Thursday, February 16, 2017

ไปประชุมกับทีมงาน พัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (Smart City Project)

ไปประชุมกับทีมงาน พัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (Smart City Project)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com 


ภาพ การขนส่งด้วยระบบการขนส่งมวลชน (Mass Transit System) ที่คนเมืองจะใช้กันมากขึ้น แต่ต้องวางระบบเชื่อมโยงสู่ระบบการเดินส่วนอื่นๆ


ภาพ การเดินทางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในกทม. จะทำให้การจราจรมีแต่คับคั่งยิ่งขึ้น นอกจากต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนใหม่


ภาพ รถจักรยานยนต์ในเมืองใหญ่ ดูเหมือนทำให้คนเดินทางได้ แต่ความจริงแล้วมันนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย และเพิ่มการคับคั่งบนท้องถนน


ภาพ ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ ที่ยังเป็นที่นิยมของคนที่เดินทางมาจับจ่าย ทั้งสำหรับคนไทยและคนต่างชาติ


ภาพ ทางเลียบทะเล แม่น้ำ คลอง จะเปลี่ยนเป็นทางสัญจรของผู้คนมากขึ้น เป็นทางเดินเพื่อการสัญจรเพื่อธุระ และเพื่อสันทนาการ

Keywords: พลังงานอัจฉริยะ, Smart energy, การสัญจรอัจฉริยะ, Smart mobility, ชุมชนอัจฉริยะ, Smart community, สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ, Smart environment, เศรษฐกิจอัจฉริยะ, Smart economy, อาคารอัจฉริยะ, Smart building, การปกครอง/การบริหารอัจฉริยะ, Smart governance, นวกรรมอัจฉริยะ, Smart innovation

มีตัวแทนเขตพญาไทเป็นเจ้าภาพ มีคนจากหน่วยงานการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ปตท. และหน่วยงานในแนว CSR – Corporate Social Responsibility และประชาชนจากชุมชนมาร่วมฟัง ด้วยประชาชนจากชุมชนมาร่วมฟังยังไม่มาก ผมจึงขอเกริ่นเอาไว้เป็นเบื้องต้น

คณะทำงานคนรุ่นหนุ่มสาวเขาเสนอพัฒนาเมืองต้นแบบ โดยมองที่เขตพญาไท ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกจรดถนนพหลโยธิน- ตะวันตกจรดพระราม 6 เหนือจากคลองบางซื่อ-คลองสามเสน
ผมเข้าไปร่วมฟังในฐานะคนในพื้นที่ อยากมองเห็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ในช่วงเวลา 5, 10, และ 15 ปี อยากมองเห็นในพื้นที่ดังกล่าว

1.    สายไฟ/สายสัญญาณจะลงใต้ดินทั้งหมดในแบบร้อยท่อ - ถนนต้องปรับปรุงในแบบรถจักรยาน ยานพาหนะสำหรับคนพิการ/คนชราใช้ร่วมบนท้องถนนในซอยได้ ไม่มีฝาท่อที่จะเป็นปัญหาการสัญจรของรถจักรยาน และยาน e-mobility สำหรับผู้พิการ

2.    ทางด้านข้าง (Foot path) เป็นแบบเรียบเป็นผืนเดียวกันกับผิวถนน หรือสูงขึ้นมาไม่เกิน 10 ซม. รถจักรยานขี่ช้า (10 กม./ชั่วโมง) ร่วมใช้ได้ ยานพาหนะสำหรับผู้พิการ (E-mobility) คนสูงอายุและหรือคนพิการ สามารถเดินทางไปได้ด้วยตนเองภายในชุมชน รถยนต์และยานพาหนะทุกชนิด ที่ใช้วิ่งในซอย จะต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 15 กม./ชั่วโมง แนวขวางถนนต้องไม่มี เพราะจะใช้กฎและกฎหมาย กับการมี Sanction จากชาวบ้านเพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กที่เป็นลูกหลานเขา

3.    ยานพาหนะสาธารณะแบบรถมอเตอร์ไซค์/สามล้อเครื่อง ซึ่งก่อมลพิษทางอากาศ และสิ้นเปลืองน้ำมัน จะเปลี่ยนเป็นระบบ E-tuk tuk ค่าใช้จ่ายถูกลงครึ่งหนึ่ง ด้วย Subsidy ค่าไฟฟ้า ทางคณะผู้ริเริ่มจะจัดหารถ E-tuk tuk มาทดสอบเป็นโครงการต้นแบบที่ประมาณ 25-30 คัน พร้อมที่สถานีชาร์ตไฟ

