Monday, September 29, 2014

รถสกูตเตอร์ไฟฟ้า (E-scooters) ระบบอุตสาหกรรมในประเทศไทย

รถสกูตเตอร์ไฟฟ้า (E-scooters) ระบบอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การขนส่ง, การเดินทาง, transportation, commuting, รถจักรยานไฟฟ้า (Electric bicycles, e-scooters), สามล้อไฟฟ้า (e-trikes), รถยนต์ไฟฟ้า (Electric cars/vehicle)

รถสกูตเตอร์ไฟฟ้า (E-scooters) อย่างที่มีใช้กันมากๆในประเทศจีน สามารถวิ่งได้ 50-55 กม. ความเร็ว 50-60 กม./ชั่วโมง ใช้แบตเตอรี่ตะกั่วแบบปิด ในประเทศไทยราคาเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ในจีนคันละ 15,000 บาท หากพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางขึ้นรองรับในประเทศไทย ใช้ชิ้นส่วนจากจีนบางส่วน แต่ร้อยละ 80 ผลิตได้ในประเทศอยู่แล้ว ราคาน่าจะเริ่มต้นที่ 15,000-18,000 บาท

ประโยชน์

อย่างนี้แหละที่อยากให้พัฒนาอุตสาหกรรมผลิต E-scooters นี้ขึ้นในเขตอุตสาหกรรมต่างจังหวัดของไทย แต่รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุน เพื่อ

1.    เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ล้วน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
2.    ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม ซึ่งยังต้องเป็นสินค้านำเข้า เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้มีทางเลือกมากขึ้นในการใช้พลังงานทางเลือก ดังพลังงานแสงอาทิตย์ และลม
3.    ทำให้มีต้นทุนสินค้าที่ถูกลง เพราะผลิตได้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่
4.    เป็นการสร้างงาน เพราะแรงงานไทยเมื่อเทียบกับจีนหรืออินเดียแล้ว เราไม่ได้เสียเปรียบด้านค่าแรงงานสูงมากนักแล้ว นอกจากนี้ การใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในประเทศ เช่นยางพารา เศษเหล็กและพลาสติกจากระบบนำขยะมาใช้ใหม่ (Recycles) ในประเทศได้มากขึ้น

ลักษณะสำคัญ

1.    ใช้พลังจากแบตเตอรี่ล้วน ไม่ใช้กำลังคนถีบเหมือน E-bikes หรือ Pedelec ที่ใช้พลังคนถีบร่วมด้วย E-scooters ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ทำจากตะกั่วแบบปิด (Lead-based battery) มีขนาดใหญ่ ให้พลังวิ่งได้ 50-60 กม. ซึ่งนับว่าเพียงพอสำหรับการวิ่งในเมือง
2.    น้ำหนักมากขึ้นเพราะแบตเตอรี่แบบตะกั่ว  แต่แบตเตอรี่แบบนี้ราคาไม่แพง สามารถใช้ขนาดใหญ่มีน้ำหนักบ้าง แต่เนื่องจากรถ E-scooters โดยรวมจะหนักด้วยแบตเตอรี่บ้าง แต่ก็จะไม่หนักมากเกิน 60-70 กก. ซึ่งยังเบากว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ว่าเบาที่สุด คือประมาณ 200-300 กก.
3.    ใช้มอเตอร์อยู่ที่กงล้อ (Hub motor)  ตัดความยุ่งยากในการส่งกำลัง ไม่ต้องใช้โซ่หรือเพลา เพียงมีสายไฟต่อจากแบตเตอรี่ไปที่กงล้อ เป็นการลดน้ำหนัก ลดความซับซ้อน สามารถใช้พลังงานได้โดยตรง

ภาพ รถสกูตเตอร์ไฟฟ้า ใช้พลังจากแบตเตอรี่


ภาพ การจราจรติดขัดจากรถยนต์บนถนนในเมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน


ภาพ การจราจรติดขัดไปจนถึงถนนทางหลวง


ภาพ จักรยานไฟฟ้า (E-bicycle)  ใช้พลังจากแบตเตอรี่ ควบคู่กับพลังคนถีบ


ภาพ รถ E-scooter sinvจักรยานไฟฟ้า

ภาพ จากศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์

รุ่น
Model
TDX14Z
พลังไฟฟ้า
Power
500W/800W
แบตเตอรี่
Battery
แบตเตอรี่แบบตะกั่วผนึกปิด
48V 20AH lead acid battery! 
เบรก
Brake
เบรกแบบดรัมทั้งหน้าและหลัง
Front drum/rear drum
ความเร็วสูงสุด
Max speed
32 กม./ชั่วโมง
32km/h
ระยะทางวิ่งได้
Range distance
ระยะทางวิ่งได้ด้วยชาร์จไฟหนึ่งครั้ง
>45kms
เวลาในการชาร์จไฟ
Charge time
6-8 ชม. ด้วยไฟบ้าน
ขนาดล้อ
Wheel
3.0-10 นิ้ว
ขนาดที่ต้องสั่งนำเข้า
Capacity
24pcs/20ft
50pcs/40HQ

