พี่น้องชาวไทย เตรียมรับสภาพเศรษฐกิจถดถอย
...
Keywords: เศรษฐกิจ, economy,
economics, เศรษฐกิจถดถอย, recession, การเมือง,
politics, การปกครอง, governance, ธรรมาภิบาล,
good governance, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร,
populism policy, corruption
ดรรชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET ในวันที่ 20 สิงหาคม 2556 อยู่ที่ 1,370.86 ติดลบจากวันก่อน -27.62
คิดเป็นร้อยละ -1.98 มีการซื้อขายกันที่ 58,041.96 ล้านบาท ดรรชนีตลาดหลักทรัพย์เคยขึ้นสูงถึงเกือบ
1600 จุด แล้วลดลงมาเป็นลำดับ จนถึงวันนี้ 1,370.86
ในอีกด้านหนึ่ง
ทางฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
ไทยได้เข้าสู่สภาพเศรษฐกิจถดถอยแล้ว อ่านได้จาก The Nation, Bangkok Post, ในประเทศไทย สำหรับต่างประเทศ ติดตามได้ที่ Bloomberg, Reuters,
BBC News, The Economists, Asianewsnet, Taipei Times ของไต้หวัน และอีกมากมาย
สำหรับคนระดับชาวบ้านธรรมดาอย่างผม
ที่ไม่ได้ทำธุรกิจใหญ่โต ก็พอมองเห็นสาเหตุของความถดถอยว่ามาจากอะไรในช่วง 2-3
ปีที่ผ่านมา มันเป็นเหตุจากในประเทศไทยเองเสียเป็นส่วนใหญ่
โดยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่งอย่างมากอยู่แล้ว หากภาครัฐบาลรู้จักบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
ทำการบริหารบ้านเมืองให้โปร่งใส ใช้หลักธรรมาภิบาล ในทางเศรษฐกิจ
ก็ให้ยึดหลักละเอียดและถี่ถ้วนในการใช้เงินงบประมาณของแผ่นดิน
จะลงทุนทำอะไรก็ต้องคิดถึงผลได้ผลเสีย อย่านำประเทศไปสุ่มเสี่ยงกับนโยบายประชานิยม
(Populism policy) ใช้เงินอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล
กลับไปสร้างความอ่อนแอ เปลี่ยนประชาชนส่วนหนึ่งที่ควรจะยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ให้กลายเป็นขอทาน
แต่กลับเป็นตรงกันข้าม
ความมีอำนาจทางการเมืองภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย
กลับกระทำการบริหารประเทศอย่างย่ามใจ
ไม่ได้คำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศว่าจะได้รับผลเสียอย่างไรบ้าง
จากข่าวและข้อมูลทางธุรกิจและเศรษฐกิจ
ทำให้ผมต้องมาอ่านข้อมูลจากฝ่ายเศรษฐกิจของพรรคฝ่ายค้าน กรณ์ จาติกวณิชย์ (Korn
Chatikavanij) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่ได้โพสต์ข้อความลงใน Facebook ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.
2556 ซึ่งเขียนเอาไว้อย่างง่ายๆ เพื่อเตือนสตินักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลาย
โปรดอ่านดูครับ แล้วลองคิดดู
Korn Chatikavanij · 342,554 like this, 20 hours ago ·
ถดถอย?
