Sunday, December 25, 2011

อาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2554 วันคริสต์มาสของชาวคริสต์ทั่วโลก

อาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2554 วันคริสต์มาสของชาวคริสต์ทั่วโลก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

Keywords: Peace, Christmas, Christianity, politics, การเมือง

Good morning from Bangkok, to all early birds and ones not yet going to beds. Merry Christmas, It's December 25, 2011.

สวัสดียามเช้าครับ อาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2554 วันคริสต์มาสของชาวคริสต์ทั่วโลก ขอร่วมฉลองในวันสำคัญนี้ ขอสันติสุขมีแด่ชาวโลก

@pracob - 25 ธันวาคม 1914 วันคริสต์มาส แม้ยามสงคราม มนุษย์ก็ยังต้องรู้จักหยุดรบ อ่านได้จากบทความใน My Words ใน Blogspot http://pracob.blogspot.com/2011/12/25.html

ข่าวเชิงสัญลักษณ์ -

@pracob - ผู้ว่าฯกทม.ประกาศสิ้นสุดวิกฤติน้ำท่วมแล้ว ก็อยากเห็นประกาศเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมสำหรับปีต่อๆไปพร้อมกันนี้ด้วย #thaiflood

น้ำท่วมปี 2554 นั้นหนักหนานัก มีคนเสียชีวิตไปกว่า 600 คน สูญเสียทางเศรษฐกิจไประหว่าง 1.3-2.0 ล้านล้านบาท บางคนได้รับผลกระทบ หมดตัว ล้มละลายและไม่สามารถฟื้นกลับมาได้อีก ดังนั้นสำหรับรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และรวมถึงผู้นำในจังหวัดที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องใช้ช่วงโอกาสนี้จัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังที่ผ่านมา เพราะบทเรียนน้ำท่วมคราวนี้รุนแรงยิ่งนัก

เป็นห่วงนโยบายประชานิยม -

@pracob - ขณะบางประเทศกำลังเดินไปทางประชานิยม กรีกและอิตาลีได้ผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจ ก่อนชาติล่มสลาย

คำว่า “ประชานิยม” มีนักการเมืองแปลว่าอะไรก็ตามที่ทำให้ประชาชนพอใจ อยู่ดีมีสุข ย่อมจะเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายใดๆที่ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งพอใจในระยะสั้น แต่เกิดผลเสียตามมา เกิดการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่มากเกินเหตุจนไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว นโยบายรัฐสวัสดิการ จากตั้งแต่เกิดจนตาย มีการประกันตกงาน การศึกษาฟรีตลอดชีวิต การรักษาพยาบาลฟรี (Universal Healthcare) การประกันราคาพืชผลสำหรับเกษตรกร ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อรวมๆแล้วมันทำให้ต้องมีการใช้จ่ายเงินภาครัฐมากขึ้น มากจนรัฐบาลและประเทศไม่สามารถหาเงินมาใช้ในโครงการต่างๆได้ทัน บางประเทศมีการกู้เงินต่างประเทศมา แล้วก็ต้องมาใช้จ่ายกับบริการดังกล่าว ประกอบกับประเทศในตะวันตก คนอายุยืนยาวมากขึ้น คนส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายมากกว่าเป็นส่วนหารายได้ ประกอบกับเมื่อมีการยกระดับรายได้ของประชากรให้เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้สินค้าและบริการต่างๆมีราคาสูงมากขึ้น จนผลิตเองไม่ได้ในราคาต่ำ จึงมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากต่างประเทศ จึงยิ่งทำให้ประเทศมีการขาดทุนต่อเนื่องกันยาวนานมากขึ้น

นโยบายประชานิยมไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากประเทศมีความสามารถในการทำให้มีรายได้เหนือรายจ่าย ประเทศมีระบบค่าแรงงานที่เหมาะสม สามารถมีผลิตผลและบริการที่แข่งขันกับตลาดโลกได้ ดังนี้ หากมีบริการที่เป็นประโยชน์ดังการให้บริการสุขภาพที่ดีเป็นเหตุเป็นผล ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่นั่นหมายความว่าต้องไม่กระทำอย่างจนเกินความพอดี

ประชานิยม หรือ Populism Policies ไม่ใช่ทางเลือกทางออกที่ดีในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมันไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ประเทศในกลุ่มยุโรปที่ใช้ค่าเงิน Euro ล้วนประสบปัญหาค่าเงินและเศรษฐกิจโดยรวมกันถ้วนหน้า และหนทางแก้ของเขาคือการกลับมาใช้วินัยทางการเงินการคลัง หลักง่ายๆคือ การที่ประชาชนของเขาต้องขยันขันแข็ง ทำงานหนักขึ้น คิดสร้างสรรค์ มีผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆที่มีประสิทธิผลมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ลดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