มีความฝัน มีความหวัง และตั้งมั่นในฐานแห่งความเป็นจริง

ผมเป็นคนชอบรถ แต่ชอบรถที่เป็นความคิดใหม่ อย่าง รถจักรยานไฟฟ้า (Electric bicycles, e-scooters), สามล้อไฟฟ้า (e-trikes), รถยนต์ไฟฟ้า (Electric cars/vehicle) หรือสิ่งที่เป็นยานพาหนะทางเลือกเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามันมีช่องทางในการพัฒนาต่อไปได้อีกมาก

กุลธร เบิ้ม < เพื่อนรัก - มหาวิทยาลัยในจีน ดังที่ Xihua University เขาไม่มีที่ให้นักศึกษาจอดรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่จักรยาน ต้องใช้เดินเอา อาจารย์มหาวิทยาลัยและประชาชนในเมืองอย่างเฉิงตู (Chengdu, Sechuan) ซื้อรถยนต์ได้ในราคาถูกกว่าไทยร้อยละ 30 แต่ค่าที่จอดรถถาวร ราคา 500,000 บาท เท่าๆกับราคารถ เสียค่าดูแลรักษาที่อีกเดือนละ 500-600 บาท หากเป็นเมืองปักกิ่งหรือเซียงไฮ้ ราคาที่จอดรถในเมืองอาจแพงไปอีกเป็น 2-3 เท่าของที่เมืองเฉิงตู

ในประเทศไทย ดังในตัวเมืองสุรินทร์ มองไปในโรงเรียนมัธยมของจังหวัด มีแต่จักรยานยนต์เป็นพันๆคัน เด็กนักเรียนมัธยมขอพ่อแม่ซื้อรถจักรยานยนต์ เหมือนนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยขอเงินพ่อแม่ซื้อรถยนต์ ซึ่งต้องเตรียมเงินค่าน้ำมันรถอีกเดือนละ 2000-4000 บาท สำหรับสังคมโดยรวม สิ่งที่ตามมาคือการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงปิโตรเลียม

Prasit Yamali  < เพื่อนรัก - ต้องยอมรับครับว่าเราตามหลังเกาหลีใต้อย่างไม่เห็นฝุ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา (Research & Development – R&D) คนไทยไม่ได้โง่ แต่เราขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง หากเราต้องมีความเชื่อมั่นว่าเราทำได้ หากเราต้องพยายาม และมีโอกาสและเวลาที่จะทำ

เพื่อนรักทั้งหลาย ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557 คือไม่นานมานี้ ผมได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำของหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ทั้งๆที่ผมได้ตระหนักในระยะหลังว่าผมชอบงานสอน งานที่ได้ค้นคว้า อ่านหนังสือ และได้บรรยายบอกคนอื่นๆว่าผมเห็นอะไร และคิดอย่างไร

แม้ผมได้ลาออกจากตำแหน้งอาจารย์ประจำ แต่ผมเชื่อว่าทางมหาวิทยาลัยและคนรุ่นน้องๆ เขาจะเดินต่อไปได้อย่างราบรื่น แต่ต้องขวนขวาย ทำงานสู้งานเหมือนอย่างตนเองเป็น “หมาตัวล่าง” (The Underdog) ผมเชื่อว่าสปิริตของการสู้และทำในสิ่งที่มีความหมายให้กับส่วนรวม จะทำให้เขาพัฒนามหาวิทยาลัยได้ แม้มีความขาดแคลน เสียเปรียบ เขาจะอยู่ได้ด้วย “การมีความฝัน มีความหวัง และ
ตั้งมั่นบนฐานแห่งความเป็นจริง

มีความฝัน (Dreams) คือมองเห็นสังคมอย่างที่เราอยากมีอยากเป็น เห็นในสิ่งที่ยังไม่เกิดในปัจจุบัน หากเราเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก อ่านมากๆ เราจะมีความฝันเหล่านี้

มีความหวัง (Hope) คือมีความหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นได้ เราไม่ต้องอยู่อย่างท้อแท้ ดังแม้ยามที่บ้านเมืองกำลังจะลุกเป็นไฟ แต่หากเรามีความหวัง และช่วยกันลงแรงดับไฟ ในที่สุด เราจะสามารถนำบ้านเมืองกลับสู่สันติสุขได้อีกครั้ง


