Sunday, May 25, 2014

อย่าเพิ่งประเมินและด่วนตัดสินรัฐประหาร

อย่าเพิ่งประเมินและด่วนตัดสินรัฐประหาร
-----------

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, government, governance, รัฐประหาร, copu d' etat, ระบอบทักษิณ, Thaksinocracy


ภาพที่เห็นหน้าจอทีวีทุกช่องในช่วงเริ่มต้นของการรัฐประหาร - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) National Peace and Order Maintaining Council

หลังจากการที่ฝ่ายทหารทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นับว่าเกินคาดจากที่ มวลมหาประชาชนต้องการ

แต่หากติดตามข่าวสารและปะติดปะต่อ ก็จะพบว่าคณะรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีทางเลือก เพราะท้ายที่สุดเมื่อรัฐบาลรักษาการไม่ยอมลาออก ก็มีอยู่เพียงทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ คือทำรัฐประหาร (Coup d’ etat)

เมื่อเข้าใจความจำเป็นในวิธีการ (Means) ก็ต้องมาดูที่เป้าหมายปลายทาง (Ends) การนำประเทศเข้าสู่สภาวการณ์ปกติ การขจัดระบอบฉ้อฉล การคอร์รัปชั่นในระบบราชการ การเล่นพรรคเล่นพวก
การเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้ แม้จะไม่สมบูรณ์ คนอาสาสมัครไปเป็นผู้แทน สามารถหาเสียงได้ในทุกที่ทั่วประเทศโดยปราศจากการคุกคาม นั่นคือ “การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” (Reform before Election)

ผมไม่อยากอวดว่ามีสติปัญญา ทำตนเป็นคนมี IQ (Intelligence Quotient) สูงเหนือคนอื่น ผมไม่ไปโวยวายต่อว่าใคร แต่ขณะเดียวกันจะพยายามใช้ EQ (Emotional Intelligence Quotient) เปิดใจรับฟังให้มากและให้ดี รับฟังอย่างมีการไตร่ตรอง

ผมไม่ใช่เป็นคนกลาง ผมเป็นคนมีฝ่าย คือเป็นฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ ผมจะเห็นด้วยกับใครก็ตามที่จะทำให้บ้านเมืองปลอดจากการคอร์รัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวกในระบบราชการ การซื้อขายตำแหน่ง แบ่งกันกินบ้านกินเมือง แต่ผมเปิดใจพอที่จะยอมรับวิธีการที่ไม่ปกติ ที่จะนำบ้านเมืองสู่สันติสุขในท้ายสุด อย่างน้อยที่สุดในช่วง 100 วันแรกนี้ ต้องขอมองการทำงานของคณะรัฐประหาร ต้องให้เวลาเขาที่จะทำงานได้อย่างสะดวกครับ ตราบที่ไม่ได้ริดรอนสิทธิมนุษยชนเกินควร

ประกอบ คุปรัตน์
26 พฤษภาคม 2557
-------------------

ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตวุฒิสมาชิก ได้เขียนบทความสั้นๆ ใช้ข้อความอย่างกะทัดรัด และแสดงทัศนะต่อการรัฐประหาร และสิ่งที่เราควรจะกระทำต่อไปอย่างมองรอบด้านและแยกแยะสิ่งผิดและถูก

๑.เราไม่ควรยินดีกับการรัฐประหาร 

-->แต่ควรยินดีต่อการใช้อำนาจจัดการอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มการเมืองโกงชาติ และสมุนบริวาร 

๒.เราไม่ควรยินดีที่คนไทยจำนวนหนึ่งถูกคณะรัฐประหารใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ดำเนินการเอาผิดและลงโทษอย่างรุนแรง 

-->แต่ควรยินดี ที่คนกระทำความผิดจะถูกลงโทษ เพราะกระบวนการยุติธรรมตามปกติเอาผิดไม่ได้
๓.เราไม่ควรสะใจที่คนไทยกลุ่มหนึ่งจะถูกกระทำย่ำยี โดยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ตามปกติ 

