Wednesday, October 31, 2012

ระบบการขนส่งมวลชนในมหานครนิวยอร์ค (Metropolitan Transportation Authority)


ระบบการขนส่งมวลชนในมหานครนิวยอร์ค (Metropolitan Transportation Authority)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, การปกครอง, มหานคร, Global city, Mega city, New York, NYC, Borough, Mass transit system

มหานครนิวยอร์ค

ก่อนจะพูดถึงระบบการขนส่งมวลชนของเมืองใหญ่ ก็ต้องทำความเข้าใจสภาพความเป็นเมืองใหญ่ของมหานครนิวยอร์คเสียก่อน


อนุสาวรีย์เสรีภาพ (Liberty Statute), สัญญลักษณ์ของมหานครนิวยอร์ค

มหานครนิวยอร์ค (New York City – NYC) หรือเรียกอีกชื่อว่า The City of New York เป็นส่วนที่แตกต่างจากรัฐนิวยอร์ค (The State of New York) แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ จัดเป็นเมืองใหญ่และสำคัญระดับโลก (global power city) เมืองนิวยอร์คเป็นเมืองมีอิทธิพลทางด้านการค้า (Commerce), การเงิน (Finance), การสื่อสาร (Media), ศิลปะ (Art), แฟชั่น (Fashion), การวิจัย (Research), เทคโนโลยี (Technology), การศึกษา (Education), และบันเทิง (Entertainment) เป็นเมืองที่ตั้งขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Headquarters) นิวยอร์คเป็นศูนย์กลางของการทูตระหว่างประเทศ (International diplomacy) และได้รับการขนามนามว่าเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของโลก (Cultural capital of the world)

เมืองนิวยอร์คมีที่ตั้งที่เป็นอ่าวตามธรรมชาติใหญ่ที่สุดของโลก มีเขตการปกครองแบ่งออกเป็น 5 เขตเรียกว่า boroughs แต่ละแห่งจัดเป็นเขต (County) ของรัฐ ซึ่ง 5 เขตที่เรียกว่า Boroughs นี้ ประกอบด้วย บรองซ์ (Bronx),บรูคลิน (Brooklyn),แมนฮัตตัน (Manhattan), ควีนส์ (Queens) , และเกาะสแตทตัน (Staten Island) ซึ่งทั้งหมดรวบรวมมาเป็นหนึ่งเมืองในปี ค.ศ. 1898 

ตามการสำรวจประชากรปี ค.ศ. 2011 นิวยอร์คมีประชากรอยู่ 8,244,910 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 790 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในเมืองนี้มีคนพูดต่างภาษากัน 800 ภาษา ทำให้มีความแตกต่างหลากหลายทางภาษาที่สุดในโลก หากเราขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วลองฟังคนสองคนพูดกัน เป็นอันมาก เขาจะพูดกันด้วยภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

บริเวณเมืองนิวยอร์คและปริมณฑล ซึ่งเรียกว่า New York City Metropolitan Area  มีคนประมาณ 18.9 ล้านคนกระจายตัวเองอยู่ในพื้นที่ 17,400 ตารางกิโลเมตร และจัดเป็นพื้นที่ๆมีประชากรหนาแน่นที่สุดในสหรัฐ (Combined statistical area) ล่สุดมีประชากรในปี ค.ศ. 2010 อยู่ที่ 22.1 ล้านคน

ย้อนหลังไปเมื่อปี ค.ศ. 1624 นิวยอร์คเป็นท่าค้าขายของอาณานิคมสาธารณรัฐดัช (Dutch Republic) ในระยะนั้นเรียกว่า New Amsterdam อันเป็นการตั้งชื่อตามเมืองหลวงของดัชหรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน ต่อมาเมืองนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา

ต่อมาพื้นที่อาณานิคมของดัชได้ถูกยืดครองโดยอังกฤษในสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง (King Charles II of England) แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ยกที่ดินนี้ให้แก่น้องชาย คือ Duke of York จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น New York

ในช่วงของการก่อตั้งประเทศ ราวปี ค.ศ. 1785 ถึง 1790 เมืองนิวยอร์คได้เป็นเมืองหลวงของสหรัฐ และได้กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันเมืองมีอนุสาวรีย์เสรีภาพ (Statue of Liberty) เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ประเทศอเมริกา มีผู้คนนับล้านๆคนที่อพยพมายังประเทศอเมริกาโดยผ่านทางท่ารับผู้เดินทางที่มาทางเรือในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20

หลายเขตของนิวยอร์คจัดเป็นสถานที่ๆคนรู้จักทั่วโลก ในทุกๆปีมีคนมาเยี่ยมนิวยอร์คปีละ 50 ล้านคน ดังเช่น Times Square จัดเป็นย่านจับจ่ายที่เป็นดัง “ทางแพร่งของโลก(Crossroads of the World) ย่าน Broadway theater district จัดเป็นย่านศิลปะการแสดงและมหรสพ เป็นย่านที่คนมาเดินเที่ยวมากที่สุด จัดเป็นย่านอุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment industry) นิวยอร์คมีสะพาน ตึกระฟ้า (skyscrapers) และสวนสาธารณะ (Parks) ที่มีชื่อเสียงมากมาย

นิวยอร์คจัดเป็นเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจ (Financial capital of the world) เป็นที่ตั้งของตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เมืองนี้จัดเป็นที่ๆมีราคาแพงที่สุดของโลก ย่านชาวจีนของนิวยอร์ค หรือ Manhattan's Chinatown จัดว่าเป็นที่ๆมีชุมชนชาวจีนหนาแน่นที่สุดทางโลกตะวันตก มีกิจการดำเนินไปแบบ 24/7 หรือ 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน และ 7 วันต่อสัปดาห์ เรียกว่าชีวิตของเมืองดำเนินไปโดยเหมือนไม่มีเวลาหยุดหรือหลับไหล

ที่เมืองนิวยอร์คมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง Columbia UniversityNew York University,  และ Rockefeller University ที่ติดอันดับระดับดีที่สุด 50 แห่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ระบบการขนส่ง

สำหรับเมืองที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยเช่นที่นิวยอร์คนี้ ระบบการขนส่งมวลชน (Mass Transit System) ย่อมมีความสำคัญอย่างมาก คนในมหานครนี้ร้อยละ 75 เดินทางโดยไม่ต้องใช้รถส่วนตัว ต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆของสหรัฐอเมริกา ดังเช่นที่ Los Angeles ทางฝั่งตะวันตก, Houston, Dallas ทางตอนใต้ ซึ่งเมืองทั่วไปของอเมริกามักต้องพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนตัว

ระบบการขนส่งมวลชนในมหานครนิวยอร์ค (Metropolitan Transportation Authority) หรือเรียกย่อๆว่า MTA เป็นระบบที่จัดตั้งเป็นองค์การเพื่อให้บริการขนส่งมวลชนแก่คนในมหานครนิวยอร์ค โดยผ่านหน่วยงานหลายแห่งที่รัฐบาลเมืองให้การสนับสนุน


ภาพ รถไฟฟ้าใต้ดิน (Subway) ดำเนินการโดยองค์การ MTA ของเมืองนิวยอร์ค

MTA New York City Transit ให้บริการการขนส่งด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (Subway) รถประจำทาง โดยให้บริการไปทั่วเขตบริหาร (Boroughs) ของมหานครนิวยอร์ค ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน (Subway system) จัดเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีรางยาว 1,160 กิโลเมตร มีสถานี 468 แห่ง มีระบบรถไฟที่เกาะ Staten Island Railway โดยวิ่งไปตามความยาวของเกาะ Staten