ตั้งมั่นบนฐานแห่งความเป็นจริง (Reality/ Truth) เราต้องมีความฝันและความหวัง แต่เราก็ต้องตั้งตนอยู่บนฐานของความเป็นจริง แสวงหาความรู้และข้อเท็จจริงโดยตลอด เมื่อเพื่อนๆให้แง่คิดและเตือนถึงอุปสรรคนั้น ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี คนทำงานต้องฟังคน และนำข้อคิดคำเตือนเหล่านี้ไปตรวจสอบ และหาทางปรับปรุงแก้ไข การแสวงหาความเป็นจริงนั้น เป็นเรื่องที่คนทำงานทุกคนต้องตระหนักอยู่แล้ว คนทำงานที่ไม่ยอมฟังคน ไม่ตรวจสอบหาข้อบกพร่องในตนเองและสิ่งที่ตนทำ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

Sunday, September 28, 2014

คำปาฐกถาตอบรับ ในงานรับรางวัลช้างทองคำ รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์

คำปาฐกถาตอบรับ ในงานรับรางวัลช้างทองคำ 
รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์

คำปาฐกถาตอบรับ ในงานมอบรางวัลช้างทองคำของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (Surindra Rajabhat University – SRRU) แก่ รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557 ณ เวลา 18:30-21:00 น. ณ โรงแรมทองธารินทร์ เมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
----------


ภาพ รศ.ดร. อัจรา ภาณุรัตน์ ได้ให้เกียรติอ่านคำสดุดี


ภาพ รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์ ในพิธี




ขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ คณะผู้บริหาร โดยเฉพาะอธิการบดี รศ.ดร. อัจฉรา ภาณุรัตน์ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตภาวะผู้นำและการบริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่า นิสิตนักศึกษา สถาบันเอเซียศึกษา โครงการ Surin International Folklore Festival – SIFF ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัย ชุมชนจังหวัดสุรินทร์ และท้องถิ่นอีสานใต้ และขอบพระคุณที่ได้รับรางวัลช้างทองคำที่ทรงคุณค่านี้

ผมถือโอกาสเล่าเพื่อบันทึกอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต ภาวะผู้นำและการบริหาร (Educational Leadership & Administration) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นกว่า ปีที่ผ่านมา โดยได้ใช้ชื่อว่า “หลักสูตรความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา” หรือ (Doctoral Program in Educational Leadership and Administration) เพื่อบอกเล่าแก่คนรุ่นหลังที่ยังไม่ทราบความเป็นมา และฝากความหวังสำหรับมหาวิทยาลัย ผู้บริหาร และนักศึกษาผู้ที่จะร่วมรับผิดชอบดำเนินการต่อไป
หลักสูตรนี้ มุ่งหวังการสร้างความเป็นผู้นำแบบมืออาชีพให้กับจังหวัดสุรินทร์ และในท้องที่ใกล้เคียง โดยเน้นการพัฒนาความสามารถของผู้เรียนดังต่อไปนี้
1.    
1. 8วามสามารถในการสื่อสาร (Communication) เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดต่อสร้างเครือข่ายวิชาการกับต่างประเทศ
1)   ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ (Information & Communication Technologies – ICT)
2)   ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ (Languages Skills) ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และอื่นๆ
2.    ความสามารถในการริเริ่มสิ่งใหม่ ดังในกรณีความสามารถวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม (Environmental Scanning) และการจัดทำแผนงานที่ต้องมีความคุ้มทางธุรกิจ (Business Plan) คือริเริ่มด้วยการคิดและทำได้ได้อย่างเป็นระบบ
3
.    การได้ไปเห็นและมีประสบการณ์ต่างประเทศ (Educational Trips & Training Abroad) ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ในประเทศอื่น และทวีปอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป

6-8 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราร่วมกันคิดนี้ ทำได้ ทำจนประสบความสำเร็จ แม้จะไม่ง่ายนัก แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

อนาคต เราจะทำได้อย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่หรือไม่?

ยั่งยืน (Sustainability) คือมีเป้าหมายรับผู้เรียนปีละ 7-10 คน มีอัตราความสำเร็จที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 อีก และแม้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็ยังมีผู้ต้องการมาศึกษาต่อที่มีคุณสมบัติเหมาะสม จบได้ในเวลาอันควร ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 70-80

ข้อจำกัดคือ ประชากรที่เกิดน้อยลงทั่วประเทศ และมีสถาบันการศึกษาต่างๆมาให้บริการที่ลักษณะใกล้เคียงกันมากขึ้น แต่เราจะทำได้ด้วย ขยายบริการด้านการศึกษาระดับสูงให้กว้างออกไป ซึ่งกระทำได้ด้วย วิธีการ คือ

1.    จากมุ่งเน้นที่สายวิชาบริหารการศึกษา ไปสู่สายอื่นๆ (Expansion) เช่น บริหารธุรกิจ บริหารรัฐกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน ศาสนา ฯลฯ ดังที่หลักสูตรได้ปรับเปลี่ยนเป็น “ภาวะผู้นำและการจัดการ” (Doctoral Program in Leadership & Administration) แพทย์ สาธารณสุข ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ ฝ่ายการปกครองส่วนท้องถิ่น พระ ฯลฯ สามารถมารับบริการได้

