สู่ความสำเร็จแห่งชีวิต - คือต้องร่วมด้วยในสังคม
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com
เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือออนไลน์เรื่อง “สู่ความสำเร็จแห่งชีวิต”
Keywords: cw214-11, บทที่ 11, ชีวิต, การทำงาน, การเมือง, การปกครอง, civic responsibility, อนุนคร, micropolitan, megacity, urbanization,
ความนำ
สังคมมีหลายระดับ และเราต้องมีบทบาทต่อหน่วยของสังคมนั้นๆ
การเริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ แบบเอเซีย เช่น จีน อินเดีย หรือไทย เราจะเริ่มคิดจากครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน และไปสู่สังคมใหญ่ อันเป็นประเทศและโลก
การเริ่มจากใหญ่ไปสู่เล็ก หรือส่วนย่อย เช่น ตะวันตก เขาจะเริ่มจากการทำความเข้าใจในสังคมโลก รัฐ ชุมชน และสู่ส่วนย่อยอันได้แก่ครอบครัว
แต่ไม่ว่าจะมองจากส่วนใดก่อน แต่ท้ายสุด มนุษย์ทุกคน ก็ต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งในแบบต้องมีบทบาท ความรับผิดชอบ ต้องทั้งให้ และทั้งรับ กับระบบสังคมรอบตัวเรานั้น สังคมที่พัฒนานั้น เราต้องเน้นไปสู่สัมพันธภาพแบบพึ่งพาต่อกัน อย่างมีความเคารพและมีกติกาต่อกัน
ภาพ รถไฟฟ้าของเมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา
เกร็ดความรู้
ระบบขนส่งมวลชน - หากท่านได้เดินทางไปเที่ยวในเมืองใหญ่ในตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป สหรัฐและแคนาดา เราจะพบว่าวิธีการวางผังเมืองของเขา ตลอดจนการวางระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit System) นั้นเป็นไปอย่างมีการวางแผน จากระบบใหญ่ไปสู่ระบบเล็กๆ ต่างๆ อย่างรอบคอบและมองการณ์ไกลมาก
ระบบการขนส่งของเขา ดังเช่นในมหานครอย่างนิวยอร์ค (New York City – NYC) ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ระบบต่างๆ มีการเชื่อมโยงกัน ทั้งทางรถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน หรือบนอากาศ ระบบรถประจำทาง (Buses) ระบบเรือ เรือข้ามฟาก (Ferries) ใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน ระบบเดียวกันได้ สามารถเลือกใช้ตั๋วเป็นรายวัน รายเดือนได้ มีบัตรส่วนลดพิเศษ สำหรับนักท่องเที่ยว ผู้เดินทางมาจากเมืองอื่นๆ และต้องการใช้เพื่อการเดินทางภายใน 1 สัปดาห์ จะกี่เที่ยวก็ได้
ในยุโรป เขามีระบบรถไฟใช้รางมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และทั่วทั้งส่วนใหญ่ของยุโรป เพราะเขามองเห็นปัญหามาตรฐานรางรถไฟมาล่วงหน้า จึงได้มีการกำหนดร่วมกัน และในปัจจุบัน ประชาชนของเขาสามารถใช้การโดยสารรถไฟท่องเที่ยวไปได้ทั่วยุโรปได้อย่างสะดวก
|
ภูมิภาคและโลก
การอยู่ในสังคมโลก และภูมิภาค เราจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในโลก ความรู้ในโลกรอบด้านเป็นความสำคัญในการดำรงชีวิตและการทำงาน
ชาวสวนยาง สวนปาล์ม ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ล้วนต้องเข้าใจในสภาพของโลกและการใช้พลังงานในโลก น้ำมันในโลกที่มาจากปิโตรเลียมกำลังจะหมดไป ต้องมีพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ ยางสังเคราะห์จากปิโตรเลียมจะแพงขึ้น ยางจากธรรมชาติจะมีราคาแพงขึ้น พืชที่เคยเป็นส่วนผลิตเกิน และไม่มีราคาในตลาดโลก กำลังจะเปลี่ยนไป เราต้องมีพลังงานทางเลือก ต้องรู้จักการประหยัดพลังงาน
