Saturday, January 31, 2015

ดูแลโรคเบาหวาน (Diabetes) - ให้เดินสายกลาง

ดูแลโรคเบาหวาน (Diabetes) - ให้เดินสายกลาง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: สุขภาพ อนามัย, health, healthcare, เบาหวาน, diabetes, อาหารการกิน, nutrition, diet, การออกกำลังกาย, exercise, แพทย์, physician, doctor,

คุณ Joe Darun เล่าประวัติการป่วยเป็นเบาหวาน (Type II Diabetes) เหมือนผม ขอบคุณมาก และขอชื่นชมที่ให้การเจ็บป่วยของเราเป็นบทเรียนในการดำรงชีวิตแก่คนอีกเป็นจำนวนมาก

การดูแลโรคเบาหวานที่ดีต้องทำอย่างมีทีมงาน (Team) และเดินสายกลาง


ภาพ แม้เด็กๆ หากเป็นเบาหวาน ก็ต้องให้การศึกษา เพื่อให้เขาดูแลตัวเองได้


ภาพ การติดระบบดูแลระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง ทำให้การใหเยา อาหาร และออกกำลังกายมีความพอเหมาะ คุมน้ำตาลไม่ให้สูง หรือต่ำเกินไป


ภาพ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หาซื้อได้ในราคาชุดละ 2000-2500 บาท สามารถใช้ร่วมกันได้ โดยเปลี่ยนเข็มเจาะ เพื่อป้องกันโรคที่จะติดต่อผ่านเลือดได้


ภาพ ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องได้รับการศึกษา เพื่อการดูแลตนเอง

คนที่จะเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาโรคอย่างเบาหวานมี 3 ลักษณะ คือ (1) แพทย์ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งในช่วงแรกๆ แพทย์เป็นอันมากไม่รู้เรื่องอาหารการกิน อาจเน้นไปที่ใช้ยาอย่างเดียว ซึ่งช่วยไม่ได้ (2) นักโภชนาการ ที่จะต้องแนะนำเรื่องอาหารการกิน ซึ่งส่วนใหญ่คือลดน้ำตาล พวกแป้ง Gluten กินเนื้อได้ไม่จำกัด แต่เป็น Lean meat กินผักได้ไม่จำกัด และผลไม้ไม่หวานได้ (3) ครูฝึกสอนด้านการออกกำลังกายและสันทนาการ เพราะการออกกำลังกายทำให้เกิดความสมดุลในระดับน้ำตาลได้ดีที่สุด

แต่ที่สำคัญที่สุดนอกจากนี้คือ "ตัวเอง" คุณ Joe Darun ใช้เวลา 1 ปีในการควบคุมนิสัยในการดำรงชีวิต เพื่อนผมระดับพลเอก ป่วยเกือบตาย ต้องเข้าๆออกๆโรงพยาบาลในช่วง 2 ปี ปัจจุบันเขาควบคุมตัวเองได้แล้ว เลิกนิสัยตามใจตัวเอง และรวมถึงเลิกเหล้า ผมเองใช้การควบคุมตัวเองกับไปหาแพทย์เป็นระยะๆ ในช่วง 12 ปี

การดูแลโรคเบาหวาน ต้องอย่าดำเนินชีวิตสุดโต่ง ด้านหนึ่งคือไม่ดูแลตนเองเลย กินไม่เลือกแล้วไม่ออกกำลังกาย ไม่พักผ่อนให้เพียงพอ อีกด้านคือเกือบจะหยุดกิน หรือกินน้อยอย่างเข้มงวดจนเกินไป พวกหลังนี้ต้องระวังโรคน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycaemia) ซึ่งมีอันตรายรุนแรงได้เช่นกัน

Wednesday, January 28, 2015

อนาคตอุดมศึกษา – ปัญหาบ้านเมืองคือโอกาสของสาขาวิชา

อนาคตอุดมศึกษา – ปัญหาบ้านเมืองคือโอกาสของสาขาวิชา

Keywords: การศึกษา, education, การอุดมศึกษา, higher education, การพัฒนาคณาจารย์, faculty development, staff development, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ความเป็นผู้นำ, leadership


