Thursday, December 15, 2011

จะกินจะอยู่อย่างไรในช่วงน้ำท่วม

จะกินจะอยู่อย่างไรในช่วงน้ำท่วม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

Keywords: การจัดการน้ำ, Water Management, Flood Control, แม่น้ำเจ้าพระยา, #thaiflood

เรียบเรียงเพิ่มเติมจากข้อความที่ Post ผ่าน Twitter ของ @pracob

สะท้อนตอบต่อข้อมูลภาครัฐที่จะพยายามให้ความอุ่นใจในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับแผนงานป้องกันน้ำท่วม ผมจึงได้ Post ข้อความผ่านทาง Twitter แล้วเรียบเรียงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แล้วส่งข้อความนี้ไปใน Facebook และที่ My Words ที่ http://pracob.blogspot.com

น้ำท่วม - ราคาไม่กระเทือนที่ดินกทม. หากไม่มีการซื้อขายกัน คนซื้อไม่อยากซื้อที่น้ำท่วมแน่ และคนขายก็ควรอย่าเพิ่งรีบขาย เพราะในช่วงเวลานี้ ยังไม่ได้ข้อมูลที่ยืนยันชัดเจนจากภาครัฐว่า ที่ดินส่วนไหนอยู่ในแผนพัฒนาป้องกันน้ำท่วม ที่ดินส่วนไหนอยู่ในเขตต้องใช้พัฒนาเป็นทางน้ำหลาก

สำหรับที่ดินที่ราคาที่ดินจะสูงขึ้นนั้นมีจริง คือที่ดินที่อยู่ในกทม.ชั้นใน ที่น้ำไม่ท่วมในช่วงปี พ.ศ. 2554 นี้ อันได้แก่

ที่ดินที่รถไฟฟ้าไปถึง หรือห่างจากระบบรถไฟฟ้าไม่เกิน 500 เมตร ซึ่งอยู่ในวิสัยเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าได้ แม้อยู่ไกลเขตชั้นในออกไป แต่ก็มีระบบป้องกันน้ำท่วมแล้ว อยู่ติดกับถนนหลักที่น้ำไม่ท่วม ที่ดินเหล่านี้ราคาที่ดินอาจจะอยู่ที่ตารางวาละ 80,000 บาทขึ้นไปจนถึง 200,000 บาท แม้ราคาที่ดินแพง แต่คนทำธุรกิจเขาทำได้ โดยเขาก็จะสร้างเป็นอาคารแนวสูง 5-8 ชั้น มีที่ดินขนาด 400-600 ตารางวา ก็สามารถสร้างที่พักได้ถึง 80-120 หน่วย

คอนโดมิเนียมที่จะคิดก่อสร้างต่อไป หากหลบการสร้างที่จอดรถใต้ดินเสียก็จะสบายใจยิ่งขึ้น หากให้มีที่จอดรถในระดับพื้นถนน หรือสูงกว่า พื้นล่างยกสูง ถนนยกระดับสูงแล้ว ไม่มีประวัติน้ำท่วม ราคายิ่งสูง

น้ำท่วม - คนจะคิดไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือเหลือครอบครัวละคัน คนจะเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดปัญหาน้ำท่วมไม่มีที่จอด ไปต่างจังหวัดพักผ่อน ก็ใช้รถญาติ/เพื่อน

อธิบายว่า ระบบขนส่งสาธารณะที่สำคัญคือระบบราง ดังเช่น BTS หรือ MRT หรือมีรถโดยสารประจำทางวิ่ง

ในช่วงน้ำท่วม คนได้เห็นแล้วว่าการมีรถยนต์ส่วนตัวมากคัน พ่อคัน แม่คัน แล้วยังลูกๆอีก ดังนี้ ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งซื้อหา มีปัญหาด้านที่จอดรถ หากเป็นบ้านมีพื้นที่จอดรถมาก ก็มักจะเป็นบ้านชานเมืองของกทม. ซึ่งก็เสี่ยงปัญหาน้ำท่วม และเพราะไกลออกไป ก็เดินทางไปทำงานลำบาก คนในวัยทำงาน เขาต้องคิดถึงงานเป็นหลัก และยอมเสียโอกาสบ้างโดยมีที่พักอาศัยที่ไม่ใหญ่โตนัก ซึ่งก็ได้แก่คอนโดมิเนียมระดับกลาง มี 2 ห้องนอน พออยู่ได้สำหรับครอบครัวขนาด 4-5 คน หรือเล็กกว่านั้น ซึ่งราคาอยู่ในเกณฑ์พอซื้อหาได้

น้ำท่วม - 3-5 ปีนี้ ผู้เกษียณแล้ว ใจเย็นๆ เลือกบ้านไกลกทม. 100-200 กม. เอาที่ปลอดน้ำท่วมได้ ถือปี 2554 เป็น Benchmark

อธิบายว่า – สำหรับคนทำงานราชการ สำนักงาน หรือคนที่ทำงานรับเงินเดือน เมื่ออายุถึงวัยเกษียณ หรือใกล้เกษียณแล้ว 5- - 60 – 70 ปี คิดจะมีบ้านที่พักของตนเอง ก็ต้องคิดใหม่ว่า จำเป็นต้องอยู่ในกทม. หรือปริมณฑลที่เสี่ยงกับน้ำท่วมหรือไม่? หากไม่ติดยึดกับกรุงเทพฯ ก็เลือกที่อยู่ไกลจากกทม.ไปเลยสัก 100-200 กิโลเมตร หรือยิ่งกว่านั้น มีที่ดินราคาไม่แพง สร้างบ้านได้เพียงพอ หรือเลือกอยู่ในเมืองต่างจังหวัดที่มีประวัติน้ำไม่ท่วม ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีระบบบริการทางการแพทย์ที่ดีพอ คนรับบริการไม่มาก แต่ที่สำคัญต้องเลือกที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม

ผมฟังญาติผู้ใหญ่วัย 72 ปี แม้จะยังแข็งแรง เล่นกอล์ฟได้ดี แต่พอน้ำท่วม ต้องขนข้าวของหนักๆขึ้นที่สูงก็ไม่สะดวก และเสี่ยงการเจ็บป่วยได้ ท่านครวญให้ฟังถึงวิบากกรรมที่ประสบ เพราะบ้านที่สร้างอย่างให้เป็นวิมานยามเกษียณนั้นอยู่ในเขตน้ำท่วมเต็มๆ สูงขนาดเอว 1.2-2.00 เมตร ยาวนานเป็นเดือน การใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณดังกล่าวทุกวันทุกปีต่อไปนี้ ก็มีแต่ความกังวลว่าเมื่อใดน้ำท่วมใหญ่อย่างนี้จะมาอีก และยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งรับไม่ไหวแล้ว

No comments:

Post a Comment