ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือออนไลน์เรื่อง “สู่ความสำเร็จแห่งชีวิต”
Keywords: cw214-07, ชีวิต, การทำงาน, proactive, reactive
ความนำ
การใช้ชีวิตของเราเป็นอันไม่มากไม่ได้มีการเตรียมการอะไรไว้ล่วงหน้า แต่อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเวลาเราหิว จะหารับประทานอาหารกลางวัน บางทีเดินเข้าร้านอาหารไปแล้ว ยังไม่รู้จะสั่งอะไร หรือสั่งก็สั่งอย่างไม่ได้ใช้ความคิด สั่งตามความเคยชิน แต่สำหรับชีวิตการเรียน การทำงาน และการดำรงชีวิตโดยรวมจำเป็นต้องทำอย่างมีการเตรียมการล่วงหน้า
ความหมาย Proactive
Proact คือการทำอย่างเตรียมการล่วงหน้า เป็นความหมายที่ตรงกันข้ามกับ React
React คือการกระทำอย่างเป็นปฏิกิริยาตอบโต้
React = เกิดปฏิกิริยา, โต้ตอบ, แสดงปฏิกิริยา, ปฏิกิริยาตอบโต้, ตอกกลับ, กระทำตอบ, ทำซ้ำ, แสดงอีก, โต้กลับ
เช่นเมื่อเราขาดอาหาร น้ำตาลในเลือดเริ่มลดต่ำกว่าระดับปกติ ร่างกายก็ส่งสัญญาณมาให้เราหิว กระตุ้นให้เราต้องหาอะไรมากิน การกระทำเป็นอันมากของสิ่งมีชีวิตเป็นปฏิกิริยาจากสิ่งเร้า หรือ Stimulus เมื่อหิวก็กิน เมื่อเหนื่อยก็หยุดพัก เมื่อง่วงนอนก็หาเวลาและที่ทางหลับนอนเสีย เมื่อปวดปัสสาวะ หรืออุจาระ เพราะกระเพาะปัสสาวะและหรือลำไส้ส่วนปลายมีสิ่งขับถ่ายเต็มมาก เราก็จะปวด และก็ต้องรีบเข้าห้อง ในชีวิตเรา เมื่อมีวิกฤติ เราก็ต้องแก้ปัญหานั้นๆ ไป
มนุษย์เป็นอันมากกระทำการใดๆ เป็นลักษณะปฏิกิริยาตอบต่อสิ่งที่มากระทบหรือกระตุ้น
เตรียมการล่วงหน้า
Proact เป็นมากกว่านั้น คือการต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ก่อนที่เหตุการณ์นั้นๆจะเกิด ปัญหาบางอย่างหากปล่อยให้เกิดแล้ว ยากที่จะแก้ได้ทัน เช่น
ปัญหาเขื่อนแตก ก่อนเขื่อนจะแตกมันมีสัญญาณบางอย่าง เช่นความล้าของวัสดุทำเขื่อน การยุบตัวของดินหรือฐานเขื่อน แต่ถ้ารอให้เขื่อนแตก ปัญหาที่ตามมาจะมากมายและเสียหายต่อชีวิตผู้คนจนยากที่จะคณานับ สิ่งเหล่านี้จึงต้องมีการคิดอย่างเตรียมการล่วงหน้า
ปัญหาฝนตกน้ำท่วม หมู่บ้านชายป่าที่คนบุกรุกแผ้วถางป่ามากๆ จะมีความเสี่ยงต่อดินโคลนถล่มทับหมู่บ้าน ปัญหาเหล่านี้เกิดในเขตที่คนรุกล้ำเข้าไปในถิ่นธรรมชาติ และต้องมีชีวิตอยู่รอดแบบไม่ได้คิดถึงอนาคตและความปลอดภัย แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงฝนตกหนัก เริ่มมีน้ำป่าไหลหลาก
เป็นฝ่ายกระทำ
ในชีวิตคนเรานั้น เราต้องไม่รอให้เกิดปัญหา (Threats) เราต้องเตรียมตรวจสอบสภาพความเป็นปัญหาและความน่าที่จะเกิดแล้วเตรียมแผนงานรองรับ และต้องตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท
ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสดีๆ (Opportunities) ที่จะเกิดขึ้น และการคิดล่วงหน้า เตรียมการณ์ล่วงหน้าจะทำให้เราได้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านั้น