ระบบรถประจำทาง (MTA Regional Bus Operations) โดยมีบริการรถประจำทางที่มีชื่อเป็นสองยี่ห้อ ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ระบบรถประจำทาง และเรือข้ามฟาก เป็นระบบที่เชื่อมโยงต่อกัน ใช้ตั๋วการเดินทางร่วมกัน ระบบรถประจำทางของ MTA 2 ระบบ คือ

MTA New York City Bus เป็นบริการรถประจำทางเกือบทั้งหมดที่วิ่งในเมืองนิวยอร์คทั้ง 5 เขตบริหาร
MTA Bus Company เป็นบริการที่เคยดำเนินการโดยบริษัทเอกชนภายใต้สัญญากับหน่วยคมนาคมของมหานครนิวยอร์ค

MTA Long Island Rail Road เป็นบริการขนส่งมวลชนที่ให้บริการเกือบทั้งหมดของ Long Island โดยมีจุดหมายปลายทางไปที่ Queens, Nassau และ เขตปกครอง Suffolk (Counties) โดยมีสายการเดินรถหลัก 2 สาย และสายสนับสนุนอีก 6สาย

สำหรับการเดินทางไปยังเกาะสแตทตัน (Straton Island)


ภาพ เรือข้ามฟากระหว่างเกาะสแตทตัน กับแมนฮัตตัน บริการฟรี เส้นทางผ่านอนุสาวรีย์เสรีภาพ นั่งเรือรับอากาศเย็นๆจากทะเลมีความสุข

สำหรับเรือข้ามฟาก (Ferry) จากส่วนอื่นๆไปยังเกาะสแตทตัน (Staten Island) และกลับ ส่วนหลักเป็นของกรมการขนส่ง (Department of Transportation - DOT) ของเมืองนิวยอร์ค (ไม่ใช่ของรัฐบาลกลางหรือของรัฐ) หากใครจะสังเกต การใช้บริการเรือข้ามฟากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่การจะไปถึงที่ท่าเรือข้ามฟากของทั้งสองฝั่ง ก็มักจะต้องใช้บริการรถประจำทางหรือรถไฟฟ้าใต้ดินมาก่อน

MTA Metro-North Railroad หรือระบบทางรถไฟวิ่งไปทางเหนือ เป็นระบบขนส่งมวลชนที่การเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ ยัง The Bronx, Westchester County, Putnam County, Dutchess County และ ทางตอนใต้ของรัฐ Connecticut ไปยังสถานีรถไฟกลาง (Grand Central Terminal) ที่อยู่ในเกาะแมนฮัตตัน อันเป็นเขตชุมชนกลางที่สุดของมหานครนิวยอร์ค ระบบนี้มีความร่วมมือกับระบบของรัฐใกล้เคียง คือ New Jersey Transit โดยระบบ Metro-North Railroad ให้บริการเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับไปยัง Hoboken, New Jersey จาก Port Jervis และ Spring Valley ซึ่งเป็นเขตชุมชนหนาแน่นที่อยู่โดยรอบของมหานครนิวยอร์ค


ภาพ หากใครจะไปเที่ยวเมืองนิวยอร์ค ให้ศึกษาการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน ทั้งระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และระบบรถประจำทาง ตามสุภาษิตที่ว่า "If you live in Rome, behave like a Roman." แปลงเป็นนิวยอร์ค หากจะใช้ชีวิตในนิวยอร์ค ต้องเรียนรู้ระบบการขนส่งของเขาด้วย เริ่มแรกด้วยการศึกษาแผนที่ ซึ่งมีแจกทีสถานีรถไฟฟ้า


ภาพ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MTA Subway Station) มีกระจายอยู่ทั่วเมืองนิวยอร์ค

เฉพาะรถไฟฟ้าใต้ดิน รถประจำทางภายในเมืองนิวยอร์คที่ดำเนินการโดย MTA จะมีค่าบริการแบบสนับสนุนโดยเมือง ซึ่งจะใช้เงินจากภาษีที่เมืองจัดเก็บ โดยนโยบายเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค เขาไม่อยากให้คนใช้รถส่วนตัวกันมาก เพราะจะมีปัญหาด้านที่จอดรถ และจะไม่มีถนนพอให้รถวิ่ง แต่ค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน จะเป็นแบบเก็บไม่แพง เก็บแบบเหมาจ่าย ส่งเสริมให้คนใช้บริการ หากจะท่องเที่ยวเมืองนิวยอร์ค จะเป็นหลายวัน ก็เลือกซื้อบริการแบบเหมารายสัปดาห์ หากเป็นคนที่ทำงานในเมืองนิวยอร์ค แล้วต้องเดินทางไปและกลับจากที่ทำงาน (Daily commuters) ทุกวัน ก็เลือกซื้อตั๋วเหมารายเดือน จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

ส่วนคนที่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วเดินทางภายในเมืองนิวยอร์ค ก็ต้องคุ้นกับวัฒนธรรมหาที่จอดรถยาก หรือมีที่จอดรถ แต่ก็ด้วยราคาแพงมากๆ ตกวันละเป็นพันบาทไทย เพื่อต้องการจอดรถเพียงไม่กี่ชั่วโมง คนจากต่างเมืองต้องการไปเที่ยวหรือทำธุระในเมืองนิวยอร์ค ก็สามารถไปจอดรถบริเวณชานเมืองในที่ๆเขามีบริการ “จอดแล้วใช้ระบบขนส่งสาธารณะ” (Park & Ride) เพื่อเดินทางเข้ามาในส่วนในของเมือง เพราะระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน MTA จะสะดวกกว่ามาก โดยเฉพาะในช่วงการเดินทางชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า หรือตอนคนเลิกงานกลับบ้าน


ภาพ สถานีรถไฟฟ้าที่เมื่ออกมานอกเมือง ก็จะเป็นแบบรางยกระดับเหนือพื้นดิน คล้าย BTS ของกรุงเทพมหานคร สถานีแบบอยู่บนดินหรือเหนือดิน มักจะเป็นช่วงออกมาชานเมืองแล้ว
 

ภาพ ทางเข้าและออกของสถานีรถไฟฟ้า MTA ระบบตั๋วเป็นแบบไม่ได้คิดเป็นระยะทาง จะเข้าที่ไหนและจะออกที่ไหน คิดเป็น 1 ครั้ง สามารถขึ้นมาแล้วมาต่อรถประจำทางได้ 1 ครั้งภายในไม่เกิน 2 ชั่วโมง


ภาพ รางรถไฟใต้ดิน บางแห่งอยู่ลึกลงไปใต้ดินมาก หากมีคนต้องใช้บริการมาก เขาจะจัดระบบบันไดเลื่อน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารระดับหนึ่ง แต่หากเป็นสถานีที่ไม่มีคนใช้บริการมากนัก ก็ต้องเดินเอา


ภาพ ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MTA มีเป็นจำนวนมากต่อวัน ระบบของเขาจึงไม่หยุมหยิม


ภาพ ทางขึ้นและลงสถานีรถไฟฟ้า MTA จะมีลักษณะคล้ายดังในภาพ มีอยู่ทั่วเมืองนิวยอร์ค


ภาพ บรรยากาศภายในรถไฟฟ้า ดูคล้ายๆกับรถไฟฟ้า BTS ของกรุงเทพมหานคร คนใช้บริการมาจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ หลากหลายสถานะทางเศรษษฐกิจและการอาชีพ

