ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือออนไลน์เรื่อง “สู่ความสำเร็จแห่งชีวิต”
Keywords: cw214-02, ชีวิต, การทำงาน, cooperation, collaboration, ความร่วมมือ
ความนำ
คนเราเกิดมาเป็นสัตว์สังคม เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องมีการคบหา มีสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เริ่มจากสัมพันธภาพกับคนใกล้ตัวไปสู่ไกลตัว จากความไม่สมบูรณ์ ไปสู่ความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
จากการเริ่มต้นแบบพึ่งพา สู่ความเป็นอิสระ และความเป็นอิสระแบบพึ่งพา จึงจะถือว่ามีสัมพันธภาพที่สมบูรณ์ ในภาษาอังกฤษ เขามีศัพท์อยู่ 3 คำที่เกี่ยวกัน คือ คำว่า Dependence = การพึ่งพา, Independence = ความเป็นอิสระ, และ Interdependence = การต่างพึ่งพาต่อกัน ชีวิตคนเราก็มีพัฒนาการ 3 ระยะดังกล่าว
ระยะที่ 1 เริ่มจากการพึ่งพา
Dependence มีความหมายว่า “พึ่งพา” มนุษย์เราทุกคนเกิดมาอย่างพึ่งพา และเป็นสัตว์ที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ ต้องการการเลี้ยงดูที่ยาวนานที่สุด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอันมาก เกิดมาแล้วเดินและวิ่งได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงแรก มิฉะนั้นจะไม่สามารถเอาตัวรอดจากสัตว์กินเนื้อต่างๆ ที่เฝ้ารอจะเข้ามากัดกิน สัตว์เป็นอันมากใช้เวลาเพียงไม่เกินปี ที่จะเป็นสัตว์ใหญ่ พึ่งตนเองได้ แต่มนุษย์ใช้เวลา 18 ปีที่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ กว่าจะอยู่ในวัยที่เรียกว่าบรรลุนิติภาวะ
ภาพ หมี Panda กับลูกน้อย
ลูกหมีที่ต้องอาศัยแม่ พึ่งพาแม่ตลอดในช่วงเวลา กว่าจะเติบโตพอช่วยตัวเองได้
หมี Grizzly กับลูกหมีตัวน้อย
ลูกหมี ที่เรียกว่า Cub แม้หมี Grizzly จะทีความแข็งแรง มีขนาดใหญ่ รวดเร็ว และคล่องตัว แต่ยามเป็นลูกหมี ก็ต้องพึ่งพาแม่
เราเกิดจากท้องมารดาด้วยเริ่มแรก มีสายรกที่หล่อเลี้ยงอาหารโดยตรง แม้แต่หายใจก็ไม่ได้หายใจได้เอง แต่เมื่อได้คลอดออกมามีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น ไม่มีสายรก ต้องหายใจเอง
แต่ไม่ว่าสัตว์ใดๆ และรวมถึงตัวมนุษย์ทุกคน สักวันหนึ่งเราก็ต้องหลุดพ้นจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ลูกนกสักวันเติบใหญ่ ปีกกล้าขาแข็ง มันก็ต้องโผบินออกจากรัง ต้องหาอาหาร เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเอง
ระยะที่ 2 สู่ความเป็นอิสระ
Independence มีความหมายว่า “เป็นอิสระ” ตาพจนานุกรมภาษาอังกฤษเขาหมายถึง freedom from control or influence of another or others หรือเสรีภาพจากการควบคุมหรืออิทธิพลจากคนอื่นๆ
ภาพ วันที่ 4 กรกฏาคม ค.ศ. 1776
คือวันที่อาณานิคมภายใต้ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศอิสรภาพ เป็นประเทศอิสระ แม้ต้องแลกด้วยการต่อสู้ และเสียชีวิตเลือดเนื้อ
ภาพ Merdeka
ธงชาติของประเทศมาเลเซีย ประกาศอิสรภาพจากอาณานิคมอังกฤษ แม้จะยังเป้นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพ
มนุษย์เราเกิดมาก็ด้วยแนวโน้มที่จะต้องอยู่อย่างอิสระและพึ่งตนเองได้มากขึ้น จากที่ต้องอาศัยน้ำนมจากครรภ์มารดา สู่การกินอาหารเอง และกินอาหารหยาบได้มากขึ้น กินอาหารหลากหลายประเภทและรสชาติได้มากขึ้น จากการคว่ำได้ เป็นคลานได้ และลุกขึ้นเดินได้ และวิ่งได้ในที่สุด จากทำงานช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยเงินทองและการส่งเสียจากพ่อแม่ สู่การต้องเรียนรู้ และการพึ่งตนเองให้ได้มากขึ้น และเมื่ออายุได้ 18 ปีตามกฎหมาย เราเป็นอิสระ มีความสามารถในการตัดสินใจได้เองตามกฎหมาย มีสิทธิเลือกตั้งได้ กระทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง ในตะวันตก การเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือหลังอายุได้ 18 ปีนั้น ต้องเรียนแบบพึ่งตนเอง ต้องหาเงินช่วยตัวเองด้านการศึกษามากขึ้น บางคนต้องทำงานไปเรียนไป บางคนช่วงฤดูร้อนต้องไปหางานทำ เพื่อเป็นเงินสำหรับเรียนในช่วงภาคการศึกษา และสังคมเขาก็จะฝึกให้คนภูมิใจที่จะพึ่งตนเอง ฝึกที่จะคิด พูด และทำอย่างอิสระ
ในประเทศทางตะวันตก ชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยเขาจึงเรียกว่า Liberating Years คือเป็นช่วงที่เยาวชนไกลพ่อแม่ ได้เปิดหูเปิดตาในการศึกษาเล่าเรียน ได้อ่านในสิ่งที่ไม่เคยได้อ่าน ได้ทำงานฝึกงานที่อาจก้าวเลยจากที่ได้เรียนจากพ่อแม่ของตน ช่วงเวลาเช่นนี้คือช่วงที่เขาต้องเรียนรู้ที่จะคิด พูด และทำได้อย่างอิสระ
ระยะที่ 3 สู่ความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน
ความเป็นอิสระนั้นในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นความจำกัด หากเป็นอิสระแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้มีอะไรจะสัมพันธ์ต่อกัน แต่ในโลกยุคใหม่ เราไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างตามลำพัง นั่นคือ เราจะต้องก้าวสู่สัมพันธภาพใหม่ ที่มนุษย์ต้องอยู่อย่างพึงพากัน คือหากมีสองฝ่าย แต่ละฝ่ายก็ต้องให้ความร่วมมือให้ความช่วยเหลืออีกฝ่าย และในอีกด้านหนึง ต่างก็ได้รับประโยชน์ความร่วมมือนี้
Interdependence หมายถึงการพึ่งพาต่อกัน คำว่า Inter หมายความในภาษาอังกฤษ เทียบได้เท่ากับคำว่า Between, among ดังเช่นคำว่า International คือแปลว่าระหว่างชาติ หรือมีความหมายเทียบได้กับคำว่า Mutual แปลว่ามีความสัมพันธ์ต่อกัน และคำว่า Reciprocal หรือมีการต้องแลกเปลี่ยนกัน
ลองดูตัวอย่างความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้มีเกิดขึ้น เพราะโลกยุคใหม่ ไม่มีประเทศใดจะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่อาศัยความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ
ภาพ สัญลักษณ์ ASEAN
