Tuesday, August 26, 2014

มาร่วมสร้างการศึกษาทั่วไปยุคใหม่ (New General Education)

มาร่วมสร้างการศึกษาทั่วไปยุคใหม่ (New General Education)

บทความนี้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ผมจะร่วมกับท่านทั้งหลายพัฒนามันให้ดียิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อวงการผู้สอนการศึกษาทั่วไปในประเทศไทย
Version 1.0 Wednesday, August 27, 2014

การศึกษาทั่วไป (General Education) ไม่ใช่การศึกษาแบบสเปะสปะ หรือจับฉ่าย

บางแห่งแปล General education ว่า สามัญศึกษา แต่ในทัศนะของผม และในประสบการณ์ในมหาวิทยาลัย เราเรียก General education ว่า การศึกษาทั่วไป

การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ถูกกำหนดให้ต้องมีการศึกษาทั่วไปอย่างน้อย 15 หน่วยกิต หรือถึงร้อยละ 25 ของหลักสูตรระดับปริญญาตรี แต่เงื่อนไขของการศึกษาอย่างเป็นทางการและจำกัดด้วยวิธีการเรียน การสอน และการทดสอบความรู้อย่างที่เป็นอยู่ ไม่ได้หมายความว่าเราจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาทั่วไปได้อย่างแท้จริง


การศึกษาทั่วไป คือการศึกษาที่ไม่สิ้นสุด ไม่จำกัดด้วยวิธีการเรียนการสอน เป็นการศึกษาที่ต้องเรียนรู้กันไปตลอดชีวิต

การศึกษาทั่วไป (General Education) คือการศึกษาที่ทำให้แต่ละคนมีความรู้ ทักษะ และบุคลิกที่จำเป็นในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสังคม เหล่านี้รวมถึงความสามารถในการใช้เหตุผลการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การมีศักยภาพในการแสวงหาความรู้อย่างชื่นชอบ การมีกรอบในการคิดอย่างปัญญาชน มีคุณธรรม และมีสุนทรียภาพ การยืดมั่นในการมีชีวิตที่ดีทั้งของตนเองและสังคมโดยกว้าง

ผมเห็นด้วยกับการศึกษาทั่วไปในลักษณะดังกล่าวนี้ แต่ทำอย่างไรจึงจะจัดการเรียนการสอน หรือประสบการณ์ชีวิต ที่ทำให้บรรลุผลดังกล่าวนี้ และด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากชวนเชิญ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้อาวุโส ปัญญาชน และผู้สนใจทั่วไป มาร่วมกันอภิปราย ให้ทัศนะ และสร้างสรรค์การศึกษาทั่วไปยุคใหม่ (New General Education) ให้กับสังคมไทยและลูกหลานของเรากัน


ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เมื่อผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิเด็ก ท่านถามเหมือนกึ่งตั้งโจทย์สอนว่า “อาจารย์ ทำไมในมหาวิทยาลัยมีคนเก่งๆดีๆทั้งนั้น แต่ทำไมคนเก่งคนดีเหล่านั้นจึงทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน?” ผมไม่ได้มีโอกาสที่จะตอบท่าน แต่หากจะตอบท่านตอนนี้ ก็คงต้องตอบว่า ชาวมหาวิทยาลัยของเรา รู้ลึก รู้ไกล แต่รู้แคบ และบ่อยครั้งรู้อย่างยืดมั่นถือมั่น และบางคนก็คิดว่าตนเป็นคนดี ใครคิดหรือทำไม่เหมือนกับตน ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง นี่ก็คือปัญหาอย่างหนึ่งของการศึกษาทั่วไป

Tuesday, August 12, 2014

ลองคิดใช้รถรางยุคใหม่เชื่อมเมืองชะอำกับหัวหิน (Cha-Am & Hua Hin)

ลองคิดใช้รถรางยุคใหม่เชื่อมเมืองชะอำกับหัวหิน (Cha-Am & Hua Hin)

ประกอบ คุปรัตน์ 
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การขนส่ง, ยานพาหนะ, การขนส่งระบบราง, mass transit system, รถราง, tram, ชะอำ, หัวหิน Cha-Am & Hua Hin, ทางหลวงสายเพชรเกษม,

