5 นโยบายตัดสินรัฐบาลในปี พ.ศ. 2555
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Dated: 11-12-30
Good morning from Bangkok to all earlybirds and late sleepers worldwide. It's Friday, December 30, 2011.
สวัสดียามเช้าครับ ศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2554 ขอทุกท่านมีพลังกายและใจที่จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2555 ด้วยความหวังและความสุข
@pracob - การเมืองคือเกมอำนาจ และการเลือกตั้งคือการตัดสินของประชาชนว่าจะให้อำนาจรัฐบาลเพื่อทำในสิ่งใด
ประชาชนก็ยังต้องติดตามนโยบายรัฐ และตรวจสอบ โดยอาศัยฝ่ายค้าน สื่อ องค์กรอิสระ และที่สำคัญ ประชาชนเองต้องเปิดหูเปิดตา
ผมเป็นพวกนิยม Liberal Democracy หรือประชาธิปไตยเสรีนิยม ที่ยึดหลักว่าการเมืองต้องโปร่งใส ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินนโยบายของรัฐ แต่คนส่วนน้อยต้องมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รักษาสิทธิ และไม่ถูกตัดขาดจากการเมืองของประเทศ เพราะการเมืองไม่ใช่เกมผูกขาดอำนาจ การเมืองต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วม
@pracob - 5 นโยบายอันตรายของรัฐบาลเพื่อไทย คือ น้ำ การเงิน การพลังงาน ข้าวและพืชผลการเกษตร และการกระจาย/รวบอำนาจ
ปีพ.ศ. 2554 นับเป็นปียอดแย่ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยมีปัญหาจากภัยน้ำท่วมใหญ่สุดในรอบ 50 ปี ที่ทำให้คนไทยเหนื่อยอย่างสุดๆ แต่ปี พ.ศ. 2555 จะเป็นปีที่คนไทยจะต้องเหนื่อยอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อยากให้ต้องเหนื่อยอย่างไร้ทิศทางและสิ้นหวัง การเดินหลงทางอีกไม่มากนัก อาจทำให้ประเทศจมหนักยิ่งกว่าน้ำท่วมในปลายปี 2554 นี้
@pracob - การจัดการน้ำ - ปี 2554 เป็นปียอดแย่ของคนไทย อันมีส่วนสำคัญมาจากการจัดการน้ำและน้ำท่วมโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย #thaiflood
ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เป็นผลจากภัยธรรมชาติร่วมกับความบกพร่องของมนุษย์ คือคนไทยโดยรวม และซ้ำเติมด้วยความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล
ปีพ.ศ. 2554 เพราะน้ำท่วมที่รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ จึงได้แต่งตั้งบุคคลอย่างดร.วีระพงษ์ รามางกูร และดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเข้ามาร่วมวางแผนการจัดการน้ำ
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และอดีตประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
คณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มีมติอนุมัติในหลักการใช้เงิน 350,000 ล้านบาท เพื่อการแก้ปัญหาน้ำ ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดออกมาว่าจะใช้เงินไปเพื่อการใดบ้าง โครงการใดเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนน้ำมากในปี 2555 และอะไรที่จะเป็นแผนระยะกลางและระยะยาวต่อไป ที่สำคัญจะต้องมีแนวทางว่าจะใช้เงินจากที่ไหน ความจริงเงิน 350,000 ล้านบาทไม่มาก หากเทียบกับความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและโอกาสไปกับน้ำท่วมปี 2554 ที่อยู่ระหว่าง 1.3-2.0 ล้านล้านบาท
@pracob - การจัดการเงิน - ปี 2555 วิธีการสร้างหรือเสียความเชื่อมั่นในการเงินของชาติ จะเป็นจุดตัดสินความอยู่รอดของเพื่อไทย
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่รัฐบาลที่บริหารการเงินอย่างอนุรักษ์เสียทีเดียว แต่หากเทียบกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันมากในเรื่องการดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อบูรณะประเทศและสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจประเทศหลังน้ำท่วมอย่างไร โดยหลักการก็คือ เมื่อต้องใช้เงินมากในบางส่วน ก็ต้องตัดทอนแผนการใช้เงินที่ไม่จำเป็นลง เช่นต้องทบทวน เรื่องของ “รถยนต์คันแรก” ที่ต้องใช้เงินของรัฐสนับสนุน โดยการลดภาษี การส่งเสริมให้ประชาชนมี “บ้านหลังแรก” ซึ่งก็จะกระทำด้วยการลดภาษี นอกจากนี้ยังมีเรื่อง นโยบายแรงงานขั้นต่ำ 350 บาทต่อวัน ซึ่งไม่มีฐานที่ชัดเจนว่าจะไปส่งเสริมคุณภาพฝีมือแรงงานอย่างไร แล้วจะไปลดค่าครองชีพค่าใช้จ่ายประชาชนที่ได้เพิ่มขึ้นไปแล้วด้วยช่วงน้ำท่วมอย่างไร เงินเดือนขั้นต่ำที่ 15,000 บาท แม้ชัดเจนว่าจะเริ่มที่ข้าราชการก่อน แต่ผลกระทบจะมีต่อภาคราชการทั้งหมด และรวมถึงภาคเอกชนด้วย แล้วรัฐบาลจะหาเงินที่ไหนมาใช้เพื่อการนี้