2.    ขยายพื้นที่บริการให้กว้างขวางออกไป (Geographical Areas) โดยมุ่งเปิดสู่ความเป็นนานาชาติ (Internationalization) ดังเช่น เปิดสู่ อาเซียน จีน อินเดีย โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
3.    การขยายบริการวิชาการ (Community Services) ซึ่งทำได้ ทางเป็นอย่างน้อย

1)   การให้บริการวิชาการ การฝีกอบรมระยะสั้นและกลาง ดังเช่น การพัฒนาคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา (Staff Development) ของมหาวิทยาลัยราชภักสุรินทร์ และเครือข่ายในภูมิภาค เช่น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยเทคนิค มหาวิทยาลัยสงฆ์ ฯลฯ

2)   การเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนพัฒนาท้องถิ่น (Local Community Development Plan) เช่น แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล แผนการพัฒนาการเกษตร การมีชุมชนเกษตรกรรมที่ก้าวหน้า ที่ประชาชนยังคงรักษาที่ดินของตนเองไว้ได้ คนสูงอายุในชนบทได้รับการดูแลอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี

สุดท้ายนี้ แม้ผมจะไม่ได้เป็นประธานหรือคณาจารย์ประจำหลักสูตร “ภาวะผู้นำและการบริหาร” แต่ก็ยังจะช่วยทำงานได้ตามแต่อัตภาพ หากมีอะไรที่จะรับใช้ได้ ก็จะทำให้ด้วยความยินดี


และอีกครั้ง ต้องขอบพระคุณในไมตรีจิต ที่ได้มอบรางวัลช้างทองคำอันมีเกียรตินี้ ผมจะทำตนให้มีคุณค่าสมแก่รางวัลนี้ตลอดไป


ภาพศิษย์เก่าและคณาจารย์ ดุษฎีบัณฑิตของหลักสูตรฯ


ภาพ แขกผู้มีเกียรติในงาน ณ โรงแรมทองธารินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์


ภาพ รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์ รับมอบรางวัลช้างทองคำ


ภาพ รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์ได้อ่านคำปาถกฐา ตอบรับและขอบพระคุณในรางวัลช้างทองคำ


ภาพ ผศ.ดร. ณัฐนิภา คุปรัตน์ ภรรยา ที่มาร่วมในงาน


ภาพ บรรดาแขกผู้มาร่วมในงาน



















Wednesday, September 17, 2014

ปฏิรูปการศึกษา – ด้วยการกระจายอำนาจ

ปฏิรูปการศึกษา – ด้วยการกระจายอำนาจ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com
Keywords: นโยบายสาธารณะ, public policy, ปฏิรูปการศึกษา, education reform, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, human resource development, เขตพื้นที่การศึกษา, Local Education Areas – LEAs, school districts, ศึกษาธิการเขตพื้นที่การศึกษา, ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา, superintendent


ภาพ สภาพห้องเรียนโดยทั่วไปของโรงเรียนในปัจจุบัน

การจะปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญที่สุด ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า การศึกษาเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดของประชาชนและชุมชน ไม่มีใครจะรักและเห็นประโยชน์ของการศึกษามากไปกว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง และชุมชนใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน

ดังนั้น สำคัญที่สุดของการปฏิรูปการศึกษา คือการที่รัฐบาลส่วนกลางปรับเปลี่ยนระบบการบริหาร ลดบทบาทของส่วนกลาง และให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ท้องถิ่น และองค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ภาคพัฒนาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการศึกษา ส่วนรัฐบาลส่วนกลาง จะสนับสนุนการศึกษาในระดับปานกลาง และยืดหลักเข้าช่วยเฉพาะในส่วนที่เขายังไม่แข็งแรงและมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข
หลักการในการดำเนินการกระจายอำนาจ ยืดหลัก 5 ขัอดังนี้
1.    
การกระจายอำนาจการศึกษา (Decentralization) สร้างความแข็งแกร่งให้กับการบริหารเขตพื้นที่การศึกษา

a.    ให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นนิติบุคคล (Legal identity of LEAs) สามารถทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง
b.    ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา หรือศึกษาธิการเขตฯ (Superintendents) เป็นตำแหน่งที่สรรหา คัดเลือก และรวมถึงถอดถอนได้โดยท้องถิ่น ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (Local Board of Education)

