Wednesday, January 28, 2015

อนาคตอุดมศึกษา – ปัญหาบ้านเมืองคือโอกาสของสาขาวิชา

อนาคตอุดมศึกษา – ปัญหาบ้านเมืองคือโอกาสของสาขาวิชา

Keywords: การศึกษา, education, การอุดมศึกษา, higher education, การพัฒนาคณาจารย์, faculty development, staff development, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ความเป็นผู้นำ, leadership


รศ.ดร. ทองอินทร์ วงศ์โสธร อดีตหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนนั่งถัดไป คือ ผศ.ดร. พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ ประธานสาขาอุดมศึกษา คนปัจจุบัน
---------------

วันที่ 28 มกราคม 2558 การพูดคุยเนื่องในการสังสรรค์และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ณ ห้องอาหาหรญี่ปุ่น โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ระหว่างอาจารย์อาวุโสที่เกษียณราชการไปแล้วจากภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับอาจารย์ปัจจุบันของสาขาวิชาอุดมศึกษา

หลังจากอาจารย์อาวุโสได้กล่าวอวยพรต่ออาจารย์รุ่นน้องๆ รศ.ดร. ทองอินทร์ วงศ์โสธร อาจารย์เก่าอาวุโสที่สุด อดีตหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, ผู้อำนวยการ SEAMEO RIHED, รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงได้เริ่มถามถึงสถานภาพของภาควิชาอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันเป็นสาขาวิชาหนึ่งในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากฟังผศ.ดร.พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ได้เล่าสถานภาพของสาขาวิชาให้ฟังโดยคร่าวๆ ก็พอสรุปได้ว่า สาขาวิชายังมีศักยภาพที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์กับคณะวิชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก แต่ประเด็นคือไม่ใช่รอให้เบื้องบน คือคณะวิชา มหาวิทยาลัยเป็นคนมอบหมายให้ทำ แต่ทางสาขาวิชาจะต้องเป็นฝ่ายเสนอความคิดริเริ่มว่า “เราเห็นปัญหาอย่างไร และจะมีแผนงานที่จะทำในอนาคตอย่างไร” และการจะกระทำได้นี้ ก็ต้องทำอย่างประสานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งภายในมหาวิทยาลัย และส่วนงานอื่นๆของประเทศได้

ในทัศนะของผม สาขาวิชาควรเป็นต้นเรื่องนำเสนอแนวคิดอะไรที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยและสังคมไทย ส่วนที่ผมพอคิดได้และมีประสบการณ์ คือเรื่อง “การพัฒนาคณาจารย์” (Faculty Development) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยน่าจะมีอาจารย์และนักวิจัยระดับสูงไม่น้อยกว่า 3000-3500 คน (ช่วยตรวจสอบข้อมูลด้วย) เขาเหล่านี้ถูกคาดหวังจากสังคมให้พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นไม่ใช่เพียงมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับชาติ แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่แข่งขันได้ระดับภูมิภาค และนานาชาติ (Regional & International University)

ในระดับประเทศ เรามีสถาบันอุดมศึกษาอยู่ทั่วประเทศนับเป็นพันแห่ง เราก็มีปัญหาด้านบุคลากรทางวิชาการ อาจารย์และนักวิจัย ที่จะต้องมีการพัฒนายกระดับให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ สามารถทำงานแลกเปลี่ยนความรู้และสรรค์สร้างสิ่งใหม่ได้ในระดับสากล ประกอบกับเราไม่มีโครงการส่งครูอาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทและเอกต่อเนื่องมานานแล้ว ซึ่งแม้มีประโยชน์ แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงนับเป็น 10 ล้านบาท/คน สิ่งที่ควรทำคือใช้สภาพแวดล้อมและโอกาสที่มีอยู่ แล้วเสริมสร้างกิจกรรมใหม่ๆที่จะพัฒนาคุณภาพ เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน การแข่งขัน และกิจกรรมความร่วมมือในสากล

คิดอย่างจุฬาฯ เรามีทรัพย์สินและรายได้มากมายอย่างที่มหาวิทยาลัยอื่นๆเขาไม่มี เราควรจะใช้เงินรายได้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในยามวิกฤตินี้ให้ได้มากๆ จุดสำคัญสำหรับภาควิชาฯ คือ การเสนอตัวเองเพื่อทำงานใหญ่ แล้วเราก็จะได้เรียนรู้กับงานนี้ไปด้วย


สุดท้ายจึงได้เสนอให้มีการนัดพบพูดคุยกัน เรื่องแผนพัฒนาสาขาวิชา ก่อนที่จะมีการพูดคุยกับระดับสูงของคณะและมหาวิทยาลัยต่อไป



















No comments:

Post a Comment