เกษตรกรจะประสบความสำเร็จ ก็ต้องรู้เรื่องโลกมากกว่าเดิม ต้องรู้รอบ พ่อค้า นักธุรกิจระดับเล็กและกลาง ก็ต้องสามารถติดต่อทำการค้าได้กับต่างประเทศ เพราะสามารถใช้วิทยาการสื่อสาร ติดต่อได้ตรงกับต่างประเทศ สามารถมีพันธมิตรการค้าระหว่างชาติได้ ไม่ได้จำกัดเพียงกับบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น
ความรอบรู้ในโลก ช่วยให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากในโลกยุคปัจจุบัน ท่านเตรียมตัวให้มีความรอบรู้ในโลกมากน้อยเพียงใด
เกร็ดความรู้
พลังงานจากธรรมชาติ – เมื่อราคาน้ำมันจากปิโตรเลียมมีความผันผวน มีแต่ราคาจะแพงขึ้น ทุกคนทราบดี และประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เหมือนอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย แต่หากเรารู้จักทำวิกฤติให้เป็นโอกาส เราจะพบว่า เราสามารถหาโอกาสใหม่ และเตรียมปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับปัญหานี้ได้ ดังจะสังเกตได้จากปรากฏการณ์ต่อไปนี้
น้ำมันแพงขึ้น – ราคาพืชผลการเกษตรหลายอย่างแพงขึ้น เพราะนำมาทำเป็นพลังงานทดแทนได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม
น้ำมันแพงขึ้น – ยางสังเคราะห์จากน้ำมันแพงขึ้น ราคายางในประเทศจึงสูงขึ้น และเมื่อวิทยาการชีวภาพเจริญมากขึ้น เราสามารถปลูกยางพาราได้ในหลายๆที่ซึ่งในอดีต เราไม่สามารถปลูกได้ เนื่องจากเป็นพืชที่เหมาะสำหรับเขตฝนชุก
|
สังคมประชาธิไตย
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย และอยู่ในระยะทดลองรูปแบบความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีการตีความกันหลายรูปแบบ มีการตีความที่แตกต่างกัน และมีผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
รัฐบาลประชาธิปไตย (Democratic Government) มีหลายรูปแบบ
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคของประชาธิปไตยทดลอง ประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบที่เราพูดถึง แต่ในปัจจุบัน เรายังอยู่ในช่วงของการดิ้นรนต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบบที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนคนทั้งประเทศอย่างแท้จริงมากขึ้น
ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน
ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) คือรูปแบบการปกครอง ที่มีรัฐธรรมนูญปัจจุบันรองรับ คือ การมีระบบผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุด โดยเป็นผลมาจากการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกเข้าไปเหล่านั้น ประชาชนมีความเป็นประชาธิปไตยโดยผ่านตัวแทน เพราะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการบริหารประเทศได้ และผู้แทนและรัฐบาลนั้นก็ได้รับสิทธิในการบริหารประเทศไป 4 ปี ดีไม่ดี ก็กลับมาเลือกตั้งกันใหม่
ในทางปฏิบัติ และตามข้อเท็จจริง เรายังมีปัญหาการใช้เงินซื้อเสียง กลายเป็นประชาธิปไตยที่คนหรือกลุ่มคนมีเงินและผลประโยชน์ได้ลงทุนเพื่อให้เข้าไปมีอำนาจการปกครอง แล้วใช้อำนาจนั้นแสวงหาประโยชน์ มองในอีกแง่หนึ่งประเทศที่เจริญแล้ว เกือบทุกประเทศก็ต้องผ่านขั้นตอนการพัฒนาเช่นนี้มาก่อน และเวลาที่ผ่านไป ประชาชนมีสถานทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีการศึกษามากขึ้น ก็จะมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ การซื้อสิทธิขายเสียง (Vote Buying) ก็จะลดลง
ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (Liberal Democracy) คือประชาธิปไตยที่ต้องให้หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศชายหรือหญิง หรือคนรักร่วมเพศ แม้ว่าเขาจะเป็นคนส่วนน้อย แต่สิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ของเขาก็ต้องได้รับเช่นเดียวกับคนทั่วไป ไม่ใช่ว่าเมื่อเลือกตั้งแล้ว คนส่วนใหญ่จะตัดสินใจบริหารประเทศไปได้ทั้งหมดตามใจชอบ ยังต้องมีหลักการเคารพในสิทธิของคนส่วนน้อยและคนทั้งประเทศ ที่เขาอาจเลือกหรือไม่ได้เลือกบุคคลหรือพรรคนั้นๆ เข้าไปบริหารประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องให้ความเคารพในสิทธิประชาชนและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาควบคู่กับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และการเคารพในกฎกติกาของสังคมด้วย
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) คือประชาธิปไตยที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศไปตามสภาพความเหมาะสม รัฐบาลก็ต้องฟังเสียงประชาชนทุกภาคส่วน ต้องมีการปรึกษาหารือกัน และที่สำคัญคือสำหรับประเทศใหญ่ๆ ก็ต้องกระจายอำนาจการปกครองให้หน่วยสังคมเล็กๆ ชุมชน และท้องถิ่นต่างๆ ได้มีส่วนร่วม หรือกระจายอำนาจไปให้ปกครองตนเองให้ได้มากที่สุด ทุกฝ่ายต้องรู้ว่ากรอบการทำงานของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร และต้องเคารพซึ่งกันและกัน
ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ประชาธิปไตยเช่นนี้ ต้องส่งเสริมขีดความสามารถในการดูแลตนเองในระดับฐานราก ดังในประเทศไทยคือฐานรากระดับหมู่บ้าน ตำบล เมือง และเขตการปกครองพิเศษต่างๆ มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลของส่วนท้องถิ่นต่างๆ
สังคมประเทศสู่ความเป็นอารยะ
ความหมายของ Interdependence ในสังคมเราต้องมีการพึ่งพาต่อกัน อยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ในระดับประเทศ เราต้องอยู่ร่วมกันและอยู่อย่างมีกฎ กติกา มารยาทที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เรากำลังก้าวสู่สังคมใหม่ที่ต้องมีความเป็นสังคมอารยะมากขึ้น สังคมอารยะคืออะไร
London School of Economics โดยศูนย์สังคมอารยะ หรือ Center for Civil Society ได้ให้ความหมายของคำว่า “สังคมอารยะ” หรือ Civil Society เอาไว้ดังนี้
บริเวณที่มีกิจกรรมร่วมกันที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ เป็นการดำเนินการร่วมกันด้วยการมีผลประโยชน์ วัตถุประสงค์ และคุณค่า โดยทั่วไป คือการเกิดสถาบันที่นอกเหนือไปจากความเป็นรัฐ ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย สถาบันครอบครัว และองค์กรที่เป็นธุรกิจนานาประเภท .....
มีกิจกรรมหลายๆ ประเภทที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยเพียงจัดการโดยรัฐ เช่นการดูแลเด็กเล็ก ในหลายๆ ประเทศพบว่ารัฐไม่ควรต้องไปทำหน้าที่อันละเอียดอ่อนนี้ กิจกรรมเหล่านี้มีคุณค่าแน่นอน แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลท้องถิ่นไปดำเนินการนั้นจะมีประสิทธิภาพการดูแลที่ด้อยกว่าให้องค์กรประเภทอื่นๆทำ
กิจกรรมบางอย่างมีผลประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่นเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การดูแลท้องทะเลและทรัพยากรทางน้ำ แต่หากปล่อยให้เพียงชาวประมงดูแล ก็จะประสบปัญหาแข่งกันจัดหาปลา ต้องมีหน่วยงานกลางๆ ที่จะทำหน้าที่รณรงค์ในเรื่องการอนุรักษ์ดังกล่าว