2.    การพัฒนากระบวนการผลิตครู และบุคลากรทางการศึกษา (Teachers/human resource development) โดยยืดหลักให้ได้คนดีคนเก่งมาทำงานให้กับระบบการศึกษา

a.    ให้บุคลากรที่มาจากสายวิชาชีพอื่นๆ มาเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ และหากต้องมีหน้าที่สอน ก็ให้ใช้เวลาในช่วง 2 ปีแรก พัฒนาวุฒิทางการศึกษาเพิ่มเติมขึ้น ให้เข้าเงื่อนไขของการเป็นครู
b.    ให้ครูเป็นข้าราชการหรือบุคลากรของท้องถิ่น ของเขตพื้นที่การศึกษา ให้ครูที่เป็นข้าราชการมีจำนวนจำกัดลงเป็นลำดับ และให้ครูและบุคลาการทางการศึกษากลายเป็นพนักงานของเขตพื้นที่การศึกษา
c.    ส่งเสริมให้มีบุคลากรทางการศึกษาให้มีความหลากหลาย (Diversified resource persons) ทั้งที่เป็นพนักงานของระบบเขตพื้นที่การศึกษา ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และที่เป็นอาสาสมัคร
3
.    การสร้างเสริมระบบคุณธรรม (Merit system) และความโปร่งใส (Transparency) ในการบริหารการศึกษา

a.    การสรรหาและคัดเลือกคนดีมีความสามารถมาทำงานเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยไม่เปิดช่องทางให้มีการเล่นพรรคเล่นพวก (Nepotism, spoiled system) ในวงการศึกษา
b.    ให้ส่วนกลาง คือ กระทรวงศึกษาธิการ มีระบบติดตามผลการทำงาน มี “ผู้ตรวจการภาคการศึกษา” โดยมีภาคการศึกษาไม่เกิน 12-15 ภาคการศึกษา สำหรับทั้งประเทศ มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ไม่ได้มีหน้าที่ลงไปปฏิบัติการ
c.    การติดตามผลการทำงานให้เน้นไปที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency & effectiveness) ของเขตพื้นที่การศึกษา มาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำ มีระบบข้อมูลสรุปย่อและสถิติทางการศึกษาที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ในการนี้จึงให้สำนักงานผู้ตรวจการภาคการศึกษา (Regional office) ต้องมีคนมีความรู้ทางการเงินการบัญชี (Finance & accounting) ด้วย
d.    เขตพื้นที่การศึกษาต้องจัดทำรายงานผลปฎิบัติการทางการศึกษา เพื่อรายงานต่อประชาชนในเขตความรับผิดชอบของตน และรายงานนี้ส่งผ่านผู้ตรวจการศึกษาไปยังกระทรวงศึกษาธิการ
4
.    การพัฒนาระบบเครือข่ายทางการศึกษา (Education network) เพื่อตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายสายและไร้สาย (Wired and wireless) ตลอดจนการใช้โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และ Digital technology

a.    การสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีเครือข่ายออนไลน์ ทั้งแบบมีสายและไร้สาย โดยมีค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรม แก้ปัญหาคน/หน่วยงานอยู่ไกลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงกว่าทั่วไป
b.    การสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลิตสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Digital content) ในแบบที่เปิดเสรีและมีการแข่งขัน
c.    การส่งเสริมให้เกิดระบบทดสอบออนไลน์ ทั้งเพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้เรียน (Development tests) และระบบใช้เพื่อการวัดผลทางการศึกษา (Evaluation) สำหรับแต่ละผู้เรียน
5
.   การจัดระบบระดมทรัพยากรเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา (Financial resources for education)

a.    ให้กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนกลางมีหน้าที่ในการจัดทำและจัดหาทุนส่วนกลางในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และทุนเพื่อพัฒนาสถาบันการศึกษา ในรูปแบบเงินยืม นอกเหนือจากการจัดสรรงบประมาณปกติ
b.    การจัดระบบภาษีอากร (Tax and donation) เปิดโอกาสให้คนหันมาสนับสนุนการศึกษา โดยได้ส่วนหักลดด้านภาษีอากรด้านต่างๆ

c.    การจัดระบบกู้ยืมเพื่อการศึกษา (Education loans) โดยพิจารณาการส่งเงินคืน ให้เป็นไปตามลักษณะงานที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยตรง เช่น การเป็นอาสาสมัคร การทำงานในหน้าที่พัฒนาสังคม ฯลฯ

Nissan เลือกใช้บริการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากบริษัท LG Chem ของเกาหลีใต้

Nissan เลือกใช้บริการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากบริษัท LG Chem ของเกาหลีใต้

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

 Keywords: การคมนาคม, Transportation, ยานพาหนะ,vehicles, รถยนต์, car, รถยนต์ไฟฟ้า, Electric car, EV, hybrid electric car, PHEV, Nissan, Renault, NEC, LG Chem


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ที่ออกมาสำหรับเป็นรถยนต์วิ่งในเมืองระยะสั้นๆ ใช้แบตเตอรี่ขนาดไม่ใหญ่ และราคาไม่แพง


ภาพ แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า นับเป็นหัวใจในการแข่งขัน ทั้งในเชิงความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี และราคา รถยนต์ไฟฟ้าจะแพ้หรือชนะกัน ก็ด้วยแบตเตอรี่นี้

