Friday, December 27, 2013

ความพยายามสร้าง "ความชอบธรรม" แบบดูถูกประชาชนทุกสีเสื้อ


ความพยายามสร้าง "ความชอบธรรม" แบบดูถูกประชาชนทุกสีเสื้อ

โดย : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์


ภาพ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรี (รวมทักษิณและกุนซือด้วย) คิดอะไรอยู่จึงหาทางออกทางการเมืองแบบนี้...การเสนอสภาปฏิรูปประเทศที่เลียนแบบสภาสนามม้าเมื่อ พ.ศ.2516 ซึ่งใช้คนจำนวนมากไปเลือกคนจำนวนหนึ่งมาทำงานโดยที่กรอบเวลาไม่มีและกรอบการคิดในการทำงานเป็นเรื่องที่ทำการศึกษามานานแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่าจะยึดโยงกับประเด็นที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาจะมีระยะเวลาปีหรือปีครึ่งแล้วจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ (โปรดอ่านข้อเสนอห้าข้อที่นายกรัฐมนตรีแถลง)

การเสนอสภาปฏิรูปประเทศเช่นนี้ คนทุกคนก็รู้ดีว่าเป็นเพียงเกมที่คิดว่าจะผ่อนคลายความคับข้องใจของกลุ่มคนที่ชุมนุมอยู่ และเป็นหมากที่ปล่อยออกมาเพื่อหวังจะสร้างความชอบธรรมให้แก่พรรคเพื่อไทย รัฐบาล นายกรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง...แต่การเสนอความคิดสภาปฏิรูปประเทศทั้งหมดเช่นนี้กลับส่งผลไปในทางลบมากขึ้นกว่าเดิม เพราะคนที่มีสมองทุกคนก็จะรู้ดีว่านี้เป็นเกมเล่นๆ เท่านั้น โดยที่คณะผู้เสนอทั้งหมดไม่มีความจริงใจ (และบริสุทธิ์ใจ) ที่จะแก้ปัญหาอะไรเลย ประชาชนที่รวมกลุ่มเคลื่อนไหวร่วมกับคณะสุเทพ เทือกสุบรรณ ยิ่งจะทวีความโกรธแค้นมากขึ้น ผมเชื่อว่าหลายกลุ่มที่อยากจะกลับบ้านไปพักผ่อนสักพัก ก็จะเลิกคิดพักผ่อนแต่จะออกมาบ่อยขึ้นถี่ขึ้น และดุร้ายมากขึ้น

ส่วนพี่น้องประชาชนเสื้อแดงที่หวังว่าจะมีการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการผูกขาดการเมืองและอยากเห็นตัวแทนของพวกเขามีอำนาจอย่างแท้จริงก็หมดหวัง การจะเร้าให้พี่น้องเสื้อแดงออกมาชุมนุมช่วยเหลือรัฐบาลเป็นเรือนแสนเรือนล้านก็จะประสบปัญหามากขึ้น ในวันนี้ ผมรู้สึกว่าพี่น้องเสื้อแดงฉลาดมากขึ้นที่ไม่ยอมเป็นเบี้ยให้แกนนำเสื้อแดงเบี้ยวอีกแล้ว ผมว่าพี่น้องเสื้อแดงฉลาดในการจัดการแกนนำได้ดีว่าพี่น้องคนชั้นกลางที่มีความรู้มากๆ ในกรุงเทพฯ เสียอีก (เพื่อนพ้องน้องพี่ผมทั้งนั้นแหละที่ไปเดินตามสุเทพ เทือกสุบรรณ ล้วนแล้วแต่จบปริญญาตรี โท เอก กัน)

กลุ่มประชาชนที่เป็นกลางๆ เห็นด้วยกับรัฐบาลบางเรื่อง คัดค้านบางเรื่อง และหวังว่าจะมีการแก้ปมปัญหาการเมืองหมักหมมและทำให้ลดความขัดแย้งลงไปบ้าง ก็จะรู้สึกทันที่ว่ารัฐบาลนี้ทำงานการเมืองไม่เป็น แทนที่จะแก้ปัญหากลับเพิ่มปัญหาให้มากขึ้นมาโดยตลอด ลองคิดดูซิครับ ตั้งแต่กว่าจะแก้ไขปัญหาการออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรม ก็ช้าจนกลายเป็นการจุดไฟขึ้นมา กว่าจะตัดสินใจยุบสภาก็รอเอาจนกลุ่มสุเทพดึงคนมามากมายมหาศาล...ที่สำคัญ เมื่อเห็นคนรวมการเคลื่อนไหวไม่ลดลงในวันที่ 22 ธันวาคม ก็หันมาเสนอการตั้งสภาปฏิรูปประเทศแบบ หน่อมแน้มนี้ ผมคิดว่าไม่เสนอเลยยังจะเข้าท่ากว่า เพราะคนจำนวนหนึ่งก็เห็นว่าการเลือกตั้งพร้อมการเสนอแนวทาง/นโยบายการปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนเลือกก็เหมาะสมกับระบบประชาธิปไตยดีแล้ว

ผมมีคำถามง่ายๆ แก่ ทักษิณ นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และกุนซือทั้งหลาย หากพวกคุณยังทำอะไรเป็นเกมเล่นๆ ที่ไม่มีความจริงใจแบบนี้ แล้วพวกคุณชนะการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คุณจะทนเป็นรัฐบาลอยู่ในสังคมที่มีคนเกลียดชังคุณเป็นล้านๆ คนได้หรือ?

มันยากมากๆ ที่จะดำเนินงานการเมืองในเงื่อนไขที่มีคนเป็นล้านเกลียดพวกคุณอยู่ แล้วทำไมคุณไม่คิดจะแสดงความจริงใจ (เสแสร้งว่าจริงใจด้วยก็ได้) ที่จะเห็นสังคมเดินไปข้างหน้า เพื่อที่จะดึงเอาคนอีกเป็นล้านค่อยๆ กลับมาชอบคุณมากขึ้น แม้พวกคุณจะไม่ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสมัยหน้า แต่ในอนาคต พวกคุณจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลที่มีคนรักและศรัทธามากกว่ารัฐบาลอื่นๆ (คงต้องบอกกับทักษิณว่าโอกาสกลับบ้านเร็วๆ นี้ไม่มีหรอก อย่าหวังว่าลิ่วล้อของคุณจะทำอะไรให้คุณกลับมาอย่างผิดปรกติได้ จงคิดให้ยาวๆ หวังไว้เพียงแต่ว่าให้มีโอกาสกลับบ้านก็พอแล้ว)

คงต้องบอกคนในพรรคเพื่อไทยว่าต้องคิดยาวๆ อย่าคิดอะไรสั้นๆ เพราะในที่สุดแล้วมันจะส่งผลเสียให้แก่นายทักษิณของพวกคุณมากขึ้นๆ...หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองแบบทุ่มสุดตัวหรือเรียกภาษานักเลงไพ่ก็ว่าเป็นการเล่นแบบเทหมดหน้าตัก ผมก็คิดว่าทางออกมันก็ตีบตันมากขึ้น แต่ก็พยายามภาวนาและหวังไว้ว่ารัฐบาลจะตั้งสภาปฏิรูปที่กำหนดช่วงเวลาที่พอเหมาะแก่การที่พรรคการเมืองจะหยิบไปเป็นพันธสัญญาในการหาเสียงเลือกตั้ง และเป็นสภาที่ไม่ยุ่งยากในการจัดหาคนมาร่วมเป็นกรรมการและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เสนอต่อสังคมก่อนการเลือกตั้ง เพื่อที่จะทำให้คนกลางๆ จำนวนมากรู้สึกว่าพอจะเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์กันบ้าง แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ กลับเป็นการโยนน้ำมันเข้ากองไฟเพิ่มขึ้นไปอีก

การที่รัฐบาล พรรคเพื่อไทย ทักษิณ และกุนซือทำแบบนี้ เท่ากับการดูถูกประชาชนทุกสีเสื้อ เพราะทำเหมือนกับประชาชนทุกคนในสังคมไทยกินแกลบต่างข้าว...เลือกตั้งคราวหน้าผมไม่มีทางเลือกพรรคการเมืองที่ทำแบบนี้เพราะผมไม่ได้กินแกลบ !!!


ข้อมูลเกี่ยวข้อง -

ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ประชาชนไม่ว่าจะกลุ่มใด ต้องการความจริง ความคิด และวิทยาการ เพื่อช่วยในการคิดการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะจากศาสตร์ด้านใด ซึ่งจะต้องรวมถึงทำความเข้าใจในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และต้องเข้าใจความเป็นไป ไม่ใช่เพียงภายในชุมชนของตน ของประเทศ หรือโลกภายนอก ลองอ่านบทความเกี่ยวกับระบอบทักษิณ จากนักวิชาการหนึ่งในกลุ่ม “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” เชียงใหม่ ดูครับ – ประกอบ คุปรัตน์ (28 ธันวาคม 2556)
-------------

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ 'ศาสตราจารย์'หมาดๆ วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8195 ข่าวสดรายวัน

สํานักนายกรัฐมนตรี มีประกาศเรื่องการแต่งตั้งศาสตราจารย์ เมื่อ 30 เม.ย. 2556 โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ พนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในสาขา วิชาประวัติศาสตร์ สังกัดภาควิชามนุษย ศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2554

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เกิดเมื่อ 1 พ.ย. 2502 จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อปี 2523; อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2531; และ เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัย นาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2547

ได้รับแต่งตั้งเป็น อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มช. เมื่อ 6 ก.ค. 2532 ลาไปปฏิบัติราช การในฐานะ Visiting scholar ที่มหาวิทยา ลัยโตเกียว ญี่ปุ่น เมื่อ 30 ก.ย.-1 เม.ย.2537

มี.ค.2544 ได้ รับแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ในสาขาประวัติศาสตร์ ไปปฏิบัติราชการในฐานะ Visiting fellow ที่สถาบันการศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ญี่ปุ่น เมื่อ 1 เม.ย.-1 ก.ค.2551

หนึ่งคณาจารย์ที่ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาทิ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชัชวาล บุญปัน สมชาย ปรีชาศิลปกุล ฯลฯ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

เคยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ประธานศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ล่าสุด ได้รับแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์

No comments:

Post a Comment