Proact เราต้องเป็นผู้กระทำ มากกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ
Proactive คือการต้องเป็นฝ่ายริเริ่ม (Initiative) คิดและเตรียมการ ต้องเตรียมแผนชีวิตและแผนการทำงานเอาไว้ล่วงหน้า
Design หรือว่า Default
ในระบบคอมพิวเตอร์เราจะพบศัพท์ตัวหนึ่งอยู่บ่อยๆ เรียกว่า Default
“Default” in Computer Science - A particular setting or value for a variable that is assigned automatically by an operating system and remains in effect unless canceled or overridden by the operator: changed the default for the font in the word processing program. |
Default คือการกำหนดค่าไว้ในระบบปฏิบัติการอย่างอัตโนมัติ โดยระบบคาดเดาว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ต้องการเช่นนั้น หรือใช้เช่นนั้นก็ไม่เสียหายอะไร ระบบยังทำงานไปได้ตามปกติ โดยผู้ที่ไม่รู้ระบบอะไรมากนัก ก็สามารถใช้งานได้
กล้องถ่ายรูปยุคใหม่ มีระบบที่ตั้ง Focus หรือจุดความชัดไว้เป็นอัตโนมัติ โดยทำให้บริเวณส่วนกลางของภาพเป็นตัวที่ชัดที่สุด หรือส่วนที่ใกล้ที่สุดที่ระบบตรวจจับได้ (Sensor) ดังนั้นหากต้องการจะถ่ายภาพใดๆ ให้ชัด ก็ใช้บริเวณส่วนกลาง หรือส่วนที่ใกล้ที่สุดบริเวณกลางเป็นตัวกำหนด
ไม่เสียหายอะไรสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานพอ สายตามีปัญหาด้าน Focus ไม่สามารถใช้ระบบการมองภาพชัดของสายตาเป็นตัวกำหนดได้ ก็ใช้กล้องถ่ายภาพประเภท Auto Focus นี้ แต่สำหรับช่างกล้องมืออาชีพ เขาจะต้องการกำหนดความชัดตามที่ต้องการ และอย่างมีวัตถุประสงค์ เขามองภาพแล้วต้องออกแบบการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพตามความมุ่งหวัง เรียกว่า เขาต้องการ By Design มากกว่า By Default
มาม่า ยำยำ ไวไว
ชีวิตการเป็นนักเรียนเป็นอันมาก เรียนรู้และผ่านการสอบแต่ละชั้นแต่ละปีมาด้วยระบบที่คนไม่ต้องริเริ่มหรือเขียนด้วยความคิดของตนเอง เป็นระบบ Default เหมือนในคอมพิวเตอร์ คือมีระบบทดสอบแบบปรนัย ทำข้อสอบแบบ 4 ข้อเลือก 2 ข้อเลือก เช่น ก ข ค ง ที่เรียกว่า Multiple Choice หรือ ถูก/ผิด True/False หรือสลับจับคู่ที่เขาเรียกว่า Matching นักเรียนจึงไม่ได้ถูกสอนให้คิดและริเริ่ม
ชีวิตนักเรียนปัจจุบัน มีคนเคยกล่าวว่า เป็นสูตรดังบะหมี่สำเร็จรูป คือ
มาม่า – หมายถึงมารดา หรือแม่ ทำอะไรไม่เป็นตัวของตัวเอง คิดไม่เป็นอิสระ คิดแบบติดยึดและพึ่งพา
ยำยำ – หมายถึงการเรียนในแบบตัดแปะ (Cut and Paste) มีอะไรนำมาประสมกันแบบยำยำ แต่ไม่ได้มีการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความคิดเหล่านั้นด้วยตนเอง
ไวไว – หมายถึงทำอะไรไม่ลึกซึ้ง เอาแต่เร็วเข้าว่า ไม่ได้ให้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนให้รู้อย่างลึกซึ้ง ไม่ได้มีเวลาคิดและตัดสินใจอะไรอย่างถี่ถ้วนเพียงพอ
