Tuesday, December 27, 2011

บทที่ 5 เริ่มจากตนเอง

บทที่ 5 เริ่มจากตนเอง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือออนไลน์เรื่อง สู่ความสำเร็จแห่งชีวิต

Keywords: cw214-04, ชีวิต, การทำงาน

ความนำ

ในขณะที่เราชี้นิ้วไปที่คนอื่นนั้น ลองสังเกตดู 1 หัวแม่โป้งชี้ลงดิน อีก 3 นิ้ว ชี้หันเข้าหาตนเอง

ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ (Dhebsirin School) มีคำขวัญที่ศิษย์เก่าทุกคนจะทราบ คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนอันมาจากภาษาบาลีว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถบางคนบางยุคตีความว่า ให้คิดถึงตน หรือคิดแต่ตนก็มี กลายเป็นความเห็นแก่ตัว แต่ในความหมายตามที่เขาเจตนานั้น เขาหมายความว่า ให้คิดและทำอย่างพึ่งตนเองได้ คิดและทำอย่างรักตนเอง เพราะคนที่ไม่รู้จักที่จะรักตนเองแล้วจะไปชื่นชม มีความรักและปรารถนาดีต่อคนอื่นๆ ได้อย่างไร ความรักตนเองทำให้เราต้องขวนขวาย ต้องเชื่อมั่นในตนเองและอยู่อย่างมีความหวัง เริ่มจากตนเอง ไม่ไปหวังรอรับจากคนหรือสรรพสิ่งภายนอก ฝรั่งเขาก็คิดแบบนี้ คือ เขาเรียกว่า Assertiveness และเขาก็สอนเรื่องอย่างนี้กันในมหาวิทยาลัย เรื่องอย่างนี้ คนเอเชียมักจะขาด

แนวคิด Assertiveness

ลองดูความคิดแบบตะวันตก

Assertiveness = ความแน่วแน่, การเสือก (ฟังดูไม่ค่อยดีนัก), การยืนยัน

Assertiveness คือความสามารถที่จะแสดงตนเองและสิทธิแห่งตนออกมาโดยไม่ไปคุกคามสิทธิของคนอื่นๆ การแสดงนั้นเหมาะสม ตรงไปตรงมา เปิดเผย และสื่อสารอย่างซื่อตรง การกระทำอย่าง Assertive ก็หมายความว่าการเปิดให้ตัวเราเองรู้สึกมั่นใจในตนเอง และด้วยความมั่นใจนี้จะทำให้เรามีความเคารพในเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างด้วย ด้วยวัฒนธรรมแบบนี้ ฝรั่งเขาเวลาจะสื่อสารอะไรก็สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เช่นในการเข้าแถวรอรับบริการ หากใครไปแทรกแถว เขาจะบอกให้คนนั้นไปต่อท้ายแถว หากมีการเจรจา มีข้อตกลงที่เขาไม่เห็นด้วย เขาจะต้องพูดออกมา แล้วต้องฟังกันและหาทางที่จะขจัดความไม่ตรงกันนั้นให้ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า Assertiveness แต่สำหรับคนไทยและคนเอเชียบางส่วน เราไม่เห็นด้วย ก็จะเกรงใจแต่ไม่พูด และบางทีทนไม่ได้ค่อยไประเบิดออกมา ซึ่งเป็นการยากที่จะทำให้คนเข้าใจ เพราะเราไม่ได้พูดออกมา

สิทธิและการเคารพสิทธิ

คิดแบบตะวันตก เขาเริ่มกันด้วยสิทธิ และให้คนรู้จักและกล้าแสดงสิทธิอย่างเป็นเหตุผลและยอมรับได้ Assertiveness เริ่มต้นด้วยสิทธิดังต่อไปนี้

- สิทธิที่จะตัดสินใจที่จะดำเนินชีวิตของตนเอง การทำตามความมุ่งหมาย ความใฝ่ฝันและทำตามลำดับความสำคัญในชีวิต

- สิทธิที่จะยึดมั่นในคุณค่า ความเชื่อ ความคิดเห็น และมีอารมณ์ที่เป็นของตัวเอง และขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ๆต้องเคารพสิทธิดังกล่าวของคนอื่นๆ ไม่ว่าเขาจะคิดหรือมีค่านิยมตรงกับเราหรือไม่

- สิทธิที่จะตัดสินใจและอธิบายถึงการกระทำและความรู้สึกของตนกับคนอื่นๆ

- สิทธิที่จะบอกกับคนอื่นๆว่าเราหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติตอบอย่างไร

- สิทธิที่จะตอบว่า ฉันไม่รู้ ฉันไม่เข้าใจ หรือฉันไม่สนใจ เรามีสิทธิที่จะใช้เวลาในการคิดให้ชัดเจนแล้วค่อยตอบหรือแสดงออกในภายหลัง

- สิทธิที่จะขอข้อมูลและความช่วยเหลือ โดยไม่รู้สึกเป็นเชิงลบต่อการแสดงความต้องการนั้นๆ

- สิทธิที่จะเปลี่ยนใจเมื่อทำผิดพลาด และในบางครั้งสิทธิที่จะแสดงออกหรือตัดสินใจโดยต้องยอมรับในผลที่จะตามมา

- สิทธิที่จะยอมรับและชอบในความเป็นตัวตนของตนเอง แม้ว่าตนเองนั้นไม่สมบูรณ์

- สิทธิที่จะคิดในทางบวก พอใจที่จะมีสัมพันธภาพอย่างสบายๆ และเสรี อย่างตรงไปตรงมา และสิทธิที่จะเลิกมีสัมพันธ์กับคนอื่นที่เมื่อเห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง

- สิทธิที่จะเลือกทางเดินของชีวิต การพัฒนาชีวิตไปตามความมุ่งหวังของตน

การประยุกต์ใช้

นี่คือวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่เขาคิด และสอนกัน ความสัมพันธ์แบบ Assertiveness อย่าหวังเพียงดินฟ้า โชคและลาภที่จะลอยมา แต่ต้องแสดงออกและกระทำอย่างที่ตนเองต้องการ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ไปรบกวนสิทธิเช่นเดียวกันของบุคคลอื่นๆ เขาใช้แนวคิดเช่นนี้ในการเรียนการสอนในชั้นเรียน ระหว่างศิษย์กับครู และระหว่างนักเรียนนักศึกษาด้วยกันเอง รวมไปถึงการใช้ชีวิตคู่ และการทำงานในองค์กร หรือการใช้ชีวิตในสังคม

อย่าหวังเพียงรอโอกาสจากคนอื่นๆ แต่ต้องมุ่งทำ ทำด้วยตนเองให้เกิดขึ้น

ชนะใจตนเองและเพียรพยายาม

ในตะวันตกมีสุภาษิตหนึ่งกล่าวว่า “Where there is a will, there is a way.” แปลเป็นไทยได้ว่า ที่ไหนมีความพยายาม ที่นั่นมีความสำเร็จ

ภาพ ในยามหิมะตกหนัก เกือบไม่มีทางสัญจร
แต่ด้วยความพยายาม ก็จะทำให้ยังเดินทางไปได้

ภาพ กำแพงเมืองจีน (Great Wall of China)
สร้างในศตวรรษที่ 14 ความยาว 6350 กิโลเมตร

การจะทำกิจการใดๆ ก็ล้วนมีความยากทั้งนั้น แต่นั่นก็สามารถทำให้สำเร็จได้ หากเรามีความพยายาม

คนที่จะประสบความสำเร็จนั้น เขามักจะตั้งความหวังเอาไว้สูงปานกลาง ท้าทาย แต่ปฏิบัติได้ และเขาจะมุ่งที่จะปฏิบัติ และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างมีขั้นตอนไปตลอดเวลา จะเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จก็ต้องมีการฝึกซ้อม การฝึกร่างกาย มีโภชนาการที่เหมาะสม มีการฝึกพักผ่อนอย่างเป็นเวลา มีสมาธิ กระทำอยู่นานกว่าจะเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน และเมื่อแข่งขัน ก็ยังต้องแข่งขันไปเรื่อยๆ เพื่อไต่เต้าสู่ความสำเร็จ

การตั้งเป้าหมายชีวิต

คนที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น เขาตั้งเป้าไว้สูง แล้วไม่ได้คิด หรือมุ่งที่จะทำอะไรเลย สิ่งที่คิดกับความสำเร็จจึงเป็นคนละเรื่องกัน

การจะทำอะไรให้สำเร็จจึงต้องเริ่มจากตนเอง และทำอะไรอย่างต้องเพียรพยายาม ฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ซึ่งน่าจะตรงกับธรรมข้อ ทมะ

ทมะ คือการฝึก การฝึกจากภายใน การฝึกฝนปรับปรุงตน การรู้จักข่มจิตข่มใจ บังคับควบคุมตนเองได้ ไม่พูดไม่ทำเพียงตามที่อยาก แต่ พูดและทำตามเหตุผลที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ดีงาม และเป็นประโยชน์ รู้จักปรับตัวปรับใจ และแก้ไขปรับปรุงตนด้วยปัญญา ไตร่ตรองให้งอกงามดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ (ข้อ 2 ในฆราวาสธรรม 4)

การฝึกฝนตนเอง

การฝึกฝนตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ต้องสร้างวินัย อย่างเช่น การฝึกเขียนนั้น คนจะเริ่มเขียนแล้วเขียนได้ดีเลยนั้นไม่มี ทุกคนต้องเริ่มเขียนผิดเขียนถูกมาก่อน การที่จะเริ่มเขียนบรรทัดแรก บทความแรก หนังสือเล่มแรก วิจัยครั้งแรกนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การได้เริ่มนั้นก็นับเป็นความสำเร็จครึ่งทางแล้ว เพราะถ้าไม่เริ่มเสียก่อน ก็จะไม่มีโอกาสได้กระทำในสิ่งต่อๆ มา การจะเริ่มอะไรนั้นจึงต้องไม่เป็น โรคผลัดวันประกันพรุ่ง คือคิดได้พูดได้ แต่ไม่เริ่มลงมือทำสักที คอยรอเอาไว้วันพรุ่งนี้

ต้องไม่เป็น โรคชอบแก้ตัว เช่น โทษคนอื่น โทษดินฟ้าอากาศ หรือสภาพแวดล้อม

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือต้องมีความมั่นใจในตนเองด้วย หากไม่เชื่อมั่นในตนเอง เราก็จะไม่มีกำลังใจที่จะทำอย่างมีความหวัง การจะแข่งกีฬานั้น หากคิดว่าจะแพ้เสียแล้ว ก็มีแต่จะแพ้อย่างเดียว ไม่มีทางชนะ

No comments:

Post a Comment