Wednesday, August 4, 2010

จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย จำเป็นหรือ

จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย จำเป็นหรือ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ปฏิรูประเทศไทย, Thailand reform

ที่รัฐสภา นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทยว่า เหตุผลที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องดังกล่าวเพราะสภาพของจังหวัดหนองคายนั้น มีพื้นที่ติดประเทศลาว มีแม่น้ำโขงกั้นกลาง การติดต่อของประชาชนไม่สะดวก เพราะจังหวัดหนองคายมีถึง 17 อำเภอ พื้นที่ตะวันออกถึงตะวันตกห่างกันถึง 400 กิโลเมตรจึงแยก 8 อำเภอออกมาเป็นจังหวัดบึงกาฬ โดยขณะนี้มีความพร้อมทั้งหมดทั้งศูนย์ราชการ ศาลจังหวัด อัยการจังหวัด แขวงการทาง และประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย - ข่าวจากเนชั่นทันข่าว วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผมยังงงกับการต้องแบ่งแยกจังหวัด โดยมีจังหวัดบึงกาฬ เป็น 77 จังหวัด ทั้งนี้โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ผมเองขอเปิดใจที่จะรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นนะครับ แต่อยากให้มีเวลาไตร่ตรองและให้ประชาชนได้ร่วมคิด ไหนๆ ก็จะปฏิรูปประเทศไทยกันแล้ว

ลองใช้ตรรกะในการแบ่งพื้นที่ของจังหวัดดังนี้

1. ขนาดใหญ่เกินไป จังหวัดหนองคายมีประชากร 883,704 คนสำรวจในปี ค.ศ. 2000 จัดเป็นอันดับที่ 22 ของประเทศ มีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับที่ 37 ของประเทศ ที่ประมาณ 120.5 คนต่อตารางกิโลเมตร

จังหวัดหนองคายจึงไม่ใช่จังหวัดที่ใหญ่มากจนบริหารกิจการแผ่นดินไม่ได้ หากจะว่ามีขนาดใหญ่มากด้านประชากร ก็มีจังหวัดที่ใหญ่กว่าอีก 21 แห่ง ในทัศนะของผมหากนับประชากร หากมีประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน ก็ถือว่าไม่น่าจะใหญ่เกินความสามารถในการบริหาร หากจะนับจังหวัดใหญ่ ก็มีกรุงเทพฯที่มีประชากร 5,712,213 คน จัดเป็นมีประชากรมากที่สุด ส่วนจังหวัดรองลงมา คือจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ 20,494.0 ตรกม. จัดเป็นขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มีประชากร 2,565,117 คน จัดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ

หากขนาดจังหวัดหนองคายใหญ่เกินไป บริหารยาก คิดเป็นตรรกะแบบนี้ ก็ทำไมไม่แบ่งแยกกรุงเทพฯ หรือนครราชสีมา ซึ่งมีขนาดพื้นที่และประชากรมากกว่าไปก่อน แต่ผมก็ยังไม่เคยได้ยินคนกรุงเทพฯ หรือนครราชสีมาเรียกร้องต้องการแบ่งแยกพื้นที่ เห็นมีแต่ว่าให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารภายใน เพื่อกระจายความรับผิดชอบกันมากขึ้น ประสานงาน และการตัดสินใจได้ดีขึ้น

ลองดูตัวอย่างจากต่างประเทศ ประเทศออสเตรเลียมีพื้นที่ 7,617,930 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ใหญ่กว่าประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 15 เท่า ถ้าใช้วิธีการคิดแบบแบ่งจังหวัด เขามิต้องมีจังหวัดมากกว่าเรา 15 เท่า หรือ 1,155 จังหวัดหรือ แต่ประเทศออสเตรเลียเขาก็ยังคงมีการปกครองเป็นระบบรัฐ (States) โดยทั้งประเทศมีเพียง 6 รัฐ คือ New South Wales, Queensland, South Australia, Tasmania, Victoria, และ Western Australia จนถึงในปัจจุบัน เขายังใช้การบริหารในแบบของเขา กระจายอำนาจ และบริหารราชการแผ่นดินสร้างความเจริญให้กับประเทศได้อย่างน่าพอใจ

2. การคมนาคมไม่สะดวก กระทรวงมหาดไทยให้เหตุผลว่า จังหวัดหนองคายจากตะวันตกถึงตะวันออกมีระยะทางห่างกันถึง 400 กิโลเมตร หากคิดว่าระยะทางห่างกันมากจริง ก็สามารถตั้งสำนักงานของจังหวัดในการบริหารได้ โดยไม่ต้องแบ่งพื้นที่จังหวัด หรือนอกจากนี้ จะพัฒนาถนนหนทาง ระบบทางรถไฟยุคใหม่ ก็ยังสามารถกระทำได้อีกมาก และยังสามารถพัฒนาระบบสื่อสารดิจิตอลใหม่ เช่นการติดตั้งระบบสื่อสารใหม่ วางสายสัญญาณการสื่อสาร และรวมถึงการใช้สัญญาณดาวเทียม ใช้เงินไม่เท่าใดก็สำเร็จได้ การประชุมยุคใหม่ ก็สามารถจัดประชุมแบบออนไลน์ ขนาดประชุมร่วมกันข้ามประเทศก็ทำได้อยู่แล้ว