แนวคิดของระบบขนส่งมวลชน

ใช้ระบบขนส่งโดยระบบราง (Rail system) ให้มากที่สุด มีระบบสายการเดินรถและสถานีให้ครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ถ้าเข้าสู่พื้นที่ชุมชนเมือง ย่านศูนย์การค้ากลางเมือง ก็จะเป็นระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน เรียกว่า Subway หากเป็นการวิ่งออกไปแถบชานเมืองแล้ว ก็เป็นระบบยกรางเหนือถนน คล้ายกับรถไฟลอยฟ้าในกรุงเทพฯ

ใช้รถประจำทาง (Bus system) เป็นระบบที่ต้องประสานและเชื่อมต่อกับระบบราง ใช้ตั๋วหรือค่าโดยสารร่วมกัน ไม่มีคนเก็บตั๋ว คนจะเดินทางต้องรู้ว่าจะซื้อตั๋วที่ไหน แล้วเรียนรู้ระบบการใช้ให้ดี

ระบบขนส่งมวลชน จะเชื่อมต่อไปจนถึง ระบบรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของคน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง

ระบบค่าโดยสารจะเป็นแบบสนับสนุนให้มีราคาต่ำ อำนวยความสะดวกให้แก่คนทำงานในเมือง และคนที่ต้องเดินทางระหว่างเมือง ทำให้เมืองมีความดึงดูดเป็นศูนย์กลางของหลายๆอย่าง และเมื่อมีธุรกรรมในเมืองมากๆ สามารถสร้างงานที่มีรายได้ ฐานภาษีรายได้ที่จะนำมาพัฒนาเมืองก็มีมากขึ้น

Sunday, October 28, 2012

บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ GM ใช้แมกนีเซียมลดน้ำหนักรถยนต์


บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ GM ใช้แมกนีเซียมลดน้ำหนักรถยนต์

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Transportation, ยานพาหนะ, Material sciences, วัสดุศาสตร์, Metallurgy, โลหะวิทยา, vehicle, car, auto parts, ชิ้นส่วนรถยนต์,

ศึกษาและเรียบเรียงจากข่าว “GM tests magnesium sheet metal to make cars lighter.” โดย Bernie Woodall, Reuters, DETROIT | Tue Oct 23, 2012 6:19pm EDT


 ภาพ ผลึกแมกนีเซียม (Vapor-deposited magnesium crystals) ผลิตโดยผ่านกระบวนการ Pidgeon process ขนาดความยาว 24 ซม. ภาพ โดย Warut Roonguthai/ Wikimedia Commons

Reuters - วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทรถยนต์ General Motors (GM) เชื่อว่าได้มีความก้าวหน้าใหญ่ในการทำให้รถยนต์น้ำหนักเบาลง โดยใช้สารแมกนีเซียมเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Auto parts)

การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Auto parts) จากแผ่นแมกนีเซียม (Magnesium sheets) โดยการใช้ความร้อนกับโลหะน้ำหนักเบานี้ เพื่อทำให้มันเข้ารูปตามรายละเอียดสูงตามแม่แบบปั๊ม จะช่วยให้บริษัทผลิตรถยนต์สามารถบรรลุมาตรฐานการประหยัดพลังงานที่กำหนดโดยรัฐบาลสหรัฐได้ Jon Carter นักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ของบริษัท GM กล่าว

การใช้แมกนีเซียมในชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำการหล่อ (Die casting) ด้วยความกดสูงจะถูกนำมาใช้เป็นชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น นอกเหนือจากการใช้ผลิตพวงมาลัยและชิ้นส่วนอื่นๆ

แมกนีเซียมเบากว่าเหล็ก (Steel) ร้อยละ 75 และเบากว่าอลูนิเนียมร้อยละ 25 แต่ก็มีราคาสูงกว่าอลูมิเนียม 3 ถึง 4 เท่า แต่การใช้ในปริมาณมากๆ จะกระตุ้นให้มีการผลิตแผ่นแมกนีเซียมากขึ้น และจะทำให้ราคาถูกลง

การใช้ส่วนประกอบแมกนีเซียมในชิ้นส่วนรถยนต์จะช่วยลดน้ำหนักแผ่นโลหะที่ใช้เป็นส่วนประกอบรถยนต์ ทำให้รถยนต์น้ำหนักลดลง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเป็นการเพิ่มสมรรถนะโดยรวมของรถยนต์

GM จะผลิตยานพาหนะ 50 คัน ที่จะขายสู่ลูกค้า ที่ใช้ส่วนประกอบแมกนีเซียมในไตรมาสที่ 4 นี้ แต่ไม่บอกว่าใช้ในรถรุ่นใด

ในปี ค.ศ. 2020 แมกนีเซียมจะมีส่วนประกอบเป็นร้อยละ 15 ของน้ำหนักรถยนต์ ทำให้สามารถประหยัดพลังงานรถยนต์ได้ร้อยละ 9 ถึง 12 ตามความเห็นของ U.S. Automotive Partnership

ในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้มีการปั๊มชิ้นส่วนที่เป็นแผ่นเหล็ก (Steel sheets) ในฝากระโปรงหน้ารถบรรทุก (Hood) และประตูรถมากว่า 100 ปี

การใช้แมกนีเซียมปั๊มขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนรถยนต์จะต้องใช้ความร้อน 450 องศาเซลเซียส และเป็นกระบวนการช้า ความคาดหวังทางโลหะวิทยาคือใช้อุณหภูมิในระดับปกติ เหมือนการปั๊มชิ้นส่วนเหล็กกล้าทั่วไป ทางบริษัทกำลังทำงานเพื่อใช้แมกนีเซียมนี้ในลักษณะโลหะประสม Alloy ที่จะทำให้กระบวนการปั๊มเป็นชิ้นส่วนได้ด้วยอุณหภูมิที่ลดลง

ในปัจจุบันในรถยนต์นั่งทั่วไปในสหรัฐอเมริกาจะมีน้ำหนักประมาณ 3,800 ปอนด์ หรือ 1,727 กิโลกรัม มีน้ำหนักแมกนีเซียมเพียง 4.55 กิโลกรัม มีอลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบประมาณ 155.9 กิโลกรัม

Saturday, October 27, 2012

รถยนต์ไฟฟ้า Audi F12 น่าสนใจ แต่ยิ่งน่าติดตามคือเบื้องหลังรถ


รถยนต์ไฟฟ้า Audi F12 น่าสนใจ แต่ยิ่งน่าติดตามคือเบื้องหลังรถ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Transportation, electric car, EV, PHEV, VW, Audi, Robert Bosch GmbH, รถยนต์ไฟฟ้า,
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “Audi has unveiled their F12 e performance prototype.” EV News, FRIDAY, OCTOBER 19, 2012


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ Audi F12

รถยนต์ไฟฟ้า Audi F12 นี้ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ ผลจากโครงการวิจัยที่ได้ศึกษาร่วมกันในช่วง 3 ปี ระหว่าง Audi ในเครือค่ายของ VW บริษัทรถยนต์ใหญ่สุดของเยอรมัน กับ Bosch และหลายสถาบันในมหาวิทยาลัย RWTH Aachen University เพื่อพัฒนาโครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่ก้าวหน้าคันนี้ ซึ่งเป็นรถยนต์สปอร์ตไฟฟ้า ภายใต้เทคโนโลยีที่เรียกว่า e Sport

โครงการเริ่มต้นโดยใช้สถานที่ของ Audi Electronics Venture GmbH (AEV) ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2009 โครงการได้แบ่งเทคโนโลยีที่จะใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนๆ แล้วแบ่งกันศึกษาและออกแบบ ทั้งการวางโครงสร้าง (Platform) รถยนต์, แบตเตอรี่ไฟฟ้า, ระบบขับเคลื่อน, และอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การแบ่งปันความรู้ และเรียนรู้ร่วมกัน