ประเทศไทยเราเองก็ต้องเรียนรู้บทเรียนจากยุโรป เราสามารถเลือกที่จะพัฒนาประเทศโดยให้มีสวัสดิการแก่ประชาชนได้ แต่ทั้งนี้ต้องเลือกกระทำในด้านที่ยังประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ และไม่เป็นภาระแก่ประเทศจนไม่สามารถรับได้อย่างยั่งยืน

ปีใหม่ที่เราต้องเรียนรู้อยู่ร่วมกับศัตรู -

@pracob - ในปีใหม่นี้ หลายชาติต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับศัตรู อองซาน ซูจี เตรียมลงสมัครรับเลือกตั้ง ทหารพม่าเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะอดทนและเปิดกว้าง

นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพม่า เธอได้เปลี่ยนนโยบาย จากเรียกร้องให้ต่างชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่ามานาน แต่ผลกระทบแทนที่จะมีต่อรัฐบาลทหารและชนชั้นปกครองของประเทศ กลับส่งผลกระทบต่อประชาชนคนทั่วไปของพม่า ทำให้ประเทศชะงักงัน ทำให้พม่ากลายเป็นประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

การปรับเปลี่ยนท่าทีมีขึ้นทั้งสองฝ่าย กล่าวคือทางฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าเองก็ได้รับแรงกดดันทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ประชาคมโลก และคนภายในประเทศเอง ทำให้ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนมาปฏิรูปการเมืองมากขึ้น เปิดรับความแตกต่างทางความคิด และการแสวงหาทางในการสงบศึกกับชมเผ่าต่างๆในพม่าเอง การที่ทั้งสองฝ่ายหันมาหานโยบายเปิดประเทศรับการลงทุน ปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้ฝ่ายที่เป็นศัตรูต่อกัน ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายค้าน ต้องหันมาผ่อนปรนต่อกัน และหวังว่าประชาชนในประเทศจะได้รับประโยชน์จากการลดความตึงเครียดระหว่างกันนี้ลงได้

@pracob - Robert Mugabe ประธานาธิบดีผูกขาดแห่งซิมบาบเว ต้องเรียนรู้ที่จะครองอำนาจร่วมกับนายกฯ Morgan Tsvangirai จากฝ่ายตรงข้าม

Robert Mugabe เป็นประธานาธิบดีของประเทศซิมบาบเว (Zimbabwe) หรือเดิมคือ Rhodesia ประเทศในอัฟริกาที่ประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1965 ปัจจุบันมีประชากร 12 ล้านคน มีรายได้ประชากรต่อหัวที่ $395 ต่อปี จัดว่าเป็นอันดับที่ 181 ของโลก คืออยู่ในกลุ่มจนที่สุดในโลก

Robert Mugabe วัย 87 ปี เป็นประธานาธิบดีคนที่สอง ครองอำนาจต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 1987 แต่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้านี้ คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980-1987 รวมความเขาอยู่ในอำนาจมาแล้ว 31 ปี

Morgan Tsvangirai เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1952 วัย 59 ปี ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้การมีประธานาธิบดีวัยชรา Robert Mugabe ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองของเขา

ในประเทศไทยเรา เรามีพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยที่ครองคะแนนเสียงข้างมากด้วยนโยบายประชานิยม ได้รับคะแนนเสียงจากคนระดับรากหญ้า แต่ในอีกด้านหนึ่งมีชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา คนเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรค ตลอดจนไม่นิยมผู้นำอย่าง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังของพรรคเพื่อไทย

สิ่งที่เป็นความกังวลของคนส่วนใหญ่ของประเทศก็คือบรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แบบไม่รู้แพ้รู้ชนะกัน และแบบที่พวกมากลากไป คือคนที่ชนะในการเลือกตั้งแล้วคิดว่าจะทำทุกอย่างได้ตามต้องการ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายที่เป็นเสียงข้างน้อย แต่น้อยกว่าเพียงเล็กน้อย ก็จะไม่ยอม หากเสียงของเขาไม่ได้รับการตอบสนอง

แต่ทั้งหมดนี้ ทำให้คนไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบกัน เป็นศัตรูกันหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ต้องไม่ขัดแย้งกันในระดับที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน

@pracob - ปีใหม่นี้ พรรคเพื่อไทยจะต้องพัฒนาแผนป้องกันน้ำท่วมร่วมกับปชป.อย่างเป็นวาระแห่งชาติ และต้องมีการระดมปัญญาของแผ่นดินเพื่อการนี้

