Wednesday, March 26, 2014

ความเข้าใจผิดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโภชนาการผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetes)

ความเข้าใจผิดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโภชนาการผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetes)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: สุขภาพอนามัย, health care, เบาหวาน, diabetes, การออกกำลังกาย, exercise, โภชนาการ, nutrition,การควบคุมอาหาร, diet

จากการติดตามร่วมสังสรรค์กับเพื่อนสูงอายุในวัยเดียวกัน ส่วนใหญ่รู้จักการดูแลตนเอง มีคนประมาณร้อยละ 30 ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ซึ่งมีทั้งระดับไม่มาก อาศัยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยาควบคุม แต่มีบางส่วนที่แม้มีการศึกษา แต่ไม่ใส่ใจในการดูแลตนเอง ขี้เกียจออกกำลังกาย ยังดื่มสุราและแอลกอฮอล (Alcohol) ต่างๆอยู่ หรือยังไม่เลิกนิสัยการกินอย่างที่เคย

ความจริงเบาหวานที่ป่วยเป็นกันมากเป็นประเภท Type II กันเสียร้อยละ 80 ยังไม่ถึงขั้นต้องฉีดอินซูลิน เพราะร่างกายยังผลิตอินซูลินได้เองอยู่ คนส่วนนี้ต้องรู้จักดูแลตนเอง เพราะหากไม่รีบกระทำ ก็จะกลายเป็น Type I ต้องใช้การฉีดอินซูลิน ร่างกายก็อ่อนแอลง ไตก็จะวาย ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจก็จะตามมา

ปัญหาของโรคเบาหวานอีกส่วนหนึ่งคือการรู้ข้อมูลอย่างผิดๆ จึงปฏิบัติตนเองอย่างผิดๆ ทำให้การดูแลโรคเบาหวานผิดพลาด ผมจึงคิดว่าน่าจะมีการนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยนี้เป็นระยะๆ โดยอาศัยการค้นคว้าในเอกสารที่เผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มักจะเป็นภาษาอังกฤษ ใครรู้แล้วก็ช่วยกันบอกต่อครับ จะหวังพึ่งแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะในการไปพบแพทย์แต่ละครั้งจะมีเวลาปรึกษาถามไถ่ไม่มากนัก เพราะแพทย์เป็นอันมากไม่ได้รู้เรื่องการออกกำลังกายและการดูแลด้านอาหาร สู้คุยกับครูพลศึกษา พยาบาล และนักโภชนาการที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีเวลาก็จะได้ประโยชน์กว่า

ในปัจจุบัน การแพทย์ยุคใหม่ได้เรียนรู้วิธีการที่คนป่วยเบาหวานจะดำรงชีวิตได้อย่างง่ายและเป็นธรรมชาติได้มากขึ้น และที่สำคัญคือการไม่จำเป็นต้องไปหลงเข้าใจผิด
ความเข้าใจผิดที่พบมากที่สุดมีดังต่อไปนี้

เข้าใจผิด - ท่านต้องลดหรือหลีกเลี่ยงน้ำตาลอย่างที่สุด

ข้อเท็จจริง – ข่าวดีคือท่านสามารถมีความสุขกับอาหารโปรดที่มีน้ำตาลได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องจำกัดน้ำตาลในอาหารเสียทั้งหมด ตราบเท่าที่มันเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนมื้ออาหารและการออกกำลังกาย เช่น กินขนมหวานสักหน่อย แต่โดยรวมก็ลดสัดส่วนของอาหารที่บริโภค ทำให้การบริโภคแคลอรี่ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรืออาจอาศัยออกกำลังกายเพิ่มเป็นพิเศษ

