Friday, December 23, 2011

ความขยันหมั่นเพียรคือความแข็งแรง

ความขยันหมั่นเพียรคือความแข็งแรง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

Keywords: สุภาษิต, proverbs,

継続は力なり- ความขยันหมั่นเพียรคือความแข็งแรง ~ สุภาษิตญี่ปุ่น

มีสุภาษิตบทหนึ่งเขียนในภาษาญี่ปุ่นว่า 継続は力なり- ซึ่งในภาษาอังกฤษแปลว่า Perseverance is strength.” ~ Japanese proverb

ในภาษาไทยแปลได้ว่า “ความขยันหมั่นเพียรคือความแข็งแรง”

Perseverance เป็นคำนาม ในภาษาไทยแปลได้หลายคำ แต่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ ความเพียร, ความอุตสาหะ, ความขยันหมั่นเพียร, วิริยภาพ, วิริยะ, หรือ ความบากบั่น เป็นต้น

ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 127,960,000 คน จัดเป็นประเทศมีประชากรมากเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่มีพื้นที่ทั้งประเทศ 377,944 ตารางกิโลเมตรจัดเป็นประเทศมีพื้นที่ขนาดใหญ่อันดับที่ 62 ของโลก และในพื้นที่ดินที่มีอยู่นี้เป็นภูเขาลาดชันที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกเสียเป็นอันมาก โดยรวมประเทศญี่ปุ่นมีความหนาแน่นของประชากรที่ 337.1 คน/ตรกม. จัดเป็นอันดับที่ 36 ของโลก ที่สำคัญญี่ปุ่นมีเกาะเล็กเกาะน้อยรวมถึง 6,852 แห่ง ยากแก่การคมนาคม เมื่อเทียบกับประเทศไทย ยากต่อการทำการเกษตรที่เน้นประสิทธิผล ที่จะใช้เครื่องจักรกลและทำฟาร์มขนาดใหญ่ ในทางอุตสาหกรรมญี่ปุ่นไม่มีทรัพยากรพลังงานอย่างน้ำมันหรือถ่านหินมากนัก ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ

หากดูที่รูปร่างคนญี่ปุ่น ก็จะพบว่าเป็นชาติที่คนตัวไม่ใหญ่โต ขนาดใกล้เคียงกับคนไทยและเอเชียตัวไป เมื่อต้องมีการแข่งขันกีฬาที่เน้นขนาดร่างกายสูงหรือใหญ่ เขาจะเสียเปรียบ เช่นกีฬาบาสเกตบอล รักบี้ เป็นต้น แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคต่อผลิตผลของประเทศ

แต่สิ่งที่เขามีคือคุณสมบัติของประชากรที่มีความวิริยะหมั่นเพียร หรือ Perseverance แบบสู้ไม่ถอย ดังจะเห็นได้จากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปี ค.ศ. 1940s ประเทศต้องเสียหายอย่างมาก ประชากรล้มตาย เศรษฐกิจพังพินาศ แต่เขาก็กลับมาสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้ในเวลาเพียง 20-30 ปี

หลักความวิริยะหมั่นเพียรข้อนี้คิดง่ายๆ หากคนๆหนึ่งร่างกายแข็งแรงน้อยกว่า ยกของหนักได้น้อยกว่า เขาก็ยกที่ที่ชิ้นเบากว่า แต่ยกหลายครั้ง ทำงานนานชั่วโมงกว่าในแต่ละวัน และเขาทำงานอย่างทุ่มเทกว่า เมื่อโลกต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่า ญี่ปุ่นก็ตอบสนองต่อสินค้ามีคุณภาพ ทำแล้วได้คุณภาพสินค้าและบริการที่ดีกว่า แม้ในช่วงแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สินค้าญี่ปุ่นเป็นสินค้าราคาถูก แต่จะได้ชื่อว่าไม่มีคุณภาพ แต่หลังจากนั้นไม่นาน สินค้าญี่ปุ่นก็กลับเปลี่ยนเป็นสินค้าคุณภาพ มีระดับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเลยหน้าตะวันตกไปในหลายๆด้าน เช่นด้านสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคโทรนิกส์ รถยนต์ ตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมก้าวหน้า

ในยุคที่ประชากรโลกจะถึง 8,000 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 นี้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่จำกัดด้วยพื้นที่ จึงต้องมีการควบคุมจำนวนประชากร ทำให้มีอัตราคนเกิดใหม่ลดลง แต่อายุเฉลี่ยของประชาชนสูงขึ้น ด้วยคนญี่ปุ่นมีสุขภาพดี เป็นชาติที่คนมีอายุยืนที่สุดในโลก ผลที่ตามมาคือ คนที่จะเป็นพลังทำงานของประเทศลดน้อยลง แต่คนที่จะต้องอาศัยบำนาญของคนรุ่นหลังมีมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปได้ว่า เขาอาจจะต้องกลับไปใช้แนวคิด ความวิริยะหมั่นเพียร ต้องทำงานมากปีขึ้น อายุเกษียณที่ต้องสูงขึ้น ทำงานมากปีขึ้นก่อนที่จะเลิกทำงาน ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ญี่ปุ่นมีมากกว่าชาติใดๆ

ด้วยคุณสมบัติของคนในชาติที่เขามีการอุทิศตนเพื่อคนและชาติของเขา และความมีวิริยะอุตสาหะในการทำงาน เขาก็จะใช้ลักษณะเด่นนี้ก้าวข้ามช่วงเวลาอันยากลำบากไปได้

No comments:

Post a Comment