Thursday, December 19, 2013

คุยกับวิชิต – เรื่องประชาธิปไตยสู่ชุมชน


คุยกับวิชิต – เรื่องประชาธิปไตยสู่ชุมชน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat 
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การตัดสินใจ, decision making, ประชาธิปไตย, Democracy, การเลือกตั้ง, election, การศึกษา, education, วิชิต ยุกตะทัต, Wichit Yuktadatta

วิชิตเพื่อนรัก ผมขอใช้คำถามที่เพื่อนถามแทนวงเสวนา เพื่อใช้พูดคุยต่อไปครับ ผมขอใช้เวทีนี้สื่อไปยังนิสิตนักศึกษาที่สุรินทร์, กปปส. สุรินทร์, และเพื่อนๆทาง Facebook ด้วยครับ หวังว่าเราจะใช้เวทีเหล่านี้ในการพูดคุยร่วมกัน

Wichit Yuktadatta > เป็นไปได้ไหมครับ ถ้าจะพัฒนาความรู้สิทธิ/หน้าที่ ตามระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนทุกๆหมู่บ้านเขัาใจอย่างจริงจัง/ต่อเนื่อง ในแนวทางเดียวกัน มีเป้าหมายและระยะเวลาประสพความสำเร็จชัดเจน

ประกอบ > ผมเห็นด้วยที่ประชาธิปไตยต้องอาศัยการพัฒนาด้านการศึกษา แต่มิใช่เพียงการสอนหลักทฤษฎีและตามหนังสือกันในชั้นเรียนปกติ การที่เด็กๆและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จะจัดให้มีขึ้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ (Democracy and Education)

หลักของการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย คือ หลัก 3H กล่าวคือ

Head = คือเรื่องให้มีความรู้ คือรู้หลักการประชาธิปไตย อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ ดังเช่น หลักอย่างง่ายที่สุด ประชาธิปไตยอาศัยการเลือกตั้ง (Election) แต่การเลือกตั้งไม่ใช่สัมปทานที่จะเข้าไปโกงกินกัน หรือการที่คนส่วนใหญ่ไปกดขี่คนส่วนน้อย ดังเช่น หลักMajority rules and minority right. คนส่วนใหญ่ได้ครองอำนาจ แต่ต้องคำนึงถึงสิทธิของคนส่วนน้อยด้วย ดังในกรณีคนส่วนใหญ่มีเสียง 15 ล้านเสียง คนกลุ่มน้อยมีเสียง 12-13 ล้านเสียง และมีที่ไม่ไปออกเสียงอีก 13-15 ล้านคน

Heart = คือให้มีทัศนคติ ความรักไม่รัก ชอบไม่ชอบ ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ดังเช่น รักที่จะรับใช้สังคม แต่เกลียดการเอาเปรียบกัน การเล่นพรรคเล่นพวก การช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ญาติพี่น้อง ที่ทั้งผิดกฎหมาย และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในวงราชการ และงานสาธารณะต่างๆ  และ

Hand = คือให้มีทักษะ (Skills) ที่จะดำรงชีวิตในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องฟังกัน รู้จักฟัง รู้วิธีการ มีทักษะที่จะหาข้อยุติจากความหลากหลายทางความคิด และดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เป็นต้น

สำหรับชุมชน การได้มีระบบเลือกตั้งกำนัน อบต. อบจ. และต่อไปจนถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด (Provincial Governors) จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในสหรัฐอเมริกา บทบาทการนำจะอยู่ที่ผู้ว่าการรัฐ (State Governors) และนายกเทศมนตรีเมืองใหญ่และเล็ก (Mayors) เสียจะมากกว่าประธานาธิบดีของประเทศ เพราะผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรีเป็นส่วนที่รับใช้ใกล้ตัวกับประชาชนแต่ละคนแต่ละครอบครัวมากกว่า

การกระจายอำนาจการปกครอง (Decentralization) นอกจากจะเป็นตัวคานอำนาจกับส่วนกลางแล้ว จะเป็นตัวให้การศึกษาทางตรงแก่ประชาชนและท้องถิ่นที่สำคัญ หากเลือกกันไม่ดี ชาวบ้านก็จะรับผลจากการเลือกตั้งนั้นๆ ทันทีและโดยตรง ปัญหาใหญ่ที่เราประสบขณะนี้ คือการรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง แล้วโกงกินกันมโหฬารด้วยวงเงินระดับหลายแสนล้าน และเป็นล้านๆบาทกันที่ส่วนกลาง

แต่การจะส่งเสริมประชาธิปไตยของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้นไม่จำเป็น และตรงกันข้าม ฝ่ายการเมือง ราชการ และธุรกิจการเมืองอยากใช้ช่องทางนี้เพื่อเอาเปรียบฝ่ายตรงกันข้ามอยู่แล้ว หลักคือต้องให้มีความหลากหลายในข้อมูลข่าวสาร อาจมีจริงบ้าง เท็จบ้าง แต่ประชาชนที่พัฒนาแล้วจะมีวิจารณญาณในการเลือกรับฟัง และกลั่นกรองความน่าเชื่อถือของข่าวสาร

ทางที่ดีคือการทำให้ระบบสื่อสารมวลขนเป็นเสรีอย่างแท้จริง (Free Mass Media) ซึ่งในปัจจุบัน สื่อโทรทัศน์เสรี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ถูกซื้อและหรือครอบงำโดยฝ่ายมีอำนาจอยู่แล้ว ทางที่ดีคือทำให้สังคมมีหลักประกันว่าท้องถิ่นและชุมชนมีระบบสื่อสารที่เสรี และรวมไปถึงการมีระบบสื่อสารใหม่ ที่ปิดกั้นได้ยาก อย่างเช่น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่รับข่าวสารได้จากทั่วโลก โทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สื่อสังคม Twitter, Facebook, Line ฯลฯ

No comments:

Post a Comment