"Recession" คือ
'ภาวะถดถอย' ทางเศรษฐกิจ
วิธีวัดทางเทคนิคคือการเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของ GDP ในแต่ละไตรมาสเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น
และถือว่าเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย' ถ้าการเปรียบเทียบเช่นนีี้ติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน
วันนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย' อย่างเป็นทางการแล้วหลังจากที่สภาพัฒน์ได้เปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งสร้างความตกใจให้กับนักลงทุนพอสมควร
โดยสรุปคือไตรมาส ๒ มีการขยายตัวติดลบ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส ๑ และไตรมาส ๑
เองติดลบ 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส ๔ ของปีที่แล้ว
ถือว่าเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกตั้งแต่ช่วงวิกฤติปี
๕๑-๕๒ ความหมายคืออะไร
อันดับแรก
เทียบกับปีที่แล้วโดยรวมเศรษฐกิจยังโตอยู่ เพียงแต่อัตราการขยายตัวชะลอลงอย่างมาก
และที่เป็นเช่นนั้นเพราะตัวขับเคลื่อนทุกตัวชะลอตัวหมด
ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การลงทุน การส่งออก หรือ การลงทุนโดยรัฐ
ถามว่าถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปมีผลอย่างไรกับเรา
มีเยอะครับ อันดับแรก ธุรกิจต่างๆซบเซาก็ทำให้เงินฝืด ขาดความคล่องตัว
รายได้ทุกคนลดลง มนุษย์เงินเดือนอย่างเก่งก็คือขาดโอที ขาดโบนัส
เลวร้ายกว่านั้นก็คือถูกลดเงินเดือนหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง นักศึกษาจบมาใหม่ก็จะหางานยากขึ้น
ประชาชนจำนวนมากวันนี้รับภาระหนี้อยู่หนักอึ้งอยู่แล้วก็จะลำบากมากขึ้นเพราะภาระหนี้ยังคงอยู่แต่รายได้ลดลง
ส่วนภาครัฐรายได้ภาษีก็จะลดลง
นอกเสียจากจะรีดไถชาวบ้านหนักมากขึ้น
เพราะดันไปลดภาษีกำไรให้ผู้ประกอบการไปแล้วปีละเกือบ ๒ แสนล้านบาท การขาดดุลมากขึ้นก็คือต้องกู้มากขึ้น
และเมื่อ GDP โตช้า ฐานคำนวณหนี้สาธารณะก็จะเล็กลง
สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะเพิ่มขึ้น
มีผลต่อเครดิตของประเทศและระดับความเชื่อมั่น ต้นทุนการกู้ยืมของเราจะสูงขึ้น
ขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลง
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ 'ฝ่ายค้าน'
มองในแง่ลบเกินไป
แต่เป็นข้อเท็จจริงตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นแน่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น
ที่น่าแปลกใจคือประเทศไทยเราเข้าสู่สภาวะนี้ทั้งๆที่ไม่ได้มี
'วิกฤติ' อะไรมาเป็นตัวฉุด
และนี่เรายังไม่ได้เห็นผลจากการถอนเงินทุนโดยต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าสหรัฐส่งสัญญาณยกเลิกการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงิน
(QE)
แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้อีกก็คือนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
ประชานิยมที่เงินไม่ถึงมือชาวบ้าน ซํ้าร้ายกลายเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้เขา
และเป็นภาระมหาศาลต่องบประมาณแผ่นดิน
ส่วนนโยบายการคลังก็พลาดเพราะมัวทำเก๋
ลดงบลงทุนในงบประมาณมาสองปีติดเพื่อพยายามหลอกชาวบ้านว่างบขาดดุลน้อยลง
มีวินัยการคลัง แต่จริงแล้วหลบไปใช้วิธีกู้ 'นอกระบบ'
ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังเดินหน้าไม่ได้ และอาจจะเดินหน้าไม่ได้เลย
เสียเวลาฟรีในการลงทุนไปเป็นปี นี่เป็นรัฐบาลมาสองปีเต็มแล้ว การลงทุนไม่ขยับ
มีแต่การ 'พูด' ว่าจะลงทุน
ถึงวันนี้ไม่มีทางเลือกแล้วครับ
กระตุ้นการบริโภคด้วยการกระตุ้นให้ชาวบ้านเพิ่มหนี้ก็ไม่ได้แล้ว
ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้อย่างเดียว และต้องทำด้วยการ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
ลดการกินหัวคิว เพิ่มราคาพืชผลการเกษตร พัฒนาทักษะแรงงานไทยทุกระดับ
ลดภาระหนี้ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณโดยภาครัฐ
และลดเงื่อนไขขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม
ส่วนพวกนโยบายหลอกล่อชาวบ้าน เลิกได้แล้วครับ
เลือกตั้งคุณก็ชนะมาตั้งนานแล้ว ควรเอาจริงกับหน้าที่การเป็นรัฐบาลมากกว่า
มีใครได้ข่าวการทำงานของครม.เศรษฐกิจบ้างไหม
มีใครได้ฟังแนวทางการแก้ปัญหาจากท่านนายกฯ หรือรองนายกฯเศรษฐกิจหรือไม่
มีการพูดคุยเรื่องอย่างนี้ในสภาฯบ้างหรือเปล่า ไม่มีเลยครับ
แถลงผลงานปีแรกยังไม่กล้าทำ สภาฯก็ไม่ยอมเข้า ถ้าผลงานดีไม่ว่า แต่ถ้าเป็นแบบนี้ต้องต่อว่าครับ