Sunday, November 4, 2012

การอุดมศึกษา กับการสร้างคนให้ตกงานหรือ?


การอุดมศึกษา กับการสร้างคนให้ตกงานหรือ?

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การศึกษา, การอุดมศึกษา, มหาวิทยาลัย, Education, higher education, tertiary education, การว่างงาน,


ข่าวจาก SpringNews - "ป.ตรี"แชมป์ตกงาน "แม่บ้าน"คนขาด!, 2012-11-05 11:20:28 | อ่าน 197 ครั้ง

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. รายงานสถานการณ์การว่างงานของไทย ช่วงเดือนสิงหาคม 2555 พบมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 224,210 คน หรือ 0.6% ของจำนวนผู้มีความสามารถในการทำงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1,740 คน โดยแบ่งเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 127,520 คน และเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อนแต่ขณะนี้ว่างงาน 96,690 คน

ซึ่งอัตราคนว่างงานในประเทศไทยนับว่าไม่อยู่ในเกณฑ์น่ากังวลแต่อย่างไร จึงลองหันมาดูที่ในกลุ่มผู้ว่างงานนั้น สามารถจำแนกออกมาเป็นลักษณะอย่างไร

... เมื่อแบ่งระดับผู้ว่างงานตามการศึกษาพบว่า ระดับการศึกษาที่มีผู้ว่างงานมากที่สุดคือ ระดับอุดมศึกษา หรือระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 90,200 คน โดยคณะที่เป็นสายวิชาการ มีผู้ว่างงานมากที่สุด 57,200 คน ส่วนสายวิชาชีพ มีผู้ว่างงาน 27,730 คน และในสายวิชาการการศึกษา เกี่ยวกับการวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาระบบการเรียนการสอน มีผู้ว่างงาน 5,290 คน

อาชีพที่ไม่มีผู้ว่างงาน ในเดือนสิงหาคม ปรากฏเป็นคนทำงานบ้าน กิจกรรมขององค์กรระหว่างประเทศ ธุรกิจด้านศิลปะ บันเทิง นันทนาการ กิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ และกิจกรรมด้านการเงิน และการประกันภัย

จาก - ข่าวจริง สปริงนิวส์ ทันเหตุการณ์ เห็นอนาคต

ในวงการศึกษาสำหรับชาวบ้าน ความตื่นตัวคือ การให้ลูกหลานได้เรียนจนจบปริญญาตรี สมัครงานแล้วได้เริ่มต้นที่ 15,000 บาท อันเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกำลังจะเป็นสิ่งที่สร้างความคาดหวังและความสับสนให้กับการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management – HRM) ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ขณะนี้เริ่มใช้นโยบายอัตราเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ส่วนในภาคเอกชนยังไม่บังคับใช้ แต่หากบังคับใช้เมื่อใด ก็คงจะวุ่น เอกชนก็ไปหาทางปรับตัวกันอย่างเลี่ยงบาลี เช่น จ้างงานคนจบปริญญาตรีให้น้อยลง หรือ จ้างโดยไม่มีสวัสดิการพิเศษให้ จ้างแบบทดลองทำงานไปก่อน หรือเลือกจ้างคนที่จบสายอาชีวศึกษา เทียบเท่าอนุปริญญาให้มากขึ้น แต่เลือกคนที่ทำงานได้คุ้มค่าเงินจริงๆเอาไว้เป็นหลักก่อน เลือกคนทำงานดีและมีประสบการณ์ตรงก่อน เพราะในภาคเอกชน หากไม่มีอะไรบังคับ เขาก็จะไม่ได้สนใจปริญญาบัตรมากเหมือนกับคนทำงานในภาครัฐ ที่ใช้วุฒิการศึกษาเป็นตัวเทียบการจ่ายเงินเดือนมากกว่าภาคเอกชน

