การให้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยไทย
เรื่องที่ต้องคิดใหม่
Keywords: การอุดมศึกษา, Higher
education, การบริหารทรัพยากรมนุษย์, Human Resources Management – HRM, ทุนการศึกษา, scholarship, ทุนวิจัย,
research fellow,
ความหมายของคำว่ากตัญญู (Piety) และความจงรักภักดี (Loyalty) ที่แตกต่างกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก
จากข่าวที่ปรากฏใน Social Media มีอาจารย์ทันตแพทย์หญิงท่านหนึ่ง รับทุนมหาวิทยาลัยมหิดลไปศึกษาต่อในระดับปริญญาขั้นสูง
และได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของอเมริกา คือ Harvard
University ปรากฏว่าไปแล้วจบการศึกษาแล้ว แต่ไม่กลับ
เป็นผลให้อาจารย์และคนที่ลงนามค้ำประกันในประเทศไทย ต้องเป็นผู้รับใช้หนี้ค่าปรับแทน
เรื่องเช่นนี้ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเอง
เขาก็ไม่รับผิดชอบ เพราะอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง
ก็มีคนหนีไม่ใช้หนี้ทุนที่กูยืมมาเพื่อเรียนหนังสือ (Student loans) อยู่มากมาย เขาเองก็มีปัญหาในด้านโครงสร้างของสังคมด้วย
การรับทุนไปศึกษาต่อแล้วไม่กลับมา
และไม่ใช้ทุนจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกันเช่นนี้ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว
ระดับผู้รับทุนแต่งงานแล้ว หรือมีแฟนแล้ว ไปพบแฟนใหม่ในต่างประเทศ
แล้วก็เลยแต่งงานใหม่ แล้วไม่กลับประเทศไทย ส่วนสามีหรือแฟนเก่าและหรือครอบครัวแฟน/สามีที่ลงนามค้ำประกัน
ต้องเป็นผู้ใช้ค่าปรับของทุนแทน การใช้คืนนี้คิดเป็น 2-3 เท่าของทุนที่รับไป
เรียกว่าผู้ค้ำประกันเจ็บสองต่อ
ค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยอย่าง Harvard
University
Tuition and Expenses
Tuition and Expenses
2015-2016
|
2014-2015
|
|
ค่าเล่าเรียน
Tuition and Fees |
$45,278
|
$43,938
|
ค่าอาหารและที่พักพื้นฐานRoom and
Board
|
$15,381
|
$14,669
|
รวมค่าใช้จ่ายพื้นฐาน
Subtotal - billed costs |
$60,659
|
$58,607
|
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
Estimated personal expenses (including $800-$1,200 for books) |
$3,741
|
$3,643
|
หมายเหตุ - ค่าใช้จ่ายจริงๆควรบวกด้วยร้อยละ 15-20 ของทั้งหมด หรือรวมประมาณ $77,280 หรือ 2.7 ล้านบาทต่อปี
สำหรับมหาวิทยาลัยที่ส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ การหาทุนให้อาจารย์ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
แต่ละคนเมื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศในมหาวิทยาลัยชั้นนำนั้น ค่าเล่าเรียนก็แพง
แถมค่ากินอยู่อย่างพอเพียงรวมแล้วปีละ 2-3 ล้านบาท ไปอยู่สัก
5 ปี ก็เป็นเงินถึง 10-15 ล้านบาท
สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการไม่ใช่ฟ้องเรียกเงินคืน ไม่ว่าจะกี่เท่าก็ตาม
เขาต้องการองค์ความรู้ที่จะได้นำติดตัวบุคลากรของเขากลับมามากกว่า
สิ่งที่เราขาดหายไปในปรากฏการณ์เช่นนี้
คือค่านิยมแบบไทยๆและตะวันออกของเรา คือความกตัญญูรู้คุณคน (Piety) และในอีกด้านหนึ่งคือความสวามิภักดิ์ต่อหน่วยงาน (Loyalty) มีเหตุการณ์ที่เกิดแล้วช้ำใจสำหรับฝ่ายให้ทุน คือ
