Thursday, May 29, 2014

กฎข้อที่ 16 ทำตัวให้ปรากฏอย่างพอเหมาะ (2) – ดูจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

กฎข้อที่ 16 ทำตัวให้ปรากฏอย่างพอเหมาะ (2) – ดูจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ประกอบ คุปรัตน์ 
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org


ภาพ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, การเมือง, politics, การปกครอง, government, governance, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

Use Absence to Increase Respect and Honor 
การไม่เห็นเสียบ้างจะเป็นการเพิ่มความเคารพและเกียรติยศ

การจะทำให้คนเห็นคุณค่าของเรา ก็ต้องรู้จักไว้ตัวบ้างเป็นครั้งคราว

การทำตนให้คนเห็นมากความสำคัญก็จะตกลง เหมือนดาราที่คนเขาเห็นในทีวีมากๆ เขาก็จะเบื่อหรือไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องจ่ายเงินไปดูภาพยนตร์ที่แสดง นักการเมืองที่ให้สัมภาษณ์บ่อครั้งจนเกินไป ก็ทำให้มีโอกาสสื่อสารผิดมากตามไปด้วย

หากเราเป็นคนมีความสามารถ เราเสนอตัวทำงานให้ตลอดเวลา รับงานแบบไม่เลือก หรือเข้าไปยุ่งในทุกเรื่อง คนจะไม่เห็นคุณค่า แต่หากรับทำงานบ้าง และเลือกที่จะไม่รับบ้าง ส่วนที่รับงานมาแล้ว ก็ทำอย่างดีและทุ่มเท เพื่อให้คนเขาเห็นความแตกต่างระหว่างมีหรือไม่มีเรานั้น จะทำให้คนได้เปรียบเทียบ และกลับเห็นคุณค่าของเรา

ในอีกด้านหนึ่ง หากทำตัวเองให้เงียบหายไปจากวงการเลย คนก็จะลืม ครั้นอยากจะกลับมาทำอะไร ก็จะไม่มีใครรู้จักเสียแล้ว ดังนั้นจึงต้องวางระยะตัวเองกับวงการให้พอเหมาะ

ดูตัวอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จากวิกิพีเดีย (ไทย)

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เปรม ติณสูลานนท์ (26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 — ) ปัจจุบันเป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในอดีตเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 16 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึงพ.ศ. 2531และเป็นนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของรัฐสภาที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด ทั้งนี้เพราะกฎหมายไทยในสมัยนั้นไม่ได้กำหนดให้รัฐสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

บุคลิกส่วนตัวพลเอกเปรมเป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่านักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา ด้วยลักษณะเฉียบขาดในการตัดสินใจ

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นนายทหาร ได้ความเห็นว่า พลเอกเปรมแม้เกษียณอายุราชการมานานแล้ว เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็นานแล้ว แต่อิทธิพลแท้จริงของท่านก็ยังมีอยู่มาก คุณสมบัติของท่าน ไม่ใช่ในฐานะนักพูดนักสื่อสาร แต่เป็นคนที่รับฟัง เรียนรู้ ตัดสินใจไม่เร็ว แต่เมื่อได้ตัดสินใจแล้วจะเฉียบขาด


แต่ที่สำคัญก็คือเกียรติประวัติการทำงาน ความเป็นคนซื่อตรง ไม่แสวงหาความมั่งมีเป็นส่วนตัว พูดไม่มาก แต่เมื่อพูดแล้วคนจะฟัง นับเป็นแบบอย่างให้กับผู้นำทางทหารที่ดีในยุคต่อๆมา แม้ปัจจุบันอายุถึง 94 ปีแล้ว แต่ทหารก็ยังให้ความเคารพรักใครไม่เสื่อมคลาย

No comments:

Post a Comment