เทคโนโลยีที่ได้มานี้จะเหมาะสำหรับการใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าสปอร์ต (e Sport) รถยนต์นั่ง (e Sedan) และรถยนต์ใช้วิ่งในเมือง ( e City car) ซึ่งนอกจากจะเป็นแบบเพื่อใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ได้ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมในโครงการนี้ มาจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย โดยมีเงินงบประมาณ €36 ล้าน หรือประมาณ 1,440 ล้านบาท โดยมีวิศวกรทั้งจาก AUDI AG และ Audi Electronics Venture ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับ Robert Bosch GmbH, Bosch Engineering GmbH และสถาบันทั้ง 3 แห่งของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen University: อันได้แก่ the Institute of Automotive Engineering (ika), the Institute for Power Electronics and Electrical Drives (ISEA) และthe Institute of Electrical Machines (IEM) รวมถึงมหาวิทยาลัยอื่นๆ อันได้แก่ The technical universities of Munich, Dresden และ Ilmenau, Leibniz University Hanover, the Fraunhofer institutes IESE และ IISB เช่นเดียวกับ Forschungsgesellschaft Kraftfahrwesen mbH Aachen

ส่วนรัฐบาลกลาง ผ่านกระทรวงศึกษาธิการและวิจัยของเยอรมัน สนับสนุนเงินงบประมาณ €23 ล้าน หรือ 920 ล้านบาท อันเงินระดับนี้นับว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับกิจการของทั้งกลุ่มบริษัทรถยนต์ใหญ่อย่างโฟล์คสวาเกน (VW) ซึ่งรวมถึง Volkswagen Audi,Bentley, Bugatti,Lamborghini, Porsche, SEAT,Škoda และ ยานพาหนะที่ติดยี่ห้อง Volkswagen ทั้งหลาย

ส่วนบริษัท Robert Bosch GmbH ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปว่าบอช (Bosch) อันเป็นบริษัทข้ามชาติฐานในเยอรมันที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและอิเลคโทรนิกส์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Gerlingen, ใกล้กับ Stuttgart บริษัท Bosch เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ส่วนที่บริษัทรถยนต์ ระบบผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และวิศวกรที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่จะได้ คือได้นักวิทยาศาสตร์ที่คิดแบบอิสระที่มองประเด็นแตกต่างกันออกไป และนักศึกษาที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่จำกัดสาขาวิชามาร่วมกันศึกษาและออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบนี้ ส่วนผลที่ได้ย่อมจะขยายไปสู่ส่วนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเยอรมันโดยรวม

Friday, October 26, 2012

ซิลวิโอ เบอร์ลูสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลีถูกศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ฐานหนีภาษี

ซิลวิโอ เบอร์ลูสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลีถูกศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ฐานหนีภาษี

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, การปกครอง, ยุโรป, อิตาลี, EU, Europe, Italy, Silvio Berlusconi

ศึกษาและเรียบเรียงจากข่าว “Silvio Berlusconi sentenced for tax fraud.” BBC News, เมื่อวันที่ 26 October 2012 Last updated at 17:21 GMT


ภาพ  ซิลวิโอ เบอร์ลูสโคนี (Silvio Berlusconi) อดีตนายรัฐมนตรีประเทศอิตาลี

ศาลเมืองมิลาน (Milan) ในประเทศอิตาลี ได้ตัดสินความผิดของอดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ซิลวิโอ เบอร์ลูสโคนี (Silvio Berlusconi) วัย 75 ปี โทษหนีภาษี จำคุก 4 ปี แต่ด้วยกฎหมายอภัยโทษ โทษจึงลดลงเหลือ 1 ปี เบอร์ลูสโคนีกล่าวประณามการตัดสินของศาลครั้งนี้ว่า เป็นการคุกคามทางศาล และเขาจะยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้ในศาลชั้นต่อไป

เบอร์ลูสโคนีและคนอื่นๆถูกกล่าวหาว่าซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์สหรัฐด้วยราคาที่เกินจริงด้วยการซื้อสินค้าจากบริษัทต่างประเทศที่อยู่ภายใต้อำนาจของเขา การตัดสินครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการลงโทษ ในหลายๆคดีของเขาที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางด้านธุรกิจ ในอดีต เรื่องที่ถูกฟ้องร้องมักจะได้สามารถเคลียร์ได้ หรือไม่ก็เรื่องหมดอายุความ

ในปี ค.ศ. 1997 เขาได้รับโทษภาคทัณฑ์ในการทำบัญชีการเงินปลอม แต่ในศาลอุทรณ์เรื่องก็ถูกยกฟ้องไป

หลังจากประกาศผลของการตัดสิน หุ้นของ Mediaset TV company ที่เขาเป็นเจ้าของในตลาดหลักทรัพย์ที่เมืองมิลานได้ตกลงมาทันทีร้อยละ 3

เบอร์ลูสโคนีได้ประกาศในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเขาจะลงจากการเป็นหัวหน้าพรรค Freedom Party และจะไม่สมัครชิงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า

ในช่วงที่เบอร์ลูสโคนีมีอำนาจในสองทศวรรษที่ผ่านมา เขาได้แก้ไขกฎหมายที่ทำให้เขาได้รับการยกเว้นโทษอาญาที่เกี่ยวกับคอรัปชั่นหลายๆประการที่เขาถูกกล่าวหา

แต่การที่เขาได้รับการลดหย่อนโทษจาก 4 ปี เหลือ 1 ปีนี้ เป็นผลมาจากการปรับนโยบายโดยพรรคฝ่ายซ้ายกลางที่เป็นรัฐบาลคู่ปรับของเขา ที่ต้องการลดจำนวนนักโทษในคุกลง

ข้อมูลจาก Wikipedia

ซิลวิโอ เบอร์ลูสโคนี (Silvio Berlusconi) เกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1936 เป็นนักการเมืองและเจ้าพ่อสื่อ ผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัยจากช่วง ค.ศ. 1994 ถึง 1995, 2001 ถึง 2006 และ 2008 ถึง 2011 เขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Mediaset ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อในอิตาลี และเจ้าของทีมฟุตบอล A.C. Milan เขานับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และนับเป็นคนที่สามในประวัติศาสตร์ที่นับแต่ที่ได้มีการรวมประเทศอิตาลีเป็นหนึ่ง ตามหลังเพียงจอมเผด็จการ Benito Mussolini และ Giovanni Giolitti

จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes เบอร์ลูสโคนีจัดเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดอันดับที่ 169 ของโลก โดยมีทรัพย์สินมูลค่า 177,000 ล้านบาท

การก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของเบอร์ลูสโคนีเป็นไปอย่างรวดเร็ว เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะที่ปรึกษา (Member of the Chamber of Deputies) เป็นครั้งแรก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1994 หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งพรรค  Forza Italia ได้พรรคได้กลายเป็นเสียงข้างมากในเวลาเพียง 3 เดือน แต่คณะรัฐบาลของเขาก็ต้องล้มลงด้วยเวลาเพียง 9 เดือน ด้วยความที่ตกลงกันไม่ได้ในพรรคร่วมรัฐบาล ในการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน ค.ศ. 1996 เบอร์ลูสโคนีแพ้พรรคฝ่ายซ้ายกลางที่นำโดย Francesco Rutelli การเมืองของเบอร์ลูสโคนีเป็นไปในแบบของอิตาลี คือลุ่มๆดอนๆ เข้าๆออกๆ

การดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่ของเขามักเป็นข้อถกเถียงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของธุรกิจกับการเมืองของเขา เบอร์ลูสโคนีถูกวิจารณ์ว่าพรรคร่วมรัฐบาลของเขาคือ nativist Lega Nord เป็นพวกเผด็จการมาเกิดใหม่ เขาเคยกล่าวยกย่องจอมเผด็จการ Mussolini เขาเคยเดินทางไปลิเบียในปี ค.ศ. 2008 สมัยกัดดาฟีเรืองอำนาจ เพื่อขอโทษและจ่ายค่าชดเชยสงครามที่อิตาลีเคยทำกับลิเบียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงที่เขาครองอำนาจ เขามีเรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวกับทางเพศกับหญิงค้าประเวณีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

หลังจากเขาเสียเสียงข้างมากในสภาและปัญหาด้านเศรษฐกิจที่หนักหนายิ่งขึ้นด้วยวิกฤติหนี้สินของชาติในยุโรป (European debt crisis) เบอร์ลูสโคนีได้ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 แต่ตามการรายงานของสื่อ เขาต้องการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และเตรียมตัวที่จะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในปี ค.ศ. 2013

ประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากหรือน้อย มีความหมายอย่างไร?


ประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากหรือน้อย มีความหมายอย่างไร?
List of countries by public debt

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: เศรษฐศาสตร์, การเงิน, การคลัง, หนี้สาธารณะ, public debt, national debt, government debt

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia



ภาพ การเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศกรีก เมื่อคนว่างงานมากขึ้น รัฐมีสภาพใกล้ล้มละลาย


ภาพ คนที่ออกมาประท้วงที่เป็นคนหนุ่มสาว ที่ตกงาน อาหารการกินมีราคาสูง รัฐบาลมีหนี้สาธารณะสูง เอกชนล้มละลาย บริษัท ธนาคารต้องตกอยู่ในมือของต่างชาติ

ความนำ

เมื่อใดที่มีการพูดถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ คนไทยทั่วไป แม้แต่คนมีการศึกษาก็ยังงง ไม่รู้ว่าเขาพูดถึงเรื่องอะไร เพราะคำว่าเศรษฐกิจสำหรับชาวบ้าน เราจะมองออกเพียงว่า ความเป็นอยู่ของเราฝืดเคืองหรือไม่ เรายังมีงานทำหรือไม่ งานที่ทำพอให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ หรือมีเงินเหลือเก็บหรือเปล่า
แต่เมื่อใดที่มีการพูดถึงเศรษฐกิจมหภาค (Macro Economy) เกี่ยวกับเศรษฐกิจของระดับประเทศ ภูมิภาค หรือระดับโลก เราจะรู้สึกมึนงง ไม่รู้ว่าเขาพูดกันเรื่องอะไร เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจหดตัวในยุโรป อเมริกาเหนือ หรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เราจะยังไม่รู้สึกอะไร จนกว่าสิ่งเหล่านั้นมีผลกระทบต่อเราโดยตรง

ขอให้แข็งใจหน่อยครับ อะไรที่ไม่รู้ แต่อาจมีความสำคัญ ก็ต้องหาทางศึกษา ความเข้าใจบางอย่าง แม้ยากหน่อยแต่ก็ต้องค่อยๆเรียนรู้กันไป

ดังในคราวนี้จะขอพูดถึงเรื่องของ “หนี้สาธารณะ” (Public debt) ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับประเทศไทยและตัวเราแน่ มาเรียนรู้ด้วยกันครับ

หนี้สาธารณะคืออะไร

หนี้สาธารณะ (Public debt) ซึ่งมีเรียกในชื่ออื่นๆว่า หนี้รัฐบาล (Government debt) หรือหนี้ของชาติ (National debt) เป็นหนี้ที่ได้เกิดขึ้นโดยการกระทำของรัฐบาล และในประเทศที่มีหลายรัฐดังในสหรัฐอเมริกา (United States) หนี้นี้คือหนี้ที่กระทำโดยรัฐบาลกลาง (Federal government) หนี้สาธารณะอาจเป็นหนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลของแต่ละรัฐในประเทศที่มีหลายรัฐ ก่อโดยรัฐบาลเมือง (Municipal government) หรือรัฐบาลท้องถิ่น หนี้นี้เป็นการนับเฉพาะส่วนที่รัฐบาลไปเป็นลูกหนี้

บางประเทศมีหนี้มาก แต่ขณะเดียวกันก็มีการเป็นประเทศเจ้าหนี้ หรือประเทศผู้ลงทุนในประเทศอื่นๆ ไปด้วยในตัว โดยผ่านทางความช่วยเหลือภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ (Multi-national corporation) ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น และหลายๆประเทศทางตะวันตก ยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ
หนี้สาธารณะ (Public Debt) คือหนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ จึงเรียกได้อีกชื่อว่า Government Debt จึงต้องไม่ลืมว่า หากจะทำความเข้าใจภาพรวมๆ ให้พิจารณาควบคู่ไปกับหนี้ภาคเอกชนด้วย ดังปัญหาของเศรษฐกิจฟองสบู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2539-40 ในเอเชียที่เริ่มจากประเทศไทยนั้น เรามีปัญหาทั้งหนี้ภาครัฐบาลและหนี้ภาคเอกชน ที่มีการนำเงินมาจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศอย่างเกินตัว ฟุ่มเฟือย และขาดวินัยในการใช้จ่าย

การเปรียบเทียบว่าหนี้สาธารณะของประเทศว่ามีมากน้อยเพียงใด เขานับเป็นสัดส่วนกับรายได้ประชาชาติ (Gross Domestic Production – GDP) หรือรายได้มวลรวมของประเทศนั้นๆ

ความหมายที่แท้จริง

หลายประเทศก่อหนี้ได้มาก เพราะประเทศมีลักษณะเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการหาและสร้างรายได้ องค์กรเจ้าหนี้มีความไว้วางใจในความสามารถในการหาเงินมาชำระหนี้ ดังตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา หรือสิงค์โปร์ เป็นต้น

ประเทศญี่ปุ่น (Japan) มีหนี้สาธารณะคิดเป็น 229.77 ของ GDP นับว่ามีสัดส่วนของหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ญี่ปุ่นมีกิจการของภาคเอกชนที่ยังแข็งแกร่งอยู่ สินค้าและบริการของญี่ปุ่นเป็นระดับใช้เทคโนโลยีสูง มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของโลก แต่กระนั้นประเทศของเขาเองก็ต้องระวังตัว เพราะเขามีจุดอ่อนตรงกำลังคนของเขานั้นเฉลี่ยเริ่มสูงอายุ กลายเป็นผู้เกษียณเสียเป็นจำนวนมาก ภาระสังคมด้านค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ เมื่อเปรียบเทียบแล้วไม่ได้มีวินัยในการทำงานเหมือนคนรุ่นก่อนๆ

ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States) มีหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 102.94 ของ GDP จัดเป็นประเทศมีหนี้สาธารณะสูงอันดับ 11 ของโลก เป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศเจ้าหนี้ของอเมริการายใหญ่อย่างจีน เขาต้องยอมผ่อนผัน เพราะอเมริกาเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ และจีนเชื่อมั่นว่าสหรัฐมีความสามารถที่จะฟื้อนตัวทางเศรษฐกิจ และจ่ายหนี้คืนในรูปต่างๆได้ และจุดสำคัญคือสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศมหาอำนาจทางทหารอันดับหนึ่งของโลก จะล้มไม่ได้