ในด้านศาสนา ทุกศาสนาสอนคนให้เป็นคนดี แต่มีหลายครั้งที่มีความขัดแย้งระหว่างศาสนา และความเชื่อ จึงต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประสานสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจดีระหว่างคนหลายศาสนาเข้าด้วยกัน องค์กรประเภทศาสนสัมพันธ์จึงเกิดขึ้น
ในสมัยหนึ่งเขาเรียกองค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวว่า “องค์กรเอกชนพัฒนา” คือองค์กรที่ไม่ใช่ทั้งเป็นภาครัฐ และไม่ใช่เป็นเอกชนเพื่อผลประโยชน์ทั่วไป ในต่างประเทศเรียกว่า NGOs (Non Governmental Organizations) อันเป็นองค์กรสาธารณะที่ไม่ได้เป็นทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ผลประโยชน์ทั่วไป แต่ในปัจจุบันจะมีคำว่า Civil Society หรือเรียกว่า “สังคมอารยะ” เข้ามาแทนที่มากขึ้น
หัวใจคือการมีส่วนร่วม
ประเทศจะดีได้เพียงใด ก็ดูได้จากคุณภาพของประชาชน
ประชาธิปไตยจะเจริญก้าวหน้าได้ ก็ดัวยประชาชนต้องใช้สิทธิและทำหน้าที่เป็นประชากรที่รับผิดชอบ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกับการเมืองการปกครองของประเทศทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น (Local Government) ของตน
ประชาธิปไตยจะเจริญได้ด้วยการมีธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งการนี้ต้องมีกลไกการตรวจสอบ และการตรวจสอบที่ดีคือการที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยไม่ใช้การเขียนให้สัมปทานทางการปกครอง พอประชาชนเลือกตั้งคนไปปกครองแล้ว ก็ปล่อยไป ประชาชนต้องมีกลไกในการตรวจสอบ และฝ่ายปกครองต้องแสดงความจริงใจที่จะให้มีการตรวจสอบ และต้องตรวจสอบได้อย่างมีความเป็นอิสระ
องค์กร
คนเราทำงานต้องการความสำเร็จและสัมพันธภาพที่ดีในองค์กรที่ตนเองทำงานหรือเกี่ยวข้อง
ชีวิตในการทำงานนั้นเราต้องเกี่ยวข้องกับคนหลากหลายประเภท มีตั้งแต่เจ้านาย (Boss, Supervisors, Mentor) หรือในบางแห่งก็เรียกว่า “ลูกพี่” มีเพื่อนร่วมงาน คนทำงานระดับเดียวกัน แต่อาจต่างสายการเรียนมา (Colleague, Buddy) เมื่อเรามีประสบการณ์หรือรับการฝึกอบรมมาในระดับสูง เราอาจมีลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา (Subordinates) อันเป็นคนที่เราต้องให้การดูแล สั่งงาน ติดตามงาน หรือให้การอบรมสั่งสอนเขา ให้เขาได้รับความก้าวหน้า
ในทุกงาน เรามักจะมีลูกค้า (Clients) คือผู้ที่มารับบริการจากเรา มาซื้อสินค้าจากเรา ถ้าเป็นครูอาจารย์ก็จะมีลูกศิษย์ (Students)
ในบางสถานะ เราจะเกี่ยวข้องกับ Suppliers หรือผู้มาส่งสินค้าและให้บริการแก่เรา
สัมพันธภาพที่เราต้องการเมื่อไปทำงานในองค์กรใดๆ ก็ตาม คือ
- เจ้านาย – เจ้านายรัก เห็นฝีมือ เห็นคุณค่าในการทำงานของเรา
- ลูกค้า – ลูกค้าไว้วางใจอยากมารับบริการ อยากคบค้าด้วย
- เพื่อนร่วมงาน – มีความสุขใจเห็นคุณค่าที่จะทำงานร่วมด้วย
- ลูกน้อง – ลูกน้องรัก ไว้วางใจ และให้ความร่วมมือ และทำงานร่วมด้วยอย่างทุ่มเท
ชุมชน
ความสำเร็จในชีวิตและการทำงานต้องอาศัยชุมชน และเราต้องมีส่วนร่วมในชุมชนนั้นๆ ด้วย
com·mu·ni·ty
n., pl. -ties.
A group of people living in the same locality and under the same government.
The district or locality in which such a group lives.
A group of people having common interests: the scientific community; the international business community.
A group viewed as forming a distinct segment of society: the gay community; the community of color.