เข้าใจผิด – กินอาหารโปรตีนสูงเป็นสิ่งที่ดี

ข้อเท็จจริง – จากการศึกษาพบว่าการกินอาหารที่มีโปรตีนสูงมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่หนักขึ้นไปอีกคือไขมันจากสัตว์ อาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการต้านอินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของเบาหวาน โภชนาการที่ดีคือการกินอาหารครบหมวดหมู่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท และไขมัน ร่างกายของเราต้องการอาหารทั้งสามส่วน ความสำคัญคือการกินอย่างสมดุล

เข้าใจผิด – ท่านต้องลดการกินอาหารพวกแป้ง

ข้อเท็จจริง – ข้อสำคัญคือการกินอาหารอย่างสมดุล ปริมาณและประเภทของคาร์โบไฮเดรทที่ท่านกินนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ท่านต้องเน้นการกินธัญพืชแบบไม่ขัดสี (Whole grain) ดังเช่นข้าวกล้อง เพราะจะทำให้ได้แหล่งเยื่อใย การย่อยอาหารเป็นไปอย่างช้าๆ และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นไปอย่างสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

เข้าใจผิด – ท่านไม่สามารถกินอาหารได้อย่างปกติอีกต่อไป ท่านต้องกินอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน

ข้อเท็จจริง – หลักของการกินอย่างถูกสุขอนามัยนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าเราต้องการจะควบคุมเบาหวานหรือไม่ อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานราคาแพงไม่ได้มีประโยชน์มากไปกว่าอาหารทั่วไป ท่านสามารถกินอาหารร่วมกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆได้ หากท่านรู้จักการกินอย่างปานกลาง

การต้องแยกตนเองกินอาหารที่ไม่เหมือนกับคนอื่นๆ และไม่มีความอร่อย ไม่ถูกปากเสียเลย ย่อมทำให้จิตใจหดหู่ได้ ดังนั้นขอให้ยืดหลักสายกลาง ใช้หลายๆวิธีอย่างเข้าใจธรรมชาติของโรคและตัวเราเอง เพื่อเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้มากที่สุด


ภาพ เมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ต้องรู้จักออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ทำให้ร้างกายได้กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ อย่าเพียงนั่งโต๊ะ ทำงานไปในแต่ละวัน


ภาพ ดูแลตนเองอย่าให้เป็นโรคอ้วน (Obesity) หากรู้ตัวว่าอ้วนเกิน โดยเฉพาะบริเวณลำตัว ก็ต้องควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย


ภาพ การออกกำลังกาย ให้เลือกให้เหมาะแก่วัย ไม่หนักจนเกินไป แต่ทำให้ร่างกายทุกส่วนกระชับ หัวใจแข็งแรง


ภาพ การใช้ยาให้เป็นตามแพทย์สั่ง แต่ปรึกษาการใช้ยาอย่างปานกลาง แต่เน้นไปที่อาหารที่เหมาะสม และการออกกำลังกาย


ภาพ ชั่งน้ำหนักตัวเป็นประจำ ทุกเช้าได้ก็ไม่เสียหาย เพราะน้ำหนักที่ขึ้นหรือเลงผิดสังเกต ก็นำไปสู่การตรวจหาความผิดปกติอื่นๆได้ง่ายขึ้น


ภาพ การวัดความดันโลหิต สามารถกระทำได้เองที่ย้านหรือ ชุมชน หรือที่ทำงาน เป็นอีกตัวหนึ่งที่จะใช้ในการกำหนดกิจวัตรการออกกำลังกาย และการบริโภคอาหาร


Tuesday, March 25, 2014

Stella รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ใช้วิ่งบนท้องถนนได้จริง

Stella รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ใช้วิ่งบนท้องถนนได้จริง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: 
pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: รถยนต์ไฟฟ้า, electric vehicles, ev, electric car, รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์, solar powered car, Stella

SOLAR CAR THAT SEATS 4

รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ แผงรับไฟฟ้าใหญ่พอ แต่ที่นั่งคนขับไม่สะดวกที่จะรองรับคน 4 คน เป็นรถที่่จะสามารถใช้วิ่งได้จริงบนถนนปกติ