ศึกษาจาก “Nissan may source cheaper batteries from LG Chem.” MONDAY, SEPTEMBER 15, 2014

รถยนต์ไฟฟ้า (Electric cars, EVs) ตัดสินกันด้วยราคา และราคาเป็นอันมากมาจากแบตเตอรี่

คาร์ลอส กอสน์ (Carlos Ghosn) ผู้บริหารใหญ่ของนิสสัน (Nissan) เตรียมตัดค่าใช้จ่ายการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเองลง โดยหันไปใช้บริการจากบริษัทผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่แล้ว อย่าง LG Chem ของเกาหลีใต้ ซึ่งเรื่องนี้แม้จะทำให้ต้องบาดหมางกับบริษัทพันธมิตรอย่าง NEC แต่เพราะการแข่งขันด้านรถยนต์ไฟฟ้า สำคัญที่สุดคือการได้แบตเตอรี่ที่มีพลัง น้ำหนักเบา ใช้ได้ทนทาน และราคาต่ำสุด ประหยัดสุด

ปัจจุบันแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของนิสสันมีราคาที่ USD279 ต่อ kWh ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าต้นทุนจริง ซึ่งเชื่อว่าอยู่ที่ USD300 แต่หากใช้ความร่วมมือกับ LG ซึ่งใช้เทคโนโลยี lithium nickel manganese cobalt oxide (NMC) เป้าหมายต้นทุนที่จะทำให้ได้คือ USD200/kWh หรือทำให้ราคาถูกลงมากว่าร้อยละ 33 เหตุที่ทำให้ราคาจะถูกลงมากนี้ เพราะ LG นอกจากจะใช้เทคโนโลยีที่ได้เปรียบแล้ว ยังมีผู้ร่วมใช้แบตเตอรี่อีกหลายบริษัท แม้บางบริษัทจะเป็นคู่แข่งขันกับนิสสันก็ตาม เมื่อมีการร่วมผลิตจำนวนมาก ก็ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง

เรื่องนี้อาจทำให้เกิดความหวั่นไหวทางการเมืองในประเทศญี่ปุ่น ที่นิสสันจะเดินตามแนวทางของ Renault โดยหันไปใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าจากบริษัท LG Chem ของเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงรถยนต์รุ่นที่จะผลิตจากประเทศจีน

ทางฝ่ายนิสสันเองก็ยอมรับว่าในด้านการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพแบตเตอรี่แล้ว ทางฝ่ายนิสสันเองยังตามหลัง LG อยู่ระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี บุคลากรระดับบริหารที่ไม่เปิดเผยนามคนหนึ่งกล่าว

นิสสันเดิมตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า แต่เมื่อทำเข้าจริงปรากฏว่าไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งเรื่องนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจตั้งโรงงานแบตเตอรี่ที่เมือง Sunderland ประเทศอังกฤษ และที่เมือง Smyrna รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีกำหนดในเดือนที่จะถึงนี้ ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ถึงร้อยละ 43.4 มาจาก Renault ซึ่งเป็นบริษัทคู่พันธมิตรกับนิสสัน

ฝ่าย Renault ชัดเจนว่าต้องการใช้บริการแบตเตอรี่ไฟฟ้าของ LG แต่ฝ่ายวิศวกรรมของนิสสันต้องการที่จะดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ด้วยบริษัทเองในประเทศญี่ปุ่น แต่ความแตกต่างด้านราคาและต้นทุนที่จะมีผลต่อการแข่งขันกันนั้นมีมูลค่าสูงมาก

แต่ฝ่ายนิสสันเองก็ยังไม่ได้ตอบตกลงใดๆ ยังคงต่อรองกับบริษัทพันธมิตรร่วมผลิตฝ่ายญี่ปุ่น NEC Corp ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ทางกอสน์ ผู้บริหารสูงสุดของนิสสันอาจเลือกใช้บริการของทั้งสองบริษัทจากทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ต้องแข่งขันกันในราคาที่ทำให้นิสสันโดยรวมสู้ราคาด้านรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกได้ ในปัจจุบันนิสสันใช้วิธีการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเอง

อีกทางเลือกหนึ่งคือ การศึกษาว่า LG มีทางเลือกอย่างไร เช่น การให้ LG มาร่วมลงทุนผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าในประเทศใดประเทศหนึ่งที่นิสสันได้เข้าไปดำเนินกิจการ โดยเข้าไปแทนที่ในโรงงานที่นิสสันจะปิดระบบผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าลง

นิสสันและ NEC ได้เข้าไปลงทุน USD215 ล้านที่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าเมือง Zama ประเทศญี่ปุ่น และลงทุนโดยมีรัฐบาลสหรัฐและสหราชอาณาจักรสนับสนุน โดยที่รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ลงทุน USD1,000 ล้าน และ USD341 ล้านที่ Sunderland สหราชอาณาจักร

