Saturday, December 3, 2011

คนที่จะปกครองคนอื่น ต้องได้ยินแต่ทำหูหนวก

คนที่จะปกครองคนอื่น ต้องได้ยินแต่ทำหูหนวก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: proverbs, German, สุภาษิต, เยอรมัน, Leadership, ความเป็นผู้นำ, ภาวะผู้นำ

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Those that rule must hear and be deaf, must see and be blind.” ~ German proverb

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “คนที่จะปกครองคนอื่น ต้องได้ยินแต่ทำหูหนวก ต้องมองให้เห็นแต่เป็นเหมือนตาบอด” ~ สุภาษิตเยอรมัน

คนมีหน้าที่ปกครองคน เป็นผู้นำคน ต้องมีความหนักแน่นในอารมณ์

การต้องใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงและเหตุผล (Reasoning) ที่ต้องอยู่เหนืออารมณ์ (Emotion) การบริหารต้องให้ได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากที่สุด เหมือนกับการต้องให้ได้รับฟังให้มากที่สุด ได้เห็นมากที่สุด แต่แล้วเมื่อจะต้องตัดสินใจดำเนินการ ก็ต้องตัดสินใจได้อย่างไม่ใช้อารมณ์ ไม่มีความรักความชอบ ความโกรธเกลียด เหล่านี้มาเป็นที่ตั้ง ต้องสามารถตัดสินใจถูกต้องแม่นยำเป็นหลัก เขาดูเหมือนเป็นคนฟังคน แต่ไม่ได้ทำตามข้อมูลที่ได้รับฟังเสมอไป ได้เห็นมาอย่างชัดแจ้ง แต่ก็ไม่ได้กระทำการแบบตอบสนองต่อสิ่งที่ได้เห็นมาเสมอไป เพราะในการตัดสินท้ายสุด ต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวล กลั่นกรอง และตัดสินใจไปอย่างมองเห็นหมากทั้งกระดาน

การเป็นผู้นำและการต้องตัดสินใจในทางการบริหารนั้น ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) การบริหารและการนำที่ดีนั้น ต้องเป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญ อะไรสำคัญกว่าอะไร ในบางกรณีมีคนเสนอความต้องการมานับเป็นพันๆราย แต่ความสามารถที่จะให้ได้มีเป็นระดับร้อยราย จึงต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณา มีข้อมูลที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจ ไม่สามารถตัดสินใจให้ได้ตามใจต้องการ

การตัดสินใจต้องเป็นไปตามความเร่งด่วน อะไรมาก่อน และอะไรมาหลัง สมมติว่าเราเป็นฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคาร มีเรื่องที่เขาจะมารับบริการในแต่ละวันที่แตกต่างกัน บางรายเป็นเรื่องที่บริการอย่างง่ายๆ เช่นเรื่องการรับฝากเงิน หรือเบิกเงิน ไม่ซับซ้อน ก็ทำไปตามลำดับที่เขามาเข้าคิว แต่ละคนใช้เวลารับบริการเพียงไม่กี่นาทีก็จบ แต่บางรายเป็นเรื่องสำคัญ เขามาเพื่อจะทำเรื่องขอกู้เงินธนาคารเป็นจำนวนหลายๆสิบล้านบาท เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่จะต้องใช้เวลา และเขาก็คือลูกค้าสำคัญของธนาคารที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ดังนี้ก็ต้องแยกดูแลเป็นพิเศษ ไม่ใช่ไปปล่อยให้เขาเข้าแถวรอพบเจ้าหน้าที่ธนาคารนับเป็นครึ่งวันค่อนวันแบบไม่เลือกหน้า

การมองภาพรวมใหญ่ บางครั้งต้องมองเป็นยุทธศาสตร์ (Strategy) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีทั้งได้และเสีย แต่โดยรวมแล้ว ก็ต้องถือว่าทำให้ประสบความสำเร็จ

การเล่นหมากรุกต้องมองหมากทั้งกระดาน การรุก คือการต้องตัดสินใจเข้าสู้กัน มีทั้งได้และมีทั้งเสีย แต่โดยหลักคือเสียส่วนน้อยเพื่อให้ได้ส่วนใหญ่ ยอมเสียบางอย่างเพื่อรักษาบางอย่าง เช่น การเสียเบี้ย เพื่อรักษาโคน ยอมเสียม้า เพื่อทำลายเรือของฝ่ายตรงข้าม ยอมเสียเรือ เพื่อรักษาขุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นสูงสุด เพราะหากเสียขุน ก็หมายความว่าแพ้แล้วในเกมส์หมากรุกนั้น

วันยกพลขึ้นฝั่งที่นอร์มังดี หรือ D-Day

ดูตัวอย่างการรบในสงครามโลกครั้งที่สองในครั้งสำคัญที่ฝ่ายพันธมิตรต้องรุกกลับเยอรมันในภาคพื้นทวีปยุโรป

ภาพ การส่งกำลังพลร่มเข้าไปในแนวรบ เพื่อเตรียมการยกพลขึ้นฝั่งในหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส

ภาพ การยกพลขึ้นบกด้วยยานสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ใน D-Day ที่หาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส

