ล้านบาทจากที่ดิน 2,000 ไร่ ไม่ใช่ความเพ้อฝัน หากรายได้เป็นสิ่งที่จะเกิดได้จากทุกด้านที่องค์การเข้าไปดำเนินการ ดูตัวอย่าง คิบบุทซ์ซาซา (Kibbutz Sasa) มีสมาชิก 200 คน สามารถสร้างรายได้ปีละ USD 850 ล้าน หรือ 27,200 ล้านบาท/ปี จากอุตสาหกรรมพลาสติกที่ใช้ในทางการทหารมาแล้ว ความสำคัญจึงขึ้นอยู่กับการบริหาร ว่าจะใช้ที่ดิน วิทยาการ คน และการลงทุนอย่างเหมาะสมอย่างไร

หลักการใช้กำลังคน

ใช้แรงงานที่มีอย่างเหมาะสม และเต็มที่ ทุกคนเป็นประโยชน์ต่อองค์การ และสังคม ขึ้นอยู่กับว่าเราจะงานให้เหมาะกับคน และพัฒนาคนให้เหมาะกับงานได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องคิดถึงคนหนุ่มสาวว่าเขาต้องการอะไร ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดคนกลุ่มนี้มาร่วมงานได้

·       การดูแลบุตรธิดาของคนหนุ่มสาว คนหนุ่มสาวจะเริ่มมีครอบครัว มีลูกเล็กที่เขาต้องการอนาคตที่ดี เช่น การเลี้ยงดู และระบบการศึกษา
·       คนกำลังมีครอบครัว มีลูกเมื่อเยาว์วัย ต้องการการศึกษาที่เขาวางใจได้
·       คนหนุ่มสาว ตัวเขาเองต้องการเรียนรู้ที่จะพัฒนาขีดความสามารถในชีวิตของเขา ทำอย่างไรจึงจะมีการศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Education) การศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education)

คนหนุ่มสาว

ไม่ใช่ใช้ความง่าย ความสบายมาดึงดูดคนหนุ่มสาว แต่ใช้งานที่ท้าทายความสำเร็จ

การปรับแนวคิดคนหนุ่มสาวสู่การพัฒนาท้องถิ่นดังในการพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมยุคใหม่ มีความยากลำบากเพิ่มขึ้นบ้าง แต่มีความท้าทายในการเรียนรู้ และแสวงหาความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ดังการปรับวิธีการเรียนในแบบปัจจุบัน ที่เป็นการเรียนแล้วมีแต่หนีห่างจากเกษตรกรรมและท้องถิ่นของตนเอง ทำให้ชนบทเหลือแต่คนสูงวัยที่ยังคงเฝ้าไร่นาอยู่ แต่ไม่มีพลังในการทำการเกษตรได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ

วิธีดึงดูดคนรุ่นใหม่ จึงต้องเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายความสามารถ ต้องใช้ความรู้ วิธีการคิด และการต้องทำในสิ่งที่ท้าทายให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือ ส่วนหนึ่งให้กลับมาเรียนรู้การพัฒนาชีวิตการเกษตรและชนบทที่ประสบความสำเร็จ ทำชุมชนชนบทให้มีชีวิตชีวา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในระยะยาว สามารถดำรงอยู่ได้ในเศรษฐกิจยุคใหม่

คนวัยกลางคน

คนวัยกลางคน มีความอดทนในการทำงานหนัก แต่ก็จะมีกำลังที่ถดถอยลงไปตามอายุขัย และเพราะการศึกษาและฝึกอบรมในแบบเดิม ไม่คุ้นกับการใช้วิทยาการสมัยใหม่ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกอบรม
การสร้างงาน มอบหมายงาน จึงควรให้สอดคล้องกับลักษณะวัยและขีดความสามารถของคน งานที่คนวัยกลางคนทำได้ คือ