ในอีกด้านหนึ่งของการตัดสินใจคือเรื่องความต้องการแบตเตอรี่ในตลาด นิสสันเองเคยประมาณการอย่างวาดฝันว่าจะมีความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าถึง 220,000 ชุด หากมีความร่วมมือกับ NEC แต่ในข้อเท็จจริงปัจจุบันในปีที่ผ่านมาทั้ง Renault-Nissan รวมกันขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 67,000 คัน และนับการขายได้สะสมก็เพียงที่ 176,000 คัน การที่คาดว่าในปี ค.ศ. 2016 จะมีเป้าการขายที่ 1.5 ล้านคันนั้นจึงต้องละทิ้งและปรับเป้าหมายใหม่

ในอีกด้านหนึ่ง การแข่งผลิตแบตเตอรี่ก็เหมือนเกมเล่นไพ่ คนที่กล้ากว่าอาจเป็นคนที่กวาดผลประโยชน์ระยะยาวไป ดังตัวอย่าง บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Motors ที่มีฐานอยู่ทางแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมุ่งไปที่การพัฒนาแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 200 ไมล์ หรือ 320 กม. ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่ขนาด 60 kilowatt/ชั่วโมง (kWh) ซึ่งใหญ่กว่าและให้พลังมากกว่าที่รถยนต์ไฟฟ้า Leaf ของนิสสันถึงหนึ่งเท่า

ฝ่ายนิสสันเองก็ต้องเจรจาต่อรองในสัญญากับ NEC ซึ่งกำหนดให้นิสสันต้องซื้อแบตเตอรี่จาก NEC สำหรับรถยนต์ Leaf ขนาดแบตเตอรี่ 24 ในราคาที่ต้องปรับปรุงใหม่ ส่วนความร่วมมือกับ LG Chem นั้นก็ให้เป็นส่วนใหม่ที่จะลงทุนในรัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Sunderland ในประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมแล้วต้องใช้คนงาน 500 คน


----------------- 

Friday, September 5, 2014

การเมืองเปลี่ยนทิศในกัมพูชา (Cambodia)

การเมืองเปลี่ยนทิศในกัมพูชา (Cambodia)

ประกอบ คุปรัตน์ 
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การต่างประเทศ, foreign relations, อาเซียน, ASEAN, กัมพูชา, Cambodia, ประเทศไทย, Thailand, คสช.

เรียบเรียงจากข้อมูลบางส่วนในบทความเรื่อง “Cambodia opposition leader Sam Rainsy endorsed by parliament, ends year-long stalemate.” โดย PRAK CHAN THUL, PHNOM PENH Mon Jul 28, 2014 3:35am EDT


ภาพ นายสม รังสี ประธานของพรรคกัมพูชากู้ชาติ (CNRP) กล่าวกับสมาชิกสื่อมวลชนที่รัฐสภาแห่งชาติของกัมพูชาที่เมืองพนมเปญ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2014

ทำไมการเมืองในกัมพูชาจึงเปลี่ยนแปลงและให้ความร่วมมือกับฝ่ายคสช. คณะนายทหารที่ทำรัฐประหารในประเทศไทยอย่างมาก ตั้งแต่การปล่อยตัวในวีระ สมความคิด การประกาศจะไม่ให้กัมพูชาเป็นฐานของฝ่ายที่ถูกโค่นอำนาจ ได้ก่อการต่อต้านรัฐบาลไทย ตลอดจนการส่งรัฐมนตรีกลาโหมและตัวแทนฝ่ายทหารเข้าเยี่ยมคสช.ในประเทศไทย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ฮุนเซนให้สัมภาษณ์ตลอดจนแสดงความใกล้ชิดกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรและฝ่ายพรรคเพื่อไทยอย่างออกนอกหน้าในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เหตุผลของสัมพันธภาพกับประเทศไทยที่เปลี่ยนไป เพราะฮุนเซนที่เป็นนักการเมืองคร่ำหวอดครองอำนาจมากว่า 30 ปีเอง ก็เริ่มไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเอง เพราะมีสัญญาณหลายๆประการที่ส่อให้เห็นว่า อำนาจและฐานอำนาจของเขาอ่อนกำลังลง เขาต้องจัดการกับการเมืองภายในประเทศอย่างประนีประนอมและต้องเจรจากันกับฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา รัฐสภากัมพูชาได้ยอมรับนายสม รังสี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมในรัฐสภา ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดความขัดแย้งที่เนิ่นนานและเป็นวิกฤติของประเทศมา 1 ปี
รัฐสภากัมพูชาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เมื่อนายสม รังสี หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue – CNRP) ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรัฐสภา โดยกล่าวหาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นเต็มไปด้วยการโกง และวิกฤติการเมืองของกัมพูชาที่ทำให้คนออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน ตามมาด้วยการกวาดล้างผู้ประท้วง และคนงานสิ่งทอนัดหยุดงาน ซึ่งมีผลต่อบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าชั้นนำ ดังเช่น Nike, Gap และ Adidas