กรณีศึกษาที่จะพูดถึงนี้ คือการยกพลฝ่ายพันธมิตรขึ้นฝั่งที่เมืองนอร์มังดีในประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นจุดตีกลับที่จะรบสู่ชัยชนะเหนือเยอรมันนาซีในการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด วันสำคัญนั้นในท้ายที่สุดกำหนดเรียกว่า D-Day คือวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 สถานที่จะบุกขึ้นฝั่ง คือบริเวณนอร์มังดี (Normandy) ในประเทศฝรั่งเศส (France) รายละเอียดของการบุกมีความซับซ้อน และต้องมีการวางแผนอย่างดี เพราะมีหลายชาติของฝ่ายพันธมิตรเข้าเกี่ยวข้อง

ในการรบ คือการรบที่ต้องสูญเสียจริง แต่ก็ต้องตัดสินใจเข้าดำเนินการ แต่ที่สำคัญที่สุด คือต้องรบที่ต้องยอมเสียในบางส่วน เพื่อท้ายสุดคือการชนะศึกครั้งสำคัญ ที่ท้ายสุดนำไปสู่การชนะสงคราม

ฝ่ายเยอรมันที่ได้เปิดศึกษาหลายด้านทั้งในยุโรปและอัฟริกา ได้อ่อนแอไปจริง แต่ก็ยังมีเขี้ยวเล็บที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายพันธมิตรได้ แต่หากไม่บุกเข้าไป ขวัญของฝ่ายพันธมิตรก็อาจจะตกต่ำ แต่หากบุกเข้าไป ก็จะต้องเสียกำลังคนจำนวนมาก แต่กระนั้นก็จะต้องทำการบุกแน่ ช้าหรือเร็ว และจะบุกตรงไหน อย่างไร ใช้กำลังคนเท่าใด และในช่วงเวลาอย่างไร เป็นการบุกที่ต้องมียุทธศาสตร์

ฝ่ายพันธมิตรประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา (United States), สหราชอาณาจักร (United Kingdom), แคนาดา (Canada), ฝรั่งเศสเสรี (Free France), โปแลนด์ (Poland), นอร์เวย์ (Norway), ออสเตรเลีย (Australia), นิวซีแลนด์ (New Zealand), และเนเธอร์แลนด์ (Netherlands) โดยมีแม่ทัพใหญ่ภาคพื้นยุโรปของสหรัฐ คือนายพลไอเซนเฮาว์ (Dwight D. Eisenhower) เป็นผู้นำในการบุกครั้งนี้

ฝ่ายตรงข้าม คือฝ่ายเยอรมัน (Germany)

ฝ่ายพันธมิตรมีกำลังพล 175,000 คน ฝ่ายเยอรมันมี 10,000 คน แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าในการบุกนั้น ฝ่ายเข้าโจมตี แม้จะมีกำลังรบที่เหนือกว่า มีอาวุธที่พร้อมกว่า แต่ก็มักจะต้องสูญเสียมากกว่า

แม้วันเวลา สถานที่ๆจะบุก แผนการบุก ทั้งหมดถูกวางแผนมาอย่างดี มีการรักษาความลับไว้อย่างดี และดำเนินการอย่างรอบคอบให้ทั้งหมดเป็นไปตามแผนที่มีขั้นตอนและมีความซับซ้อน แต่กระนั้นความยุ่งยากสำหรับแม่ทัพ ก็คือต้องมีการสูญเสีย

ในการยกพลขึ้นบกครั้งนั้น ฝ่ายพันธมิตรเสียชีวิตทหารอย่างน้อย ~12,000 คน หรือประมาณร้อยละ 6.9 ของกองกำลัง ฝ่ายเยอรมันประมาณการว่าเสียกำลังคนประมาณ 4,000 ถึง 9,000 คน หรือเสียชีวิตเกือบทั้งหมดในแนวต่อต้าน แต่ที่สำคัญที่สุดของฝ่ายพันธมิตรคือมันเป็นชัยชนะขั้นเด็ดขาด ที่ตัดสินผลสงครามโลกครั้งที่สองในระยะต่อมา

ภาพ ไอเซนเอาว์ ซึ่งในระยะต่อมา เพราะความเป็นวีรบุรุษจากสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป จึงได้ทำให้เขาชนะเลือกตั้งในนามพรรครีพับลิกัน และเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอยู่ 2 สมัย

คนที่เป็นแม่ทัพใหญ่อย่างนายพลไอเซนเฮาว์ ความยากลำบากของผู้นำเป็นดังสุภาษิตเยอรมันที่ว่า “ต้องได้ยินแต่ทำหูหนวก ต้องมองให้เห็นแต่เป็นเหมือนตาบอด” ไม่ใช่มองไม่เห็นชีวิตเด็กหนุ่มที่ต้องไปตายในสงคราม ไม่ใช่ไม่ได้ยินเสียงปืน ระเบิด และเสียงคนร้องด้วยความเจ็บปวดเพราะพิษบาดแผล แต่กระนั้นก็ต้องทำเหมือนดังเป็นคนตาบอด ต้องมองชีวิตคนเป็นดังตัวเลข เพราะที่สำคัญที่สุด แม่ทัพมีหน้าที่ต้องนำประเทศและกลุ่มประเทศพันธมิตรสูชัยชนะในท้ายที่สุด แม้บนหนทางสู่เป้าหมายนั้น จะต้องใช้กำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายเพียงใดก็ตาม แต่โดยหลักแล้ว ก็ทำให้สูญเสียให้น้อยที่สุด

No comments:

Post a Comment