|
ชุมชน (Community) คือ (1) กลุ่มคนที่มาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน ภายใต้รัฐบาลหรือการปกครองเดียวกัน (2) หมายถึงเขตหรือท้องถิ่นที่มีผู้คนมาอาศัยอยู่ร่วมกัน และในอีกด้านหนึ่ง (3) หมายถึงกลุ่มคนที่มีค่านิยม ความสนใจร่วมกัน แม้อาจไม่ได้มาอยู่ในที่เดียวกัน เช่น ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ ชุมชนชาวรักร่วมเพศ ที่เรียกว่า Gay Community เป็นต้น
ในที่นี้ คนไทยทุกคนจะมีชุมชนที่เป็นของตนเอง เรามีหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ซึ่งมีการปกครองรองรับ
สำหรับชาวเมืองเรามีหมู่บ้านจัดสรร มี Condomenium ที่เรามาพักอาศัยร่วมกัน สำหรับชาวตะวันตกนั้น การที่เขาจะอยู่ในชุมชนใดนั้น เขาจะเลือกอย่างดี เพราะจะเป็นฐานในการทำงานประกอบอาชีพ ชุมชนที่ดี จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในการทำงาน ทำให้มีโรงเรียน มีสถานศึกษาสำหรับลูกหลานของเขา และเพราะเขาต้องเป็นผู้เสียภาษีแก่เมืองหรือชุมชนนั้นๆ เขาจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนนั้นๆ เช่น การจริงจังกับการมีส่วนร่วมในโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ได้แน่ใจว่าลูกหลานของเขาจะได้มีสถานที่เรียนที่มีคุณภาพ ในการปกครองของท้องถิ่นเขา เขาจะจริงจังกับการเลือกคนที่จะเป็นนายกเทศมนตรีของเมือง การจัดการด้านกิจการตำรวจ การดับเพลิง ย่านธุรกิจ และอื่นๆ เพราะหาชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมไม่ดี มีอาชญากรรมสูง ไม่มีแหล่งงานที่ดี มีแต่คนไหลออก เขาก็เสียผลประโยชน์
การมีส่วนร่วมในชุมชนจึงเป็นบทบาทของทุกฝ่ายที่จะต้องทำให้ชุมชนของตนนั้นน่าอยู่
เกร็ดความรู้
·ท่านทราบไหมว่าในประเทศไทย
· มีประชากรทั้งประเทศอยู่เท่าใด
· มีตำบลอยู่กี่แห่ง
· มีหมู่บ้านอยู่ทั้งสิ้นกี่แห่ง
· มีเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศอยู่กี่แห่ง
· ตามรัฐธรรมนูญจะต้องมีการกระจายรายได้จากการเก็บภาษีสู่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละเท่าใด และปัจจุบันนี้ได้ดำเนินไปสู่จุดนั้นหรือยัง
|
การอยู่อาศัยในสังคมแบบที่จะเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อชุมชนที่เราอยู่อาศัย คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเข้าใจความสำคัญของประชาคมที่เรามีส่วนร่วม และต้องเข้าใจความรับผิดชอบ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมที่ทุกคนต้องมีต่อชุมชนที่ตนอาศัยอยู่
มหานคร vs. ชนบท
เมืองใหญ่ (Metropolitan Area) ในโลกนี้มีเมืองใหญ่ที่อาจเรียกว่า “อภิมหานคร” มีประชากรกว่า 1 ล้านคน (Megacity) อยู่ 438 เมือง ในประเทศไทยมีกรุงเทพมหานครที่มีประชากร 6.5 ล้านคน รวมปริมณฑลเป็น 8.45 ล้านคน กรุงเทพฯ ใหญ่เป็น 20 เท่าของเมืองใหญ่ถัดไป
ดูรายละเอียดที่ http://www.citypopulation.de
เขตชุมชนเมือง (Urban Areas) ในประเทศไทย นับรวมกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว มีเขตผู้อยู่อาศัยในเมืองขนาด 20,000 คนขึ้นไป จำนวน 148 แห่ง มีประชากรรวม 14 ล้านคน หรือคิดเทียบเท่ากับร้อยละ 22.8