ฮุนเซน ผู้นำในสไตล์รวบอำนาจ (Strongman) ของกัมพูชา ต้องออกมาจับมือพร้อมกับยิ้มแย้มกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านแล้วถ่ายภาพ เพื่อเป็นการแสดงถึงข้อตกลงที่จะปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Commission) และระบบรัฐสภา ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของพรรคฝ่ายค้าน

นายสม รังสีในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ถูกห้ามเล่นการเมือง เพราะเขาเป็นคนเปิดโปงปัญหาการปักเขตพรมแดนกัมพูชากับประเทศเวียดนาม ที่ทำให้เขาถูกตัดสินลับหลังให้ถูกจำคุก 12 ปี

นายสม รังสีได้รับการอภัยโทษเมื่อปีที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง และเขาสมัครเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ว่างลงของผู้แทนที่ลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้เข้ามานั่งในสภา

นายสม รังสีกล่าวว่า “ผมถือเป็นเกียรติและมีความสุขที่จะแจ้งแก่พี่น้องร่วมชาติว่า วิกฤติการเมืองของกัมพูชาได้สิ้นสุดลงแล้ว” เขากล่าวผ่านรัฐสภาที่ได้ให้การรับรองเขาเข้าเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ นายสม รังสีได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง ที่เขาจำเป็นต้องเปิดเจรจากับรัฐบาลฮุนเซน และลดความรุนแรงทางการเมืองแบบเอาเป็นเอาตายและแตกหัก

พรรค CNRP ได้บรรลุข้อตกลงกับฮุนเซนหัวหน้าพรรคแห่งชาติกัมพูชา (Cambodian People’s Party – CPP) ในวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ทำให้ยุติข้อขัดแย้งที่เป็นผลมาจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2013 ตามข้อตกลงพรรค CNRP จะได้รับใบอนุญาตมีสถานีโทรทัศน์ของตนเอง 1 ช่อง ได้ 4 จากทั้งหมด 9 ที่นั่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง และตำแหน่งรองประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง

ฮุนเซนกล่าวว่า “ นับเป็นกระบวนการที่ดี ประชาชนของเราทั่วประเทศเข้าใจการประนีประนอม บรรยากาศทั่วไปในวันนี้ถือว่าดี”

ในอีกด้านหนึ่ง การมองเหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องยุติความขัดแย้ง ก็เพราะสำหรับฝ่ายค้านเองก็เริ่มสูญเสียพลัง เพราะคนกลัวความรุนแรงและเบื่อรัฐสภาที่ไม่สามารถเดินหน้าทำหน้าที่ได้ ส่วนฝ่ายรัฐบาลเองก็หวั่นว่าจะเสียตลาดและรายได้จากธุรกิจสิ่งทอและเสื้อผ้ามูลค่า 5,000 ล้านเหรียญ หรือ 160,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนัดหยุดงาน

การเมืองของกัมพูชายังเปราะบาง สถานภาพของรัฐบาลฮุนเซนยังอ่อนไหว ด้วยเหตุดังกล่าว กัมพูชาจึงไม่สามารถมีศัตรูจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเพิ่มขึ้นมาอีกในช่วงนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลฮุนเซนจึงให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารของไทยอย่างมาก โดยลืมสัมพันธภาพกับรัฐบาลที่ผ่านมาและกับพันตำรวจเอกทักษิณ ชินวัตรอย่างสิ้นเชิง

พื้นฐานข้อมูล

ข้อมูลจาก “Wikipedia” - ประเทศกัมพูชามีประชากร 14.8 ล้านคน มีพรมแดนติดกับไทยยาว 443 กิโลเมตร ซึ่งบางส่วนยังมีข้อขัดแย้งกับประเทศไทย

กัมพูชายังจัดเป็นประเทศยากจนแห่งหนึ่งของโลก โดยรายได้พื้นฐานมาจากการเกษตร ภาคบริการและอุตสาหกรรม ตามการจัดอันดับของ Global Hunger Index กัมพูชายังจัดเป็นประเทศยากจนหิวโหยมากอันดับที่ 32 ของโลก จากทั้งหมด 56 ประเทศ กัมพูชาจัดเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตต่ำสุดในจำนวน 10 ประเทศของอาเซียน (ASEAN)


ในอีกด้านหนึ่งกัมพูชาเป็นประเทศที่มีพัฒนาการเศรษฐกิจที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6 เฉลี่ยตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีความเข้มแข็งทางด้านการเกษตร งานก่อสร้าง สิ่งทอและเสื้อผ้า และการท่องเที่ยว เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากค่าแรงยังต่ำอยู่