อาหารสิ้นคิด
ในการสั่งอาหารไทยแบบง่ายๆ “ข้าวผัดกะเพรา ไข่ดาว” เป็นอาหารที่ตลกคาเฟ่ชอบนำมาล้อเลียน เขาเรียกว่า “อาหารคนสิ้นคิด” คือคิดอะไรไม่ออก คนทำอาหารก็ถามเลย เอาอย่างนี้ไหม เพราะคนกินไม่เลือกมาก คนทำอาหารก็ทำง่าย ทั้งๆ ที่อาหารไทยเป็นอาหารที่ประดิษฐ์และทำได้หลากหลายรูปแบบ เป็นอาหารที่ต้องการการออกแบบ เป็นอาหารแบบ By Design ไม่ใช่ By Default หรือแบบคิดอะไรไม่ออก ก็มีคนจัดการให้
การจะทำอะไรให้สำเร็จในชีวิต เราจะต้องมีทางเลือก และเลือกที่จะออกแบบแผนงาน ที่เป็นไปสู่ทางแห่งความสำเร็จของเรา
ตัวอย่างการดูแลต้อนรับ
การดูแลต้อนรับอย่างมีแผนงาน ในมหาวิทยาลัย เขาต้องมีการสอนศาสตร์การดูแลต้อนรับนี้ เขาเรียกว่า Hospitality Management แต่สำหรับคนทั่วไป การเรียนรู้ดูแลต้อนรับก็เป็นเรื่องสำคัญ
ยกตัวอย่าง หากเราจะสร้างความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ เราต้องดูแลเขาให้ประทับใจ เมื่อเราจะพาชาวต่างชาติไปเที่ยว ไปรับประทานอาหารให้ได้กินอร่อย มีความสุข เราต้องคิดอย่างเตรียมการ ต้องศึกษาว่าคนต่างชาติเขาชอบหรือต้องการอะไร อาหารที่พอเหมาะที่จะสอดคล้องกับรสนิยม มีความแปลกใหม่ แต่ประทับใจสำหรับเขาคืออะไร จะหาได้ที่ไหน มีค่าใช้จ่ายสักเท่าใด หากจะพาเขาไปเที่ยว เขาจะชอบหรือต้องการไปเที่ยวที่ใด หากเราพอรู้ได้อ่านหนังสือท่องเที่ยวล่วงหน้าไปบ้าง ช่วยในการสนทนา ให้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจแก่เขา ดังนี้จะต่างจากส่งเขาขึ้นรถนักท่องเที่ยวไปตามคิวที่มีอยู่ หรือพอจะกินอาหาร ก็พาเขาไปกินตามร้านอาหารจานด่วนที่เขากินอยู่เป็นประจำในประเทศของเขาอยู่แล้ว ไม่มีความแปลกใหม่ ไม่มีความประทับใจ
ชีวิตที่เราเลือกได้
ในชีวิตของเราก็เช่นกัน เราต้องให้ได้เห็น เข้าใจ และมีทางเลือก ชีวิตนั้น เราเป็นคนกำหนด เราเลือกเรียน เลือกทำงาน และเลือกใช้ชีวิตอย่างที่เราเข้าใจ และต้องการ ย่อมจะนำมาซึ่งความสุขความสำเร็จที่ดีกว่า ชีวิตไม่ใช่เรื่อง By Default หรือเลือกโดยอัตโนมัติ
ไม่ใช่คนเรียนเก่ง ก็เลือกเรียนแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เพราะคนเก่งๆ เขาก็เลือกเรียนกันอย่างนั้น ซึ่งความจริงที่พบมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเราจะพบว่าเมื่อเรียนไปแล้ว เป็นอันมากนักศึกษาแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ต้องมาพบว่า เขาไม่ได้รักวิชาชีพที่เขาเรียน แต่บางครั้งกว่าจะรู้ว่าเขาเองต้องการอะไร มีความสุขและรักอาชีพอะไร ก็สายเสียแล้ว
จะเรียนอะไร จะทำงานอะไร จะมีชีวิตอยู่ไปเช่นใดนั้น เราต้องศึกษา ต้องหาข้อมูล ทำความเข้าใจ ตรวจสอบตนเองว่ามีความรักและความชอบหรือไม่อย่างไร แล้วต้องทำให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่ต้องมีทางเลือก
No comments:
Post a Comment