ส่วนภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบมากๆ คือพวกสถานศึกษาเอกชน (Educational institutions) ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา เพราะขณะนี้ หากมีอัตราครูในภาคราชการเปิดรับ ครูเขาก็จะหันไปสมัครทำงานให้สถานศึกษาของราชการ เพราะเงินเดือนเริ่มต้นก็ดี มีความมั่นคงในหน้าที่การเงิน มีสวัสดีการดี ขณะนี้จริงๆคือโรงเรียนเอกชนที่ต้องปรับตัวหนัก เหนื่อยเป็นพิเศษ และจะไม่แปลกใจหากมีโรงเรียนเอกชนในต่างจังหวัดต้องปิดตัวเองเพิ่มมากขึ้นในทุกระดับ ส่วนโรงเรียนเอกชนที่มีศาสนาอุปถัมภ์ ก็จะมีความสามารถในการปรับตัวเองได้มากกว่า มีเสถียรภาพในการคงอยู่ได้มากกว่า

ย้อนกลับมายังสถาบันการศึกษาที่ผลิตคนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป คือพวก วิทยาลัย มหาวิทยาลัย เมื่อชาวบ้านหันมาส่งลูกหลานให้ได้เรียนในระดับปริญญาตรีกันมากขึ้น เขาคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้ม แต่ในข้อเท็จจริงยังเป็นสิ่งที่ต้องมาวิเคราะห์กัน เพราะตามข้อมูลที่ได้รับ ไม่แปลกใจ คือ ผู้ที่ว่างงานมากที่สุด คือพวกที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป นั่นแสดงว่าผู้จ้างเขาก็เลือกจ้างคนที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่า มีความสามารถ มีศักยภาพที่ดีกว่า เมื่อคนเขาต้องจ้างด้วยเงินเดือนแพงขึ้น หากเขาเลือกได้ เขาก็จะเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับเขา

ผมจึงอยากย้อนกลับมาเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวนักศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ต่างจังหวัด ความเข้าใจเรื่องคุณภาพมาตรฐานการศึกษานั้นมีไม่มากนัก เพราะต่างก็ทัศนะแบบง่ายๆ คือ “รับปริญญามาเหมือนๆกัน” แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะเริ่มมีข้อมูลการตกงาน สมัครงานแล้วไม่ได้งาน หรือได้งานแล้ว ได้เงินเดือนน้อยกว่า ดังนี้ ปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้น แล้วก็จะกลับมานั่งเสียดายเสียใจในภายหลัง เพราะผลมิได้เป็นไปดังคาด รู้อย่างนี้ไม่ควรเรียนสาขาวิชาอย่างนี้ หรือสถาบันการศึกษาอย่างนี้ เป็นต้น

ส่วนสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั้งหลาย ก็อยากจะเตือนว่า ต้องหันกลับมาคิดถึงคุณภาพการศึกษา (Education Quality) ที่แท้จริง ทำอย่างไรจึงจะผลิตบัณฑิตที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ตรงทั้งด้านคุณภาพ มีคุณสมบัติทำงานได้จริง สู้งาน รักงาน เสียสละ ทำงานเป็นทีมได้ และค่าใช้จ่ายต่อตัวผู้เรียนและผู้ปกครองที่ไม่สูงจนเกินไป เพราะจริงๆแล้ว ไม่มีใครอยากได้สินค้าและบริการที่มีราคาแพงที่ไม่มีคุณภาพ

ทำอย่างไรจึงจะผลิตบัณฑิตที่จบแล้วมีงานทำ ได้งานที่ดีที่มีอนาคตในตลาดแรงงาน หากหางานไม่ได้ ก็ต้องมองวิธีการผลิตบัณฑิตที่สามารถสร้างงานให้กับตนเองในฐานะผู้ประกอบการรายย่อย การทำงานอิสระ การทำงานเริ่มงานแบบเป็นกลุ่มร่วมงานขนาดเล็กๆ

สิ่งที่ต้องระวังสำหรับการศึกษาในยุคใหม่ ก็คือ จบปริญญาตรีแล้วความคาดหวังสูง ต้องการได้เงินเดือนมากๆ งานสบาย แถม หากตกงาน จะกลับไปช่วยพ่อแม่ทำงานอยู่ตามไร่นาก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะไม่มีค่านิยมสู้งานในนาในทุ่งเหลือเอาไว้ช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองให้สู้ปัญหาได้แล้ว

No comments:

Post a Comment