Saturday, March 14, 2015

นักแสดงณเดชน์ คูกิมิยะ (แบรี่) เป็นโรคหอบหืด (Asthma)

นักแสดงณเดชน์ คูกิมิยะ (แบรี่) เป็นโรคหอบหืด (Asthma)

ระกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: สุขภาพ, health, อนามัย, การดูแลรักษา, healthcare, โรคหอบหืด, asthma, โรคภูมิแพ้, allergy, ณเดชน์ คูกิมิยะ

 มีคนตั้งกระทู้ถามในสนทนา – “โรคหอบหืดที่ณเดชเป็นอยู่นี่ มันหนักมากเลยเหรอคะ ถึงได้รับการยกเว้นเกณฑ์ทหาร ??”

นักแสดงณเดชน์ คูกิมิยะ (แบรี่) เป็นโรคหอบหืด (Asthma) จนไม่สามารถผ่านการเกณฑ์ทหาร จนทำให้บรรดาแฟนและคนขี้สงสัยตั้งคำถามว่า เห็นล่ำหล่อบึก แสดงบทเป็นนักบู้ได้อย่างคล่องแคล่ว ทำไมถึงเป็นโรคหอบหืดได้? เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถตอบได้ว่าณเดช คูกิมิยะเป็นโรคหอบหืดจริงหรือไม่ และเป็นมากในระดับใด แต่โดยเฉพาะโรคหอบหืดเองก็มีความสำคัญที่ผู้ป่วย พ่อแม่ผู้ปกครอง และสังคมโดยรวมควรมีความรู้ความเข้าใจ

โรคหอบหืดเป็นโรคที่หลายๆคนไม่เข้าใจ โดยเฉพาะคนที่เป็นปกติทั่วไป ซึ่งก็เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนเป็นหอบหืด เมื่อเวลาปกติเขาอาจเหมือนคนธรรมดา บางคนเป็นนักกีฬาชั้นดี เป็นนักแสดงที่มีความสามารถ ดูภายนอก เขาจึงอาจดูดีเหมือนหรือดียิ่งกว่าคนทั่วๆไป

ผมเองและลูกชายหนึ่งคนที่ป่วยหรือเคยป่วยเป็นโรคหอบหืด ผมเองจะป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่จำความได้ จนเมื่อเป็นนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยก็ยังมีอาการป่วยนี้อยู่ เพียงแต่รู้จักดูแลตนเองมากขึ้น รู้สภาพแวดล้อมรอบๆตัวมากขึ้น

โรคหอบหืด (Asthma) คือโรคที่คนป่วยมีอาการหอบบ่อยครั้ง ทางเดินหายใจอักเสบ ตีบตัน ทำให้การหายใจเข้าและออกเป็นไปไม่สะดวก อาการจะมีหายใจเป็นเสียงดังหวีดๆ ไอ หน้าอกแน่น และหายใจหอบถี่ มีไอมีเสมหะ หากมีอาการหนักจนหายใจไม่ออก หมดสติ หายใจไม่ได้จนถึงเสียชีวิตได้

โรคหอบหืดอาจมีสาเหตุมาจากทั้งกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อม และทั้งสองอย่างร่วมกัน ส่วนการวินิจฉัยมักจะอาศัยอาการที่ปรากฏ (Symptoms) ที่มีหลายแบบ ซึ่งจะกำหนดเป็นแนวทางในการรักษา ในทางการแพทย์จะนับจากครั้งการเกิดมีอาการหอบหืดมีบ่อยครั้งเพียงใด และเมื่อเป็นแล้วใช้เวลานานเท่าใดกว่าจะกลับเป็นปกติ และเมื่อเป็นแล้วลักษณะอัตราอากาศที่หายใจเมื่อมีอาการหอบหืดสูงสุด (Peak expiratory flow rate) ว่ารับอากาศเข้าสู่ปอดได้ในอัตราเท่าใด

การวัดอาการหืดใช้วัดจากอาการที่แสดงออกภายนอก เรียกว่า Atopic (Extrinsic) หรือที่เป็นแล้วอาการหลบอยู่ภายใน (Non-atoic หรือ Intrinsic) ในขณะที่ Atopy หมายถึงลักษณะที่แสดงออกที่จะกลายไปสู่ปฏิกิริยาตอบสนองที่ไวมาก (Type 1 hypersensitivity reactions) หรือในลักษณะที่มีอาการหนัก

