Tuesday, December 27, 2011

บทที่ 3 เข็มทิศแห่งชีวิต

บทที่ 3 เข็มทิศแห่งชีวิต

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือออนไลน์เรื่อง สู่ความสำเร็จแห่งชีวิต

Keywords: cw214-01, ชีวิต, การทำงาน, Compass, เข็มทิศแห่งชีวิต

ความนำ

compass n.

A device used to determine geographic direction, usually consisting of a magnetic needle or needles horizontally mounted or suspended and free to pivot until aligned with the earth's magnetic field.

Another device, such as a radio compass or a gyrocompass, used for determining geographic direction.

ทำอย่างไรเราจะไม่หลงทางในชีวิต

อันคนเรานั้นมีการเดินหลงทางในชีวิตได้บ่อยครั้ง ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ บางครั้งเดินหลงทางจนยากที่จะแก้ไข บางครั้งเดินหลงทางไปแบบถอนตัวไม่ขึ้น เช่น ไม่ตั้งใจเรียน เกเรตั้งแต่เด็ก การติดยาเสพติด การทำธุรกิจพลาดทำให้ขาดทุนล้มละลาย บางคนหน้ามืดไปก่อคดีลักเล็กขโมยน้อย ทำให้ติดคุกติดตาราง เหล่านี้เป็นการหลงทาง ซึ่งเกิดขึ้นได้อยู่ในทุกช่วงของชีวิต

ในการเดินทาง เรามีเข็มทิศ หรือมีระบบนำทาง

เข็มทิศ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Compass เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเดินทาง คนเดินทางในป่า ก็จะมีตลับที่มีเข็มเป็นแม่เหล็ก มักจะชี้ไปทางทิศเหนือ หรือขั้วโลกเหนือตลอดเวลา

ภาพ เข็มทิศในการเดินป่า

เข็มทิศแห่งชีวิต หรือ Life Compass ไม่มีตัวตน แต่มีความจำเป็น เพราะคนเราใช้ชีวิตอย่างหลงทางอยู่บ่อยๆ คนเราจึงต้องมีเข็มทิศแห่งชีวิต คนเราต้องมีเครื่องยึดเหนี่ยว ต้องมีอะไรสักอย่างคอยนำทางแก่เรา เช่น เราต้องมีการยึดมั่นในหลักศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด หรือยึดคำสอนของบิดามารดาของเรา

ในแต่ละหมู่บ้าน เขาจะมีผู้เฒ่าที่ผ่านประสบการณ์ชีวิต ได้เห็นโลกมามาก คอยเป็นที่พึ่งทางปัญญา หมู่บ้านอาจมีพระผู้ศึกษาเล่าเรียน คอยเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่คนยามเมื่อไม่แน่ใจว่าจะเดินทางชีวิตต่อไปอย่างไร

การมีศาสนายึดเหนี่ยว

ศาสนานั้นมีมานับเป็นพันปี ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เต๋า ขงจื้อ หรืออื่นๆ

ภาพ กราฟแสดงอัตราส่วนผู้นับถือศาสนาต่างๆ ในโลก

ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของคนในสมัยก่อน ทำให้คนมีอารยธรรม ต่างจากความเป็นคนป่า คนที่มีความเหี้ยมโหด และฆ่าฟันกันอย่างไม่มีความเมตตา

ศาสนาทำให้คนอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่าได้

ศาสนาแต่ละศาสนามีศาสดา หรือครูผู้ยิ่งใหญ่ ศาสนา คือการศึกษา การส่งต่อความรู้ ความคิด ความเชื่อ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไป ศาสนาจึงมีระบบสืบทอด

คำสอนในศาสนาไม่ใช่สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด แต่มันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และเราเลือกที่จะใช้หลักธรรมที่มีหลักการและเหตุผล เราสามารถยึดและปฏิบัติไปได้ในชีวิตที่สับสน ยาวนาน

ศาสนามีความแตกต่างกัน โลกนี้มีหลายศาสนา และแม้แต่ในหนึ่งศาสนา เริ่มด้วย 1 พระศาสดา แต่ก็มีการตีความที่แตกต่างกันในเวลาต่อมา กลายเป็นมีหลายๆ นิกาย เราเชื่อในสิ่งหนึ่ง ก็ต้องเข้าใจว่าในโลกมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เราก็ต้องมีความเคารพในความแตกต่างกันทางความคิด ความเคารพในความคิดความเชื่อของผู้อื่นเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นในโลกที่มนุษย์มีความหลากหลาย