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ออกแบบมาเพื่อการแข่งขัน นั่งได้เพียงคนเดียว


ภาพ รถยนต์ธรรมดาแบบ Station wagon นั่งได้สี่คน แต่มีพื้นที่รับแสงไม่มาก และมีน้ำหนักตัวรถมากจนทำให้ต้องใช้พลังงานมาก


ภาพ Stella รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ พัฒนาโดยทีมอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Eindhoven University of Technology (TU/e) ประเทศเนเธอร์แลนด์

Stella มีที่นั่งสำหรับ 4 คน พร้อมที่บรรจุสัมภาระ สามารถวิ่งได้ไกล 600 กิโลเมตร ทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตร

การออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์จากเซลล์พลังแสงอาทิตย์ (Solar powered car) ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพัฒนาเพื่อการแข่งขัน แต่ยังไม่มีใครคิดในระดับนำไปใช้วิ่งบนถนนจริง ประเด็นหลักของการออกแบบที่จะทำให้ใช้ประโยชน์ได้จริงนั้นมีดังนี้

1.    การมีที่นั่งภายในขนาด 4 ที่นั่ง เท่ากับรถยนต์ประเภท Sedan ทั่วไป

2.    การมีพื้นที่รับแสงอาทิตย์พอ ที่จะได้พลังมากพอที่จะใช้ประโยชน์ได้ นั่นคือใช้พื้นที่หลังคารถยนต์ที่เรียบและมีพื้นที่มากพอ

3.    การมีน้ำหนักรถยนต์ที่เบา และมีโครงสร้างไม่ต้านลม หรือเพรียวลมให้มากที่สุด

4.    การมีพลังเสริม เพราะลำพังเพียงไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จะไม่เพียงพอ หลักพลังเสริมง่ายที่สุดตรงไปตรงมาคือพลังไฟฟ้า และจากแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟได้อย่างรวดเร็ว คือมีความเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนอย่างที่มีใช้วิ่งในปัจจุบัน แต่เนื่องจากมีพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เสียส่วนหนึ่งแล้ว เมื่อมีพลังจากแบตเตอรี่ที่เสียบปลั๊ก ชาร์จไฟเพิ่มได้ด้วย ก็จะทำให้มีพลังไฟสมทบมากพอ

5.    สัดส่วนของพลังไฟฟ้า 2 ระบบ สมมุติในสัดส่วน 50 : 50 คือได้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งจากการไฟฟ้าที่ชาร์จจากแบตเตอรี่ หากไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ทำให้วิ่งได้สัก 200 กม. อีกเท่าหนึ่งมาจากไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ดังนี้รถยนต์ก็จะสามารถวิ่งได้ 400 กิโลเมตร/ครั้ง ส่วนความสามารถในการชาร์จไฟได้อย่างรวดเร็ว เพียงใน 30 นาทีได้ไฟเต็มที่ร้อยละ 80 ของแบตเตอรี่ ดังนี้ก็เท่ากับว่าเดินทางไปได้อีก 160 กม. หรือหากเป็นชาร์จ 2 ครั้ง ก็เท่ากับ 320 กม. รวมเป็นระยะทางวิ่งต่อวัน 720 กม. ต่อวัน นั่นเพียงพอสำหรับรถยนต์ธรรมดาที่จะใช้วิ่งบนถนนในระยะทางไกลได้อย่างสบายแล้ว

ส่วนหลักการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อย่างนี้ ก็ต้องมีที่จอดรถกลางแจ้ง (Outdoor parking) ที่บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อให้ได้รับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา ถ้าจอดนิ่งๆเฉยๆอยู่ที่บ้าน ก็เปลี่ยนจากชาร์จไฟเพื่อใช้กับรถยนต์ ก็เป็นเปลี่ยนเป็นส่งต่อไฟฟ้า เพื่อการใช้ในงานบ้านด้วยได้