สำหรับอาการเมื่อหอบรุนแรง (Acute symptoms) ขึ้นมา เขาจะรักษาตามอาการโดยใช้ยาประเภทพ่นเข้าทางปากแล้วสูดเข้าไปตามทางเดินหายใจ และการกินยาจำพวก Oral corticosteroids ในกรณีที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจให้ยาที่ต้องฉีดเข้าไปตามเส้นเลือดดำ โดยใช้ยาพวก Intravenous corticosteroids และ Magnesium sulfate และต้องอยู่ในโรงพยาบาล ยาพวกที่ใช้รักษาหอบหืดนี้ เป็นยาใกล้เคียงกับที่

นักกีฬาใช้เพื่อเพิ่มสมรรถนะร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีผลข้างเคียงต่อนักกีฬาในระยะยาว
การรักษาโรคหอบหืดที่ดี คือต้องหาสาเหตุของโรคให้พบ และการรักษาพยาบาลคือต้องแก้ให้ตรงจุดคือทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมดังกล่าว

การรักษาที่ดีไม่ใช่รักษาตามอาการ (Symptoms) ซึ่งเรื่องนี้ผู้ป่วยและบุคคลรอบตัวต้องร่วมมมือกับแพทย์ หาสาเหตุ (Causes) ให้ได้ว่ามีอาการแพ้อะไร (Allergens) และมีอะไรในสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย ที่ทำให้ระคายเคือง (Irritants) ได้ง่าย เช่นฝุ่น ฝุ่นที่มีไรที่นอน ขนสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ หรือมีอาหารหรือเครื่องดื่มอะไรบ้างที่เขากินเข้าไปแล้วเกิดอาการ ฯลฯ และอีกอย่างหนึ่ง คือ การรักษา

ร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง การออกกำลังกายให้ปอดใหญ่และแข็งแรง เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน การดูแลสภาพแวดล้อมในบ้าน โดยเฉพาะในห้องนอนให้สะอาด ปราศจากฝุ่นและสิ่งที่เป็นเหตุแห่งโรค สิ่งเหล่านี้ช่วยได้มาก

โรคหอบหืดเนื่องด้วยเป็นผลมาจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม ลำพังแพทย์ฝ่ายเดียวก็คงจะรักษาตามอาการ แต่จะให้การรักษาได้ผล ก็ต้องมีทั้งแพทย์ ผู้ปกครอง ผู้ป่วยเอง ที่จะช่วยกันสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้อะไรบ้าง และเรียนรู้โรคไปพร้อมๆกัน


ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่มีมลพิษเกิดขึ้นมากมายที่เป็นผลจากมนุษย์ ซึ่งเป็นผลให้เกิดการป่วยเป็นหอบหืด ในปีค.ศ. 2011 ได้มีการศึกษาและประมาณว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด 235-300 ล้านคน และในแต่ละปีมันเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 250,000 คน


ภาพ ที่นอนที่มีไรที่นอน (Bed bugs) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดการแพ้ ทั้งทางเดินหายใจ และผิวหนัง ทางออกคือดูแลบ้าน โดยเฉพาะในห้องนอนให้สะอาดอยู่เสมอ


ภาพ ยาสำหรับพ่อนเข้าหลอดลมและปอด เพื่อขยายหออดลม เมื่อเกิดอาการหอบหืด ผู้ป่วยที่แพทย์ให้ใช้ย่า ต้องรู้ตัวว่าจะเกิดหอบหืด และพ่นยาก่อนที่หลอดลมจะตีบจนพ่นไม่ได้


ภาพ การออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง และมีปอดใหญ่แข็งแรง อดทน จะช่วยลดความรุนแรงของหอบหืดได้มาก แต่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหา ทางแก้ที่ดีคือต้องค้นพบให้ได้ว่า ผู้ป่วยแพ้อะไรในสภาพแวดล้อม อากาศที่หายใจ อาหาร เครื่องดื่ม อะไรที่บริโภคเข้าไปแล้วเกิดอาการ


ภาพ การออกกำลังกาย ดังการขี่จักรยาน สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย นับเป็นสิงที่จำเป็นสำหรับทั้งผู้ป่วย และคนที่่ไม่อยากป่วย

No comments:

Post a Comment