-->10 ความคิดที่เปลี่ยนโลก
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
ศึกษาและเรียบเรียง
Updated: Tuesday, July 28, 2009
Keywords: Cw00a, บันทึกการศึกษา, อนาคตศึกษา
ความนำ
ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาประสบวิกฤติการทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2008 และต่อเนื่องในปี ค.ศ. 2009 มีการเลือกตั้งที่ทำให้ได้ผู้นำที่เป็นชนผิวสี คือ Barrack Obama ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่กำเนิดประเทศในปี ค.ศ. 1776 อเมริกาต้องสำรวจตัวเอง แสงหาทางเลือกใหม่ สิ่งที่เคยคิดและปฏิบัติมาโดยคิดว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องนั้น อาจไม่ใช่อีกต่อไป
จากแนวคิดที่รัฐบาลที่ดี คือ “รัฐบาลที่เล็กที่สุด” ทำหน้าที่เท่าที่จำเป็น แต่เมื่อยามวิกฤติ สหรัฐเองก็ต้องหาทางออกที่ไม่ต่างอะไรจากการใช้เศรษฐกิจกึ่งสังคมนิยม (Semi Socialism) ธนาคารและสถาบันการเงินที่ประสบวิกฤติ และต้องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง เมื่อรัฐบาลกลางโดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็ทำให้รัฐบาลกลาง (Federal Government) ต้องเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ บางแห่งกว่าร้อยละ 60 อุตสาหกรรมรถยนต์ที่สหรัฐเคยเป็นเจ้าของบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 1-3 บริษัทเหล่านี้ ท้ายสุดต้องถูกทำให้มีขนาดเล็กลง ขายทิ้งกิจการบางส่วน หรือประกาศล้มละลาย แล้วเกิดการตั้งบริษัทรถยนต์ใหม่ ทีมีขนาดเล็กลงมาก และมีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสร้างความแข็งแกร่ง
ในยุคปัจจุบัน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาบริหารธุรกิจ อย่างที่เขาเรียกว่า Business Schools หรือ B-Schools ก็ต้องกลับมาสำรวจแนวคิด “ทุนนิยมใหม่” (Neo Capitalism) ตลอดจนแนวคิด ตลาดทุนเสรี การเงินเสรี การค้าเสรี ล้วนต้องมีการตรวจสอบความคิดในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมานี้กันใหม่ทั้งสิ้น
ในปัจจุบันนี้จึงต้องมีการระดมความคิดจากนักวิชาการและปัญญาชนหลายๆแขนง และนำเสนอทางเลือกใหม่แก่ประเทศ และแก่โลก และที่น่าสนใจที่จะติดตาม ตรวจสอบ ประการหนึ่ง คือ การศึกษา “แนวคิด 10 ประการที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบัน” หรือ “10 Ideas Changing the World Right Now - The global economy is being remade before our eyes. Here’s what’s on the horizon, ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Time, ฉบับวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2009 (March 23, 2009) ความจริงการนำเสนอนี้แม้จะตีพิมพ์ลงในนิตยสารไทม์ฉบับพิเศษ คนอ่านสักระยะแล้วก็ผ่านไป และจะมีฉบับใหม่ๆ มานำเสนอในเรื่องที่เป็นประเด็นแต่ละช่วงเวลา แต่แนวคิด 10 ประการที่เขาได้นำเสนอนี้ ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เราน่าจะลองนำมาศึกษา และให้ถือว่ามองเขาแล้วให้มองย้อนมาที่ตนเอง เพราะประเทศไทยเรานั้น มักจะมีลักษณะนำความคิดของเขามาใช้แบบไม่ได้มีการตรวจสอบ แต่ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องศึกษาสิ่งที่เป็นปัญหาที่ได้เกิดขึ้น และหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ใช้สติปัญญา การคิดวิพากษ์อย่างอิสระ และการต้องมีทางออกที่สร้างสรรค์ อย่างเข้าใจในสภาพความเป็นไปของสังคมไทยเรา