ประเทศแคนาดา (Canada) มีหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 84.95 ของ GDP จัดเป็นประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก แคนาดาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล คนมีการศึกษา มีระบบสังคมและการเมืองที่ก้าวหน้า มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีสูง เขาเป็นทั้งประเทศลูกหนี้ และประเทศเจ้าหนี้ไปพร้อมๆกัน

ประเทศสิงค์โปร์ (Singapore) มีหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 100.79 ของ GDP จัดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก แต่จุดแข็งของสิงค์โปร์คือ ความเป็นศูนย์กลางของตลาดเงินในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีระบบการปกครองที่มีธรรมาภิบาล มีการจัดระเบียบสังคมที่เข้มแข็ง มีอัตราการคอรัปชั่นต่ำ มีการวางแผนระบบสาธารณูปโภคที่ดี คนมีการศึกษาสูง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้สิงค์โปร์เป็นประเทศที่ยังมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ

ประเทศอิรัก (Iraq) มีหนี้สาธารณะ 86.92 ของ GDP จัดเป็นสัดส่วนหนี้มากอันดับ 17 ของโลก แต่อิรักเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นประเทศที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปเกี่ยวข้องทางการทหาร และต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่หากประเทศกลับสู่ความสงบภายในประเทศเมื่อใด เขาก็มีศักยภาพที่จะหารายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีแต่จะเหลือน้อยลงในโลก

หนี้สาธารณะในยุโรป

แต่โดยทั่วไป หนี้สาธารณะเป็นเรื่องที่หากมีในสัดส่วนที่มากเกินไปกว่ากำลังหา ก็ล้วนไม่เป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น ยกตัวอย่างปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มยุโรป หลายประเทศเมื่อได้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union) จากที่เคยล้าหลังในช่วงหลังสงครามโลก ก็ได้รับเงินกู้ได้ง่ายขึ้น การเมืองในแบบประชาธิปไตยใหม่ ก็ทำให้หลายๆประเทศหาเสียงกันแบบ “ประชานิยม” (Populism) ยกระดับเงินเดือนค่าจ้างค่าตอบแทน มีสวัสดิการสุขภาพ การประกันการว่างงาน การศึกษาฟรีจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่วนเงินนั้นหากหามาด้วยเก็บภาษีรายได้ในประเทศไม่ได้ ก็ใช้การกู้ยืมจากต่างประเทศ ภายในช่วง 1-2 สมัยเลือกตั้งยังไม่รู้สึก ประชาชนพอใจ แต่ยิ่งนานวัน ก็จะพบว่าประเทศขาดความสามารถในการแข่งขัน ประชาชนคาดหวังสูง แต่ประเทศขาดความสามารถในการแข่งขัน หนี้ก็ยิ่งสูงมากขึ้นจนขาดความสามารถในการจ่าย

เปรียบเหมือนกับคนทั่วไป อยากได้เงินเดือนสูงๆ รายได้มากๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ต้องการทำงานให้น้อยที่สุด ทำงานมากเหมือนถูกเอาเปรียบ ถ้าทัศนคติคนเป็นเช่นนี้กันมากๆ ประเทศก็จะอยู่ยาก เพราะโดยรวม ทำให้ไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ

ประเทศในกลุ่ม EU ในปัจจุบัน หลายประเทศมีหนี้สินภาครัฐมาก ทำให้ขาดสภาพคล่อง มีปัญหาอื่นๆตามมา เช่น คนตกงาน รัฐไม่มีความสามารถจะจ่ายเงินสวัสดิการสังคมได้อย่างที่กำหนด หากตัดการจ้างงานภาครัฐ ก็จะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคเอกชน ดังเช่น

ประเทศกรีก (Greece) มีหนี้สาธารณะเป็นสัดส่วน 160.81 เปอร์เซ็นต์ของ GDP มากเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าอาการวิกฤติทางเศรษฐกิจก็หนักหนาที่สุดในยุโรป และความสามารถที่จะใช้หนี้คืนก็ยิ่งลดต่ำลง เหมือนคนใกล้ล้มละลาย

ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะในยุโรปที่ตามมาเป็นอันดับ 7 ของโลก คืออิตาลี (Italy) มีหนี้สาธารณะร้อยละ 120.11 ของ GDP; ตามมาด้วย อันดับ 9 ของโลก ปอร์ตุเกส (Portugal) มีหนี้สาธารณะ 106.79; อันดับ 10 ไอร์แลนด์ (Ireland) มีหนี้สาธารณะ 104.95; อันดับ 13 ไอซ์แลนด์ (Iceland) มีหนี้สาธารณะ 99.19; อันดับ 14 เบลเยี่ยม (Belgium) มีหนี้สาธารณะ 98.51; อันดับ 19 ฝรั่งเศส (France) มีหนี้สาธารณะ 86.26; และ อันดับ 22 สหราชอาณาจักร (United Kingdom) มี 82.50

เมื่อยุโรปมีลักษณะเศรษฐกิจที่ผูกพันกัน จะล้มก็ไม่ได้ จะเดินหน้าต่อไป ก็ลำบาก เป็นลักษณะผอืดผะอม การจะแก้ปัญหาทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงได้ ก็ต้องใช้เวลา เพราะปัญหาที่ได้เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ได้ใช้เวลาสะสมกันมาอย่างต่อเนื่อง

หนี้สาธารณะของไทย

ประเทศไทย (Thailand) มีหนี้สาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 41.69 ของรายได้ประชาชาติ (Gross Domestic Production - GDP) มากเป็นอันดับที่ 86 ของโลก จากที่มีการจัดเก็บข้อมูลได้ 180 ประเทศ

หากมองเพียงตัวเลขหนี้สาธารณะนี้ ก็ดูยังไม่น่าตกใจ เพราะหากเปรียบเทียบ ยังมีประเทศที่มีความแข็งแกร่ง เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีหนี้สาธารณะในสัดส่วนสูงกว่าประเทศไทย แต่สิ่งที่นักวิชาการกังวลคือ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ไทยมีสภาพการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ด้วยความขัดแย้งระหว่างสองขั้วการเมืองที่มีแนวคิดที่ต่างกัน แม้สภาพเศรษฐกิจยังดำเนินไปได้ แต่ก็ไม่ราบรื่น

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไทยเริ่มขาดวินัยทางการเงินการคลัง ได้มีการใช้เงินอย่างไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้สร้างศักยภาพความแข็งแกร่งสำหรับอนาคตเกิดขึ้นมากมาย ดังเช่น สูญเสียไปกับน้ำท่วมใหญ่ในปลายปี พ.ศ. 2554 มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท, การทุ่มเงินไปกับการรับจำนำข้าวที่ยังไม่สามารถระบายออกได้ 350,000 ล้านบาท ในแบบที่รับซื้อขาดมาแพง แต่ต้องนำไประบายขายออกในราคาต่ำกว่าต้นทุน แล้วขณะนี้ยังระบายด้วยการจำหน่ายไปยังต่างประเทศไม่ออก หากระบายมาในตลาดภายประเทศ ก็จะยิ่งไปซ้ำเติมราคาให้ต่ำลงไปอีก

มีผู้สงสัยว่าเศรษฐกิจไทยในแบบทุนนิยมภายใต้พรรคเพื่อไทย กำลังเป็นเศรษฐกิจที่เดินผิดทาง สร้างหนี้ที่ไม่เกิดประโยชน์ให้กับประเทศเป็นอันมาก ในขณะที่ตลาดแรงงานของไทย ก็มีคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่มีค่าแรงงานที่ต่ำกว่า เมื่อมีหนี้สาธารณะมากๆ จะไม่เป็นการซ้ำเติมให้กับเศรษฐกิจของประเทศหนักขึ้นไปอีกหรือ

