Wednesday, March 26, 2014

ความเข้าใจผิดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโภชนาการผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetes)

ความเข้าใจผิดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโภชนาการผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetes)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: สุขภาพอนามัย, health care, เบาหวาน, diabetes, การออกกำลังกาย, exercise, โภชนาการ, nutrition,การควบคุมอาหาร, diet

จากการติดตามร่วมสังสรรค์กับเพื่อนสูงอายุในวัยเดียวกัน ส่วนใหญ่รู้จักการดูแลตนเอง มีคนประมาณร้อยละ 30 ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ซึ่งมีทั้งระดับไม่มาก อาศัยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยาควบคุม แต่มีบางส่วนที่แม้มีการศึกษา แต่ไม่ใส่ใจในการดูแลตนเอง ขี้เกียจออกกำลังกาย ยังดื่มสุราและแอลกอฮอล (Alcohol) ต่างๆอยู่ หรือยังไม่เลิกนิสัยการกินอย่างที่เคย

ความจริงเบาหวานที่ป่วยเป็นกันมากเป็นประเภท Type II กันเสียร้อยละ 80 ยังไม่ถึงขั้นต้องฉีดอินซูลิน เพราะร่างกายยังผลิตอินซูลินได้เองอยู่ คนส่วนนี้ต้องรู้จักดูแลตนเอง เพราะหากไม่รีบกระทำ ก็จะกลายเป็น Type I ต้องใช้การฉีดอินซูลิน ร่างกายก็อ่อนแอลง ไตก็จะวาย ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจก็จะตามมา

ปัญหาของโรคเบาหวานอีกส่วนหนึ่งคือการรู้ข้อมูลอย่างผิดๆ จึงปฏิบัติตนเองอย่างผิดๆ ทำให้การดูแลโรคเบาหวานผิดพลาด ผมจึงคิดว่าน่าจะมีการนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยนี้เป็นระยะๆ โดยอาศัยการค้นคว้าในเอกสารที่เผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มักจะเป็นภาษาอังกฤษ ใครรู้แล้วก็ช่วยกันบอกต่อครับ จะหวังพึ่งแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะในการไปพบแพทย์แต่ละครั้งจะมีเวลาปรึกษาถามไถ่ไม่มากนัก เพราะแพทย์เป็นอันมากไม่ได้รู้เรื่องการออกกำลังกายและการดูแลด้านอาหาร สู้คุยกับครูพลศึกษา พยาบาล และนักโภชนาการที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีเวลาก็จะได้ประโยชน์กว่า

ในปัจจุบัน การแพทย์ยุคใหม่ได้เรียนรู้วิธีการที่คนป่วยเบาหวานจะดำรงชีวิตได้อย่างง่ายและเป็นธรรมชาติได้มากขึ้น และที่สำคัญคือการไม่จำเป็นต้องไปหลงเข้าใจผิด
ความเข้าใจผิดที่พบมากที่สุดมีดังต่อไปนี้

เข้าใจผิด - ท่านต้องลดหรือหลีกเลี่ยงน้ำตาลอย่างที่สุด

ข้อเท็จจริง – ข่าวดีคือท่านสามารถมีความสุขกับอาหารโปรดที่มีน้ำตาลได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องจำกัดน้ำตาลในอาหารเสียทั้งหมด ตราบเท่าที่มันเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนมื้ออาหารและการออกกำลังกาย เช่น กินขนมหวานสักหน่อย แต่โดยรวมก็ลดสัดส่วนของอาหารที่บริโภค ทำให้การบริโภคแคลอรี่ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรืออาจอาศัยออกกำลังกายเพิ่มเป็นพิเศษ

เข้าใจผิด – กินอาหารโปรตีนสูงเป็นสิ่งที่ดี

ข้อเท็จจริง – จากการศึกษาพบว่าการกินอาหารที่มีโปรตีนสูงมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่หนักขึ้นไปอีกคือไขมันจากสัตว์ อาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการต้านอินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของเบาหวาน โภชนาการที่ดีคือการกินอาหารครบหมวดหมู่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท และไขมัน ร่างกายของเราต้องการอาหารทั้งสามส่วน ความสำคัญคือการกินอย่างสมดุล

เข้าใจผิด – ท่านต้องลดการกินอาหารพวกแป้ง

ข้อเท็จจริง – ข้อสำคัญคือการกินอาหารอย่างสมดุล ปริมาณและประเภทของคาร์โบไฮเดรทที่ท่านกินนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ท่านต้องเน้นการกินธัญพืชแบบไม่ขัดสี (Whole grain) ดังเช่นข้าวกล้อง เพราะจะทำให้ได้แหล่งเยื่อใย การย่อยอาหารเป็นไปอย่างช้าๆ และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นไปอย่างสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

เข้าใจผิด – ท่านไม่สามารถกินอาหารได้อย่างปกติอีกต่อไป ท่านต้องกินอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน

ข้อเท็จจริง – หลักของการกินอย่างถูกสุขอนามัยนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าเราต้องการจะควบคุมเบาหวานหรือไม่ อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานราคาแพงไม่ได้มีประโยชน์มากไปกว่าอาหารทั่วไป ท่านสามารถกินอาหารร่วมกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆได้ หากท่านรู้จักการกินอย่างปานกลาง

การต้องแยกตนเองกินอาหารที่ไม่เหมือนกับคนอื่นๆ และไม่มีความอร่อย ไม่ถูกปากเสียเลย ย่อมทำให้จิตใจหดหู่ได้ ดังนั้นขอให้ยืดหลักสายกลาง ใช้หลายๆวิธีอย่างเข้าใจธรรมชาติของโรคและตัวเราเอง เพื่อเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้มากที่สุด


ภาพ เมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ต้องรู้จักออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ทำให้ร้างกายได้กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ อย่าเพียงนั่งโต๊ะ ทำงานไปในแต่ละวัน


ภาพ ดูแลตนเองอย่าให้เป็นโรคอ้วน (Obesity) หากรู้ตัวว่าอ้วนเกิน โดยเฉพาะบริเวณลำตัว ก็ต้องควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย


ภาพ การออกกำลังกาย ให้เลือกให้เหมาะแก่วัย ไม่หนักจนเกินไป แต่ทำให้ร่างกายทุกส่วนกระชับ หัวใจแข็งแรง


ภาพ การใช้ยาให้เป็นตามแพทย์สั่ง แต่ปรึกษาการใช้ยาอย่างปานกลาง แต่เน้นไปที่อาหารที่เหมาะสม และการออกกำลังกาย


ภาพ ชั่งน้ำหนักตัวเป็นประจำ ทุกเช้าได้ก็ไม่เสียหาย เพราะน้ำหนักที่ขึ้นหรือเลงผิดสังเกต ก็นำไปสู่การตรวจหาความผิดปกติอื่นๆได้ง่ายขึ้น


ภาพ การวัดความดันโลหิต สามารถกระทำได้เองที่ย้านหรือ ชุมชน หรือที่ทำงาน เป็นอีกตัวหนึ่งที่จะใช้ในการกำหนดกิจวัตรการออกกำลังกาย และการบริโภคอาหาร


No comments:

Post a Comment