ความนำ

ภาพ อำเภอหัวหิน ดานหนึ่งติดฝั่งทะเล อีกด้านหนึ่งเป็นทุ่งนาและภูเขา ติดฝั่งพม่า


ภาพ หัวหิน-ชะอำ มีชายหาดยาวหลายกิโลเมตร


ภาพ เมืองตากอากาศ หัวหิน-ชะอำ ฝั่งติดทะเล มีการทำโรงแรมและที่พักกันมากมาย แต่เป็นอันมาก ยังเป็นที่พักช่วงสั้น ซึ่งควรเน้นการพักระยะยาว (Long stay) 




ภาพ หัวหิน-ชะอำ ส่วนที่เป็นด้านตะวันตก เป็นทิวเขา ยังมีพื้นที่มากมายที่จะใช้ประโยชน์ได้ และขณะเดียวกัน ต้องรักษาสภาพแวดล้อมความเป็นป่าเขาเอาไว้ด้วย 


ภาพ เวลาช่วงกลางคืนของเมืองหัวหิน-ชะอำ จะไม่คึกคักและอึกทึกเหมือนทางชายทะเลฝั่งตะวันออก อย่างพัทยา

ขอสนับสนุนชาวเมืองหัวหิน-ชะอำ ทั้งผู้มาพักทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้ได้เลือกใช้ชีวิตอย่างแช่มช้า (Slow living) เน้นคุณภาพชีวิต การประสมประสานการออกกำลังกาย เช่นการเดิน การขี่จักรยาน เข้ากับวิถีชีวิตที่ไม่เร่งร้อน แต่ไม่ถึงกับเชื่องช้า

ในการนี้ ผู้เขียนคิดถึงการใช้การขนส่งมวลชนระบบราง (Rail transit system) คือรถรางยุคใหม่ e-class tram ที่สะดวกสบาย เสริมด้วยการใช้รถจักรยาน ที่ประหยัดพลังงาน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เพิ่มมาตรการกีดกันรถยนต์ส่วนตัวในหลายพื้นที่ ด้วยการลดความเร็ว (Speed limit) มาตรการห้ามจอด ห้ามผ่านในบางเขต โดยไม่เสียหายระบบการขนส่ง ผู้พักอาศัยของเมืองไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือรถจักรยานยนต์

รถรางรุ่นใหม่

รถรางรุ่นใหม่ ต่างจากรถรางยุคแรกๆ ที่ผมเคยใช้เมื่อเป็นเด็ก กว่า 50-60 ปีที่แล้วในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้โดยเลือกใช้รถรางรุ่นใหม่ดังที่มีใช้ในกรุงเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถใช้เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างเมืองหัวหินในจังหวัดประจวบคีรีขัณฑ์ กับเมืองชะอำ ของจังหวัดเพชรบุรีเข้าด้วยกัน ความยาว 26 กิโลเมตรโดยวางรางคู่ตรงกลางของเส้นทางถนนเพชรเกษม แล้วเปลี่ยนกฎจราจรให้ถนนเพชรเกษมช่วงดังกล่าวเป็นเขตถนนในเมือง ความเร็วจำกัดที่ 40 กิโลเมตร พร้อมให้มีทางรถจักรยานชิดริมทางเดินขนาดกว้างด้านละ 1.50 เมตร ซึ่งความเร็วจะไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง

หากใครใช้ความเร็วสูงช่วงลงใต้ ให้เลือกเส้นทางอ้อมเมือง (Bypass) ซึ่งสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วถึง 110 กิโลเมตร หรือในอนาคต หากมีรถไฟรางคู่มาตรฐานใหม่ เส้นทางลงใต้วิ่งได้ด้วยความเร็ว 100-140 กิโลเมตร ก็ให้เลือกใช้รถไฟได้


ภาพ รถรางรุ่นใหม่ที่มีใช้ในเมืองเมลเบอร์น ออสเตรเลีย


ภาพ รถรางที่มีวิ่งในยุโรป


ภาพ รถรางในเยอรมนี


ภาพ รถรางรุ่นใหม่ในยุโรปทั่วๆไป เมืองขนาดกลางและใหญ่ เลือกใช้การขนส่งระบบราง แต่วางรางบนผิวราบ บนถนน

เมืองหัวหิน (Hua Hin City)

หัวหิน เป็นอำเภอที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดิมมีชื่อว่า "บ้านสมอเรียง" หรือ "บ้านแหลมหิน" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้ทรงสร้างวังไกลกังวลเพื่อประทับพักผ่อนในฤดูร้อน และปัจจุบันวังไกลกังวลนั้นเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์องค์
ปัจจุบัน

ทุกวันนี้หัวหินมีชื่อเสียงจากการเป็นสถานที่ตากอากาศที่สามารถเที่ยวได้ใน 1 วันและอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เริ่มที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพียง 196-198 กิโลเมตร หากใช้เส้นทางถนนพระรามที่ 2 
ตัวเมืองหัวหินและชะอำ ห่างกัน 26 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 22 นาที

เมืองชะอำ (Cha-Am City)

ชะอำ เดิมมีชื่อว่า ชะอานในสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงนำทัพมาทางใต้ เมื่อมาถึงเมืองนี้ไพร่พล ช้าง ม้า และได้ชำระล้างอานม้า จึงได้ชื่อว่า ชะอานต่อมาชื่อนี้จึงเพี้ยนมาเป็น ชะอำ”[ต้องการอ้างอิงชะอำครั้งอดีตเริ่มมีความเจริญทางด้านทางท่องเที่ยว ตั้งแต่ทางรถไฟสายใต้สร้างมาถึงในราวปี พ.ศ. 2459 ชายหาดชะอำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่รู้จักกันมานานแล้ว แต่ในอดีตยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2464 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารในสมัยนั้นได้ออกสำรวจพื้นที่ชายทะเลที่ชะอำ ได้ทรงมาจับจองที่ดินชายทะเลตำบลชะอำ

ชะอำ ในอดีตเป็นพื้นที่ในความดูแลของเขตอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีสภาพเป็นป่า พื้นที่ส่วนด้านชายทะเลเป็นดงกระบองเพชรป่าหนามเสมาสลับกับต้นมะขามเทศและต้นรัก การประกอบอาชีพในอดีตประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่สับปะรด และทำการประมง หมู่บ้านชะอำนั้นตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟบ้านชะอำทางทิศตะวันตกของทางรถไฟ หมู่บ้านชายทะเลนี้เป็นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่บ้านปากคลอง และบ้านหนองแจง เมื่อชะอำเริ่มเป็นที่รู้จักว่า เป็นเมืองชายทะเลที่สงบเงียบ ธรรมชาติสวยงาม อีกทั้งมีแหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีราษฎรอพยพมาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากชุมชนเล็ก ๆ ขยายตัวเป็นชุมชนใหญ่ มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ให้ชื่อว่าหมู่บ้าน สหคามโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก พระบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงวางผังเมืองชะอำ วางผังเมืองชะอำ วางผังตัดถนน และมีพระประสงค์เพื่อให้ชะอำเป็นที่พักตากอากาศตามแผนพัฒนาชะอำที่พระองค์ได้จัดทำขึ้น โดยมีกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และพระยามโนปกรณ์ฯ ร่วมเป็นที่ปรึกษา

ชะอำ จึงเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่รู้จักกันในหมู่ชาวต่างประเทศและยังเป็นที่ตั้งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันซึ่งเป็นพระราชวังฤดูร้อน

ประชากร 30,102 คน จำนวนครัวเรือน 19,846 ครอบครัว ความหนาแน่น 273.6545 คน/ตารางกิโลเมตร

เส้นทางระหว่างสองเมือง

เส้นทางระหว่าง 2 เมือง สายหลักคือถนนเพชรเกษม ส่วนที่ติดทะเล มีชายหาดยาวสีขาวยาวเป็นเส้นตรง เหมาะแก่การเป็นเมืองพักผ่อนตากอากาศ เมืองสำหรับคนสูงอายุได้มาใช้ชีวิตที่มีคุณภาพที่นี่


การเปลี่ยนจากเมืองตากอากาศของคนกรุงเทพฯในช่วงวันหยุด ให้กลายเป็นเมืองตากอากาศและพักอาศัยของทั้งคนไทยและต่างประเทศ ให้ความสำคัญสำหรับผู้มาใช้ชีวิตพักยาวนาน (Long stay) มีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมเพรียง น้ำประปา ไฟฟ้า ระบบกำจัดของเสีย อาหารการกิน การดูแลสุขภาพ ระบบสื่อสาร การเดินทางและขนส่ง โดยมีค่าดำรงชีวิตที่พอประมาณสำหรับผู้เกษียณอายุที่มีรายได้จำกัด


ภาพ การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปชะอำ หัวหิน ปราณบุรี สามารถเดินทางไปได้ด้วยรถประจำทางปรับอากาศ


ภาพ การเดินทางไปชะอำ-หัวหิน-ปราณบุรี และการขนส่งสายใต้ด้วยระบบรถไฟฟ้า จะสะดวกยิ่งขึ้นเมื่อมีระบบทางรถไฟรางคู่

ข้อมูลเมืองทางภาคตะวันตก

เมืองในเขตตะวันตกของประเทศไทยที่มีประชากรกว่า 20,000 คน


เมือง
ประชากร
บางแพ
Bang Phae
26509
บ้านโป่ง
Ban Pong
51708
ชะอำ
Cha-am
45981
ดำเนินสะดวก
Damnoen Saduak
20838
หัวหิน
Hua Hin
41953
กาญจนบุรี
Kanchanaburi
52369
เพชรบุรี
Phetchaburi
40259
โพธาราม
Photharam
32387
ประจวบคีรีขัณฑ์
Prachuap Khiri Khan
26926
ปราณบุรี
Pran Buri
37994
ราชบุรี
Ratchaburi
82803
สมุทรสงคราม
Samut Songkhram
34985
สุพรรณบุรี
Suphan Buri
52666
ท่ามะกา
Tha Maka
43294
ท่าม่วง
Tha Muang
21957
ท่ายาง
Tha Yang
36790


ภาพ โครงการที่เรียกว่า Land Bridge เหมือนสะภานเชื่อมโยงฝั่งมหาสมุทรสองฟาก ในสองประเทศ โดยฝั่งพม่าที่เมืองทวาย ฝั่งไทยอาจใช้ท่าเรือและอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในจังหวัดชลบุรีและระยอง แต่การเชื่อมโยงจะเน้นไปที่ระบบราง (Rail system)


ภาพ จำลองเขตอุตสาหกรรมทางฝั่งพม่าที่ทวาย


ภาพ อีกแผนที่หนึ่งที่ค้นพบใน Google เขตที่จะได้ประโยชน์หากมี Dawei Land Bridge คือจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม


Monday, August 4, 2014

5 ลักษณะของผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ

5 ลักษณะของผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: ธุรกิจ, business, ผู้ประกอบการ, entrepreneur, entrepreneurship

จาก “Richard Branson's 5 Steps for Startup Success.”

ในบรรดาคนที่เลือกเรียนในมหาวิทยาลัย ครึ่งหนึ่งหวังว่าจะเป็นพนักงาน รับเงินเดือนที่สูงพอประมาณแล้วไต่เต้าไปเรื่อยๆ กินอยู่ให้พอประมาณก็จะมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต คิดแบบนี้เรียกว่าคิดแบบ "มนุษย์เงินเดือน” (Salary man) แต่มีอีกส่วนหนึ่งที่คิดตลอดเวลาที่จะทำธุรกิจเอง พวกนี้ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าการทำงานเป็นพนักงานขององค์การไม่สามารถทำให้เขามีฐานะมั่งคั่งได้ เขาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีฐานะดีร่ำรวยไปได้ คนกลุ่มนี้เรียกว่า “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneur) แต่คนที่คิดจะเป็นผู้ประกอบการ แต่ก็มีมากกว่าครึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วอะไรทำให้เขาสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

บางคนอยากเป็นนักธุรกิจ หวังดำเนินธุรกิจเองที่ประสบความสำเร็จ แล้วไปเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่ได้ผล เพราะไปเรียนได้แต่ทฤษฎีและหลักการต่างๆ แต่ขาดประสบการณ์ภาคปฏิบัติ แต่การจะเรียนรู้ธุรกิจอีกแบบหนึ่ง คือต้องได้ลงมือทำ หรือที่ฝรั่งเขาเรียก “Learning by doing.” อีกประการหนึ่ง การได้เรียนในมหาวิทยาลัย เราคงได้มีเพื่อนที่เขาและพ่อแม่ครอบครัวของเขาทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่เราจะเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับเขาและครอบครัวของเขาได้

วันนี้มาเรียนหลักง่ายๆ 5 ประการที่จะทำให้เราเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ


ริชาร์ด แบรนสัน

ริชาร์ด แบรนสัน หรือในชื่อเต็มปัจจุบันว่า Sir Richard Charles Nicholas Branson เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1950 เป็นนักธุรกิจใหญ่และเป็นนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จ เขาเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ Virgin Group ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายบริษัทต่างๆกว่า 400 แห่ง

เมื่อแบรนสันอายุได้ 16 ปี เขาได้เริ่มธุรกิจแรกด้วยการออกนิตยสารชื่อ Student

ในปี ค.ศ. 1970 เขาได้ตั้งบริษัทขายแผ่นเสียงที่มีบริการรับสั่งทางไปรสณีย์ ในปี ค.ศ. 1972 เขาได้เริ่มกิจการเครือข่ายร้านขายแผ่นเสียง/เทป ชื่อ Virgin Records ต่อมาเมื่อหมดยุคแผ่นเสียงไปสู่การบันทึกด้วยเทปและอื่นๆ ร้าน Virgin Records ได้เปลี่ยนไป และรู้จักกันในชื่อ Virgin Megastores แต่ชื่อ Virgin ก็ยังติดตัวเขามาและขยายเป็นกิจการต่างๆมากมาย ในช่วงทศวรรษที่ 1980s เขาก่อตั้งสายการบินชื่อ Virgin Atlantic ในยุคที่กิจการบินได้เปิดเสรี ปัจจุบันสายการบินนี้มีผู้โดยสาร 5.4 ล้านคน เป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับ 7 ของสหราชอาณาจักร


ภาพ เครื่องบินของสายการบิน Virgin Atlantic จากกิจการเล็กๆ ขยายไปสู่สายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของสหราชอาณาจักร

ในปีค.ศ. 2012 นิตยสาร Forbes ได้จัดให้แบรนสันเป็นประชาชนที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 6 ของสหราชอาณาจักร มีทรัพย์สินทั้งสิ้นมูลค่า 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 147,200 ล้านบาท

คุณสมบัติ 5 ประการของผู้ประกอบการที่ดี

หลัก 5 คุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ที่ประสบความสำเร็จของแบรนสันนั้น เพื่อให้เข้าใจและสื่อความกันได้กับคนที่จะเริ่มธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันกับสหราชอาณาจักรในยุคของแบรนสัน ผมจึงขอยกตัวอย่างและขยายคำอธิบาย โดยใช้ข้อมูลจากนักธุรกิจไทยที่ได้เคยรู้จักและสัมผัส

1. ต้องมีความรักในสิ่งที่ทำ (Passion)

ในบางที่ Passion มีความหมายว่า “กิเลศ” คนที่จะเริ่มทำกิจการใดๆ หากคิดโดยเริ่มจากความอยากรวยก่อน แล้วมักจะไม่รวย เพราะมันจะต้องประสบกับปัญหานานัปการ ก่อนที่จะสำเร็จและมีฐานะร่ำรวย การที่เราจะทำอะไรได้นั้น ควรเริ่มจากสิ่งที่เรามีความรักความชอบเสียก่อน ถามตัวเองว่า แม้ทำไปแล้วไม่ได้ผลตอบแทนอะไร แล้วเรายังอยากจะทำอยู่หรือไม่

คนที่อยากจะเริ่มธุรกิจลองถามใจตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร และเพราะอะไร

2. ความอุตสาหะวิริยะ (Perseverance)

ความอุตสาหะวิริยะ ความบากบั่น และไม่ย่อท้อเมื่อประสบปัญหา

ผู้ประกอบการทุกคนต้องมีความสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ธุรกิจเป็นอันมากไม่ได้ประสบความสำเร็จเพียงชั่วคืน การจะเปลี่ยนความคิดดีๆที่มีให้กลายเป็นความจริงที่สำเร็จต้องใช้เวลา ในการจะเริ่มธุรกิจใดๆ จะไปขอความช่วยเหลือใครๆ ในช่วงแรกๆ ก็มักจะมีแต่คนปฏิเสธ แต่ความวิริยะ ความบากบั่นทำให้เรายังมุ่งทำงานนั้นได้ แม้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราท้อ ผมคุยกับคนทำร้านอาหารไทยในเมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา (NYC, USA) เขาบอกกว่าครึ่งหนึ่งของร้านไม่ประสบความสำเร็จ และที่สำเร็จนั้น อย่างน้อยต้องใช้เวลา 6 เดือนที่จะรู้ว่าจะทำต่อได้หรือไม่ และในช่วง 6 เดือนนี้ที่ต้องเข็นครกขึ้นภูเขา ต้องเหนื่อยยาก ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ต้องแก้จุดอ่อนและเสริมจุดแข็ง ต้องไม่นิ่งดูดาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความอุตสาหะวิริยะ

3. ต้องเป็นคนเจ้าความคิด (Resourcefulness)

เมื่อจะเป็นผู้ประกอบการ ต้องแสวงหาความคิดใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงกิจการอยู่เสมอ

การเป็นคนเจ้าความคิด ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ให้ได้ปริญญาสูงๆเสมอไป ดังในกรณีของแบรนสันและผู้ประกอบการที่ริเริ่มแล้วประสบความสำเร็จ ดังเช่น บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟตื (Microsoft) หรือสตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apples เขาไม่ได้เรียนรู้ด้วยการศึกษาจากมหาวิทยาลัย แต่เขาเหล่านี้ล้วนเป็นคนขวนขวายเรียนรู่อยู่เสมอ นักธุรกิจเป็นอันมากมีจุดอ่อนที่มองสรรพสิ่งอย่างหยุดนิ่ง (Static) มองเหมือนมันเป็นภาพนิ่ง ไม่ใช่ภาพเคลื่อนไหว คนขายน้ำเต้าหู้รถเข็นคนหนึ่ง เขามีสูตรทำน้ำเต้าหู้อร่อย แล้วเขามีแรงเข็นรถเข็นไปขายได้ มีกำไรพออยู่ได้ เขาก็จะทำเพียงเท่านั้นไปเรื่อยๆ ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในโลกของธุรกิจและความเป็นจริง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความเปลี่ยนแปลง แม้แต่ทำเลที่ตั้งของร้านค้า ก็ต้องมองหาที่ใหม่อยู่เสมอ เช่น บางทีที่เดิมๆที่ประสบความสำเร็จ แต่อยู่มาวันหนึ่งที่จอดรถได้ ก็กลายเป็นที่ห้ามจอดรถไปเสีย ดังถนนเพชรบุรีในกรุเทพฯ เกือบทั้งสาย ถ้าต้องการได้ลูกค้าคนชั้นกลาง ก็ต้องคิดถึงที่จอดรถที่คนจะแวะซื้อสินค้าได้ นอกจากทำเลที่ตั้ง ยังเป็นเรื่องอื่นๆอีกมากมาย เช่น การบรรจุหีบห่อ การมีสินค้าใหม่ๆนำเสนอ การขยับขยายเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกิจการใหม่ (Rebranding) ให้สอดคล้องกับยุคสมัย การได้เทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ หรือการต้องเพิ่มบริการให้การศึกษาและข้อมูลแก่ลูกค้า เป็นต้น

4. เป็นคนเปิดใจ (Open-Mindedness)

ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ ก็เหมือนกับคนที่จะนำคน ทำงานกับคน ต้องทำใจให้กว้าง เปิดใจรับความความคิดเห็นจากคนในทุกระดับได้

ตั้งแต่จะเริ่มธุรกิจ เป็นเรื่องถูกต้องที่ผู้ประกอบการต้องมีความมุ่งมั่น และเมื่อจะทำอะไรก็ต้องให้มีแผนธุรกิจ (Business plan) แต่กระนั้นเขาก็ต้องเป็นคนเปิดใจที่จะรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นๆ และเมื่อฟังแล้วพบว่าแผนธุรกิจที่คิดนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ดังชาวนาฝรั่งเขามีสุภาษิตว่า “ให้มองหาสีเขียวๆไว้ ไม่ใช่มองหาความฝันเพียงอย่างเดียว” (Follow the green, not the dream.) เหมือนเกษตรกรในอีสาน เห็นเขารวยจากปลูกยางพารา ก็จะปลูกบ้าง แต่ไม่รู้ว่าที่จะปลูกได้นั้น ต้องเป็นที่ๆมีความชุ่มชื้น เป็นเนินเขา ที่มีน้ำซับและความชื้นมากกว่าที่ใกล้เคียง การปลูกข้าวห้อมมะลิก็เช่นกัน ต้องการน้ำมากระดับหนึ่ง หากปลูกในที่น้ำน้อยจะได้ผลเฉพาะในปีที่น้ำมาก แต่ปีที่น้ำน้อยซึ่งมักมีมากปีกว่าเป็น 3 เท่า ชาวนานั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ต้องคิดปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชอย่างอื่นๆ ที่ทนแล้งได้มากกว่า

5. เปิดใจรับการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง (Spongelike nature)

ดังที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาคือการเรียนรู้ตลาดชีวิต เราไม่สามารถยืดถือความสำเร็จได้อย่างตายตัว ธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยน

คนจะทำธุรกิจร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จ บางทีเขาลงทุนไปเป็นลูกจ้างร้านอาหาร จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แล้วเรียนรู้ประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างนั้น เห็นสิ่งใดดีๆก็จดจำแล้วบันทึกไว้ มีเวลาก็ไปซื้อหนังสือมาอ่านเองหาความรู้เพิ่มเติม ทำตัวเป็นเหมือนดังฟองน้ำที่ดูดซับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกิจการร้านอาหาร ร้านข้าวมันไก่ ร้านข้าวขาหมู ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ หากเราจะทำให้ประสบความสำเร็จ เราสามารถตัดเวลาที่ต้องล้มเหลว ทำอย่างงูๆปลาๆ ไปได้ ก็ด้วยไปเรียนรู้จากที่อื่นๆเสียก่อน

คนจะเป็นผู้ประกอบการ เมื่อเป็นลูกจ้าง ต้องขันอาสา ไม่ใช่ทำงานแบบข้าราชการ ทำตามเวลา แต่ให้คิดเสียว่า เวลาที่เราทำเพิ่มเติมนั้น ก็เพื่อเป็นน้ำใจตอบแทนนายจ้าง และขณะเดียวกัน ก็อาศัยสัมพันธภาพที่ดีนั้นได้เรียนรู้ประสบการการทำงานและการประกอบอาชีพเพิ่มเติมขึ้น

สรุป


การจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีได้นั้น ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับได้มีประสบการเป็นผู้ประกอบการเสียเอง แต่การจะเริ่มทำอะไรนั้น ล้วนเป็นเรื่องของความเสี่ยง (Risk taking) ดังนั้นหากจะเริ่มทำอะไร เมื่อได้ศึกษามาพร้อมแล้ว เตรียมตัวมีทักษะจำเป็นเพียงพอแล้ว ก็เป็นเรื่องของการต้องลงมือปฏิบัติ และที่สำคัญ ต้องเริ่มอย่างที่บรรพบุรุษเคยสอน “คิดแบบไทย คิดจากใหญ่ไปหาเล็ก” ซึ่งเหมาะสำหรับการเรียนรู้เพื่อเป็นขุนนาง เป็นข้าราชการ แต่ไม่เหมาะสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ แต่หากคิดแบบคนจีนที่มาเติบโตค้าขายจนประสบความสำเร็จในประเทศไทยนั้น คือ “คิดแบบเจ๊ก คิดจากเล็กไปหาใหญ่” นั่นคือจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ให้เริ่มแบบเล็กๆไปก่อน เพื่อให้ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนั้นๆทั้งส่วนที่สำเร็จและไม่สำเร็จ หากผิดพลาดไป ก็ให้ถือเป็นบทเรียน แล้วค่อยๆปรับปรุงตัวเองและกิจการ การจะขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้นจึงจะเป็นเรื่องที่ตามมา