เขตชุมชนชนบท (Rural Town and Villages) ประชากรอีกร้อยละ 30 ของประเทศไทย มีการรวมตัวกันเป็นชุมชนระดับตำบลและหมู่บ้าน ประเทศไทยมีการปกครองในระดับตำบลอยู่กว่า 7,500 แห่ง ประมาณว่าแต่ละจังหวัดมีประมาณ 90-100 ตำบล มีประชากรเฉลี่ยที่ประมาณตำบลละ 5,000 คน
ในประเทศไทยปัจจุบันประชาชนมีวิถีชีวิตและการอยู่อาศัยแตกต่างกัน บางภูมิภาคนิยมการรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน บางเขตมีการอยู่กันกระจัดกระจายตามที่ทำกิน การพัฒนาชุมชนฐานรากเหล่านี้จัดว่าเป็นความสำคัญของประเทศอีกระดับหนึ่ง
กล่าวโดยรวม จัดได้ว่าร้อยละ 45-50 ของประชากรไทยยังอยู่ในเขตชนบท (Rural) คือบริเวณที่มีประชากรอยู่เบาบาง และอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย เขตเหล่านี้มีจำนวนประชากรลดน้อยลงเป็นลำดับด้วยมีการย้ายไปอยู่ในเขตเมืองที่มีความสะดวกสบายและสาธารณูปโภคที่ดีกว่า เขตชนบทมีลักษณะที่สังเกตได้ง่ายคือมีคนชรา สตรี และเด็กที่พ่อแม่เข้าเมืองใหญ่เพื่อหารายได้ แล้วนำมาฝากปู่ย่า ตายาย หรือญาติสนิทเพื่อให้เลี้ยงดู
อนุนคร
ปัจจุบันนี้ในประเทศพัฒนาแล้ว มีการเติบโตของเมืองในแบบใหม่ที่เรียกว่า “อนุนคร” (Micropolitan) จะเรียกว่า “มหานคร” ก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้มีประชากรมากเป็นล้านคน คือเป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่ มีประชากร 65,000 – 100,000 คน ไม่ใช่ 20-22 ล้านคนอย่างในโตเกียว หรือ 18 ล้านคนอย่างในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา หรือ 6.5 ล้านคนอย่างกรุงเทพฯ
ลักษณะเมืองใหม่ ที่ได้ออกแบบมาอย่างดี มีระบบคมนาคมการขนส่งระหว่างเมืองที่สะดวก แม้เป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่ แต่ผู้คนสามารถมีชีวิตได้ดังคนในเมืองใหญ่ ประชาชนมีการงานการอาชีพที่ดี คนมีงานทำ มีรายได้อย่างคนเมือง แต่ไม่ต้องตกงาน แต่ไม่มีปัญหาด้านการจราจร ปัญหาอาชญากรรม ค่าครองชีพสูงแบบเมืองใหญ่
มีบริการสังคมที่ดี มีโรงพยาบาล โรงเรียนและสถานศึกษา สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีแหล่งจับจ่ายสินค้า ไม่ต้องเข้าไปในเมืองใหญ่
มีสภาพแวดล้อมที่ดี อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม และมีวิถีการดำรงชีวิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น
อนุนครเหล่านี้ เป็นทางเลือกใหม่ระหว่างชีวิตเมืองใหญ่ที่เรียกว่าอภิมหานคร กับชนบท หรือเมืองชนบทที่มีแต่ถดถอย แต่เมืองใหม่เหล่านี้ต้องอาศัยการพัฒนาจากประชาชนที่มารวมตัวกัน และพัฒนาให้เกิดขึ้น ต้องมีระบบการนำ การปกครองที่ดี มีประชากรที่มีความคาดหวัง และขณะเดียวกันมีส่วนร่วมสร้างสรรค์เมืองใหม่แบบดังกล่าวให้เกิดขึ้น
ครอบครัว
การทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตที่สมดุล มีครอบครัวดีมีสุข
fam·i·ly n. pl. fam·i·lies
a. A fundamental social group in society typically consisting of one or two parents and their children.
b. Two or more people who share goals and values, have long-term commitments to one another, and reside usually in the same dwelling place.