Thursday, March 20, 2014

มารู้จักอาจารย์มหาวิทยาลัยเสื้อแดง

มารู้จักอาจารย์มหาวิทยาลัยเสื้อแดง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, อุดมศึกษา, higher education, tertiary education, มหาวิทยาลัย, เสรีภาพทางวิชาการ, academic freedom, ความอดทนทางปัญญา, intellectual tolerance


วัฒนธรรมคนเสื้อแดง ก่อเกิดมาพร้อมกับระบอบทักษิณ และมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการรัฐประหาร

ทำไมอาจารย์หลายคนเป็นเสื้อแดง

ผมได้มีโอกาสพูดคุยถามความเห็นผู้ใหญ่ในแวดวงที่รู้จัก “อาจารย์เสื้อแดง” เหล่านี้ พอสรุปประเด็นได้ว่านักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนที่จบการศึกษามาอย่างดี แต่ทำไมไปเดินตาม
แนวทางเสื้อแดงเหมือนอย่างหลุดโลก ซึ่งมีหลายเหตุผลดังนี้ครับ

 (1) มีพื้นฐานการเกลียดเจ้า มองไม่เห็นสิ่งดีในสถาบัน (2) มีความเชื่อในทฤษฎีการต่อสู้ทางชนชั้น และเขามองการต่อสู้เพื่อชนชั้นที่เสียเปรียบในสังคมเป็นสิ่งดีงาม (3) ติดยึดกับหลักปรัชญา ประวัติศาสตร์ มากกว่าที่จะยืดข้อมูลข้อเท็จจริงในสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งในทางวิชาการเรียกพวกนี้ว่า Dogmatic (4) อยู่ในแวดวงที่ต้องเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์หรือวารสาร ชนิดที่ไม่ได้มีโอกาสศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้งที่ต้องใช้เวลา จึงเป็นแนวเขียนแบบใช้ทฤษฎีแล้วตีความออกมาในแนวความเชื่อของตน มากกว่าที่จะไปศึกษาจากสภาพการณ์ที่เป็นจริง ยิ่งมีสื่อของระบอบทักษิณรองรับการนำเสนอ มีระบบรางวัลทางสังคมของกลุ่มเขาสนับสนุน หากจะพูดหรือนำเสนอ ก็มีทั้งสื่อโทรทัศน์เสรี วิทยุ หนังสือพิมพ์และวารสารสิ่งพิมพ์ต่างๆในค่ายรัฐบาลรองรับ

คนเหล่านี้แม้จะเป็นคนเรียนหนังสือมาสูง เป็นผู้มีสติปัญญา แต่ก็ติดหล่มวิชาการ มองปัญหาอย่างเพียงด้านเดียว และหาทางออกจากหล่มไม่พบ

ภาพเก่า จากการชุมนุมของคนเสื้อแดง
-------------


ภาพ ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป สู่ความขัดแย้งรุนแรง


ภาพ อาจารย์เสื้อแดง เหมือนกับคนเสื้อแดงมองไม่เห็นจุดอ่อนของการบริหารบ้านเมืองโดยผ่านระบบตัวแทนอย่างนายกรัฐมนตรีตัวแทน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 


ภาพ อาจารย์เสื้อแดงยึดการเลือกตั้งเป็นดังคัมภีร์ของประชาธิปไตย และมองไม่เห็นปัญหาเผด็จการรัฐสภา และระบบคอรัปชั่นที่ตามมา


ภาพ นักวิชาการเสื้อแดง มองไม่เห็นและไม่เคยวิเคราะห์ปัญหาระบอบทักษิณว่ามีจริง และมีปัญหาร้ายแรงต่อสังคมไทย


ภาพ นักวิชาการ อาจารย์เสื้อแดง มองไม่เห็นปัญหาของสิ่งที่ตามมาจากระบอบทักษิณ ดังเช่นกรณีนโยบายรับจำนำข้าทุกเม็ด