หากขนาดใหญ่เกินไปมีปัญหา ขนาดเล็กเกินไปก็มีปัญหา จังหวัดขนาดเล็กก็มีปัญหาหลายๆอย่างตามมา เช่น ขนาดไม่ใหญ่พอ ภาษีก็จัดเก็บไม่ได้มากพอที่จะจัดบริการบางอย่างได้ เช่น ยากที่จะมีมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด โรงพยาบาลเฉพาะทาง สนามบิน สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ฯลฯ ดูจังหวัดที่มีประชากรต่ำกว่า 300,000 คนต่อไปนี้ สตูล 288,789 คน, อ่างทอง 284,836 คน, นครนายก 250,894 คน, พังงา 250,843 คน, แม่ฮ่องสอน 248,748 คน, ตราด 224,136 คน, สิงบุรี 215,524 คน, สมุทรสงคราม 194,143 คน, และ ระนอง 190,478 คน หลายจังหวัดอยากมีมหาวิทยาล้ยประจำจังหวัดให้ลูกหลานตนเอง ก็มีไม่ได้

ดูอีกตัวอย่างหนึ่งคือการแบ่งแยกเขตพื้นทีการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็จัดแบ่งกันเอง มีเขตพื้นที่การศึกษาทั้งสิ้น 185 แห่ง สับสนกับการจัดแบ่ง ไม่สัมพันธ์กับเขตจังหวัดและอำเภอที่มีอยู่แล้ว แบ่งแล้วก็ไม่ได้ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่ดี

3. การปฏิรูปประเทศไทย ควรต้องคิดเรื่องการจัดแบ่งการบริหาราชการภายในประเทศให้ดี เพราะระบบบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่เป็นอยู่ก็เป็นปัญหาในแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งสี ประชาชนมีความแตกต่างกันด้านสถานะเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ แต่นั่นไม่ได้แก้ได้ด้วยการมาแบ่งจังหวัดเพิ่มขึ้น การปฏิรูปประเทศไทยต้องให้คนไทยทั้งชาติมีส่วนรับรู้และตัดสิน ต้องมองไปที่การปรึกษาหารือคนทั้งประเทศ และในเขตที่เกี่ยวข้อง และท้ายสุดควรต้องได้รับความเห็นชอบโดยรัฐสภาอ้นมีตัวแทนประชาชนทั้งประเทศให้ความเห็นชอบ

หากการแบ่งแยกกระทำกันง่ายๆ เพียงการถามคนในจังหวัด ถ้าอย่างนั้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เขาขอแบ่งแยกเพื่อปกครองตนเอง แล้วทำไมเราไม่อนุญาตให้เขาทำได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราให้เหตุผลเชิงการเมือง หรือแม้แต่กรณีหลักแดนที่เขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษทำให้เราไม่ชัดเจนในพื้นที่ 4.1 ตารางกิโลเมตร และมีข้อพิพาทกับประเทศกัมพูชา แล้วภายในประเทศ เรามาจัดแบ่งแยกจังหวัดกันเหมือนตัดเค๊กวันเกิด คงจะไม่เหมาะสม

4. ได้ปรึกษาหารือกับฝ่ายข้าราชการกระทรวงมหาดไทยแล้ว คงไม่ใช่เหตุผล เพราะข้าราชการระดับสูงเขามีผลได้ผลเสียโดยตรง ได้มีตำแหน่งระดับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ และอื่นๆเพิ่มขึ้น แต่นอกจากจะต้องใช้งบประมาณไปกับจัดสร้างสำนักงานต่างๆแล้ว ยังมองไม่เห็นว่าชาวบ้านเขาจะได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้น เรื่องนี้คงต้องถามประเทศไทยกันว่า จะเอาอย่างไร เพราะเรื่องของการแบ่งจังหวัดนั้น เริ่มจาก 71 จังหวัด จนปัจจุบันได้กลายเป็น 76 จังหวัด แต่นี่ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย

ฝ่ายการเมืองคงต้องอดใจลองถามประชาชน คิดให้รอบคอบ เพราะการปฏิรูปประเทศไทยส่วนหนึ่งคือต้องยกเครื่องระบบบริหารราชการแผ่นดินบางส่วนใหม่ ในด้านการปกครองที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น อย่างเช่น เรื่องจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกันไหม มีประโยชน์ไหม แล้วจะเริ่มกันที่ไหนและอย่างไร เพราะในช่วง 10-10 ปี บทบาทหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดก็สับสน ลดอำนาจ มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจนไม่อยู่ในสภาพบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว

1 comment:

  1. บทความนี้ไม่ใช่เจตนาที่จะไม่เห็นด้วยกับการมีจังหวัดใหม่ที่ 77 แต่อยากให้มีการวิพากษ์ การศึกษาโดยหลายๆฝ่าย ตลอดจนต้องถามว่า เราจะปฏิรูปการเมือง และรวมถึงการปกครองประเทศก้ันแล้ว มันมีทางเลือกเพื่อพัฒนาระบบการปกครองประเทศสู่คีวามเป็นประชาธิปตยกันอย่างต้องใช้หลักการ หากท่านมีความเห็นอย่างไร ผมก็พร้อมที่จะรับฟังและเรียนรู้ครับ บทความที่เขียนไม่ใช่ตายตัว

    ยังเป็นบทความที่ส่งขึ้นไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลที่หลากหลาย

    ReplyDelete