2. All the members of a household under one roof.
|
ครอบครัวตามความหมายในพจนานุกรมของฝรั่งตะวันตก คือ (1) กลุ่มคนหรือสังคมย่อยที่ประกอบด้วยพ่อแม่ และลูก (2) คนสองคนหรือมากกว่า ที่มีเป้าหมายและค่านิยมร่วมกัน และมีคำมั่นว่าจะมาใช้ชีวิตระยะยาวด้วยกัน พักอาศัยอยู่ในที่เดียวกัน หรือ (3) คนที่มาอาศัยอยู่ในชายคาเดียวกัน
ในเอเชียรวมถึงชนบทในประเทศไทย ครอบครัวมีความหมายเป็น Extended Family หรือครอบครัวใหญ่ที่รวมถึงปู่ย่า ตายาย และวงญาติพี่น้อง
คนเมื่อก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ สังคมครอบครัวจะเป็นหน่วยสำคัญ คนที่เริ่มต้นชีวิตครอบครัวที่ดี ก็นับได้ว่ามีความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง สังคมคนเมืองก็จะมีความเป็นสังคมตะวันตกมากขึ้น คือครอบครัวที่หมายถึง พ่อแม่ และลูกๆ ซึ่งมักจะมีไม่เกินสองคนเป็นส่วนใหญ่ ครอบครัวที่ดีให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกได้ มีความรักใคร่กัน เอื้ออาทรต่อกัน ย่อมเป็นพลังแก่สมาชิกแต่ละคนที่จะทำงานและใช้ชีวิตไปสู่ความสำเร็จ
การจะมีครอบครัวที่ดี จึงต้องมีการให้ความสำคัญ ต้องมีการเลือกคู่ครองกันอย่างจริงจัง ความรักและการเริ่มต้นชีวิตคือการต้องมีทางเลือก
ความอบอุ่นและความรัก
ความสำเร็จในชีวิต เริ่มต้นจากความสำเร็จและความอบอุ่นในบ้าน
เราเลือกที่จะมีชีวิตคู่ก็ด้วยเห็นคุณค่าของกันและกัน มีความรักและปรารถนาดีต่อกัน และเมื่อเลือกที่จะมาอยู่ด้วยกัน ก็จะต้องมีความมั่นใจว่าจะผูกสัมพันธ์ต่อกันไปในระยะยาว มีลูกก็จะต้องร่วมกันดูแลอย่างรับผิดชอบ เมื่อมีบ้านต้องทำบ้านให้เป็นบ้าน เป็นที่ๆ มีความอบอุ่น มีความรัก ดังสุภาษิตของฝรั่งที่กล่าวว่า
A house is made of Brick and stone, but a home is made of love alone.
เขามีคำว่าบ้านอยู่ 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า House คือบ้านที่เป็นตัวอาคาร เป็นที่ๆ สร้างด้วยอิฐและหิน ส่วนบ้านในความหมายหนึ่ง คือ Home เป็นบ้านที่มองในเชิงนามธรรม ที่ใดๆ ที่เราพักอาศัยก็ตาม จะเป็น
เจ้าของหรือเป็นที่เช่า แต่เป็นที่ๆ เรามีความรักความอบอุ่นให้แก่กัน
ทำบ้านให้มีความสุข และความสุขในบ้านจะเป็นฐานสู่ความสำเร็จในชีวิตและการทำงานของเราต่อไป
บทสรุป
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่อย่างพึ่งพากัน
เราต้องอยู่อย่างเข้าใจโลก มีบทบาทความรับผิดชอบต่อโลก เราไม่ได้อยู่เพียงเพื่อปัจจุบัน แต่ต้องเข้าใจอนาคต เข้าใจสิ่งแวดล้อม สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ด้วยความเข้าใจของประชาคมโลกโดยรวม การทำโลกในปัจจุบันที่น่าอยู่ทั้งต่อคนในปัจจุบันและต่อคนในรุ่นลูกหลาน จึงเป็นบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของมนุษย์ในโลกทั้งมวล
เราต้องมีบทบาทต่อสังคมประเทศและชุมชน ยิ่งสังคมเราเจริญก้าวหน้าไปเท่าใด บทบาทของคนในสังคม ความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมก็ยิ่งมีความสำคัญตามไปด้วยเท่านั้น ในสังคมที่ก้าวหน้าและพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตย ยิ่งทำให้กลไกของสังคมประเทศและชุมชนมีความซับซ้อน การไม่เข้าไปมีบทบาทหน้าที่ของพลเมืองที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง หากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอาจทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ การต่อสู้ช่วงชิง การเอาแพ้เอาชนะกัน และท้ายสุดนำมาซึ่งวิกฤติในสังคมได้
มนุษย์ทุกคนต้องมีบ้าน และการทำบ้านให้น่าอยู่ มีความอบอุ่น ช่วยกันรักษาบ้าน ทำให้บ้านเป็นแหล่งเสริมพลังแห่งชีวิต ในการทำให้เราพร้อมที่จะก้าวไปทำงานในสังคมใหญ่ได้อย่างเบิกบาน
No comments:
Post a Comment