ทำไมไม่ไล่อาจารย์เสื้อแดงออกจากมหาวิทยาลัย

มีคนถามผมบ่อยครั้ง “ทำไมไม่ไล่อาจารย์เสื้อแดงออก” แล้วมักให้เหตุผลตามมาว่า เขาหมิ่นเบื้องสูง เขาทำให้บ้านเมืองแบ่งแยก เขาเป็นคอมมิวนิสต์ เขาเผยแพร่สิ่งที่เป็นอวิชชา และอื่นๆอีกมากมาย
ผมคิดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับอธิการบดี คณบดี จนระดับหัวหน้าภาควิชาคงจะได้รับคำวิพากษ์ว่า “ใช้ไม่ได้” คำอธิบายมีดังนี้ครับ ในมหาวิทยาลัยของประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก เขาต้องมีหลักหนึ่งที่เหมือนกันคือ ผดุงเสรีภาพวิชาการ (Academic freedom) เขาจึงให้การบริหารคณาจารย์ยึดหลักว่าจะไม่มีการไล่ออกด้วยความคิดเห็นทางวิชาการหรือการเมืองที่ต่างกัน ตรงกันข้าม อาจารย์มหาวิทยาลัยพึงร่วมกันรักษาหลักการนี้ไว้ตราบที่อาจารย์เขาได้ทำหน้าที่ในการวิจัยและแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอย่างบริสุทธิใจ

แต่มีอีกหลักหนึ่งที่ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจะดำรงอยู่ได้ด้วยหลัก Publish or perished หรือ “หากไม่ทำงานวิชาการ ไม่วิจัย ไม่เขียนหนังสือ ชีวิตของท่านต้องเน่าเสียแน่” และเมื่อเขียนงานวิชาการใดๆ หรือพูดอะไรออกมา ก็ต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและความคิดความเห็นนั้น และต้องไม่กระทำอย่างรับอามิสสินจ้าง แล้วมาบิดเบือนงานวิชาการ หรือเขียนอย่างยกเมฆ หรือลอกเลียนงานคนอื่นๆเขามา


อาจารย์เสื้อแดงเป็นคนส่วนน้อยของมหาวิทยาลัย แต่เขามีสิทธินำเสนอเรื่องราวความคิดความเห็นของเขา เพราะผู้มีอำนาจในสังคมและสื่อต่างๆ เป็นฝ่ายสนับสนุนเขา แต่ภายในมหาวิทยาลัยเอง เขาเป็นกลุ่มคนแปลกแยก เรียกว่า พวก Non-conformist สังคมไทยก็ต้องเข้าใจสภาพเช่นนี้ครับ เมื่อเราเป็นคนกลุ่มน้อย เราก็ต้องการเสียงของเราได้รับการรับฟัง และเมื่อใดเมื่อเรากลายเป็นคนส่วนใหญ่ เราก็ต้องมีความอดทนที่จะรับฟังเสียงของคนส่วนน้อยอื่นๆด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติของสังคมอารยะ คือต้องมี “ความอดทนทางปัญญา” (Intellectual tolerance) พระเจ้าให้ปากเรามา 1 ปาก แต่ก็ให้หูเรามา 2 หู นั่นคือ เราต้องฟังคนอื่นๆเขามากกว่าที่เราจะพูดออกไปแล้วไม่รับฟังใครเลยครับ

Tuesday, March 4, 2014

ทัศนศึกษาของเพื่อนเทพศิรินทร์รุ่น 04-06 (Debsirin 04-06 Tour)

ทัศนศึกษาของเพื่อนเทพศิรินทร์รุ่น 04-06 (Debsirin 04-06 Tour)

Keywords: ท่องเที่ยว, tourism, เดินทาง, traveling, เทพศิรินทร์ 04-06, Debsirin 04-06,