ผู้รับทุนตอนไปก็ลงนามรับเงื่อนไขทุกประการ แต่พอไปอยู่เมืองนอก เห็นโอกาสใหม่ๆ
แล้วลืมพันธสัญญาที่ได้มีต่อองค์การและบ้านเกิดเมืองนอนของตน
กลับมาแล้วยังรู้สึกโกรธองค์การและสถาบันที่ตนสังกัดก็มีให้เห็น
ทางออกของปัญหา
แต่กระนั้นทุกอย่างก็มีทางออกที่จะลดผลกระทบที่เลวร้ายลง
กล่าวคือ
สำหรับผู้รับทุน เมื่อคิดว่าจะไม่กลับมาประเทศไทย
ไม่กลับมาทำงานใช้ทุนให้กับหน่วยงาน ก็ให้รีบรับรู้และตัดสินใจ ลาออกโดยเร็ว
แล้วใช้ทุนคืน รับทุนไปน้อย ก็ใช้คืนน้อย หากมีไม่พอในช่วงหนึ่ง
ก็เจรจาชดใช้ทุนแบบผ่อนส่ง หาทนายความหรือคนรู้กฎหมายไทยเป็นผู้เจรจา
อาจใช้เวลาในการใช้คืนนานสักหน่อยก็เจรจาประนีประนอมได้
แล้วก็ควรเขียนจดหมายกราบขอโทษทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อย่าทำให้ผู้มีพระคุณต่อท่านเป็นผู้เดือดร้อน
สำหรับคนที่คิดจะรับทุนในระยะต่อไป นับเป็นบทเรียนในสิ่งที่เกิดขึ้น หากคิดได้
คนที่จะรับทุนต้องมั่นใจว่ารับทุนแล้ว จะกลับมาทำงานรับใช้หน่วยงานและบ้านเกิด
หรือไม่ก็ต้องไม่รับทุนของเขาเลย กัดฟันหางานทำในต่างประเทศไปตั้งรกรากที่นั่น
ก็ไม่มีคนว่าอะไรมากนัก คนไปศึกษาต่อมักอยู่ในวัยที่จะมีคู่ครอง ซึ่งเป็นเรื่องเห็นใจและเข้าใจได้
ถ้าเช่นนั้นสำหรับคนที่จะต้องตัดสินใจไป ก็ขอให้คิดดีเสียแต่แรก หากไม่มั่นใจ ก็ไม่ต้องรับทุน
ขอลาออก หาทุนหรือทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
หรือทำงานวิชาชีพอื่นๆควบคู่ไปกับการศึกษา ใช้เวลาเรียนนานสักหน่อยก็ไม่เป็นปัญหา
เมื่อเรียนจบแล้ว คิดกลับมาจะเลือกงานอะไรทำก็ได้
สัมพันธภาพกับหน่วยงานเดิมก็ยังมีอยู่ จะกลับมาทำงานต่อก็ได้
หรือจะเป็นวิทยากรพิเศษให้หน่วยงานเดิมก็ทำได้
สำหรับมหาวิทยาลัย
การได้ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆที่เขามีในต่างประเทศมาเพิ่มพูนให้กับหน่วยงานนั้นเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น
การรับอาจารย์จากเพียงที่จบภายในประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน เรียกว่า Inbreeding
เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ผสมพันธุ์กันเอง ยิ่งนานวัน
สายพันธุ์ก็ยิ่งอ่อนแอ แต่วิธีการได้ความรู้มีหลายๆแบบ
เช่นเป็นในรูปการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย เราส่งคนไปศึกษาต่อ
มหาวิทยาลัยของเราก็รับคนของเขาเข้ามาศึกษา มาทำงานวิจัย อย่างนี้เรียกว่า Student
exchange, staff exchange มีทำกันมากมาย
ประเทศไทยเองก็มีความเป็นแหล่งที่คนอยากมาทำงานและมีประสบการณ์มากเช่นกัน
ปฏิรูปการจัดการคน อีกวิธีการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยทำได้ คือการจัดระบบบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ใหม่
(HRM Reform) เพื่อให้ได้คนดีคนเก่งจากทั่วโลกมาเป็นอาจารย์ของเรา
มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ นับเป็นเรื่อง Internationalization คือ “ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ” ตั้งอัตราค่าตอบแทนกำลังคนส่วนหนึ่ง อย่างที่จะดึงดูดคนเก่งไม่จำกัดสัญชาติหรือเชื้อชาติ
