การกระทำอย่างเห็นประโยชน์ของผู้อื่น
(Altruism)
Keywords: Altruism, การเมือง, การปกครอง,
จริยธรรม
เราทุกคนต้องตัดสินใจ
เลือกเดินบนทางสว่าง กระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์
หรือจะเลือกเดินทางที่มืดมิดและทำลายตนเอง ด้วยความเห็นแก่ตัว– มาร์ติน ลูเธอร์
คิง จูเนียร์
Every
man must decide whether he will walk in the light of creative altruism or in
the darkness of destructive selfishness. Martin Luther King, Jr.
ภาพ ความทุกข์ยากมีให้เห็นในทุกมุมโลก ดังเช่น ปัญหาผู้ลี้ภัย หนีภัยสงคราม ความอดอยาก จากที่หนึ่งที่หวังไปอยู่ในที่ใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่แล้วก็จะประสบอุปสรรคนานาประการ
การเมืองในประเทศไทยเป็นเรื่องที่เป็นดังทางสองแพร่ง
ทางหนึ่ง คือมองการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์
คนจะไปเล่นการเมืองก็เหมือนกับการลงทุนอย่างหนึ่ง เมื่อลงทุนลงแรงไปแล้ว
ก็ต้องได้ผลตอบแทนกลับคืนมา เป็นอำนาจหรือเป็นเงิน นี่เป็นทางเลือกที่มืดมิด
เป็นลักษณะเห็นแก่ตัวหรือพวกพ้อง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง
การเมืองคือเรื่องของการต้องเดินสวนกระแส เดินบนทางสว่าง
การเมืองต้องการคนที่สะอาด ฉลาด มองโลกในแง่ดี และตั้งใจจริงที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียง
และดูแลผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าจะเป็นเงิน
อำนาจ หรือชื่อเสียง
เราต้องการคนประเภทหลังนี้
คือคนที่มีหลักของ Altruism คือการคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น
ผลประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากตนเอง
Altruism หรือ Selflessness
เป็นหลักปฏิบัติของการคำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้อื่น
เป็นหลักคุณธรรมที่มีมานานในหลายๆวัฒนธรรม และเป็นส่วนสำคัญของหลักศาสนา
และฆราวาสธรรมทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติ
การกระทำดีต่อคนอื่นๆนั้นยังแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและศาสนา Altruism เป็นคำตรงกันข้ามกับ Selfishness หรือความเห็นแก่ตัว
คำว่า Altruism มาจากนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ออกุสเต คอมท์
(Auguste Comte) ในภาษาฝรั่งเศสเขียนว่า Altruisme เป็นคำตรงกันข้ามกับ Egoism
หรือการคิดอย่างเอาอัตตาของตนเองเป็นใหญ่ เขานำคำ Altruism นี้มาจากภาษาอิตาลี Altrui
ซึ่งมาจากภาษาลาตินว่า Alteri หมายความว่า
“คนอื่น” (Other people)
ในบทความนี้ผมขออนุญาตใช้คำทับศัพท์นะครับ
Altruism = การกระทำอย่างเห็นประโยชน์ของผู้อื่น
Altruism เป็นปฏิกิริยาทางชีววิทยา
ซึ่งหมายถึงคนที่ทำการหนึ่งซึ่งมีผลที่ตนเองต้องแบกรับ อาจสูญเสียความสนุกสนาน
คุณภาพชีวิต เวลา หรือบางทีหมายถึงชีวิตและโอกาสแพร่ขยายพันธุกรรมของตน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่คนอื่นๆ
หรือบุคคลที่สาม โดยไม่ได้คาดหวังการได้รับสิ่งตอบแทนหรือค่าตอบแทนในการกระทำนั้นๆ
Altruism เป็นความตั้งใจและอาสาสมัครที่มุ่งขยายสวัสดิการแก่ผู้อื่น
โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนหรือรางวัลที่เป็นสิ่งนอกกาย (External rewards) แก่ตน
Altruism ต่างจากความรู้สึกสวามิภักดิ์
(Loyalty) เพราะความสวามิภักดิ์เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคม
Altruism ไม่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
แต่คนที่ทำดีต่อผู้อื่นๆ อาจไม่ได้รับรางวัลที่เป็นภายนอก อาจไม่ได้รับคำขอบคุณหรือชื่นชม
แต่เขาอาจได้รับความพึงพอใจที่เป็นส่วนในใจ (Intrinsic reward) เป็นความรู้สึกปิติด้วยตนเอง ทั้งนี้อาจมีการถกเถียงกันได้ว่า
แล้วความรู้สึกปิตินี้จัดเป็นผลประโยชน์ (Benefits) อย่างหนึ่งหรือไม่
Altruism อาจเป็นหลักจริยธรรมที่คาดหวังให้คนมีหน้าที่ต้องให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น
เป็นในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับ Egoism หรือการที่กระทำการใดโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้ง
ย้อนกลับมาเรื่องการเมืองของประเทศ
ผมเห็นด้วยที่การพัฒนาประชาธิปไตยต้องมี Roadmap และเราต้องจริงจังต่อแผนนี้
ไม่จำเป็นต้องยืดเยื้อ เตรียมพื้นฐานของสังคมไทยให้พร้อมที่สุดที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง
วางระบบกฎหมายและการรักษากฎหมายให้ดำรงความเป็นธรรม ไม่มีใครฝ่าฝืนได้ กระจายอำนาจ
แบ่งความรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ให้กระจุกตัวแต่ในส่วนกลาง
ส่วนในการเข้าสู่การเลือกตั้งนั้น พรรคไหนจะเข้ามาครองอำนาจก็ต้องทำใจ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้
คือการช่วยการสรรหาและสร้างผู้นำทางการเมืองใหม่ (New leaders) ให้มีคุณภาพ ดังหลัก Altruism ให้ได้คนที่ดี
มีพลังใจและคุณสมบัติส่วนลึกที่เห็นประโยชน์แก่ส่วนรวม อดทน มองเห็นเป้าหมาย
และรู้วิธีการเดินไปสู่เป้าหมายนั้นๆ ไม่หลงใหลไปกับเงิน อำนาจ ความรักชอบ โลภ โกรธ
หรือหลง การส่งเสริมคนดีให้ได้ดี ย่อมเป็นประโยชน์กว่าก่นด่าคนไม่ดี
หรือบางทีก็หลงด่าว่าทำร้ายคนดีๆ
จนไม่มีใครอยากอาสาเข้ามาทำหน้าที่รับใช้ประชาชนและบ้านเมือง
ภาพ พระสงฆ์ในพุทธศาสนา เป็นชาวตะวันตก แต่มาทำงานทางด้านสังคมในประเทศทางเอเซีย
ภาพ การทำงานอาสาสมัคร เก็บขยะในป่า
ภาพ งานดูแลสุขภาพผู้สูงวัย ซึ่งมักจะขาดแคลนคนทำงาน
ภาพ งานปลูกป่า เมื่อป่ามีคนเห็นแก่ตัวทำลาย ก็ต้องมีคนและกิจกรรมไปปลูกป่าใหม่
ภาพ งานดูแลสุขภาพฉุกเฉิน
ภาพ เยาวชนกับการอาสาสมัครปลูกต้นไม้
No comments:
Post a Comment