·       การทำงานศิลปหัตถกรรม รักษาศิลปะดั่งเดิมของท้องถิ่น เช่น ทำหม้อไห จานชาม
·       งานดูแลต้อนรับขับสู้ การทำอาหาร การบริการอาหารและที่พัก
·       การรักษาพยาบาล ดังเช่นเป็นอาสาสาธารณสุข (Health assistants) ช่วยงานพยาบาล ช่วยงานแพทย์ และสาธารณสุข

การสร้างงาน และการสรรหาคนเข้าสู่งาน จึงต้องมีงานแบบใหม่มาเพิ่มเติม ทดแทนงานด้านการเกษตรที่จะมีเครื่องจักรกลเข้ามาแทนที่ และงานเหล่านี้ต้องมีการจัดการที่ดี ที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิต แม้แก่เฒ่าก็มีความมั่นคงปลอดภัย มีปัจจัย 4 ของชีวิต อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย ยาและการรักษาโรค งานที่จะสร้างไม่จำเป็นต้องทำให้มีรายได้มากที่สุด แต่ทำให้มีงานทำไปตลอดชีวิต ไม่ตกงานในยามสูงอายุ แม้ไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีการครองชีพไม่น้อยไปกว่าเดิม หรือดีเพียงพอเท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีทั้งหญิงและชาย ซึ่งในที่นี้ใช้มาตรฐานใหม่ คือคนวัย 65 ปีขึ้นไป มีทั้งไม่มีการศึกษาและมีการศึกษาในระดับสูง แต่ต้องการใช้ชีวิตในยามสูงวัยในที่ๆสงบ ราบรื่นอยู่กับธรรมชาติ มีเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร และพึ่งพากันได้ยามจำเป็น หรือมีการเจ็บป่วย คนสูงอายุต้องการมีลูกหลาน หรือระบบคอยดูแล ไม่ทิ้งขว้าง

ผู้สูงอายุทำอย่างไร อยู่อย่างไร ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิศรีตลอดชีวิต ในต่างประเทศที่เจริญแล้วมีจุดอ่อนในการดูแลผู้สูงอายุ พอพ่อแม่สูงอายุ ก็ส่งไปอยู่ในสถานพักฟื้นคนชรา (Nursing Homes) แล้วก็อยู่อย่างเงียบเหงาไปจนตลอดชีวิต ซึ่งไม่ใช่การดูแลมนุษย์ที่ดีและอย่างมีศักดิ์ศรี

การออกแบบงานและการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ

·       ผู้สูงอายุแม้วัยเกิน 65 ปีแล้ว ก็ยังทำงานได้ แต่ทำงานอะไร และอย่างไรจึงจะเหมาะแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการออกแบบงาน และการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
·       ผู้สูงอายุต้องการที่พักอาศัยที่สบาย อากาศดี มีสถานที่ที่จะออกกำลังกาย ที่พักอาศัยขนาดพอเพียง แต่ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก
·       มีอาหารการกินที่ดี พอเพียง เหมาะแก่วัย อร่อย สะอาด แต่ยึดหลักโภชนาการที่เหมาะสม
·       มีการดูแลสุขภาพที่เชื่อมต่อกับระบบสุขภาพดีถ้วนหน้าของรัฐบาล (Universal Healthcare) ทั้งในด้านข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล การเชื่อมต่อข้อมูลกับคลินิคและโรงพยาบาลของรัฐในท้องที่
·       ใช้และพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม คนสูงวัยในยุคต่อๆไปจะมีการศึกษามากขึ้น ควรจะใช้สิ่งที่เขามีติดตัวมาให้เป็นประโยชน์

การฝึกอบรมของมหาวิทยาลัย หลักสูตรระยะสั้นและระยะกลาง ด้วยลักษณะดังกล่าวข้างต้น การมีงานส่วนการอบรม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาต่อเนื่อง การอบรมระยะสั้นและระยะกลาง ฯลฯ เหล่านี้เป็นงานที่พัฒนาได้ในชุมชนเกษตรกรรมต้นแบบ