@pracob - การจัดการพลังงาน - ปี 2554 เราเสียเงินไป 70,000-100,000 ล้านบาทกับนโยบายน้ำมันที่สับสน มีอะไรใหม่สำหรับพลังงานทางเลือกและเกษตรกร
นโยบายกองทุนพลังงานน้ำมันที่รัฐบาลเพื่อไทยได้ประกาศจะยกเลิก ท้ายสุดไม่ได้ยกเลิก น้ำมันมิได้มีราคาถูกลง แต่เราได้เสียเงินที่ต้องสนับสนุนราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องไม่สับสนคือ การที่ประชาชนและภาคเอกชนที่ได้ลงทุนไปกับพลังงานจากพืชทดแทน นโยบาย Biodiesel จะทำอย่างไรต่อไป นโยบายด้านการคมนาคมด้วยระบบราง รถไฟความเร็วสูง ระบบรถไฟรางคู่จะใช้มาตรฐานอะไร ระหว่างเดิมที่ใช้กว้าง 1.00 เมตรไปสู่มาตรฐานสากลที่ 1.50 เมตร แล้วกิจการรถไฟจะยังคงเป็นดังระบบราชการอย่างที่เป็นอยู่นี้หรือ?
@pracob - การจัดการข้าวและพืชผลการเกษตร - 2555 รัฐบาลจะบริหารราคาพืชผลด้วยการจำนำข้าว จะเอาเงินจากไหน และจะยุติธรรมถ้วนหน้าหรือไม่
ความจริงข้าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพืชผลการเกษตร ยังมีข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยาง ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ
ความแตกต่างด้านนโยบายข้าวและพืชผลการเกษตรที่พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินก่อนหน้านี้คือ การผลักดันเรื่องการประกันราคาพืชผลการเกษตร แม้ทำให้เกษตรการได้ราคาเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เป็นหลักการที่ทำให้ได้อย่างถ้วนหน้า นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยในแนวทางนี้ แม้ไม่หวือหวา แต่พรรคเพื่อไทยจะใช้การรับจำนำพืชผลการเกษตร และตั้งราคาประกันเอาไว้อย่างสูง ซึ่งจะกระทำได้หรือ และจะทำได้อย่างยุติธรรม กระจายการรับจำนำได้ถ้วนทั่ว หรือจะกระจุกตัวไปตามฐานเสียงการเมือง และจะทำให้ไม่มีการรั่วไหลของข้าวที่ไหลเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร
ปี 2555 คือปีที่ตัดสิน หากการจัดการข้าวเป็นไปอย่างได้ผล ก็จะได้ทั้งคะแนนเสียง และการกระตุ้นการผลิตพืชผลการเกษตร แต่หากไม่ได้ผล ก็จะเป็นการผลาญเงินงบประมาณจำนวนมากที่ต้องใช้ไปเพื่อการจำนำพืชผลการเกษตร และต้องมาอุดหนุนด้วยการเร่งส่งออกอย่างขาดทุน
@pracob - การกระจายอำนาจ - 2554 งานการศึกษาไม่ขยับ เพราะรัฐมนตรีศึกษาดึงการตัดสินใจเงินตั้งแต่ 100,000 บาทมาตรวจสอบ
เสียงบ่นของคนทำงานในกระทรวงศึกษาธิการหนาหูขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐมนตรีว่าการฯ เข้ามารับงานอย่างเจตนารวบอำนาจ ดังจะดูได้จากเรื่องการพิจารณาโครงการที่ใช้เงินตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป แล้วงานก็ไปกองอยู่ที่รัฐมนตรีนับเป็นเดือนๆแล้ว โดยยังไม่มีการอนุมัติ หากเป็นการชะลอเพื่อรับการตรวจสอบสักระยะหนึ่ง ก็พอฟังได้ แต่การที่จะรวบอำนาจกลับมาส่วนกลางอีกครั้งนับว่าเป็นการสวนกระแส เพราะปัญหาการศึกษานั้นหมักหมมมานาน จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจ ดึงประชาชน ท้องถิ่น ธุรกิจ และทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
เด็กไทยเกิดน้อยลง ครอบครัวรุ่นใหม่มีลูกไม่เกิน 2 คน พ่อแม่มีฐานะที่ดีขึ้น พร้อมที่จะลงทุนกับลูกหลานของเขา รัฐบาลพึงมองพ่อแม่ให้มาเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษา เริ่มกันตั้งแต่ระดับครอบครัว ตามมาด้วยชุมชน ตั้งแต่ อบต. อบจ. เทศบาลเมืองขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ รวมถึงภาคธุรกิจ
No comments:
Post a Comment