1. งานของท่านคือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด (Why your job is your most valuable asset)
ในยุคที่บ้านที่เป็นสินทรัพย์ที่มีความหมาย แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ได้ลดลงอย่างมาก การมีเงินเพื่อถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เคยเป็นการลงทุนที่ดี แต่ความผันผวนทำให้ผลตอบแทนที่จะได้รับไม่แน่นอน ราคาหุ้นเองก็ลดลง
แต่สิ่งที่เราทำทุกวัน คืองาน งานที่เราทำอยู่ (Jobs) หากไม่ตกงานไปเสียก่อน จึงเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ งานอย่างไหน และทำงานอย่างไร จึงจะเป็นหลักประกันในชีวิตที่มีคุณค่า
งานที่มีคุณค่ามักจะเป็นงานที่ต้องมีการฝึกฝน ต้องเกิดจากการพัฒนาการศึกษาเพื่อให้สามารถสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีขีดความสามารถใหม่ มันเป็นการคุ้มหรือไม่ที่รัฐบาล ชุมชน ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง และคนแต่ละคนจะลงทุนในการศึกษาเล่าเรียน และการฝึกอาชีพ เพื่อรองรับงานในยุคใหม่
2. การสร้างบ้านแปลงเมืองเสียใหม่ (Repurposing the suburbs)
อเมริกาในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา การคมนาคมระหว่างเมืองกับชานเมือง (Suburb) มีความสะดวกขึ้น มีถนนหนทางดีขึ้น หลายคนจึงหันไปมีบ้านและที่พักอาศัยอย่างหรูหราย่านชานเมือง และตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เขตชานเมืองขยายกว้างและไกลออกไปทุกที ประกอบกับวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ (Automobile Culture) มีกันทุกบ้าน พ่อแม่ และลูกทีเข้าสู่วัยรุ่น แล้วพ่อหรือแม่ที่ทำงานในเมือง ก็ต้องขับรถมาทำงาน แต่ในยุคที่น้ำมันแพงขึ้น รถยนต์จำนวนมากที่ไหลสู่ท้องถนน ทำให้การจราจรคับคั่ง เป็นปัญหา เราจะมีการจัดการเรื่องการเดินทางทุกวัน (Commuting) กันอย่างไร เราจะมีการตั้งถิ่นฐานของประชาชนกันอย่างไร เมืองควรมีขนาดใหญ่สักเท่าใด และเรื่องนี้ในประเทศไทยเองก็กำลังประสบปัญหาไปในทิศทางเดียวกับเขา
กรุงเทพมหานครในประเทศไทยเรา มีประชากรราว 6.5 ล้านคน มีขนาดใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่อันดับสอง 20 เท่า กรุงเทพฯ เมื่อรวมเมืองแวดล้อมอย่างที่เขาเรียกว่า Metropolitan Area แล้วในปัจจุบันมีถึง 12 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เราคิดจะดำเนินการอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความขัดแย้งในชาติที่ผ่านมาไม่นานมานี้ ส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร การพัฒนาประเทศที่เมืองและชนบทยังมีช่องว่าง
3. การจับจ่ายอย่างมีเหตุผล (Survival-store shopping)
สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอย และบางครั้งกลายเป็นการจับจ่ายที่เกินเลยจากความจำเป็น ซื้อและมีของที่ไม่จำเป็นมากมาย มีของที่ผลิตมาแบบใช้แล้วทิ้งได้ (Disposable products) ซึ่งต้องมีการประเมินกันใหม่ว่า อะไรคือสิ่งของจำเป็น อะไรจะจำเป็นสำหรับอนาคต แม้ในปัจจุบันยังมองไม่เห็นค่า สังคมตะวันตกรวมถึงในเกือบทั้งหมดของยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และประเทศพัฒนาอื่นๆ ล้วนดำรงอยู่บนฐานของการใช้จ่ายอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล
ลองหันมาทบทวนสินค้าที่มีความจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อสินค้าที่เป็นความจำเป็นสำหรับชีวิตในโลกปัจจุบัน และอนาคต
4. เตรียมตัวสำหรับชีวิตที่ยืนยาวขึ้น (Amortality: forever young)