พรรคเพื่อไทยมักมีแนวทางการเมืองแบบพวกมากลากไป ใช้คะแนนเสียงคนที่มากกว่า เพื่อดำเนินการอย่างไม่ต้องฟังเสียงฝ่ายค้าน แต่ในความเป็นจริงจะกระทำได้อยาก เพราะที่ว่าเป็นเสียงข้างมากนี้ แท้จริงก็ไม่ใช่เสียงข้างมากเสียทีเดียว เพราะแนวทางพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง กลุ่มนปช. ล้วนยังมีศัตรูทางการเมืองที่มีมากกว่าเพียงพรรคประชาธิปัตย์ การดำเนินนโยบายอย่างไม่ฟังใครเลยนั้นจะเป็นไปได้ยาก และจะสร้างศัตรูมากกว่าที่ทำให้เกิดผลในการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ใดๆ

การต้องเริ่มที่ชนะใจตนเอง -

@pracob - It is a man's own mind, not his enemy or foe, that lures him to evil ways. ~ Buddha

@pracob - มันเป็นจิตภายในมนุษย์ ไม่ใช่ศัตรูหรือคู่อาฆาตหรอกที่นำพาคนให้กระทำในสิ่งชั่วร้าย ~ พระพุทธเจ้า

@pracob - I destroy my enemies when I make them my friends. ~ Abraham Lincoln

@pracob - ข้าพเจ้าได้ทำลายศัตรูลง ด้วยการทำให้เขาเป็นเพื่อน ~ อับราฮัม ลินคอล์น

อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐ เขาเข้ารับตำแหน่งด้วยการรณรงค์เพื่อการเลิกทาสในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงการดำรงตำแหน่งของเขานับเป็นช่วงความขัดแย้งด้านสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุด นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง (American Civil War) เขาเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1861 และดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1965 เมื่อเขาเสียชีวิตด้วยการถูกลอบสังหาร

ลินคอล์นได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่รู้จักใช้คนที่อาจเป็นคู่แข่งหรือศัตรูทางการเมืองของเขา แต่เขานำมาใช้งานที่เป็นของประเทศ เป็นการก้าวข้ามความรู้สึกส่วนตัว ละทิ้งความระแวงอันอาจมี และนั่นคือจุดแข็งของเขา ที่ต้องบริหารประเทศท่ามกลางความขัดแย้ง เกิดสงคราม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ และกับบุคคลในฝ่ายเหนือที่เขามีบทบาทด้วย

ช่วงที่เราจะก้าวสู่ปีใหม่นี้ สิ่งที่เราจะทำได้อย่างดีที่สุดประการหนึ่งคือ ช่วยกันชำระจิตใจให้แจ่มใส มองโลกในแง่ดี มองอย่างเข้าใจโลก มองคนในทางบวก มองอย่างมองเห็นความหวังในการเปลี่ยนแปลง แล้วเราเองจะมีความสุข เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

ในปีใหม่ พ.ศ. 2555 เราจะต้องอยู่กับความไม่แน่นอน และเสี่ยงต่อหายนะดังปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 หากเราไม่สามารถมีแผนทั้งระยะสั้นที่ต้องให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีน้ำท่วมดังที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2554 และแผนระยะกลางและระยะยาว ที่จะทำให้เขตที่ลุ่มภาคกลางที่เป็นฐานอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย และเขตธุรกิจสำคัญของประเทศต้องได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนี้

ในปีใหม่นี้ เราจะยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองกันต่อไป มีทั้งในทัศนะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แตกต่างกันระหว่างคนไทยส่วนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของสถาบันฯ และอีกส่วนหนึ่งที่เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่มีฝ่ายที่ต้องการล้มล้างสถาบันฯ และฝ่ายที่ต้องการปรับเปลี่ยนในระดับปฏิรูป ในด้านความคิดทางเศรษฐกิจ เราจะมีความเห็นต่างในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม ถูกใจผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่อาจไม่สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว หรือทำแล้วเป็นประโยชน์ ดังเช่น ค่าแรงงานขั้นต่ำที่ 300 บาทต่อวัน ทั้งๆที่เรากำลังประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ นโยบายจบปริญญาตรีได้เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ซึ่งก็ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ในทันที

แต่ในสภาพของการต้องดำรงอยู่ท่ามกลางความเห็นและทัศนะทางการเมืองที่แตกต่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่แต่ละฝ่ายต้องมีความอดทนทางปัญญา รับฟังปัญหาและข้อมูลอย่างเปิดใจกว้าง เคารพความคิดเห็นที่อาจแตกต่างกัน แล้วยึดหลักการประสานประโยชน์ สร้างความเป็นธรรมในสังคมให้เกิดขึ้น แม้จะต้องเป็นเรื่องที่ใช้เวลาบ้าง

No comments:

Post a Comment