Monday, December 16, 2013

จดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก วิทยากร เชียงกูล

จดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก วิทยากร เชียงกูล

Facebook, Witayakorn Chiengkul, “จดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” วันที่ 17 ธันวาคม 2556

Keywords: Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, กฎหมายนิรโทษกรรม, Amnesty bill, ทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, ความจริงและการสมานฉันท์, truth and reconciliation, วิทยากร เชียงกูล, Witayakorn Chiengkul,
-----------------



ภาพ อาจารย์วิทยากร เชียงกูล

อาจารย์วิทยากร เชียงกูล ปัจจุบันเป็นอาจารย์และผู้บริหารอยู่มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นคนในวัยเดียวกับผม เป็นหนึ่งในผู้จุดประกายให้แก่การปฏิวัตินักศึกษาในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่เด็กๆและเยาวชนรุ่นหลังอาจไม่รู้จัก หากไม่เป็นคนสนใจปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจัง อาจารย์เป็นคนที่พูดได้ อภิปรายได้ ด้วยน้ำเสียงเบาๆ สุภาพ แต่สิ่งสำคัญของท่านคือความสามารถในการสื่อสารด้านความคิด จึงอยากให้นักศึกษาได้ติดตามงานของท่าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความวิกฤติในบ้านเมืองนี้ – ประกอบ คุปรัตน์ (16 ธันวาคม 2556)
---------------

ผมเขียนจดหมายนี้ถึงคุณด้วยความปรารถนาดีต่อคุณในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งถ้ามองในแง่วิวัฒนาการแล้ว คนไทยทุกคนก็คือคนที่อยู่ในกลุ่ม.ชนเผ่า.หมู่บ้านเดียวกันนั่นเอง แต่ตอนนี้เผ่าของเราได้ขยายตัวเป็นประเทศที่มีสมาชิกมากกว่าหกสิบล้านคน ทำให้คนส่วนใหญ่รวมทั้งคุณไม่ค่อยรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน ยิ่งต่างคนต่างมีผลประโยชน์ ความคิด ความเชื่อเฉพาะตัวเอง หรือกลุ่มย่อย ก็ยิ่งทำให้เราแต่ละคนคิดว่าเราอยู่กันคนละพวกหรือคนละเผ่า 

ผมเองมีจุดยืนหรือทัศนะทางการเมืองที่ต่างจากคุณอย่างตรงกันข้าม เพียงแต่ผมไม่คิดว่าเราอยู่กันคนละเผ่าที่จะต้องด่าทอกันอย่างรุนแรงและห้ำหั่นกันให้ตายไปข้างหนึ่ง ผมเป็นสมาชิกเผ่าที่อาวุโส กว่าคุณ ผมจึงคิดว่าผมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะแนะนำคุณได้

ด้วยความปรารถนาดีต่อคุณ ลูกหลานของคุณ และเพื่อนร่วมชนเผ่าของเราทั้งหมด ผมขอแนะนำว่า ถ้าคุณกล้าที่จะดัดสินใจขอลาพักการปฏิบัติราชการแบบที่พี่ชายคุณเคยทำ คุณจะหาทางออกให้ตัวคุณเอง ครอบครัว และเพื่อนร่วมชนเผ่าทุกคนได้ดีที่สุด แต่คุณควรฉลาดกว่าพี่ชายคุณสักครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยการไม่แต่งตั้งพรรคพวกคุณรักษาการ ปล่อยให้พวกปลัดกระทรวง หรือคนที่น่าจะเป็นกลางมากกว่า มาช่วยสานงานที่จำเป็นในการที่จะฟื้นฟูปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการชนเผ่าของเราเสียใหม่ ให้สามารถเอื้อประโยชน์สมาชิกทุกคนได้อย่างเป็นธรรม และซื่อตรงต่อกันมากกว่าที่แล้วมา

การตัดสินใจทำเช่นนี้ คุณจะแก้ปัญหาความทุกข์จากความเครียดของตัวคุณเอง ครอบครัวของคุณ และครอบครัวใหญ่ คือชนเผ่าไทยทั้งหมด ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ที่สุด จะทำให้ชนเผ่าของเราไม่ต้องปะทะ ตีกัน ฆ่าฟันกัน มีโอกาสจะกลับมาร่วมมือกัน สร้างความเข้มแข็งพอที่จะพัฒนา ชนเผ่าและไปแข่นขันกับเผ่าอื่นได้ดีขึ้น นี่คือคำแนะนำที่อาจจะดูง่าย ไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันคือทางออกที่เป็นไปได้ ที่คุณเองอาจจะไม่ได้ทันนึกได้เลยว่าในโลกที่ยากลำบาก โลกที่คุณต้องแบกภาระที่ใหญ่กว่าตัวคุณเองมากชนิดกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ จะมีทางออกง่ายๆเช่นที่ผมแนะนำคุณตอนนี้อยู่ด้วย

ผมเข้าใจว่าคุณคงรู้สึกว่าพี่ชายคุณฉลาดกว่าคุณมาตลอดชีวิต ตอนนี้เป็นโอกาสที่คุณอาจจะทำให้เขาได้ประหลาดใจว่า แท้จริงนั้นคุณฉลาดกว่าเขา เพราะคุณไม่เพียงหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับตัวคุณเองและครอบครัวเท่านั้น คุณยังหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกคนในชนเผ่าของเรา ถ้าคุณคิดใคร่ครวญให้ดี และกล้าหาญที่จะเลือกทำเช่นนี้ คนจำนวนมากที่เคยด่าทอคุณด้วยถ้อยคำที่หยาบคายเกินไปหน่อย เพราะพวกเขาก็เครียดและทุกข์มากด้วยเช่นกัน จะเปลี่ยนมามีความรู้สึก ที่ดีต่อคุณอย่างน่ามหัศจรรย์เช่นกัน สิ่งที่น่ามหัศรรย์อย่างเหลือเชื่อนี้ คุณสามารถทำได้ไม่ยากเลย มันยากแค่ตรงที่คุณต้องเลิกฟังพี่ชายและคนรอบข้าง และคิด ตัดสินใจด้วยตัวคุณเองเท่านั้น
------------

ข้อมูลพื้นฐาน - จาก OSK วิทยากร เชียงกูล: ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
อ.วิทยากร เชียงกูล เจ้าของหนังสือ "ฉันจึงมาหาความหมาย" (1 ในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านประเภทบันเทิงคดี-เรื่องสั้น) และบทกวีที่มีอิทธิพลมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ในช่วงก่อน 14 ตุลาฯ ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว…” มากกว่า 30 ปี มาแล้วที่มีบทกวีชิ้นนี้ออกมา อาจารย์ก็ยังคงเป็นคนหนึ่งที่ค้นหาความหมายใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยอยู่เสมอ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์ และยังคงทำงานวิชาการทางสังคมอยู่

No comments:

Post a Comment