เพื่อมาเป็นอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย
การเรียนการสอนก็ให้เป็นใช้ภาษาสากลเสียส่วนหนึ่ง
คนสอนและคนเรียนก็ต้องมีทักษะภาษาต่างประเทศ มีผลงานนำเสนอเป็นภาษาสากล โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ
เหมือนที่เขาทำกันในสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และอีกหลายๆมหาวิทยาลัยทั่วโลก
ที่เปิดการเรียนการสอนเป็นภาษานานาชาติ ส่วนความรู้ความสามารถก็ให้เลือกตามที่ต้องการจริง
(Expertise)
การเปิดกว้างรับคนเช่นนี้ ลองไปคำนวณดู
จะพบว่าใช้เงินลงทุนน้อยกว่าส่งคนไปเรียนต่อในต่างประเทศมาก ไม่ต้องเสียเวลารอ 4-6
ปี และยังสามารถดึงดูดคนไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศที่ทำงานในต่างประเทศ
เพื่อให้กลับมาทำงานในบ้านเกิดของตัวเองด้วย โดยให้มีระบบ Salary scale ที่ดึงดูดคนทำงานในระดับมีฝีมือแข่งขันกับนานาชาติได้
การจ้างคนในลักษณะอัตราจ้างพิเศษ
เพื่อดึงดูดทั้งผู้อาจจะสูงวัย (Senior professors/ researchers) มีประสบการณ์มาแล้วอย่างมาก
หรืออาจเป็นคนหนุ่มสาวที่จะเป็นดาวรุ่งทางวิชาการ (Rising stars) สัญญาจ้างอาจจะมีค่าตอบแทนสูง แต่มีช่วงการจ้างงานที่จำกัดเป็นสัญญาๆไป
เช่น 1, 2, หรือ 5 ปี เป็นต้น
แล้วดูผลการทำงานเพื่อต่อสัญญาการทำงานกันเป็นระยะๆไป
ในทัศนะของผม
ได้ติดตามการบริหารมหาวิทยาลัยในยุคที่ออกจากระบบราชการ (State autonomous
universities) พบว่า ค่าตอบแทนเงินเดือนปัจจุบันของอาจารย์สูงขึ้น
อาจถึง 1.7 ถึง 2.0 เท่าของเดิมหรือราชการทั่วไป
แต่ก็มีช่วงเวลาที่จะประเมินผลการปฏิบัติงาน
หากใครไม่มีผลงานตามที่คาดหวังก็สามารถไม่ต่อสัญญาได้
แต่นั้นก็ไม่เพียงพอสำหรับการจ้างคนที่มีความสามารถและศักยภาพจริงๆ
ซึ่งเรื่องนี้เราคงต้องกลับมาคิดกันใหม่ ในระดับผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยทั้งหลาย
เพราะทุกมหาวิทยาลัยไม่ต้องการเป็นเพียง Mediocre university
หรือ “มหาวิทยาลัยปานกลาง” หรือก็ “มหาวิทยาลัยงั้นๆแหละ”
ทุกมหาวิทยาลัยพึงมีเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศ หรือ Excellent university เท่านั้น
สังคมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ฝากความหวังไว้มากมายกับมหาวิทยาลัยครับ
ภาพ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University, Boston) มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1636 และยังเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาลัยการหลายด้านในโลก
ภาพ ห้องอาหารของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ภาพ Media Lab ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางด้านนวตกกรรมในเทคโนโลยีใหม่ ของสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างวิทยาการในมหาวิทยาลัย กับโลกของเทคโนโลยีใหม่
ภาพ เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี José María
Aznar เยี่ยมชม Media Lab ของสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะกำลังสาธิตยานพาหนะรถยนต์ไฟฟ้า (EVs)
ในแนวคิดใหม่