ภาพ รถยนต์ Toyota Commuter ขนาดที่จะใช้เดินทาง 11 ที่นั่ง รวมคนขับ

ความเป็นมา

การเดินทางไปทัศนศึกษาของเพื่อนๆศิษย์เก่าเทพศิรินทร์รุ่น 04-06 (Debsirin 04-06) จำนวน 10 คน เดินทางท่องเที่ยวแบบสบายๆ ศึกษาสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และพบเพื่อนๆที่มีมิตรภาพในวัยเด็กด้วยกันเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว การเดินทางโดยรถไมโครบัส ผ่านจังหวัด สุโขทัย (1 คืน) ผ่านพะเยา เชียงราย (1 คืน) เชียงใหม่ (2 คืน) ใช้เวลา 5 วัน 4 คืน

วัตถุประสงค์

จัดท่องเที่ยวภายในประเทศ แบบสบายๆ ไม่เป็นอุปสรรคทางด้านร่างกาย แวะห้องน้ำได้ตามสะดวก (Elderly friendly)
แสวงหาความรู้หลากหลายด้าน ทั้งทางศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมได้คุยกันในหมู่เพื่อนฝูงในวัยและรุ่นราวคราวเดียวกัน
ในการเดินทางไปนี้ จะได้ประชาสัมพันธ์สื่อสารให้เพื่อนๆอื่นๆที่ไม่ได้ร่วมไปด้วย ได้รับรู้ติดตามได้ผ่าน Facebook และเรื่องเล่าที่จะร่วมกันเขียน
ในครั้งต่อๆไป - ไม่จำกัดทั้งชายและหญิง สมาชิกในครอบครัวร่วมไปด้วยได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ เพียงอยู่ในกลุ่มคนที่พอรู้กัน เที่ยวไหนเที่ยวได้
ต่อไปนี้ จะเรียกการเดินทางท่องเที่ยวลักษณะนี้ว่า “Debsirin 04-06 Tour” มีขนาดเพื่อนร่วมเดินทาง 3-5 คน ด้วยรถยนต์ส่วนตัว เดินทางและพักค้างไม่เกิน 1 วัน หรือ ขนาด 7-10 คน โดยรถไมโครบัส (Toyota Commuter) 4 แถวที่นั่ง ใช้เวลาเดินทาง 1-5 วัน

ผู้ร่วมเดินทาง

จำนวน 10 คน (เต็มจำนวนแล้ว)
ประสิทธิ ยามาลี, อาจารย์
ประธานรุ่น
พิเชษฐ์ อิสรางพร, (ตี๋)
ผู้จัดการท่องเที่ยว
สันติสุข วรกิจโภคาทร, พลตรี (จุก)
-
มงคล จิวสิริรุ่ง, นาย (เหม่ง )
-
จรัส เสมดี, นาย
-
ไพฑูรย์ วราภาพงษ์, นาย ( จุ๊ง)
-
บุญส่ง เล้าสุวรรณ, นาย
-
สงวน เหมือดตะคุ, รอ.
-
มานะ จินดาชาญประพันธ์, นาย (โด)
ประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร
ประกอบ คุปรัตน์, รศ.ดร. (กอบ)
ประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร

เพื่อนที่จะพบในระหว่างทาง

ในการเดินทางไปครั้งนี้ หวังจะได้พบเพื่อนที่อยู่ในท้องที่ระหว่างทางดังนี้
1.    นรินทร์ พานิชกิจ, นาย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันพำนักอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จะพบที่สุโขทัย
2.    วิวัฒน์ วิศนุวิมล, พลโท (ตุ๋ย) พบที่เชียงใหม่ มีครอบครัวที่ทำกิจการเกี่ยวกับโรงแรม
3.    ศิริพงษ์ บูรณศิริ, นาย (โล้น) พบที่เชียงใหม่ และจะช่วยเป็นผู้นำทางท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่
หากมีเพื่อนอื่นๆที่อยากมาพบปะเพื่อนร่วมรุ่น จะพบได้ที่ระหว่างทาง และพักร่วมกันได้ที่ สุโขทัย, เชียงใหม่, เชียงราย โดยโทรติดต่อที่ พิเชษฐ์ อิสรางพร, (ตี๋) 089-895-1318