แต่กระนั้น ศาสนาก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะมนุษย์ต้องการคำตอบในสิ่งที่ยากที่จะตอบ เช่น คนเราเกิดมาทำไม เกิดมาแล้ว เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อเราประสบปัญหาในชีวิต เราจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร และยามเมื่อเราแก่เฒ่า เริ่มอ่อนล้า เราต้องการที่พึ่งทางใจ และสันติสุขแห่งชีวิต และแม้ยามจะตาย ก็จะได้ตายอย่างสงบ

สุภาษิต

คนบางคน สอนลูกสอนหลานด้วยสุภาษิต (Proverbs) และคำขวัญ มันเป็นปัญญาจากคนรุ่นก่อน บอกเล่าส่งต่อกันมา คนรุ่นหลังก็ใช้สุภาษิตนั้นในการเป็นเครื่องนำทางในชีวิต ดังเช่น สุภาษิตว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน หมายความว่า การทำอะไร ให้ทำอย่างซื่อสัตย์ คนทำการค้าอย่างคดโกงเขา ไม่ตรงไปตรงมาต่อลูกค้า ท้ายสุดก็ไม่มีใครอยากคบค้าด้วย แต่คนที่ทำการค้าอย่างซื่อสัตย์ เห็นประโยชน์แก่ลูกค้า มีน้ำใจดีต่อกัน ความดีนั้นก็จะตอบสนอง

สุภาษิตนั้นมีมากมายที่เราสามารถนำมาตีความและใช้เป็นเครื่องนำพาของชีวิตได้ เรามีหลักศาสนา ซึ่งเป็นหลักกฎเกณฑ์ที่นำเราในการดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่ และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุข แต่คนเราทุกคนย่อมมีความเป็นตัวตน เรามีบุคลิกภาพ (Personality) บุคลิกภาพ คือความเป็นตัวตนของเรา ความชอบ ความรัก ความถนัด ไม่ถนัด ฉลาดในบางเรื่อง และไม่ฉลาดในบางเรื่อง เรามีพรสวรรค์ในบางเรื่อง และไม่มีในอีกหลายๆ เรื่อง

จากในสู่นอกหรือนอกสู่ใน

การคิดนั้นมีได้สองอย่าง คือ คิดแบบ จากนอกสู่ใน หรือ Outside In และในอีกอีกวิธีหนึ่งคือ คิดแบบ จากในสู่นอก หรือ Inside Out

คิดจากนอกสู่ใน

คิดจากนอกสู่ใน หรือ Outside In

การเรียนรู้จากโรงเรียน ที่บ้าน พ่อแม่สั่งสอน จากศาสนา และอื่นๆ เป็นอันมาก เป็นแบบ Outside In คือจากนอกสู่ใน เริ่มจากภายนอกเป็นตัวกำหนด แล้วตัวเราเป็นฝ่ายปรับตาม เรียนรู้จากตามที่พ่อแม่แนะนำ จากศาสนาสั่งสอน และจากกฎระเบียบหรือประเพณีในสังคม

ตัวอย่าง

คิดจากนอกสู่ใน - นางสาวรักชนก เป็นคนรักพ่อแม่ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จบมัธยมศึกษาด้วยคะแนนดีมาก พ่อแม่อยากให้เรียนแพทย์ เพื่อจะได้มีหลักฐานมั่นคง และช่วยพ่อแม่ยามแก่ชรา และป่วยไข้ได้

แต่เมื่อได้เข้าไปเรียนในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เรียนมาได้ 3 ปี จึงพบว่าตนเองไม่ชอบอาชีพอะไรที่ต้องเห็นเลือด หรือความเจ็บป่วยของคน แต่ชอบอะไรทีสวยงาม และไม่มีความเครียด จึงต้องขอย้ายคณะที่จะศึกษาเล่าเรียน

การคิดจากนอกสู่ในไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป บางคนทำตามพ่อแม่ ผู้ใหญ่ ทำธุรกิจของครอบครัวด้วยความเกรงใจพ่อแม่ แต่ทำไปทำไป ก็เกิดความรักในอาชีพนั้นๆ ก็มีให้เห็น ในยุโรป มีครอบครัวที่ประกอบธุรกิจบางอย่างสืบทอดกันมาเป็นร้อยๆ ปี ก็มี

แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนบางคนต้องทำตามที่พ่อแม่อยากให้ทำ เลือกอาชีพอย่างที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดกันมา ทำอย่างไม่มีความสุขมาตลอดชีวิต บางคนแต่งงานตามที่ผู้ใหญ่แนะนำจัดหา ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่าคลุมถุงชน คนบางคนเรียนเพราะเรียนตามเพื่อน เรียนเพราะสังคมเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ โดยที่ยังไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร

คิดจากในสู่นอก

ในอีกด้านหนึ่งคือคิดจากในสู่นอก คือการคิดโดยต้องถามส่วนลึกของตัวเราเองก่อนว่าต้องการอะไร บางครั้งเราก็ยังหาคำตอบไม่ได้ รู้แต่ว่ายังไม่พอใจในสิ่งที่ทำสักที ดังนี้ก็มีให้เห็น อย่างไรก็ตาม การค้นหาความเป็นตัวตนของเรานั้นเป็นสิ่งจำเป็น

ตัวอย่าง

คิดจากในสู่นอก นางสาวเสรีลักษณ์ เป็นคนที่พ่อแม่เลี้ยงอย่างตามใจ พ่อแม่เป็นคนมีการศึกษา เป็นนักวิชาชีพ มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย และรักลูก ให้ลูกได้คิดอย่างอิสระ เสรีลักษณ์รู้สึกชอบงานศิลปะ ชอบการวาด และวาดภาพได้ดีมาแต่เด็ก เมื่อเรียนมัธยมศึกษา ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เสรีลักษณ์ไม่ไปเรียนพิเศษเหมือนคนอื่นๆ เขา นอกจากเรียนที่โรงเรียนตามปกติแล้ว ก็ฝึกวาดภาพ และเลือกที่จะสอบเข้าคณะทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ และตั้งใจว่าจะเอาดีทางวาดภาพ

เสรีลักษณ์สอบเข้าเรียนในคณะด้านศิลปะในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด จึงขอพ่อแม่ที่จะไปเรียนในมหาวิทยาลัยดังกล่าว แม้ต้องจากบ้าน จากพ่อแม่ และเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันมา

ในการคิดนี้มีหลักอยู่ว่า คนที่จะต้องอยู่กับเราไปจนวันตายคือตัวเรา เราเลือกที่จะอยู่กับคนที่มีความสุข มีความพอใจในตัวตนของตนเอง หรือว่าเลือกที่จะเป็นคนที่เก็บสิ่งที่เป็นตัวตนนั้นไว้ และทำหน้าที่ตามความคาดหวังของสังคมภายนอก ครอบครัว สังคม ส่วนตัวเราเองนั้นเป็นอย่างไรไม่สำคัญ

สรุป

คนเราเกิดมามีพ่อแม่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีผู้ใหญ่ ศาสนา และความเชื่อเป็นดังเข็มทิศนำทางชีวิต พ่อแม่เรา ผู้ใหญ่ก่อนเรา ต่างก็จะมีสุภาษิตที่จะใช้สอนเราและคนรุ่นหลัง เราคงต้องรับฟัง และไตร่ตรอง

แต่กระนั้นหากเราเลือกได้ เราคงต้องการความเป็นตัวตนของเรา ต้องการความสุขในชีวิตที่เราเลือกได้ เราจึงต้องมาหาคำตอบว่า แล้วเราจะทำอย่างไร ตัวเราเองนี้ เรามีความรู้ ความสามารถ ความชอบ ความถนัด ตลอดจนมีพรสวรรค์ในด้านใดบ้าง เราต้องค้นหาความเป็นตัวตนของเราให้พบ และเลือกทำ เลือกมีอาชีพให้เหมาะแก่ความเป็นตัวตนของเรา ทำแล้วประสบความสำเร็จ มีความสุข ความภูมิใจ

เราต้องค้นหาทิศทางของชีวิตให้พบ บางครั้งพบแล้ว แต่ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนไปได้ตลอดชีวิต บางครั้งเมื่อเติบใหญ่ ไม่มีใครแล้วที่จะคอยชี้แนะแนวทางแก่เรา นอกจากตัวเราเอง ดังนั้น คนที่ฝึกให้สามารถได้อย่างอิสระ มีฐานความคิดความเชื่อและค่านิยม ตลอดจนมีประสบการณ์ชีวิตมาเพียงพอ เขาก็จะอยู่ในสถานะที่ดีที่จะตัดสินใจในชีวิตและอนาคตของตนเอง

No comments:

Post a Comment