การเปรียบเทียบในอาเซียน

มีคำถามว่า แล้วประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับใด มากหรือน้อยอย่างไร ทางที่ดีที่จะให้คำตอบได้ คือเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังในกลุ่มอาเซียน

ประเทศไทย (Thailand) มีหนี้สาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 41.69 ของรายได้ประชาชาติ (Gross Domestic Production - GDP) มากเป็นอันดับที่ 86 ของโลก จากที่มีการจัดเก็บข้อมูลได้ 180 ประเทศ มีประเทศในอาเซียน 4 ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะมากกว่าไทย คือ สิงค์โปร์ ลาว มาเลเซีย และพม่า
ประเทศในอาเซียนที่มีหนี้สาธารณะในสัดส่วนมากกว่าประเทศไทยมี 4 ประเทศ เรียงตามลำดับได้ดังนี้

1.    ประเทศสิงค์โปร์ (Singapore) มีหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 100.79 ของ GDP ซึ่งนับว่าสูงสุดในกลุ่มอาเซียน
2.    ประเทศลาว (Laos) หนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 54 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 57.36 ของ GDP
3.    ประเทศมาเลเซีย (Malaysia) หนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 60 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 52.56 ของ GDP และ
4.    ประเทศพม่า (Myanmar) มีหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 79 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 44.32 ของ GDP

ประเทศมาเลเซียมีประวัติการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาที่น่าศึกษา เพราะเป็นการพัฒนาที่มีการวางโครงสร้างพื้นฐาน (Infra-structure) ที่ชัดเจน กล้าที่จะลงทุน ซึ่งทำให้มีผลต่อการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดมา แต่ในปัจจุบันและอนาคต มาเลเซียจะต้องประสบกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองมากขึ้น การต้องกู้เงินต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ระดับหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่เขาพยายามทำ

ประเทศลาวและพม่ามีลักษณะคล้ายกัน คือเป็นประเทศที่กำลังเปิดประเทศ มีทรัพยากรภายในประเทศมากมายที่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ การนำเงินกู้ต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศนั้น เป็นสิ่งที่อธิบายได้

มี 5 ประเทศหลักในอาเซียนที่มีหนี้สาธารณะในสัดส่วนน้อยกว่าประเทศไทย คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และบรูไน

1.    ประเทศฟิลิปปินส์ (Philippines) มีหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 92 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 40.47 ของ GDP
2.    ประเทศเวียดนาม (Vietnam) มีหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 97 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 37.97 ของ GDP
3.    ประเทศกัมพูชา (Cambodia) มีหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 128 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 28.60 ของ GDP
4.    ประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia) มีหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 133 คิดเป็นร้อยละ 25.03 ของ GDP ซึ่งนับว่าต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากบรูไน
5.    ประเทศบรูไน (Brunei Darussalam) มีหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับที่ 172 คิดเป็นร้อยละ 0.00 ของ GDP ซึ่งนับว่าต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน คือไม่มีหนี้สาธารณะเลย

ตามหลักของการบริหารการเงินการคลังของแต่ละประเทศย่อมมีแนวคิดและยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ประเทศสิงค์โปร์เป็นประเทศเล็กมีคนไม่ถึง 4 ล้านคน วิธีการบริหารคล้ายกับบริษัทขนาดใหญ่ การมีหนี้สาธารณะในสัดส่วนสูงสำหรับเขา ก็ต้องยอมรับได้ หากเป็นการลงทุนเพื่อให้ประเทศมีความแข็งแกร่งต่อไป

ประเทศอินโดนีเซียมีประชากร 237,424,363 คนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ประเทศใหญ่ เขาก็ต้องบริหารกิจการอย่างอนุรักษ์ (Conservative) เขามีบทเรียนการบริหารงานภาครัฐที่ล้มเหลว รั่วไหลและไร้ประสิทธิภาพ ดังในสมัยเผด็จการทหารประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto Regime) มาแล้ว ปัจจุบัน เมื่อเขาเริ่มเดินมาถูกทางตามระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เขาทำได้คือการเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และให้มีเสถียรภาพ ไม่สุ่มเสี่ยง

สรุปโดยภาพรวมของอาเซียน สถานะของหนี้สาธารณะยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของภูมิภาค ยังเปรียบไม่ได้กับในยุโรป ภูมิภาคโดยรวมเหมือนคนที่เคยหลับมาก่อน และเมื่อตื่นขึ้นก็อยากบริโภค อยากพัฒนาประเทศ ไทยก็จะได้รับผลรวมจากกระแสการพัฒนาภูมิภาคนี้ด้วย

สรุปบทเรียนประเทศไทย

ย้อนกลับมามองเศรษฐกิจไทย การสร้างหนี้สาธารณะเป็นนโยบายที่ขึ้นอยู่กับแนวคิดของรัฐบาล ในทัศนะของผู้เขียน หากเป็นระดับเดียวกับมาเลเซีย ก็ถือว่าน่าจะกระทำได้ คือประมาณร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 70 เป็นอย่างสูง

แนวโน้มพรรคเพื่อไทย คือการใช้เงินจำนวนมาก เพื่อทำโครงการที่มีลักษณะ “ประชานิยม” (Populism policies) แต่จุดอ่อนของพรรคฯในปัจจุบัน คือขาดคนมีความสามารถในการสรรหาและคัดเลือกเข้ามาทำงาน เรียกว่าขาด “ระบบคุณธรรม” (Merit System) เป็นระบบคล้าย Spoils System คือผู้ชนะต้องได้สมบัติเชลย ตำแหน่งงาน การประมูลงาน การจัดสรรงบประมาณ ล้วนเกี่ยวข้องกับฐานเสียง และกระทำอย่างชัดแจ้ง อย่างจะบอกให้รู้ว่า หากเป็นพวกฉัน ท่านก็จะได้สิ่งดีๆเหล่านี้ แต่สิ่งดีๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาจากภาษีอากรของคนทั้งประเทศ

นโยบายประชานิยม หรือนโยบายที่ประชานิยมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ไม่เสียหาย และนับเป็นสิ่งที่ดีด้วย แต่ต้องทำอย่างเสมอภาค ให้ประโยชน์แก่ผู้คนอย่างถ้วนหน้า และไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ก่อให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก หรือการคอรัปชั่นด้านนโยบาย

นโยบายบริการสาธารณสุขถ้วนหน้า หรือ Universal Healthcare ซึ่งพรรคเพื่อไทยใช้คำว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” โดยรวมนับว่ามาถูกทาง นับเป็นสวัสดิการสังคมที่จำเป็น และประเทศไทยถึงเวลาที่จะดำเนินการได้แล้ว

นโยบายเบี้ยเลี้ยงช่วยเหลือคนชรา ที่ต้องมองหารูปแบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ พรรคประชาธิปัตย์เสนอ แต่ก็เชื่อว่าจะต้องดำเนินการต่อ ซึ่งเป็นการให้โดยทั่วทั้งประเทศ แต่ยังเป็นค่าตอบแทนที่ระดับต่ำ