กำหนดการ

5 วันระหว่างวันที่ 12-16 มีนาคม 2557

วันที่ 12 มีนาคม 2557

6:00 น. นัดพบพร้อมกันที่ ปั๊ม ปตท. เรียบทางด่วนอาจณรงค์-รามอินทรา หากนับเส้นทางออกนอกเมือง จะอยู่ทางซ้ายมือ ก่อนขึ้นสะพานวัชรพล

เดินทางไปอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เที่ยวเมืองประวัติศาสตร์ พักค้างคืนที่สวรรคโลก 1 คืน

วันที่ 13 มีนาคม 2557

8:00 น. อาหารเช้าที่บ้านนรินทร์ พานิชกิจ เดินทางผ่านอุตรดิษ เด่นชัย ถึงพะเยา แวะกว้านพะเยา รับประทานอาการกลางวัน

ค่ำ ถึงเมืองเชียงราย รับประทานอาหารค่ำ พักที่โรงแรมพิมานอินทร์ พร้อมรับประทานอาหารค่ำที่ ครัวกุ้งบ้านสวน เมืองเชียงราย

โรงแรมพิมานอินน์ (Pimanninn) 652/1 ม.24 ต.รอบเวียง, อำเภอเมืองเชียงราย, เชียงราย, ไทย 57000 โทร 053-756733 , 053-756972-3, 086-9161133 (โทรศัพท์สายด่วน)

วันที่ 14 มีนาคม 2557

7:00 น. อาหารเช้าที่โรงแรมพิมานอินน์ อ.เมืองเชียงราย

8:00 น. เยี่ยมวัดงามเมือง สักการะอนุสาวรีย์เม็งรายมหาราช

11:00-12:00 น. รับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารศรีวรรณ อ. เชียงแสน ริมฝั่งโขง
สักการะพระเจ้าล้านตื้อ เดินทางต่อไปเชียงใหม่ แวะพักกินกาแฟที่ร้านจรินทร์ อำเภอแม่สรวย และเดินเข้าเข้าสู่เมืองเชียงใหม่

16:00 น. ถึงเชียงใหม่ พักโรงแรม อรวี โฮม, เชียงใหม่
(Orawee Home Hotel) 163 หมู่ 1 ถ.เชียงใหม่ - ฝาง ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 163/14 Moo 1, Maesa, Maerim, Chiangmai 50180, Thailand, Tel.053-863019-20 Fax.053-862971 วันที่ 15 มีนาคม 2557

ศิริพงษ์ บูรณศิริ, นาย (โล้น) นำทัศนศึกษา

วันที่ 15 มีนาคม 2557

8:00 น. หลังอาหารเช้า เดินทางไป Botanic Resort อำเภอแม่ริม สวนสมเด็จ พบพลโท วิวัฒน์ วิสนุวิมล พักค้างคืนที่ Botanic Resort

โรงแรมอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตร ตั้งอยู่ที่กม. 12 ถนนแม่ริม อยู่ในบริเวณ Queen Sirikit Botanic Garden นับเป็นสวนที่สะสมพืชสวยงามตามธรรมชาติที่หลากหลายและมากมายที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พักค้างคืนที่ Botanic Resort

วันที่ 16 มีนาคม 2557

8:00 น. อาหารเช้า และ พักผ่อนตามอัธยาศัย เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แวะท่องเที่ยวตามอัธยาศัย ซื้อของฝาก อาหารกลางวันยืดหยุ่น


19:00 น. ถึงกรุงเทพฯ ณ ปั้มปตท. เรียบทางด่วนอาจณรงค์-รามอินทรา (ที่เดิม)