รศ.ดร. ทองอินทร์ วงศ์โสธร อดีตหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนนั่งถัดไป คือ ผศ.ดร. พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ ประธานสาขาอุดมศึกษา คนปัจจุบัน
---------------

วันที่ 28 มกราคม 2558 การพูดคุยเนื่องในการสังสรรค์และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ณ ห้องอาหาหรญี่ปุ่น โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ระหว่างอาจารย์อาวุโสที่เกษียณราชการไปแล้วจากภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับอาจารย์ปัจจุบันของสาขาวิชาอุดมศึกษา

หลังจากอาจารย์อาวุโสได้กล่าวอวยพรต่ออาจารย์รุ่นน้องๆ รศ.ดร. ทองอินทร์ วงศ์โสธร อาจารย์เก่าอาวุโสที่สุด อดีตหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, ผู้อำนวยการ SEAMEO RIHED, รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงได้เริ่มถามถึงสถานภาพของภาควิชาอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันเป็นสาขาวิชาหนึ่งในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากฟังผศ.ดร.พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ได้เล่าสถานภาพของสาขาวิชาให้ฟังโดยคร่าวๆ ก็พอสรุปได้ว่า สาขาวิชายังมีศักยภาพที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์กับคณะวิชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก แต่ประเด็นคือไม่ใช่รอให้เบื้องบน คือคณะวิชา มหาวิทยาลัยเป็นคนมอบหมายให้ทำ แต่ทางสาขาวิชาจะต้องเป็นฝ่ายเสนอความคิดริเริ่มว่า “เราเห็นปัญหาอย่างไร และจะมีแผนงานที่จะทำในอนาคตอย่างไร” และการจะกระทำได้นี้ ก็ต้องทำอย่างประสานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งภายในมหาวิทยาลัย และส่วนงานอื่นๆของประเทศได้

ในทัศนะของผม สาขาวิชาควรเป็นต้นเรื่องนำเสนอแนวคิดอะไรที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยและสังคมไทย ส่วนที่ผมพอคิดได้และมีประสบการณ์ คือเรื่อง “การพัฒนาคณาจารย์” (Faculty Development) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยน่าจะมีอาจารย์และนักวิจัยระดับสูงไม่น้อยกว่า 3000-3500 คน (ช่วยตรวจสอบข้อมูลด้วย) เขาเหล่านี้ถูกคาดหวังจากสังคมให้พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นไม่ใช่เพียงมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับชาติ แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่แข่งขันได้ระดับภูมิภาค และนานาชาติ (Regional & International University)

ในระดับประเทศ เรามีสถาบันอุดมศึกษาอยู่ทั่วประเทศนับเป็นพันแห่ง เราก็มีปัญหาด้านบุคลากรทางวิชาการ อาจารย์และนักวิจัย ที่จะต้องมีการพัฒนายกระดับให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ สามารถทำงานแลกเปลี่ยนความรู้และสรรค์สร้างสิ่งใหม่ได้ในระดับสากล ประกอบกับเราไม่มีโครงการส่งครูอาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทและเอกต่อเนื่องมานานแล้ว ซึ่งแม้มีประโยชน์ แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงนับเป็น 10 ล้านบาท/คน สิ่งที่ควรทำคือใช้สภาพแวดล้อมและโอกาสที่มีอยู่ แล้วเสริมสร้างกิจกรรมใหม่ๆที่จะพัฒนาคุณภาพ เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน การแข่งขัน และกิจกรรมความร่วมมือในสากล

คิดอย่างจุฬาฯ เรามีทรัพย์สินและรายได้มากมายอย่างที่มหาวิทยาลัยอื่นๆเขาไม่มี เราควรจะใช้เงินรายได้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในยามวิกฤตินี้ให้ได้มากๆ จุดสำคัญสำหรับภาควิชาฯ คือ การเสนอตัวเองเพื่อทำงานใหญ่ แล้วเราก็จะได้เรียนรู้กับงานนี้ไปด้วย


สุดท้ายจึงได้เสนอให้มีการนัดพบพูดคุยกัน เรื่องแผนพัฒนาสาขาวิชา ก่อนที่จะมีการพูดคุยกับระดับสูงของคณะและมหาวิทยาลัยต่อไป



















Saturday, January 24, 2015

คำขวัญ - ความจำเป็นคือมารดาของการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ (Necessity is the mother of invention.)