4.    พื้นที่ขนาด 3 ตารางกิโลเมตร (เดาเอานะ) จะเปลี่ยนพื้นที่ตาบอดให้เป็นพื้นที่เปิด ให้มีการสัญจรที่ดีขึ้น ความจำเป็นใช้รถยนต์ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 25 มาตรฐานนี้เทียบเหมือนเมืองนิวยอร์ค ที่ระบบการขนส่งสาธารณะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนจึงไม่อยากที่จะต้องมีรถยนต์ส่วนตัว รถ E-tuk tuk, รถจักรยานไฟฟ้า, จักรยาน, และการเดิน จะเป็นทางเลือกในการสัญจรในชุมชน และกับชุมชนภายนอก

5.    ระบบบ้านเรือนที่จะปรับปรุง หลักๆจะเป็น Low Rise Buildings ขนาดความสูง 8 ชั้น สูงไม่เกิน 23 เมตร เพื่อยอดตึกที่แบบเป็นแผ่น อยู่ในระนาบเดียวกัน สามารถผลิตไฟฟ้าจาก Solar Panels ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยไม่มีการบังต่อกัน ค่าคอนโดมิเนียมแบบใหม่จะถูกลง ต้นทุนน้อยลงร้อยละ 30 ด้วยไม่ต้องมีที่จอดรถ

ผมเป็นคนสูงอายุ หากผมเป็นคนระดับทั่วไป สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตที่มากเกินไป นั่นแหละ ความเป็นอัจฉริยะ (Intelligence) มารับใช้เรา และคนแบบผมนี้จะกลายเป็นร้อยละ 30-40 ของประชาชนในเขตนี้

ผมจึงแจงมาเพื่อร่วมรับรู้ข้อมูลและแนวคิดเอาไว้เป็นเบื้องตน

Saturday, February 4, 2017

การศึกษาคือการทำให้คนเปิดกว้างทางความคิด

การศึกษาคือการทำให้คนเปิดกว้างทางความคิด

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเปิดกว้างทางความคิด, Open-mindednes, การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การศึกษา, education

It is the mark of an educated mind to be able to entertain a thought without accepting it. - Aristotle

ลักษณะคนมีการศึกษา คือคนที่ชื่นชอบต่อความคิด แม้จะยังไม่ได้ยอมรับความคิดนั้นๆ – อริสโตเติล


ภาพ นักปราชญ์ชาวกรีก เกิดเมื่อ 384 ปีก่อนคริสตกาล

เมื่อผมสอนหนังสือ ผมชอบนำความคิดแปลกใหม่ (Ideas) มานำเสนอ แม้ความคิดนั้นๆอาจจะยังไม่ได้สอดคล้องกับค่านิยมในสังคมในขณะนั้น หรือแม้แต่ผมเองก็ยังไม่ได้เชื่อในความคิดเหล่านั้น มันไม่ใช่เรื่องยากหรอกสำหรับโลกยุคใหม่ เพราะเราสามารถแสวงหามันได้จากหลายๆเส้นทาง เช่น การอ่านจากหนังสือ ฟังเพื่อนหรือนักวิชาการ หรือควานหาเอาในสื่อต่างๆที่เปิดในระบบออนไลน์

โดยหลักของการศึกษาในยุคใหม่ เราต้องเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยการมีจิตใจเปิดรับ (Open-mindedness) บางอย่างที่สังคมมีปัญหาอยู่แล้ว การได้ฟังความคิดเห็นและทางเลือกที่แตกต่างกันออกไป ก็ได้รับการรับฟังมากหน่อย และมีการนำไปคิดหาความเป็นไปได้ การต่อต้านก็จะน้อย แต่ในบางอย่างที่สังคมมีปัญหาแบบไม่เคยรู้ตัว และเราได้รับมันมาอย่างฝังแน่น ไม่เคยได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนี้ การต่อต้านความคิดนั้นๆก็จะมีมาก