นโยบายการศึกษาฟรี 9-12 ปี โอกาสของการอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยราคาที่เป็นเหตุเป็นผล การส่งเสริมการอาชีวศึกษา เพื่อให้แรงงานมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ในยุคที่ต้องตอบรับต่อ ASEAN ปี ค.ศ. 2558 เหล่านี้ล้วนเป็นนโยบายที่ถูกใจประชาชนโดยรวม ความสำคัญอยู่ที่จะทำได้อย่างไรและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงใดเท่านั้น

กู้มาเพื่อใช้ทำอะไร

การที่รัฐบาลจะกู้เงินมาใช้นั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้ หากโดยรวมแล้วยังไม่เกินกรอบที่จะสร้างความเสี่ยงเกินไป ลองดูตัวอย่าง

บริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลาย ก็ล้วนมีการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนกันทั้งนั้น แต่เขาจะใช้วิธีการพิจารณาเป็นกรณีๆไป ไม่ใช่จะสามารถนำไปใช้จ่ายได้อย่างเสรี หรือกู้มาในนามบริษัท แล้วนำเงินไปใช้จ่ายเป็นการส่วนตัว

หากรัฐบาลกู้มาเพื่อพัฒนาโครงสร้างระบบจัดการน้ำ ระบบชลประทาน แก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นสิ่งที่รับได้ ที่เคยของวงเงินงบประมาณเอาไว้ 350,000 ล้านบาทนั้น ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่เพียงว่าจะทำอย่างไรอย่างมีหลักวิชา และแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง ไม่ใช่นำเงินมาจ้างกัน ละลายทรัพย์กัน จนไม่ได้เนื้องานเป็นชิ้นเป็นอัน

กู้มาเพื่อสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าว ประมาณการกันว่าใช้ไปแล้ว 350,000 ล้านบาท ความจริงคือการซื้อข้าวแบบขาดตัว ไม่มีใครมาไถ่ถอนคืน ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

กู้มาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ทั้งในเมืองและของประเทศ รถไฟฟ้าในกทม.และจังหวัดใกล้เคียง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว นับว่าเป็นความจำเป็น และการกู้มาเพื่อพัฒนาการคมนาคมระบบราง รถไฟความเร็วสูง (High speed rails) นับเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ทั้งสองโครงการนับเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เป็นประโยชน์ในการแข่งขัน ลดต้นทุนด้านพลังงาน

กู้มาเพื่อสนับสนุนโครงการ “รถยนต์คันแรก” ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แม้แต่จะเป็นรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco cars) เพราะผลของมันทำให้การคมนาคมในเมืองกลายเป็นปัญหาที่หนักขึ้น โดยรวม รัฐบาลต้องมีนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะพลังงานปิโตรเลียมที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้น ประเทศไทยมีอย่างจำกัด และต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่

โดยรวม รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องแสดงวินัยทางการเงินการคลังมากกว่านี้ ต้องมีการสอดส่องว่าวิธีการกระจายเงิน กระจายทรัพยากรนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมหรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะให้เม็ดเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น ได้ถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้มากที่สุด

“There is no free lunch.” ไม่มีอาหารกลางวันฟรีๆสำหรับใคร ของอะไรที่ได้มาฟรีๆ มักเป็นของที่ไม่มีค่า คนใช้ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของหลักของการใช้เงิน คือ ใครได้ประโยชน์ คนนั้นเป็นคนจ่าย เอาเป็นหลักไว้ก่อน ส่วนการใช้เงินเพื่อทำให้คนจนคนด้อยโอกาสนั้น ก็ต้องพิจารณาว่า เงินนั้นจะไปสร้างความสามารถในการยืนบนขาตัวเองได้อย่างไร ไม่ใช่ไปช่วยอุ้มเขา จนจากที่เคยยืนได้ กลายเป็นง่อย รอขอแต่ของแจกฟรี

รายชื่อประเทศ

รายชื่อประเทศที่มีหนี้สาธารณะจัดอันดับจากมากไปหาน้อย โดยอาศัยข้อมูลจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMP) ตัวเลขทั้งหมดจัดเก็บในช่วงปี ค.ศ. 2011

ลำดับที่
ประเทศ
Country
% of GDP
(IMF)
1.     
229.77
2.     
160.81
3.     
153.41
4.     
138.98
5.     
136.22
6.     
133.82
7.     
120.11
8.     
117.25
9.     
106.79
10.  
104.95
11.  
102.94
12.  
100.79
13.  
99.19
14.  
98.51
15.  
92.40
16.  
90.53
17.  
 Iraq
86.92
18.  
86.61
19.  
86.26
20.  
84.95
21.  
83.02
22.  
82.50
23.  
82.00
24.  
81.51
25.  
80.45
26.  
80.35
27.  
78.2
28.  
77.58
29.  
76.45
30.  
74.55
31.  
74.43
32.  
74.34
33.  
73.14
34.  
72.20
35.  
72.19
36.  
72.03
37.  
71.95
38.  
71.84
39.  
71.41
40.  
70.94
41.  
70.33
42.  
69.88
43.  
69.78
44.  
69.10
45.  
68.77
46.  
68.47
47.  
68.05
48.  
66.23
49.  
66.18
50.  
61.75
51.  
60.12
52.  
59.96
53.  
58.92
54.  
 Laos
57.36
55.  
55.46
56.  
55.39
57.  
54.39
58.  
54.19
59.  
 Fiji
53.89
60.  
52.56
61.  
52.44
62.  
50.79
63.  
50.63
64.  
50.24
65.  
49.61
66.  
48.94
67.  
48.65
68.  
48.61
69.  
48.56
70.  
47.89
71.  
47.31
72.  
46.43
73.  
45.83
74.  
45.57
75.  
45.50
76.  
45.23
77.  
44.63
78.  
44.39
79.  
44.32
80.  
44.20
81.  
43.81
82.  
43.39
83.  
42.52
84.  
42.46
85.  
42.41
86.  
41.69
87.  
41.46
88.  
40.90
89.  
40.80
90.  
40.63
91.  
40.62
92.  
40.47
93.  
39.65
94.  
39.44
95.  
38.96
96.  
38.77
97.  
37.97
98.  
37.83
99.  
37.77
100.               
37.44
101.               
37.26
102.               
37.04
103.               
36.50
104.               
36.46
105.               
35.35
106.               
35.27
107.               
35.10
108.               
34.67
109.               
34.14
110.               
34.07
111.               
33.88
112.               
33.86
113.               
33.20
114.               
32.96
115.               
32.88
116.               
32.35
117.               
 Chad
32.15
118.               
31.99
119.               
31.48
120.               
31.33
121.               
30.90
122.               
 Togo
30.84
123.               
30.76
124.               
 Mali
30.64
125.               
29.44
126.               
29.26
127.               
29.22
128.               
28.60
129.               
28.12
130.               
28.11
131.               
26.07
132.               
25.84
133.               
25.03
134.               
24.06
135.               
23.43
136.               
23.39
137.               
22.86
138.               
22.64
139.               
22.17
140.               
21.85
141.               
 Peru
21.64
142.               
20.85
143.               
20.57
144.               
20.45
145.               
18.94
146.               
17.98
147.               
17.86
148.               
17.53
149.               
17.26
150.               
17.04
151.               
16.89
152.               
15.35
153.               
13.92
154.               
13.66
155.               
12.87
156.               
 Iran
12.70
157.               
10.88
158.               
10.63
159.               
10.23
160.               
9.92
161.               
9.91
162.               
9.60
163.               
9.10
164.               
8.35
165.               
7.52
166.               
7.35
167.               
6.04
168.               
5.68
169.               
 Oman
5.06
170.               
171.               
172.               
0.00
173.               
 Cuba
174.               
175.               
176.               
0.00
177.               
178.               
179.               
180.