Sunday, July 18, 2010

เสรีภาพในโลกเครือข่าย

เสรีภาพในโลกเครือข่าย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: เสรีภาพ สื่อมวลชน โลกยุคข้อมูลข่าวสาร

ในทุกวันนี้ คำว่าเสรีภาพดูจะเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เด็กอยากได้เงินจากพ่อแม่ แต่จะต้องการใช้เงินได้อย่างเสรี พ่อแม่ไม่ต้องมาบ่นว่า นักวิชาการต้องการเสรีภาพในการค้นคว้าศึกษาสรรพสิ่งได้อย่างเสรี ต้องการมีเสรีภาพที่จะนำเสนอ และหวังให้มหาวิทยาลัยจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆให้อย่างไม่จำกัด และสื่อสารมวลชนก็ต้องการมีเสรีภาพที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยปราศจากการปิดกั้นหรือกำกับ มีบ่อยครั้งที่สื่อมวลชนใช้คำขวัญว่า เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพของสังคม

ทุกฝ่ายอยากมีเสรีภาพมากที่สุด หรืออย่างเสรี แต่ขณะเดียวกัน ไม่อยากให้มีใครมากำกับตรวจสอบ แต่ในโลกของความเป็นจริง หากเรามีเสรีภาพมาก มีอำนาจมาก ความรับผิดชอบต่อการกระทำก็ต้องยิ่งมากตาม และอีกประการหนึ่งคือไม่มีใครที่เขาจะให้เสรีภาพมาอย่างฟรีๆ มันมักจะได้มาด้วยการต่อสู้และฝ่ายหนึ่งยอมตาม จะด้วยอุดมคติ ความถูกต้อง หรือทานต่ออำนาจที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ดังนั้นเสรีภาพจึงมีราคา มีการต้องลงทุน และเมื่อมีการใช้เสรีภาพอย่างระมัดระวัง ก่อให้เกิดประโยชน์ ราคาของเสรีภาพนั้นก็จะสูงยิ่งขึ้น คนเห็นคุณค่า แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีการใช้เสรีภาพอย่างไม่ยั้งคิด ไม่รับผิดชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและคนส่วนใหญ่ เสรีภาพที่ได้มานั้น ก็จะไม่สามารถรักษาไว้ได้ หรือคนที่ใช้เสรีภาพอย่างเสรีนั้นก็ต้องหมดเสรีภาพของตนไป

ในโลกของพัฒนาการของมนุษย์แต่ละคนจะมีลักษณะค่อยเป็นไป ค่อยเรียนรู้ ทารกเกิดมาอย่างพึ่งตัวเองได้น้อยมาก ต้องอาศัยนมมารดากิน ต่อเมื่อโตพอที่จะกินอาหารได้เอง ก็จะหย่านม เด็กจะอยากเรียนรู้ อยากพึ่งตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ และเขาก็เรียนรู้จากสิ่งที่เขาแสวงหา หากไปจับของร้อน ทำให้เจ็บแสบ เขาก็จะจำประสบการณ์นั้นไว้ และไม่กระทำเช่นนั้นอีก สำหรับครูอาจารย์เอง ก็จะสอนเด็กๆอย่างค่อยๆเป็นค่อยไป เช่นสอนเขาให้รู้จักใช้ถนน เริ่มจากการต้องออกไปเดินตามถนนโดยมีสายผูกโยงกันเป็นกลุ่มๆ มีครูจูงส่วนหัว และส่วนหาง เด็กอนุบาลน้อยๆเหล่านั้นไม่ได้มองว่าเขาขาดเสรีภาพที่มีคนผูกข้อมือ เพราะเด็กๆจะได้รับเงื่อนไขว่า ถ้าเขาประพฤติดีจะได้ออกไปเดินนอกโรงเรียน ได้ไปเห็นโลก เด็กๆจะได้รับรู้ทั้งจากพ่อแม่และโรงเรียนที่จะต้องระวังเรื่องการใช้ถนน เพราะหากหลุดไปวิ่งในถนนนั้น อาจอันตรายถูกรถชนเป็นอันตรายได้ เด็กๆเมื่อเติบโตขึ้น ก็จะเรียนรู้ที่จะใช้ถนน ข้ามถนนได้เองอย่างปลอดภัย

ในพัฒนาการชีวิต เด็กๆและเยาวชนจะมีเสรีภาพจากครอบครัวได้มากขึ้น ก็ต่อเมื่อเขาแสดงความสามารถในการพึ่งตนเอง มีงานทำ มีรายได้ในการเลี้ยงดูตนเอง ไม่มีครอบครัวไหนที่อยากเลี้ยงลูกแบบมีเงินและทรัพย์สินให้อย่างไม่จำกัด แต่ปล่อยให้ลูกๆได้มีเสรีภาพใช้เงินทองและทรัพย์สินไปอย่างไม่จำกัด จนท้ายสุดไม่เหลืออะไร