เรื่องของความคิด – ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตยในแบบที่ตะวันตกยัดเยียดให้กับเรา เช่น การเน้นการเลือกตั้งเป็นตัววัดประชาธิปไตย แต่ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องของประชานิยม (Populism) ที่นำนโยบายที่มีผลเสียระยะยาว หรือ การนำมาซึ่งระบบเล่นพรรคเล่นพวก (Nepotism/ cronyism) การคอรัปชันอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีกลไกถ่วงดุล หรือรักษาธรรมาภิบาลได้จริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็เห็นว่าในบ้านเมืองไทยเรานี้ เราได้อยู่ในยุคที่บ้านเมืองไม่ได้มีการเลือกตั้ง ไม่มีตัวแทนของประชาชนทำหน้าที่มานานแล้ว เราอาจได้รัฐบาลที่ดีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่จากประสบการณ์ด้านรัฐศาสตร์ทั่วโลก มีหลักอยู่ว่า เมื่อการเวลาผ่านไป “อำนาจโดยสมบูรณ์จะนำไปสู่การคอรัปชั่นอย่างสมบูรณ์” ในที่สุดเช่นกัน

ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยที่เราต้องยึดมั่นในแผนงาน (Road map) ที่ได้ยึดมั่นกันไว้ เตรียมความพร้อมขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ส่วนใครมาจากพรรคการเมืองใดที่จะมาบริหารบ้านเมือง ผมก็ทำใจยอมรับได้ และแม้จะมีพรรคการเมืองใดกลับมาบริหารบ้านเมืองแบบเผด็จการทางรัฐสภา เราก็มีกลไกที่จะต่อต้านได้อย่างสันติวิธี


ไม่มีใครรู้อนาคตหรอก แต่เราต้องมีความเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นได้ หากเราช่วยกัน และก็ทำใจไว้ด้วยแล้วว่า บ้านเมืองไม่ใช่ของเราฝ่ายเดียว ฝ่ายที่เห็นต่างจากเราก็มี และเราต้องเปิดใจรับฟังเขาด้วย

Friday, February 3, 2017

การกระทำอย่างเห็นประโยชน์ของผู้อื่น (Altruism)

การกระทำอย่างเห็นประโยชน์ของผู้อื่น (Altruism)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: Altruism, การเมือง, การปกครอง, จริยธรรม

เราทุกคนต้องตัดสินใจ เลือกเดินบนทางสว่าง กระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ หรือจะเลือกเดินทางที่มืดมิดและทำลายตนเอง ด้วยความเห็นแก่ตัว– มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

Every man must decide whether he will walk in the light of creative altruism or in the darkness of destructive selfishness. Martin Luther King, Jr.


ภาพ ความทุกข์ยากมีให้เห็นในทุกมุมโลก ดังเช่น ปัญหาผู้ลี้ภัย หนีภัยสงคราม ความอดอยาก จากที่หนึ่งที่หวังไปอยู่ในที่ใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่แล้วก็จะประสบอุปสรรคนานาประการ

การเมืองในประเทศไทยเป็นเรื่องที่เป็นดังทางสองแพร่ง ทางหนึ่ง คือมองการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ คนจะไปเล่นการเมืองก็เหมือนกับการลงทุนอย่างหนึ่ง เมื่อลงทุนลงแรงไปแล้ว ก็ต้องได้ผลตอบแทนกลับคืนมา เป็นอำนาจหรือเป็นเงิน นี่เป็นทางเลือกที่มืดมิด เป็นลักษณะเห็นแก่ตัวหรือพวกพ้อง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเมืองคือเรื่องของการต้องเดินสวนกระแส เดินบนทางสว่าง การเมืองต้องการคนที่สะอาด ฉลาด มองโลกในแง่ดี และตั้งใจจริงที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียง และดูแลผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าจะเป็นเงิน อำนาจ หรือชื่อเสียง
เราต้องการคนประเภทหลังนี้ คือคนที่มีหลักของ Altruism คือการคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น ผลประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากตนเอง

Altruism หรือ Selflessness เป็นหลักปฏิบัติของการคำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้อื่น เป็นหลักคุณธรรมที่มีมานานในหลายๆวัฒนธรรม และเป็นส่วนสำคัญของหลักศาสนา และฆราวาสธรรมทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติ การกระทำดีต่อคนอื่นๆนั้นยังแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและศาสนา Altruism เป็นคำตรงกันข้ามกับ Selfishness หรือความเห็นแก่ตัว คำว่า Altruism มาจากนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ออกุสเต คอมท์ (Auguste Comte) ในภาษาฝรั่งเศสเขียนว่า Altruisme เป็นคำตรงกันข้ามกับ Egoism หรือการคิดอย่างเอาอัตตาของตนเองเป็นใหญ่ เขานำคำ Altruism นี้มาจากภาษาอิตาลี Altrui ซึ่งมาจากภาษาลาตินว่า Alteri หมายความว่า “คนอื่น” (Other people)