The Association of Southeast Asian Nations เรียกย่อๆว่า อาเซียน (ASEAN) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบด้วย ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งในยุคแรก โดยเริ่มในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1967 คือ อินโดนีเซีย (Indonesia), มาเลเซีย (Malaysia), ฟิลิปปินส์ (Philippines), สิงค์โปร์ (Singapore) และ ไทย (Thailand) และมีสมาชิกประเทศที่มาสมทบในภายหลัง อันได้แก่ บรูไน (Brunei), พม่า (Burma หรือ Myanmar), กัมพูชา (Cambodia), ลาว (Laos), และเวียตนาม (Vietnam) รวมเป็น 10 ประเทศ มีประชากรรวม 520 ล้านคน
ใน 10 ประเทศสมาชิกของ ASEAN นี้ ต่างเป็นประเทศที่มีอิสรภาพ เป็นอิสระจากตะวันตก แม้ครั้งหนึ่งหลายประเทศเคยเป็นประเทศภายใต้อาณานิคมมาก่อน ประเทศสมาชิกจะได้ประโยชน์ต่อกัน ก็ด้วยต้องให้ความร่วมมือต่อกัน บนฐานความเท่าเทียมกัน เช่น ความร่วมมือกันทางด้านการค้า มีการลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน จนเหลือศูนย์ หรือต่ำมาก เรียกได้ว่าไม่มีการตั้งกำแพงภาษีต่อกัน สิ่งใดที่ผลิตหรือให้บริการได้ดี ก็สามารถให้บริการแก่ประเทศอื่นๆได้ และในอีกด้านหนึ่ง หากประเทศหนึ่งสามารถผลิตสินค้าหรือให้บริการใดได้ดี ประเทศอื่นๆก็ต้องให้ความร่วมมือเป็นตลาดสินค้าและบริการนั้นๆ
ยกตัวอย่างการผลิตรถยนต์ ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ Toyota, Honda บางรุ่น อินโดนีเซียผลิตในรุ่นที่ไม่ซ้ำกัน, ฟิลิปปินส์ผลิต Mazda, มาเลเซียผลิต Ford ทั้งหมดเปิดตลาดรับสินค้าให้แก่กัน ไม่ผลิตซ้ำซ้อนกัน เพราะตลาดไม่ใหญ่พอ แต่โดยรวมแล้วเท่ากับทุกประเทศมีตลาดขนาด 520 ล้านคน ที่ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
ภาพ สัญลักษณ์ APEC
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เอเปคก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยมีจุดประสงค์ มุ่งเน้นความเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค และผลักดันให้การเจรจาการค้าหลายฝ่าย รอบอุรุกวัย ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกัน เอเปคก็ต้องการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป อีกด้วย
ความร่วมมือเริ่มที่การให้ก่อน
มีนิทานโบราณเล่าว่า ชายคนหนึ่ง จับปลามาได้ตัวหนึ่ง ก็ไปทำเป็นอาหาร ฉลาดหน่อย ก็นำปลาไปตากแห้ง แล้วทยอยกินไปได้เรื่อยๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งปลาก็จะหมดไป
แต่ชายคนที่สองคิดและทำอีกลักษณะ เขาจับปลามาได้ตัวหนึ่งเหมือนกัน แต่เขาทำเป็นอาหารหม้อใหญ่ นอกจากจะทำกินเองแล้ว ยังนำส่วนที่เหลือไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านให้ได้แบ่งกันรับประทาน เพื่อนบ้านก็เห็นในน้ำใจ เวลาเขามีอะไร เพื่อนบ้านก็จะแบ่งปันให้กับชายคนนั้น เลยทำให้มีอาหารอร่อยกินไปได้เรื่อยๆ
เราทำประโยชน์ให้กับคนอื่น และเมื่อเรามีปัญหา ก็ต้องไม่เกรงใจที่จะปรึกษาหารือและอาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่นเขา คนที่เรามีความสัมพันธ์ต่อกันกับเขา และแน่นอนว่าในความสัมพันธ์นั้น ไม่ใช่เราจะไปพึ่งพาเขาอย่างเดียว เรามีสิ่งตอบแทนด้วย แม้ไม่ตอบแทนทันที ก็ตอบแทนในเวลาต่อมา