เสรีภาพและความเป็นอิสระต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ คนจะเรียกหาเสรีภาพได้ ก็ต่อเมื่อได้แสดงความรับผิดชอบต่อเสรีภาพที่จะได้มาด้วย

สิ่งที่จะเป็นปัญหาในในโลกดิจิตอลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ เด็กและเยาวชนไทยได้เรียนรู้ในระบบการศึกษาแบบเดิม เขาอาจอึดอัดกับบรรยากาศในชั้นเรียน ห้องสี่เหลี่ยม บางที่รับการศึกษาจากครูอาจารย์ในแบบจำกัดกรอบความคิด ทำให้ไม่ได้แสดงออกในชั้นเรียนอย่างที่เด็กๆต้องการ แต่ในโลกอินเตอร์เน็ต เขากลับรู้สึกมีเสรีภาพมากล้นที่จะแสดงออก และในโลกอินเตอร์เน็ต ไม่มีครูหรือพ่อแม่ที่จะตามไปตรวจสอบ ในเข้าไปโพสต์ข้อความ เด็กๆอายุสิบปี ก็สามารถเข้าไปดำเนินการได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่วัยเกษียณ และในหลายๆเครือข่ายโดยทั่วโลก ได้เปิดช่องให้แสดงออกอย่างไม่มีการตัดทอนข้อความใน Webblog เหล่านั้น จึงกลายเป็นที่ระบายอารมณ์ของเด็กๆ ที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์กับเด็กลักษณะพิเศษ เช่น เด็กๆที่อยู่โรงเรียนกินนอน กลางวันต้องเรียนอยู่ในชั้นเรียน ตอนกลางคืนต้องหลับนอนในกรอบของหอพัก เมื่อเขาได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ที่จะติดต่อกับโลกภายนอก ความรู้สึกอึดอัดขาดเสรีภาพของเด็กๆในลักษณะนี้ เขาจึงแสดงออกมาอย่างระเบิด ไม่เกรงกลัว มีอารมณ์อึดอัดอย่างไร โกรธใครมา ก็แสดงออกอย่างเต็มที่ เพราะคิดว่า ครู หรือแม้แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตเหมือนเขา

ดังนั้นเราจึงพบข้อความดิบๆ การกล่าวหาให้ร้ายแก่คนอื่นๆ หรือเป็นการทำร้ายกันด้วยคำพูด หรือการปล่อยข่าวที่ทำให้บุคคล องค์การ หรือสถาบันต่างๆได้รับความเสียหาย

เสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ต ท้ายสุดไม่ว่าใครที่แสดงออกไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่ตามมา เพราะข้อความที่เข้าไปโพสต์นั้น ไม่ช่วงแรกๆอาจไม่มีคนพบ แต่ท้ายสุดก็จะมีคนไปพบ หากมีข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้ง ท้ายสุดก็มีการติดตามไปยังแหล่งที่ปล่อยข้อความมา ซึ่งกระทำได้ และตามหาคนรับผิดชอบได้ไม่ยากนัก

ดังนั้น เรื่องที่เยาวชนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือให้ร้ายต่อบุคคล องค์การ หรือสถาบ้นต่างๆนั้น โรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือผู้รับผิดชอบจะต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่เด็กๆจะได้เรียนรู้ความรับผิดชอบในการพูดการแสดงออกเหล่านี้

ครูอาจารย์ พ่อแม่จะต้องเป็นที่ปรึกษาแก่เยาวชน และบุตรหลานในความรับผิดชอบ ให้เขาตระหนักในเสรีภาพในการใช้สื่อยุคใหม่ ที่จะต้องใช้อย่างรอบคอบ มีสติ หากจะต้องแสดงความคิดเห็นอย่างไร ก็ควรจะแสดงออกในที่เล็กๆ แสดงออกในวงจำกัด ได้มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน โดยครูอาจารย์ ได้ให้ความคิดเห็น ได้ตรวจสอบให้คำแนะนำ ได้ช่วยกันตรวจสอบข้อความเหล่านั้น ก่อนที่จะมีการนำขึ้นไปเสนอ