ต้องการคนนำและคนบุกเบิก

การจะทำสิ่งใดใหม่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ต้องมีความยากลำบากกว่าปกติ ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดมาแต่อดีต ตั้งแต่การย้ายถิ่นฐานของผู้คน การสร้างชาติใหม่ ชุมชนใหม่ เหล่านี้ไม่ใช้งานง่าย มันเป็นงานท้าทาย แต่เมื่อสำเร็จดังประสงค์ ก็เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป งานดังกล่าวนี้จึงต้องการทั้งความเป็นผู้นำ (Leadership) และคนที่มีความคิดและทักษะด้านการบริหารเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ทำอย่างไรจึงจะได้ผู้นำ (Leaders)ที่มีความเหมาะสม ซึ่งคนนำนี้จะต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

·       คนนำต้องเป็นวัยที่ยังมีพลัง (Dynamism) แต่จะหนักไปทางความสามารถในการจูงใจคน สร้างศรัทธาที่จะมาร่วมในงานใหม่นี้
·       คนนำจึงไม่ใช่เป็นหนุ่มสาวที่ไม่มีประสบการณ์เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรจะสูงวัยจนเกินไป วัยที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 25-45 ปีโดยประมาณ ยังมีเวลาที่จะยังแข็งแรงทำงานไปได้อีกพอสมควรในชีวิต จนทำให้เห็นงานที่เป็นรูปเป็นร่าง
·       การนำและการจัดการ (Leadership & management) คนนำต้องมีแนวคิดและทักษะทั้งสองด้าน คนนำในลักษณะนี้ ต้องมีความเข้าใจในประสิทธิภาพ (Efficiency) การใช้ทรัพยากรทั้งคนและอื่นๆ และก็ต้องมองในเชิงประสิทธิผล (Effectiveness) ควบคู่ไปด้วย
·       คนนำต้องมีวิธีการและทักษะการดึงดูดคนหนุ่มสาวมาช่วยงาน มีคุณธรรมและมีมนุษยธรรม มีความอบอุ่นที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนวัยกลางคน มีความยืดมั่นที่จะรับผิดชอบดูแลคนสูงอายุอย่างเหมาะสม

คนที่จะนำได้ในลักษณะนี้ต้องทำงานอย่างเป็นระบบ โปร่งใส โดยมีคณะกรรมการที่ไม่ต่างอะไรกับคณะกรรมการบริหารของบริษัท เพียงแตกต่างกันตรงที่เป้าหมายไม่เหมือนกัน หากใครเคยทำงานกับมหาวิทยาลัยที่เป็นของสาธารณประโยชน์ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไร เหมือนกับองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organizations – NGOs) ก็จะเข้าใจวิธีการดำเนินการ และการนำของชุมชนการเกษตรอุดมคติในลักษณะนี้

มหาวิทยาลัย – ทำชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Learning community)

องค์กรใหม่ ต้องการระบบที่จะมาเป็นพี่เลี้ยง ประคับประคองให้สามารถดำเนินการไปได้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งองค์กรใหม่ต้องการองค์การที่มาช่วยเป็นแกนกลาง (Core group) ในการดำเนินการ และมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นมีความเหมาะสมที่สุดที่จะทำหน้าที่เป็นแกนกลาง หรือเป็นพี่เลี้ยง ประคบประหงมให้สิ่งใหม่ได้เกิดขึ้นได้

มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตภาคขยาย (University Extension) ที่พึ่งตัวเองได้ และใช้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาได้ด้วย คือ มหาวิทยาลัยมีสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์สำหรับชุมชนเกษตรกรรมอุดมคติ และขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็มีสิ่งที่ขาดหาย แต่หากมีชุมชนแบบคิบบุทซ์ ก็จะเป็นส่วนมาเสริมสิ่งที่ขาดหายได้
การศึกษาเป็นแรงดึงดูดคนหนุ่มคนสาวมาร่วมงาน และได้การเรียนรู้ไปด้วยในตัว เหมือนคนที่มาร่วมอุดมคติของคิบบุทซ์ ที่มาร่วมกันสร้างชาติใหม่นั้น เป็นแรงดึงดูดผู้คนในการย้ายถิ่นมาเริ่มชีวิตใหม่ที่เป็นการทดลอง ต้องฝ่าฟันความยากลำบาก แต่นั่นเป็นแรงดึงดูดคนให้ย้ายถิ่นมาร่วมอยู่ด้วย

มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมจัดการศึกษา ซึ่งต่อไปจะเป็นแบบกระจายจุด (Distributed Learning Centers) ซึ่งชุมชนเกษตรกรรมเป็นส่วนทำหน้าที่ให้การศึกษาที่เกี่ยวข้องไปด้วยในตัว มหาวิทยาลัยยุคใหม่ ไม่ต้องการสร้างวิทยาเขตขนาดใหญ่ที่ทุกอย่างมารวมศูนย์อยู่ ณ วิทยาเขตหลัก แต่ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนคนทำงานสามารถกระจายไปที่ต่างๆได้

มหาวิทยาลัยในชนบทต้องมีศาสตร์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาชนบท รวมถึงการเกษตร ดังเช่นแปลงสาธิตการเกษตร ซึ่งชุมชนเกษตรกรรมอุดมคติ สามารถจัดทำให้ได้ ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม อันได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเติบโตและมีฐานจากการฝึกหัดครู และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งมีฐานมาจากวิทยาลัยเทคนิคในสายวิชาชีพต่างๆ ทั้งเครื่องกล จนไปถึงการเกษตร

รายชื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏ

เดิมมหาวิทยาลัยราชภัฏมีทั้งหมด 41 แห่ง แต่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม ได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ มหาวิทยาลัยนครพนม[5] ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงมีทั้งหมด 40 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม[6] ดังนี้

กลุ่มรัตนโกสินทร์

กลุ่มภาคเหนือ

กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กลุ่มภาคกลาง

กลุ่มภาคใต้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 มีผลให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเดิม ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2518 ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งเก้าแห่งดังต่อไปนี้




ภาพ อาหารการกินในคิบบุทซ์ยุคแรกๆ คือการมีระบบห้องอาหารรวม กินอาหารอย่างเดียวกัน ร่วมกัน


ภาพ ห้องอาหารขนาดใหญ่ ที่คนมากินร่วมกันเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน จะเป็นมารวมกันขนาดนี้ เพียงช่วงงานรื่นเริง


ภาพ การมีโรงอาหารขนาดใหญ่ ในชุมชนเกษตรกรรมคิบบุทซ์ในยุคแรกๆ


ภาพ คิบบุทซ์ในอิสราเอลในช่วงแรกๆ เป็นการดึงดูดชาวยิวจากทั่วโลกมาร่วมกันอยู่และร่วมกันพัฒนาชาติ และได้คนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากมา แต่เขาไม่มีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์การเกษตร เพราะส่วนใหญ่อยู่ในเมืองตามเขต Ghettos ที่ถูกจำกัดบริเวณ


ภาพ งานการเกษตรเป็นสิ่งที่คนมาใหม่ต้องเรียนรู้


ภาพ งานเลี้ยงเด็กแบบรวม เพื่อให้พ่อแม่มีเวลาในการทำงานการเกษตร เขาจะได้มีโอกาสอยู่กับลูกวันละ 2-3 ชั่วโมง


ภาพ งานดูแลเด็กๆ



ภาพ การพาเด็กๆไปเที่ยวริมทะเล และทะเลสาป


ภาพ ในคิบบุทซ์ ต้องมีระบบดูแลความปลอดภัยของชุมชนเอง แม้สตรีก็ต้องเรียนรู้วิทยาการป้องกันตนเอง


ภาพ แปลงการเกษตร การปลูกฝ้าย


ภาพ งานเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นใช้เครื่องจักรกลมากขึ้น


ภาพ ในยุคแรกๆ แม้สตรีก็ต้องลงไปทำงานการเกษตร


ภาพ งานพัฒนาคิบบุทซ์ ชุมชนเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยอุดมการณ์อย่างมากในช่วงแรก และในยุคต่อมา ก็ต้องมีการปรับตัวไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป