5 ลักษณะของผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ
Keywords: ธุรกิจ, business, ผู้ประกอบการ, entrepreneur, entrepreneurship
จาก “Richard Branson's 5 Steps for Startup Success.”
ในบรรดาคนที่เลือกเรียนในมหาวิทยาลัย
ครึ่งหนึ่งหวังว่าจะเป็นพนักงาน รับเงินเดือนที่สูงพอประมาณแล้วไต่เต้าไปเรื่อยๆ
กินอยู่ให้พอประมาณก็จะมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต คิดแบบนี้เรียกว่าคิดแบบ "มนุษย์เงินเดือน”
(Salary man) แต่มีอีกส่วนหนึ่งที่คิดตลอดเวลาที่จะทำธุรกิจเอง
พวกนี้ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าการทำงานเป็นพนักงานขององค์การไม่สามารถทำให้เขามีฐานะมั่งคั่งได้
เขาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีฐานะดีร่ำรวยไปได้ คนกลุ่มนี้เรียกว่า “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneur)
แต่คนที่คิดจะเป็นผู้ประกอบการ
แต่ก็มีมากกว่าครึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วอะไรทำให้เขาสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
บางคนอยากเป็นนักธุรกิจ
หวังดำเนินธุรกิจเองที่ประสบความสำเร็จ
แล้วไปเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่ได้ผล
เพราะไปเรียนได้แต่ทฤษฎีและหลักการต่างๆ แต่ขาดประสบการณ์ภาคปฏิบัติ
แต่การจะเรียนรู้ธุรกิจอีกแบบหนึ่ง คือต้องได้ลงมือทำ หรือที่ฝรั่งเขาเรียก “Learning by doing.” อีกประการหนึ่ง
การได้เรียนในมหาวิทยาลัย
เราคงได้มีเพื่อนที่เขาและพ่อแม่ครอบครัวของเขาทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
นี่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่เราจะเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับเขาและครอบครัวของเขาได้
วันนี้มาเรียนหลักง่ายๆ
5 ประการที่จะทำให้เราเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ
ริชาร์ด แบรนสัน
ริชาร์ด แบรนสัน หรือในชื่อเต็มปัจจุบันว่า Sir
Richard Charles Nicholas Branson เกิดเมื่อวันที่
18 กรกฎาคม ค.ศ. 1950
เป็นนักธุรกิจใหญ่และเป็นนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จ
เขาเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ Virgin Group
ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายบริษัทต่างๆกว่า 400 แห่ง
เมื่อแบรนสันอายุได้
16 ปี
เขาได้เริ่มธุรกิจแรกด้วยการออกนิตยสารชื่อ Student
ในปี
ค.ศ. 1970 เขาได้ตั้งบริษัทขายแผ่นเสียงที่มีบริการรับสั่งทางไปรสณีย์
ในปี ค.ศ. 1972 เขาได้เริ่มกิจการเครือข่ายร้านขายแผ่นเสียง/เทป
ชื่อ Virgin Records ต่อมาเมื่อหมดยุคแผ่นเสียงไปสู่การบันทึกด้วยเทปและอื่นๆ
ร้าน Virgin Records ได้เปลี่ยนไป และรู้จักกันในชื่อ Virgin Megastores แต่ชื่อ Virgin
ก็ยังติดตัวเขามาและขยายเป็นกิจการต่างๆมากมาย ในช่วงทศวรรษที่ 1980s
เขาก่อตั้งสายการบินชื่อ Virgin Atlantic ในยุคที่กิจการบินได้เปิดเสรี
ปัจจุบันสายการบินนี้มีผู้โดยสาร 5.4 ล้านคน
เป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับ 7 ของสหราชอาณาจักร
ภาพ เครื่องบินของสายการบิน Virgin Atlantic จากกิจการเล็กๆ ขยายไปสู่สายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของสหราชอาณาจักร
ในปีค.ศ.
2012 นิตยสาร Forbes
ได้จัดให้แบรนสันเป็นประชาชนที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 6 ของสหราชอาณาจักร มีทรัพย์สินทั้งสิ้นมูลค่า 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
หรือ 147,200 ล้านบาท
คุณสมบัติ 5 ประการของผู้ประกอบการที่ดี
หลัก 5 คุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
ที่ประสบความสำเร็จของแบรนสันนั้น เพื่อให้เข้าใจและสื่อความกันได้กับคนที่จะเริ่มธุรกิจในประเทศไทย
ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันกับสหราชอาณาจักรในยุคของแบรนสัน ผมจึงขอยกตัวอย่างและขยายคำอธิบาย
โดยใช้ข้อมูลจากนักธุรกิจไทยที่ได้เคยรู้จักและสัมผัส
1. ต้องมีความรักในสิ่งที่ทำ
(Passion)
ในบางที่
Passion มีความหมายว่า
“กิเลศ” คนที่จะเริ่มทำกิจการใดๆ หากคิดโดยเริ่มจากความอยากรวยก่อน แล้วมักจะไม่รวย
เพราะมันจะต้องประสบกับปัญหานานัปการ ก่อนที่จะสำเร็จและมีฐานะร่ำรวย
การที่เราจะทำอะไรได้นั้น ควรเริ่มจากสิ่งที่เรามีความรักความชอบเสียก่อน
ถามตัวเองว่า แม้ทำไปแล้วไม่ได้ผลตอบแทนอะไร แล้วเรายังอยากจะทำอยู่หรือไม่
คนที่อยากจะเริ่มธุรกิจลองถามใจตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร
และเพราะอะไร
2. ความอุตสาหะวิริยะ
(Perseverance)
ความอุตสาหะวิริยะ ความบากบั่น และไม่ย่อท้อเมื่อประสบปัญหา
ผู้ประกอบการทุกคนต้องมีความสามารถฟันฝ่าอุปสรรค
ธุรกิจเป็นอันมากไม่ได้ประสบความสำเร็จเพียงชั่วคืน
การจะเปลี่ยนความคิดดีๆที่มีให้กลายเป็นความจริงที่สำเร็จต้องใช้เวลา ในการจะเริ่มธุรกิจใดๆ
จะไปขอความช่วยเหลือใครๆ ในช่วงแรกๆ ก็มักจะมีแต่คนปฏิเสธ แต่ความวิริยะ
ความบากบั่นทำให้เรายังมุ่งทำงานนั้นได้ แม้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราท้อ
ผมคุยกับคนทำร้านอาหารไทยในเมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา (NYC, USA) เขาบอกกว่าครึ่งหนึ่งของร้านไม่ประสบความสำเร็จ
และที่สำเร็จนั้น อย่างน้อยต้องใช้เวลา 6 เดือนที่จะรู้ว่าจะทำต่อได้หรือไม่
และในช่วง 6 เดือนนี้ที่ต้องเข็นครกขึ้นภูเขา ต้องเหนื่อยยาก
ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ต้องแก้จุดอ่อนและเสริมจุดแข็ง ต้องไม่นิ่งดูดาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความอุตสาหะวิริยะ
3. ต้องเป็นคนเจ้าความคิด
(Resourcefulness)
เมื่อจะเป็นผู้ประกอบการ ต้องแสวงหาความคิดใหม่ๆ
เพื่อปรับปรุงกิจการอยู่เสมอ
การเป็นคนเจ้าความคิด
ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ให้ได้ปริญญาสูงๆเสมอไป ดังในกรณีของแบรนสันและผู้ประกอบการที่ริเริ่มแล้วประสบความสำเร็จ
ดังเช่น บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟตื (Microsoft)
หรือสตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apples เขาไม่ได้เรียนรู้ด้วยการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
แต่เขาเหล่านี้ล้วนเป็นคนขวนขวายเรียนรู่อยู่เสมอ นักธุรกิจเป็นอันมากมีจุดอ่อนที่มองสรรพสิ่งอย่างหยุดนิ่ง
(Static) มองเหมือนมันเป็นภาพนิ่ง ไม่ใช่ภาพเคลื่อนไหว
คนขายน้ำเต้าหู้รถเข็นคนหนึ่ง เขามีสูตรทำน้ำเต้าหู้อร่อย
แล้วเขามีแรงเข็นรถเข็นไปขายได้ มีกำไรพออยู่ได้ เขาก็จะทำเพียงเท่านั้นไปเรื่อยๆ
ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในโลกของธุรกิจและความเป็นจริง
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความเปลี่ยนแปลง แม้แต่ทำเลที่ตั้งของร้านค้า
ก็ต้องมองหาที่ใหม่อยู่เสมอ เช่น บางทีที่เดิมๆที่ประสบความสำเร็จ
แต่อยู่มาวันหนึ่งที่จอดรถได้ ก็กลายเป็นที่ห้ามจอดรถไปเสีย
ดังถนนเพชรบุรีในกรุเทพฯ เกือบทั้งสาย ถ้าต้องการได้ลูกค้าคนชั้นกลาง
ก็ต้องคิดถึงที่จอดรถที่คนจะแวะซื้อสินค้าได้ นอกจากทำเลที่ตั้ง
ยังเป็นเรื่องอื่นๆอีกมากมาย เช่น การบรรจุหีบห่อ การมีสินค้าใหม่ๆนำเสนอ
การขยับขยายเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกิจการใหม่ (Rebranding) ให้สอดคล้องกับยุคสมัย
การได้เทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ
หรือการต้องเพิ่มบริการให้การศึกษาและข้อมูลแก่ลูกค้า เป็นต้น
4. เป็นคนเปิดใจ
(Open-Mindedness)
ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ
ก็เหมือนกับคนที่จะนำคน ทำงานกับคน ต้องทำใจให้กว้าง เปิดใจรับความความคิดเห็นจากคนในทุกระดับได้
ตั้งแต่จะเริ่มธุรกิจ
เป็นเรื่องถูกต้องที่ผู้ประกอบการต้องมีความมุ่งมั่น
และเมื่อจะทำอะไรก็ต้องให้มีแผนธุรกิจ (Business
plan) แต่กระนั้นเขาก็ต้องเป็นคนเปิดใจที่จะรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นๆ
และเมื่อฟังแล้วพบว่าแผนธุรกิจที่คิดนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ
ก็ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ดังชาวนาฝรั่งเขามีสุภาษิตว่า “ให้มองหาสีเขียวๆไว้
ไม่ใช่มองหาความฝันเพียงอย่างเดียว” (Follow the green, not the dream.) เหมือนเกษตรกรในอีสาน เห็นเขารวยจากปลูกยางพารา ก็จะปลูกบ้าง
แต่ไม่รู้ว่าที่จะปลูกได้นั้น ต้องเป็นที่ๆมีความชุ่มชื้น เป็นเนินเขา
ที่มีน้ำซับและความชื้นมากกว่าที่ใกล้เคียง การปลูกข้าวห้อมมะลิก็เช่นกัน
ต้องการน้ำมากระดับหนึ่ง หากปลูกในที่น้ำน้อยจะได้ผลเฉพาะในปีที่น้ำมาก
แต่ปีที่น้ำน้อยซึ่งมักมีมากปีกว่าเป็น 3 เท่า
ชาวนานั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ต้องคิดปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชอย่างอื่นๆ
ที่ทนแล้งได้มากกว่า
5. เปิดใจรับการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง
(Spongelike nature)
ดังที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาคือการเรียนรู้ตลาดชีวิต
เราไม่สามารถยืดถือความสำเร็จได้อย่างตายตัว ธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยน
คนจะทำธุรกิจร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จ
บางทีเขาลงทุนไปเป็นลูกจ้างร้านอาหาร จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้
แล้วเรียนรู้ประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างนั้น เห็นสิ่งใดดีๆก็จดจำแล้วบันทึกไว้
มีเวลาก็ไปซื้อหนังสือมาอ่านเองหาความรู้เพิ่มเติม
ทำตัวเป็นเหมือนดังฟองน้ำที่ดูดซับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกิจการร้านอาหาร ร้านข้าวมันไก่
ร้านข้าวขาหมู ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้
หากเราจะทำให้ประสบความสำเร็จ เราสามารถตัดเวลาที่ต้องล้มเหลว ทำอย่างงูๆปลาๆ
ไปได้ ก็ด้วยไปเรียนรู้จากที่อื่นๆเสียก่อน
คนจะเป็นผู้ประกอบการ
เมื่อเป็นลูกจ้าง ต้องขันอาสา ไม่ใช่ทำงานแบบข้าราชการ ทำตามเวลา แต่ให้คิดเสียว่า
เวลาที่เราทำเพิ่มเติมนั้น ก็เพื่อเป็นน้ำใจตอบแทนนายจ้าง และขณะเดียวกัน ก็อาศัยสัมพันธภาพที่ดีนั้นได้เรียนรู้ประสบการการทำงานและการประกอบอาชีพเพิ่มเติมขึ้น
สรุป
การจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีได้นั้น
ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับได้มีประสบการเป็นผู้ประกอบการเสียเอง
แต่การจะเริ่มทำอะไรนั้น ล้วนเป็นเรื่องของความเสี่ยง (Risk taking) ดังนั้นหากจะเริ่มทำอะไร
เมื่อได้ศึกษามาพร้อมแล้ว เตรียมตัวมีทักษะจำเป็นเพียงพอแล้ว
ก็เป็นเรื่องของการต้องลงมือปฏิบัติ และที่สำคัญ ต้องเริ่มอย่างที่บรรพบุรุษเคยสอน
“คิดแบบไทย คิดจากใหญ่ไปหาเล็ก” ซึ่งเหมาะสำหรับการเรียนรู้เพื่อเป็นขุนนาง
เป็นข้าราชการ แต่ไม่เหมาะสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ แต่หากคิดแบบคนจีนที่มาเติบโตค้าขายจนประสบความสำเร็จในประเทศไทยนั้น
คือ “คิดแบบเจ๊ก คิดจากเล็กไปหาใหญ่” นั่นคือจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม
ให้เริ่มแบบเล็กๆไปก่อน
เพื่อให้ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนั้นๆทั้งส่วนที่สำเร็จและไม่สำเร็จ หากผิดพลาดไป
ก็ให้ถือเป็นบทเรียน แล้วค่อยๆปรับปรุงตัวเองและกิจการ
การจะขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้นจึงจะเป็นเรื่องที่ตามมา
No comments:
Post a Comment