จะดีที่ครูอาจารย์สอนให้เยาวชนกล้าแสดงออกในชั้นเรียน แสดงออกได้อย่างเปิดเผยอย่างที่เขาคิด และไม่จำเป็นต้องไปห้ามปรามเสียทั้งหมด แต่การให้เด็กๆได้แสดงออก แล้วร่วมกันตรวจสอบข้อมูลและความคิดกันเอง เขาก็จะเรียนรู้ที่จะแสดงออกด้วยสติ ได้ตรวจสอบการรับรู้ของตนว่าถูกต้องหรือไม่ มีหลักการอะไรรองรับหรือเปล่า ควระกระทำหรือเปล่า และอยางไร

เสรีภาพในโลกมาพร้อมกับความต้องรับผิดชอบ ในโลกอินเตอร์เน็ตก็มีคนที่จะติดตามหาคนทำผิดกฎหมายมาลงโทษได้ ความรับผิดชอบจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนัก

แม้แต่ผู้ใหญ่ด้วยกันเอง ในกรณีการเข้าไปใช้ Social Network อย่าง Twitter หรือ Facebook ทุกคนที่เข้าร่วม ก็ต้องเข้าไปใช้งานอย่างรับผิดชอบ ต้องช่วยกันทำให้ Social Network ได้สื่อสารกันอย่างสุภาพ สื่อในสิ่งที่เป็นความจริง ไม่ป้ายสีกัน ทำร้ายกันอย่างขลาดเขลา ต้องสื่อสารกันด้วยเหตุผล และความรับผิดชอบ

ก่อนที่จะพูดหรือเขียน เราเป็นนายคำพูด หรือข้อเขียนนั้นๆ แต่หากเมื่อเขียนและโพสต์เข้าไปแล้ว เราก็จะกลายเป็นทาสของคำพูดนั้นๆ บางเรื่องก่อให้เกิดผลเสียต่อคนแสดงออกนั้นไปตลอดชีวิต ดังนั้น อย่าเข้าไป Post ข้อความในขณะที่มีความโกรธ เกลียด เจ็บปวดด้วยการป่วยไข้ ง่วงนอน หรือกำลังมึนด้วยสุราหรือฤทธิยา

เขียนข้อความแล้วเข้าไปขอโทษภายหลัง ในหลายลักษณะก็ไมเกิดประโยชน์ คนเขาไม่รับฟัง ทางที่ดีคือจะพูดหรือจะเขียนอะไร ก็ต้องให้รอบคอบ

ในกลุ่ม Social Network มีการเผยความเป็นส่วนตัวได้ แต่ก็ต้องระวังตัวด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่สื่อสารกันนั้นเป็นอย่างไร บางคนเปิดเผยตัวเองอย่างหมดเปลือก และก็เสนอในสิ่งที่แม้เป็นความจริง ควรนำเสนอ แต่ก็สร้างความเกลียดชังแก่ผู้คน ทำให้เปิดช่องให้คนมาทำร้ายได้ ดังนั้นสำหรับคนที่ต้องการพูดหรือนำเสนอข้อเท็จจริงที่อาจกระทบต่อบุคคล หรือหน่วยงานที่อาจมีผลเสียกลับมา หากคิดว่าสิ่งที่จะนำเสนอนั้นเป็นประโยชน์ ก็ให้ใช้เป็นนามปากกาได้ แต่กระนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขียน หากเขียนเรื่องโกหกแล้วคนจับผิดได้ ในต่อๆไปก็จะไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เขียน

ดังนั้นเมื่อพูดถึงเสรีภาพของสื่อ ก็ต้องพูดถึงความรับผิดชอบของสื่อต่อสังคมด้วย และในด้านที่ให้สื่อกำกับกันเองนั้น ในประเทศไทยเรามักจะพบว่ามีการใช้เสรีภาพกันอย่างเกินเลย มีทั้งเสนอความจริงเพียงบางส่วน ไม่ทั้งหมด มีการสื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง คือใช้สื่อโกหกประชาชน ตัดต่อ บิดเบือน และเท่าที่เห็น สื่อด้วยกันเองก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการกับสื่อที่กระทำผิดจรรยาบรรณได้ ดังนั้นสำหรับประเทศไทย เราอยากเห็นสื่อดำเนินการตามวิชาชีพอย่างเสรี แต่กระนั้นเมื่อสื่อกระทำการอย่างไม่รับผิดชอบ ก็ต้องปล่อยให้ได้รับโทษ ถูกฟ้องร้องกันไปตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว

เสรีภาพเป็นของมีราคา อยากได้ก็ต้องแสวงหา ต้องต่อสู้ให้ได้มา อยากให้ได้มีเสรีภาพอยู่กับเรานานๆ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะต้องช่วยกันปกปักรักษาเสรีภาพนั้นๆไว้ ด้วยคุณธรรมและความรับผิดชอบอันพึงมี

No comments:

Post a Comment