นิทานส่งท้าย
เทวดาตะเกียบยาว
กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว มีเทวดากลุ่มหนึ่ง สถิตบนสวรรค์ชั้นเจ็ด ในระยะหนึ่ง เกิดปรากฎการณ์เทวดาทั้งชั้นผอมโซ เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ส่งกระแสระอุไปถึงผู้ตรวจการบนสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป จนทำให้ต้องลงมาตรวจการ เมื่อลงมาที่สวรรค์ชั้นเจ็ด ก็พบว่า เทวดาชั้นนี้ทุกคนมีตะเกียบพิเศษ ที่มึความยาวมาก นับเป็นวาทีเดียว และความที่ตะเกียบมีความยาวมากนี้เอง จึงเป็นผลที่ทำให้เทวดาไม่สามารถใช้คีบอาหารใส่ปากตนเองได้ เมื่อใช้คีบอาหารไม่ได้ แม้นมีอาหารมากมาย ก็ไม่ได้บริโภคอาหารเหล่านั้น
ในที่ประชุม เหล่าเทวดาชั้นเจ็ดจึงได้พร้อมใจกันขอร้องท่านผู้ตรวจให้นำตะเกียบแบบธรรมดา มาให้แทนตะเกียบยาว จะได้รับประทานอาหารกันได้เสียที ร้อนถึงเทวดาผู้ตรวจการจึงได้กล่าวให้สติเทวดาทั้งชั้นว่า "ดูก่อนท่านทั้งหลาย ท่านล้วนมีของวิเศษที่เป็นตะเกียบที่ยาวกว่าชาวบ้าน วิเศษกว่าเขาอื่น ใยจึงจะไปเปลี่ยนเป็นตะเกียบแบบสั้นๆ ละ" เทวดาทั้งหลายก็ยังคงร้องขอให้เป็นตะเกียบสั้นอยู่อีก ท่านผู้ตรวจจึงต้องสาธิตวิธีการกินด้วยตะเกียบยาวให้ดู โดยท่านคีบอาหารแล้วแทนที่จะใส่ปากตนเอง ก็คีบอาหารใส่ปากคนอื่นๆ ที่ละคน ที่ละคน แล้วจึงสอนว่า "ท่านทั้งหลาย ท่านมีของดีวิเศษกว่าเขา ทำไมท่านจะต้องไปทำเหมือนคนอื่นๆ เขา ท่านเพียงคีบอาหารใส่ปากเพื่อนๆ ของท่านไปหลายๆ คน และเขาเหล่านั้น ก็จะคีบอาหารใส่ปากของท่าน ทุกคนก็จะได้กินอาหารทิพย์จนอิ่มได้นั่นเอง”
เทวดาชั้นเจ็ดได้เห็นการสาธิต ก็เลยได้สติเกิดปัญญา แล้วก็ปฏิบัติตาม ในที่สุดทุกคนก็ได้บริโภคอาหารกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ต้องทนอดทนหิวอีกต่อไป
เปรียบย้อนกลับมาในโลกของเรา เรามีเทวดาตะเกียบยาวอยู่มาก เขามักจะเป็นคนมีอาชีพทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ และบางครั้ง ทำโดยที่ท้ายสุดตนเองไม่ได้อะไรตอบแทน ต้องกลายเป็นคนหิวโซ ยากจน นักวิชาชีพ นักการเมือง ครูอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งก็เป็นเช่นนั้น แต่ยิ่งกว่านั้น เขาเหล่านี้ บางทีก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้ทำอะไรอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่างคนต่างทำ ต่างยึดมั่นถือมั่น ร่วมมือกันไม่ได้ ท้ายสุดต่างก็ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ถ้าคนฉลาดๆ คนเก่งๆ ของบ้านเมืองรู้จักร่วมมือกันทำงาน ต่างทำประโยชน์ให้แก่กัน แล้วก็จะไม่อดตาย ตรงกันข้ามต่างคนยึดมั่นที่จะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ และต่างก็มีความเอื้ออาทรต่อกัน ทุกคนก็จะไม่ประสบความยากลำบาก แล้วก็ยังจะเป็นประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างมากมาย เหมือนกับพวกเทวดาทั้งหลายนั่นเอง
No comments:
Post a Comment