คำขวัญ - ความจำเป็นคือมารดาของการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ (Necessity is the mother of invention.)

Keywords: การเปลี่ยนแปลง, change, นวัตกรรม, innovation, การแพทย์, medicine, การผ่าตัดหัวใจ, heart surgery

กาลครั้งหนึ่ง การผ่าตัดใดๆเกี่ยวกับหัวใจเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะหลักคือหัวใจจะหยุดเต้นได้ไม่เกิน 3 นาที การจะผ่าตัดหัวใจจึงดูเหมือนเป็นความบ้าคลั่ง

แต่มีกุมารแพทย์ท่านหนึ่งชื่อหมอเฮเลน ทอสสิค ( Helen Taussig) เธอสังเกตว่ามีเด็กที่ป่วยด้วยโรคหัวใจหน้าซีดคล้ำ (Blue babies) เพราะขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ และต้องเข้าโรงพยาบาลมาพบเธอ แต่เด็กเหล่านั้นก็จะอ่อนแอและเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นาน หมอเฮเลนคุยกับหมออัลเฟรด เบลย์ลอค (Alfred Blaylock) ว่ามีหนทางใดบ้างที่จะผ่าตัดหัวใจเพื่อรักษาเด็กเหล่านี้ ในปี ค.ศ. 1941 หมอเบลย์ลอคกับทีมงานได้คิดประดิษฐ์เครื่องมือและวิธีการผ่าตัดหัวใจ โดยทดลองวิธีการกับสุนัขหลายครั้ง จนพบวิธีการผ่าตัดเพื่อต่อเส้นเลือดเข้าเลี้ยงหัวใจ (Bypass) ได้ และจึงทำการผ่าตัดกับเด็กผู้ป่วยด้วยโรคหน้าคล้ำ ในที่สุดคณะแพทย์นำโดยหมอเบลย์ลอคแห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็สามารถทำได้สำเร็จ และเป็นจุดเริ่มต้นในการผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจที่ได้พัฒนามากขึ้นจนถึงปัจจุบัน 

ในปี ค.ศ. 2004 เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละปีมีการผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านราย


หมออัลเฟรด เบลย์ลอค (Alfred Blaylock) 


ภาพ หมอเฮเลน ทอสสิค ( Helen Taussig)


ภาพ ดร. วิเวียน โธมัส (Dr. Vivian Thomas) ผู้ได้รับการศึกษาสูงสุดเพียงจบมัธยมศึกษา แต่ได้รับเลือกจากหมอเบลย์ลอคให้มาช่วยงานด้านการวิจัยผ่าตัด วิเวียน โธมัส ในระยะต่อมาที่เข้าสู่ยุคสิทธิมนุษยชน เขาได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าได้ร่วมกับหมอเบลย์ลอคในการคิดค้นวิธีผ่าตัดที่ต้องฝึกทักษะอย่างสูง เขาคืออีกคนหนึ่งที่สำคัญมากในทีมงานของหมอเบลย์ลอคในการพัฒนาการผ่าตัดหัวใจครั้งแรกของโลก

Friday, January 23, 2015

นิทานในถุง อย่าเก็บไว้ให้เปล่าประโยชน์

นิทานในถุง อย่าเก็บไว้ให้เปล่าประโยชน์

Keywords: การแบ่งปัน, sharing, การไม่เก็บงำความรู้, รู้อะไรต้องแบ่งปัน, Ms. Alicia Dongjoo Bang South Korea


ภาพ นิทานเรื่อง "นิทานในถุง อย่าเก็บไว้ให้เปล่าประโยชน์" โดย Ms. Alicia Dongjoo Bang จากประเทศ South Korea