คนในยุคใหม่มีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาว หากรู้จักดูแลด้านสุขภาพอนามัย คนอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 120 ปี แต่ปัจจุบัน คนเกษียณอายุที่ 60 ปี และในยุคที่เรามองการเกษียณอายุ คือการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องทำงาน แล้วเราจะใช้ชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไร
มนุษย์ทุกคน เกิดมาแล้วต้องตาย (Mortal) ไม่ช้าก็เร็ว แต่เมื่อโลกยุคใหม่ที่มนุษย์รู้วิธีการดูแลสุขภาพดีขึ้น มีการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น หากรู้จักออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เราอาจมีอายุ 80-90 ปีได้อย่างไม่แปลกอะไร แล้วเวลาที่มีเพิ่มขึ้นนั้น เราจะทำอะไร สังคมจะปรับตัวอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์จากคนที่มีอายุยืนยาว สุขภาพดีแข็งแรง
5. ธนาคารชีวภาพ เก็บชิ้นส่วนของท่านไว้ (Biobanks: saving your parts)
การศึกษาทางด้านชีวศาสตร์กำลังคืบหน้าในโลกยุคใหม่อย่างรวดเร็ว วิศวกรรมพันธุศาสตร์ (Genetic Engineering) อาจเป็นทางเลือกในการรักษาโรคหลายอย่างที่ในปัจจุบันเป็นสาเหตุของการตายก่อนเวลาอันควร โรคเหล่านี้ได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน ไตวาย ตับแข็ง สมองเสื่อม ฯลฯ แต่ชิ้นส่วนหรืออวัยวะหลายอย่างที่ได้เริ่มมีการเก็บสะสม ทำการศึกษา ไขรหัสลับพันธุกรรม (DNA Codes) อาจมีการศึกษาเพื่อใช้ในการรักษา และแก้ปัญหาที่เคยมีมาได้
มนุษย์กำลังทำในสิ่งที่สมัยก่อนเป็นเรื่องของพระเจ้าเท่านั้น แต่การศึกษาทางด้าน DNA อาจทำให้ทัศนะด้านการดูแลรักษาพยาบาลเปลี่ยนไป แต่การศึกษาทางด้าน DNA นั้น หลายประเทศไม่เห็นด้วย แต่ก็มีหลายประเทศที่ได้มีการให้เงินทุนวิจัยสนับสนุน หลายอย่างได้มีการนำความรู้ความเข้าใจในรหัสลับพันธุกรรมมาทดลองและใช้ประโยชน์เพื่อการรักษาพยาบาลแล้ว โดยเริ่มกับผู้ป่วยที่ยอมอาสาอย่างลับๆ และมีหลายรายที่ได้เห็นความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อเกิดขึ้น เรื่องนี้คงต้องมีการติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
6. หากต้องการแผ่นดิน ไปเช่าประเทศใหม่ (Need land? Rent a country)
ในโลกนี้มีอยู่ 223 ประเทศตามการกำหนดโดยสหประชาชาติ มีตั้งแต่ใหญ่ที่สุดอย่างจีน 1,300 ล้านคน อินเดีย 1,100 ล้านคน ไปจนถึงประเทศที่มีขนาดเพียง 2000 คน
ในโลกนี้มีหลายประเทศที่มีที่ดินอย่างจำกัด แต่มีเงินเหลือที่จะลงทุน บางประเทศมีที่ดินและทรัพยากรที่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้เหลืออยู่มาก แต่ขาดการพัฒนา ต้องการการลงทุนทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และอื่นๆ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีที่ดินจำกัด มีประชากรมาก เขากำลังแสวงหาที่ดินในประเทศอื่นๆ และอาศัยกำลังเงินและเทคโนโลยีที่มี เพื่อพัฒนารองรับการผลิตอาหาร และกิจการต่างๆสำหรับประชาชนของเขา
ประเทศไทยอยู่ในฐานะอะไร
7. การฟื้นฟูศาสนาใหม่ (The new Calvinism)
โลกยุคใหม่ประสบปัญหาการดำรงชีวิต ระบบครอบครัวแตกแยก สังคมไร้ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ คนส่วนหนึ่งมีทัศนคติต่อต้านสังคม มีการก่อการร้ายอย่างไร้เหตุผล คนรุ่นใหม่ว้าเหว่ ต้องการที่พึ่งทางจิตใจ ต้องการศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ศาสนาเองก็กลับเสื่อมล้า ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม
หากศาสนาไม่สามารถให้ความหมายแห่งชีวิต แต่ยังคงติดยึดกับสิ่งที่จะนำไปสู่ความเสื่อม ดังในกรณีพุทธศาสนาที่หลงทางไปกับการเล่นพระเครื่อง การทำนายโชคชะตา เล่นหวย เสน่ห์ยาแฝด ฯลฯ ในคริสต์ศาสนาเองก็มีปัญหาที่คนรุ่นใหม่เข้าวัดน้อยลง ในศาสนาอิสลาม ที่ต้องตรวจสอบว่าเหตุใดจึงมีกลุ่มคลั่งศาสนาที่บิดเบือนไปสู่การก่อการร้าย และการทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ได้อย่างที่เกิดขึ้นในหลายแห่งในโลก
ศตวรรษที่ 21 โลกต้องการปฏิรูปศาสนาเพื่อทำให้มนุษย์มีที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อฟื้นฟูและทำให้ศาสนาเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นใหม่ที่ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆแล้ว เขาก็จะมีแนวคิดและวิถีชีวิตที่ทำให้ตนเองแปลกแยกจากศาสนาออกไปทุกที
8. ความฉลาดทางสิ่งแวดล้อม (Ecological intelligence)
จากการสนใจศึกษาความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient – IQ) สู่การทำความเข้าใจในด้านอารมณ์ (Emotional Quotient – EQ) และอื่นๆที่ตามมา แต่ในยุคที่โลกมีวิกฤติด้านสภาพแวดล้อม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์สร้าง โลกร้อน วิกฤติพลังงานของโลก น้ำมัน (Petroleum) ราคาแพงและจะหมดจากโลก ปัญหาโรคยุคใหม่ ไวรัสที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ คนและเยาวชนใหม่ ต้องมีความฉลาดที่จะดำรงอยู่ได้ในโลกยุคใหม่ โดยต้องเข้าใจและเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้
ในระดับโลก ประเทศพัฒนาแล้วมองการออกกฏเกณฑ์ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนา ต้องควบคุมการไม่สร้างหรือก่อปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้น โดยต้องลดการใช้พลังงานที่มาจาก Carbon ทั้งมวล แต่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นก็ไม่สามารถทำตามได้ และให้หันไปมมองประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นสัดส่วนที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย อยากได้พลังงานเพิ่มขึ้น ในราคาที่ถูกลง ได้ไฟฟ้าใช้อย่างไม่ขาดแคลน แต่ไม่ต้องการให้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าในท้องที่ของตน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังนิวเคลียร์ ถ่านหิน วัสดุจากเหลือใช้จากการเกษตร คนเมืองต้องการเมืองที่สะอาด แต่ผลักดันให้ไปหาที่ขจัดขยะ แต่ชุมชนเขตชานเมืองไม่ต้องการให้มีโรงขยะ หรือที่เก็บขยะในชุมชนของตนเอง ทางออกอยู่ตรงไหน ทางออกส่วนหนึ่งคือทุกคนทุกฝ่ายต้องมีความฉลาดที่จะทำให้เกิดทามงเลือกใหม่ ทางเลือกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และเกิดการแก้ปัญหาในระยะยาว และนั่นคือต้องมีเรื่องของความฉลาดด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีทั้งในระดับผู้นำและผู้ตาม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งในภาคราชการ เอกชน ชุมชน และแม้แต่ศาสนา
9. อัฟริกา โอกาสใหม่ของการทำธุรกิจ (Africa: Open for business)
ทวีปอัฟริกา จัดเป็นทวีปที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสอง และมีประชากรโดยรวมมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากทวีปเอเชีย
ทวีปที่มีพื้นที่ๆและทรัพยากรที่จะยังพัฒนาได้อีกมาก อย่างอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย พื้นที่ขาดใหญ่ในบราซิลในอเมริกาใต้ ไซบีเรียในการครอบครองของรัสเซีย เหล่านี้ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก แต่ฝ่ายประชาชนและรัฐบาลของเขาจะมีเงื่อนไขมากมายที่จะสกัดคนเข้าประเทศ