-->แต่ควรยินดี ที่คนกลุ่มนี้ ซึ่งเคยหมิ่นแคลนกระบวนการยุติธรรม จะได้รับวิบากกรรม จากสิ่งที่พวกเขากระทำต่อประเทศชาติโดยเจตนา

๔.เราไม่ควรยินดีต่อการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ

-->แต่ควรยินดีที่จะเสียสละเสรีภาพของเราบางส่วนเพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูประเทศชาติสามารถเดินไปได้ 

๕.เราไม่ควรยินดี ที่สื่อสารมวลชนของเราถูกควบคุมโดยคณะรัฐประหาร 

-->แต่ควรสมน้ำหน้าพวกเขา ที่เคยร้องแรกแหกกระเฌอ เมื่อมวลมหาประชาชนไปขอร้อง
ให้เสนอข่าวอย่างเป็นธรรม อีกทั้งยังเสนอข่าวรัฐบาลโจรต่อมาอย่างไม่ไยดีกับข่าวสารของ
ผู้รักความเป็นธรรม

๖.เราไม่ควรยินดี ที่ผู้เห็นต่างทางการเมืองกับเรากำลังจะถูกจำกัดและควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก 

-->แต่ควรยินดี ที่สมุนบริวารโจรโกงกินและขายชาติจะถูกกระทำ เสมือนหนึ่งพวกเขาเคยกระทำกับพวกเราเสียบ้าง

๗.เราไม่ควรชื่นชมทหารอย่างเกินเลย หรือออกนอกหน้าเพราะภารกิจที่เขากระทำยังไม่เสร็จสิ้น และผลลัพธ์ท้ายที่สุดยังไม่ปรากฏ 

-->เว้นเสียแต่ว่า สิ่งที่เขากระทำได้ในบัดนี้ ก็เป็นที่น่ายินดีเหลือประมาณแล้ว กับการจัดการต่อพวกโกงชาติและสมุนบริวาร

๘.เราไม่ควรปฏิเสธความคิดต่าง หรือความเห็นต่างกันทางการเมือง

-->เว้นเสียแต่ว่า เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว พบว่าความคิดเห็นหรือความเชื่อดังกล่าวนั้น มีเงื่อนงำ รับใช้โจร เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีเลศนัย ปราศจากตรรกะหรือความจริงรองรับ ดังที่วิญญูชนพึงมี 
เช่นตรรกะที่ว่า "รัฐประหารไม่ดี เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" เป็นต้น

๙.เราไม่ควรเชื่อ หรือเกรงใจ กับสถานะทางสังคม หรือสถานภาพของบุคคล เช่น ความเป็นนักวิชาการ ความเป็นปัญญาชน ความเป็นราษฎรอาวุโส ความเป็นองค์กรอิสระ ความเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ความเป็นสื่อมวลชนใหญ่ ฯลฯ 

หากเขาแสดงออก หรือมีทัศนะ ที่รับใช้คนโกงชาติ อ้างประชาธิปไตยจอมปลอม หรือสิทธิเสรีภาพในจินตนาการทั้งที่ในยุคของรัฐบาลโจร คนคิดต่างก็ถูกกระทำย่ำยีจนบาดเจ็บล้มตาย แต่บุคคลที่ว่ามาข้างต้น ก็ยังยืนอยู่ในฝ่ายโจร


๑๐. ความดีหรือความชั่ว มีมาตรฐานและกฏเกณฑ์ชี้วัด ทั้งทางศาสนาและทางสังคม หาใช่นามธรรมอันมิอาจพิสูจน์ เว้นเสียแต่ว่าอวิชชามิจฉาทิฏฐิจะครอบงำบุคคลนั้นๆ ให้เห็นผิดเป็นชอบ ซึ่งหากเขา(หรือเธอ)เห็นผิดเป็นชอบเสียแล้ว ก็พึงปฏิบัติต่อเขา(หรือเธอ) เหล่านั้น ตามสมควรแก่กรณี เพราะป่วยการที่จะเคารพต่อความเป็นบุคคล ต่อผู้ปราศจากสภาพบุคคล ตามมาตรฐานทางจริยธรรม.

No comments:

Post a Comment