ในบทความนี้ผมขออนุญาตใช้คำทับศัพท์นะครับ Altruism = การกระทำอย่างเห็นประโยชน์ของผู้อื่น
Altruism เป็นปฏิกิริยาทางชีววิทยา ซึ่งหมายถึงคนที่ทำการหนึ่งซึ่งมีผลที่ตนเองต้องแบกรับ อาจสูญเสียความสนุกสนาน คุณภาพชีวิต เวลา หรือบางทีหมายถึงชีวิตและโอกาสแพร่ขยายพันธุกรรมของตน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่คนอื่นๆ หรือบุคคลที่สาม โดยไม่ได้คาดหวังการได้รับสิ่งตอบแทนหรือค่าตอบแทนในการกระทำนั้นๆ Altruism เป็นความตั้งใจและอาสาสมัครที่มุ่งขยายสวัสดิการแก่ผู้อื่น โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนหรือรางวัลที่เป็นสิ่งนอกกาย (External rewards) แก่ตน

Altruism ต่างจากความรู้สึกสวามิภักดิ์ (Loyalty) เพราะความสวามิภักดิ์เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคม Altruism ไม่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพระหว่างบุคคล แต่คนที่ทำดีต่อผู้อื่นๆ อาจไม่ได้รับรางวัลที่เป็นภายนอก อาจไม่ได้รับคำขอบคุณหรือชื่นชม แต่เขาอาจได้รับความพึงพอใจที่เป็นส่วนในใจ (Intrinsic reward) เป็นความรู้สึกปิติด้วยตนเอง ทั้งนี้อาจมีการถกเถียงกันได้ว่า แล้วความรู้สึกปิตินี้จัดเป็นผลประโยชน์ (Benefits) อย่างหนึ่งหรือไม่

Altruism อาจเป็นหลักจริยธรรมที่คาดหวังให้คนมีหน้าที่ต้องให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับ Egoism หรือการที่กระทำการใดโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้ง

ย้อนกลับมาเรื่องการเมืองของประเทศ ผมเห็นด้วยที่การพัฒนาประชาธิปไตยต้องมี Roadmap และเราต้องจริงจังต่อแผนนี้ ไม่จำเป็นต้องยืดเยื้อ เตรียมพื้นฐานของสังคมไทยให้พร้อมที่สุดที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง วางระบบกฎหมายและการรักษากฎหมายให้ดำรงความเป็นธรรม ไม่มีใครฝ่าฝืนได้ กระจายอำนาจ แบ่งความรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ให้กระจุกตัวแต่ในส่วนกลาง ส่วนในการเข้าสู่การเลือกตั้งนั้น พรรคไหนจะเข้ามาครองอำนาจก็ต้องทำใจ


อีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือการช่วยการสรรหาและสร้างผู้นำทางการเมืองใหม่ (New leaders) ให้มีคุณภาพ ดังหลัก Altruism ให้ได้คนที่ดี มีพลังใจและคุณสมบัติส่วนลึกที่เห็นประโยชน์แก่ส่วนรวม อดทน มองเห็นเป้าหมาย และรู้วิธีการเดินไปสู่เป้าหมายนั้นๆ ไม่หลงใหลไปกับเงิน อำนาจ ความรักชอบ โลภ โกรธ หรือหลง การส่งเสริมคนดีให้ได้ดี ย่อมเป็นประโยชน์กว่าก่นด่าคนไม่ดี หรือบางทีก็หลงด่าว่าทำร้ายคนดีๆ  จนไม่มีใครอยากอาสาเข้ามาทำหน้าที่รับใช้ประชาชนและบ้านเมือง


ภาพ พระสงฆ์ในพุทธศาสนา เป็นชาวตะวันตก แต่มาทำงานทางด้านสังคมในประเทศทางเอเซีย


ภาพ การทำงานอาสาสมัคร เก็บขยะในป่า


ภาพ งานดูแลสุขภาพผู้สูงวัย ซึ่งมักจะขาดแคลนคนทำงาน


ภาพ งานปลูกป่า เมื่อป่ามีคนเห็นแก่ตัวทำลาย ก็ต้องมีคนและกิจกรรมไปปลูกป่าใหม่


ภาพ งานดูแลสุขภาพฉุกเฉิน


ภาพ เยาวชนกับการอาสาสมัครปลูกต้นไม้