ทวีปอัฟริกายังมีช่องทางในการพัฒนาอยู่มาก ยังมีพื้นที่ๆยังไม่ได้พัฒนา แต่พร้อมที่จะเปิดให้มีการพัฒนา และมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาได้หากมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ และโดยรวม แม้ปัจจุบันยังมีปัญหาความอดอยาก แต่แท้จริงแล้ว ยังมีทางในการพัฒนาทางการเกษตรที่จะพึ่งพาอาหารจากการผลิตของภายในประเทศและระหว่างประเทศในอัฟริกาได้อีกมาก
10. การคิดระบบทางหลวงใหม่ (Reinventing the highway)
ทศวรรษที่ 20 หรือประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา นับเป็นยุคความเฟื่องฟูของรถยนต์
Ford Model T นับเป็นการปฏิวัติการผลิตรถยนต์โดยการนำระบบสายพานการผลิตมารใช้ และทำให้มีต้นทุนที่ประหยัด รถมีราคาที่คนชั้นกลางสามารถเป็นเจ้าของได้
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือยุค ค.ศ. 1950 เป็นต้นมาในสมัยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไอเซนเฮาวส์ (Dwight D. Eisenhower National System of Interstate and Defense Highways) ได้มีการสร้างทางหลวงระหว่างรัฐใหม่ ที่เรียกว่า Interstate ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นความเสื่อมถอยของระบบรถไฟ
มีการขยายตัวของประชากรออกมาอยู่บริเวณที่เขาเรียกว่า “ชานเมือง” หรือ Suburban
ซึ่งระบบทางหลวง หรือเส้นทางขนาดใหญ่ มีการรองรับคนถึง 390,000 คันต่อวัน (vehicles per day) ดังในกรณีของเส้นทาง I-405 ในเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย (Los Angeles, California - 2006 ) ปัญหาที่ตามมาคือ การใช้พลังงานน้ำมันอย่างมากมาย ปัญหาอากาศเป็นพิษ ความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ ตัวอย่าง ในแต่ละวัน คน 1 คนต้องขับรถยนต์ไปทำงานระยะทางรวม 100 ไมล์ เมื่อประกอบกับวัฒนธรรมรถยนต์คันใหญ่ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเปลือง ราคาน้ำมันแพงขึ้น ต้องจ่ายค่าน้ำมันถึงวันละ 500-700 บาท ต้องใช้เวลาอยู่บนถนนนานนับ 2-3 ชั่วโมง
ในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไป เป็นยุคที่สหรัฐอเมริกาเองก็ต้องหวนกลับไปคิดเรื่องการขยายตัวของเมืองใหญ่ การเดินทางในแต่ละวันของประชาชนคนทำงานที่ต้องเดินทางในแต่ละวันเพื่อเข้าไปทำงานในเมือง ประเทศที่มีเมืองขนาดคนกว่า 1 ล้านคนขึ้นไป ต้องหันมาทบทวนการตั้งถิ่นฐานของประชาชนเสียใหม่ และนั่นอาจหมายถึงการต้องมีระบบทางหลวงใหม่
แนวทางในการดำเนินการ
แนวคิดในการเขียน คือ
1. ได้หัวเรื่องจากแนวคิด 10 เรื่องดังกล่าว ตรวจสอบความคิดและสาระที่เขานำเสนอ
2. ศึกษาอย่างทำความเข้าใจ ใช้เวลาและประสบการณ์ที่มีในต่างแดน และในประเทศไทยใช้เพื่อตรวจสอบ
3. มองย้อนกลับมายังประเทศไทย แล้วใช้แนวคิดดังกล่าวในการวิเคราะห์ และหาทางออกที่สร้างสรรค์สำหรับสังคมไทย
4. เขียนและนำเสนอใน Website: www.itie.org/eqi/, http://pracob.blogspot.com ใครจะนำไปเผยแพร่ต่อก็ไม่ขัดข้อง และขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอความคิด ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน โดยเฉพาะหลายคนมีประสบการณ์และตัวอย่างที่สามารถจะแลกเปลี่ยนกันได้ จึงเรียนมาเพื่อเชิญทุกท่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทาง Blog ที่มีอยู่ได้
5. อาจรวบรวมสรุปเป็นเล่ม จัดพิมพ์ขายเพื่อเผยแพร่ ก็อาจจะทำอยู่