กาลครั้งหนึ่ง "คิม" เขาเป็นชายหนุ่มรูปงามที่สนใจไปฟังนิทานที่แสนสนุก ไม่ว่าจะที่ห่างไกลแค่ไหน เขาไปฟังแล้วก็เก็บรวบรวมเรื่องดีๆเหล่านั้นใส่ถุงไว้ ไม่เคยไปเผยแพร่ที่ไหน เก็บมานานหลายปี จนเรื่องเล่าเต็มถุง อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้พบรักกับหญิงสาวที่อยู่ต่างเมือง คบกันมานาน จนได้ตัดสินใจแต่งงาน และจะเดินทางไปเข้าพิธีวิวาห์ที่บ้านเจ้าสาว ขณะนั้น คนรับใช้ที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งของเขาได้ยินเสียงดังออกมาจากในถุงนิทาน เป็นเสียงของเรื่องในนิทานที่เขาเก็บไว้ แต่เป็นเสียงที่แสดงความโกรธยิ่ง

เสียงจากในถุงนิทานดังออกมา "คอยดูนะ เมื่อเจ้าคิมเดินทางไปที่ไหน ฉันจะเป็นผลไม้อยู่ข้างทาง ถ้าเจ้าหนุ่มนี่หิวเด็ดกินเมื่อใด มันจะเป็นยาพิษฆ่าเขา" ต่อมาคนรับใช้ก็ได้ยินอีกเสียงดังมาจากในถุง "ฉันก็เหมือนกัน เกลียดไอ้หนุ่มคนนี้นัก กักฉันอยู่ได้ ไม่ปล่อยฉันออกไปเสียที คอยดูนะ เวลาเดินทางแล้วหิวน้ำเมื่อใด ฉันจะเป็นน้ำที่กลายเป็นยาพิษ เขาดื่มเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น" คนรับใช้ได้ฟังก็ตกใจ แล้วก็ได้ยินอีกเสียงหนึ่ง "คอยดูนะ เมื่อเขาไปที่บ้านเจ้าสาวเมื่อใด ฉันจะกลายเป็นงูซ่อนอยู่ใต้ที่นอน เขาเข้ามาหลับนอนเมื่อใด ฉันก็จะฉกเขาให้ตายเลย"

คนรับใช้ได้ยินเสียง ด้วยความกังวลและห่วงใยเจ้านายคิมของเขา จึงขออาสาติดตามเจ้านายไปร่วมงานแต่งงานด้วย คิมทนคนรับใช้อ้อนวอนไม่ไหว ก็อนุญาตให้เขาติดตามไปด้วย

ในระหว่างเดินทางไปด้วยกัน หนุ่มคิมเห็นผลไม้ข้างทางที่น่าอร่อย เขาจึงจะเด็ดมากัดกิน แต่คนรับใช้ก็บอกว่า "เจ้านาย อย่าเพิ่งกินเลย เดี๋ยวข้างหน้ามีอะไรดีกว่านี้อีก เดินทางต่อไปเถอะ” คิมก็เชื่อแล้วก็เดินทางต่อไป ไม่นานหนัก คิมเห็นลำธารที่น้ำเย็นใสสะอาด ก็เตรียมตักจะดื่มกิน คนใช้ก็บอกว่า "อย่าเลยเจ้านาย มันจะค่ำแล้ว รีบเดินทางไปเถิด ไม่นานก็ถึง" หนุ่มคิมรู้สึกขัดอารมณ์ แต่ก็ยอมตาม รีบเดินทางต่อไปให้ถึงบ้านเจ้าสาว

ในที่สุดหนุ่มคิมก็ได้เข้าพิธีวิวาห์กับเจ้าสาวที่น่ารักของเขา ครั้นถึงพิธีส่งตัวเข้าห้องหอของฝ่ายเจ้าสาว คนรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ก็ตามเข้าไปด้วย แล้วรื้อที่นอนขึ้น ก็พบงูพิษใหญ่อยู่ใต้ที่นอนนั้น คนรับใช้ก็เอาดาบที่ติดตัวมา ฆ่าเจ้างูร้ายนั้นตายไปในทันที


