Friday, December 2, 2011

โจทย์ – จะไม่มีน้ำท่วมใหญ่ดังปี 2554 ในอีก 100 ปีข้างหน้า

โจทย์ – จะไม่มีน้ำท่วมใหญ่ดังปี 2554 ในอีก 100 ปีข้างหน้า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Water Management, การจัดการน้ำ

ความนำ

ในการเรียนการสอนทางการบริหาร การจัดการ ความเป็นผู้นำ เราอาจมอบโจทย์ที่มีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาการ (Inter-disciplinary approach) ได้ ผู้ตอบมีเวลามากกว่า 3 ชั่วโมงการสอบ เขาอาจได้รับเวลา 3 วัน 7 วัน หรือได้รับเวลาทั้งภาคการศึกษา แล้วมีเวลาตอบ 3-5 เดือนที่จะตอบที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ที่เรียกว่า Master Project หรือ โครงการอันเป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาในระดับปริญญาโท ซึ่งอาจอยู่ในหลักสูตร รัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administation) หรือ บริหารธุรกิจ (Business Administration)

ผู้เรียนอาจแบ่งเป็นทีม ทีมละไม่เกิน 5 คน โดยเขาสามารถหาทีมงานที่ข้ามคณะวิชา ข้ามมหาวิทยาลัย แต่ให้ได้คนร่วมงานที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง (Specialization) ที่จะร่วมกันทำงาน เพื่อหาคำตอบต่อโจทย์ที่ไดรับ

การตอบ ให้เขียนคำตอบด้วยความยาวไม่เกิน 15 หน้าขนาด A4 ไม่นับรวมการสอดแทรก Graphic ในกรณีนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของ Master Project ภาคนิพนธ์ระดับปริญญาโท ใกล้เคียงกับวิทยานิพนธ์ทั่วไป จะไม่มีการจำกัดจำนวนหน้าของการนำเสนอ

คณะผู้ตอบ ต้องนำเสนองานด้วย PowerPoint พร้อมตอบคำถามที่จะได้จากการสัมมนาท้ายสุด

โจทย์

ปี พ.ศ. 2555

หากท่านเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ที่มีประสบการณ์ผ่านน้ำท่วมดังในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.4-1.8 ล้านล้านบาท ตามการประมาณการของธนาคารโลก ในปี 2555 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ท่านมีหน้าที่ใช้ความเป็นผู้นำและความรู้และทักษะการบริหาร เพื่อรับผิดชอบต่อรัฐบาลไทยและประเทศไทย วางแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างที่ประสบมาในปี พ.ศ. 2554 แม้ในทางภูมิอากาศ เราจะมีปริมาณฝนมามากในระดับเดียวกับในปี พ.ศ. 2554 ก็ตาม

ในการตอบโจทย์ ท่านต้องแสดงความสามารถในการใช้วิทยาการหลายด้าน ที่เกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้

1. การแสดงความสามารถในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ (Analysis & Synthesis) ข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกิดจากน้ำท่วม พ.ศ. 2554 จริง และก่อนหน้านั้น ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นผลในการดำเนินการจริงในการจัดการน้ำในระยะต่อไป

2. ทางการจัดการรัฐ หรือบริหารรัฐกิจ (Public Administration) จะจัดโครงสร้างการจัดการน้ำ ทั้งในระยะวางแผน การเตรียมการ และการดำเนินการช่วงวิกฤติน้ำ

3. การแสดงภูมิรู้ทางการบริหารเศรษฐกิจ (Economic Aspect) การจัดสรรการใช้เงินภาครัฐ การสร้างกลไกที่ทำให้ภาคเอกชน ชุมชนได้เตรียมตัวดูแลกิจการด้านน้ำของตนเอง ที่สามารถส่งผลเป็นเครือข่ายของทั้งประเทศ

4. การแสดงความรู้ความสามารถในการเตรียมการณ์ ที่แสดงภูมิรู้ทางวิทยาการน้ำ (Water Management)

5. ในทางวิศวกรรมโครงสร้าง การควบคุมน้ำและน้ำท่วม (Water & Flood Control) ท่านมีแนวคิดอะไรจะเสนอเป็นพิเศษ ที่จะทำได้ หรือดำเนินการในช่วงสั้นๆ (พ.ศ. 2554-2555)

6. การบังคับใช้กฎหมาย (Legal Aspect) ที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำในระดับทั้งประเทศมีความแม่นยำ ไม่ก่อให้เกิดการโกลาหล สร้างความสับสนในการจัดการที่จะนำบ้านเมืองให้เข้าสู่สภาวะปกติ (Crisis Management)

7. ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำ (Leadership) เป็นผู้บริหารสูงสุด ท่านจะวางตนอย่างไร ตลอดช่วงเวลา 12 เดือน ที่ท่านจะเกี่ยวข้องกับภารกิจด้านน้ำ อาจจะด้วยลงมาเกี่ยวข้องเองโดยตรง การมอบหมายคนทำงาน (Delegation, Empowerment) ที่ทำให้กิจการด้านน้ำมีการดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่ควรจะเป็น

พ.ศ. 2555-2565

ท่านได้รับมอบหมายให้เป็น “ประธานกรรมการน้ำ” (Water Management Board) ทำหน้าที่วางแผน ดูแลจัดการ ตั้งแต่การวางแผนงาน การวางแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการควบคุมน้ำท่วม การจัดการน้ำ โดยมีเป้าหมายว่า ในที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลาง จะไม่ประสบน้ำท่วมใหญ่ดังในปี พ.ศ. 2554 แม้อีก 100 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ โดยมีการวางแผนและดำเนินการด้านน้ำของทั้งประเทศ ที่นอกจากจะต้องเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้นแล้ว ยังต้องให้มีแผนป้องกันน้ำท่วมระยะยาวเกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกัน แผนการลงทุนพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infra-structure) จะไม่เป็นผลเสียกับสภาพแวดล้อมแล้ว มีความคุ้มทุนในระยะยาว และยังจะเป็นผลดีต่อกิจการทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การขนส่งและคมนาคม และอื่นๆ และโดยรวม ประเทศไทยจะมีการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่เกี่ยวกับน้ำท่วมและน้ำแล้งที่ดีขึ้นด้วย

No comments:

Post a Comment