หนุ่มคิมสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น จนคนรับใช้หายเหนื่อยแล้วจึงเล่าให้ฟังว่า เขาได้ยินเสียงจากถุงใส่นิทาน ที่กล่าวอาฆาตมาดร้ายต่อหนุ่มคิม ตั้งแต่เสียงจากผลไม้ เสียงจากน้ำ และเสียงจากงูพิษ และเกรงจะเกิดอันตรายขึ้นกับเจ้านาย จึงได้ขอติดตามมา "บัดนี้ทุกอย่างได้ผ่านพ้นไปแล้ว ขอเจ้านายจงมีความสุข" คิมได้ฟังแล้วจึงสำนึกว่า การที่เขามีนิทานที่ดีๆ แล้วไม่นำไปเล่าต่อให้คนอื่นๆฟังนั้น เป็นสิ่งไม่ดี

Tuesday, January 13, 2015

เป้าหมายรถยนต์ผลิตในอเมริกา ปี 2025 ต้องวิ่งได้ 54.5 ไมล์/แกลลอน

เป้าหมายรถยนต์ผลิตในอเมริกา ปี 2025 ต้องวิ่งได้ 54.5 ไมล์/แกลลอน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: อุตสาหกรรมรถยนต์รถยนต์ไฟฟ้า, electric vehicles, ev, electric cars, President Barack Obama

ในปัจจุบัน (2015) น้ำมันจะถูกในระยะสั้นนั้นไม่สำคัญ แต่นโยบายระยะยาวที่ระบบอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องรู้ คือน้ำมันระยะยาวมีแต่จะแพงขึ้น จนในที่สุดไม่มีน้ำมันปิโตรเลียมใช้ ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลอเมริกันกำหนดนโยบายระยะยาว ที่จะทำให้ระบบยานพาหนะพึ่งพาน้ำมันนำเข้าให้น้อยที่สุด

รัฐบาลโอบามาประกาศในค.ศ. 2012 ให้รถยนต์ที่ผลิตในปี ค.ศ. 2025 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องมีประสิทธิภาพการใช้น้ำมันที่ 54.5 ไมล์/แกลลอน หรือ 22.95 กม./ลิตร หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมันอีก 1 เท่าตัว ปัจจุบันรถยนต์ขนาดกลางในอเมริกา เช่น Toyota Camry วิ่งได้ที่ 12.5 กม./ลิตร ถือว่าดีแล้ว

จากเป้าหมายนี้ รถยนต์และรถบรรทุกขนาดเบาที่ผลิตในอเมริกาเป็นอันมากได้บรรลุเป้าหมายประหยัดพลังงานที่ 35.5 ไมล์/แกลลอนในช่วงปี ค.ศ. 2012-2016 แล้ว

คำประกาศเป้าหมายปี 2025 นี้ได้รับการตอบสนองจากระบบอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงสหภาพแรงงานผู้ผลิตรถยนต์ที่มีฐานอยู่ในอเมริกา ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันจะมีความผันผวนในช่วงสั้น แต่เป้าหมายของอุตสาหกรรมรถยนต์นี้พุ่งเป้าไปสู่การวิจัยและพัฒนาที่จะต้องบรรลุผลในปี ค.ศ. 2025 หรือก่อนหน้านั้น แนวทางบริษัทรถยนต์ได้พัฒนาเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมันมีหลายแนวทาง คือ (1) การลดขนาดรถยนต์ แต่ยังคงนั่งได้สบายเหมือนเดิม พร้อมทั้งลดการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ (Full-sized cars) (2) ลดน้ำหนักตัวรถลงด้วยเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ (3) ใช้พลังงานทดแทนอื่นๆที่มีต้นทุนต่ำกว่าและเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางอากาศน้อยกว่า เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน เป็นต้น


ภาพ หากจะใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ประหยัดพลังงาน ก็ต้องมีสถานีเติมพลังไว้ต้อนรับผู้คน