Wednesday, June 11, 2014

ประชาธิปไตยเม็กซิโกกับระบบพรรคเดียว (One-party rule, 1929–2000)

ประชาธิปไตยเม็กซิโกกับระบบพรรคเดียว (One-party rule, 1929–2000)

ประกอบ คุปรัตน์ 
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, government, ประชาธิปไตย, democracy, การเลือกตั้ง, เม็กซิโก, Mexico, วัฒนธรรมยาเสพติด, Narcoculture

ประชาธิปไตยที่ผูกขาดอำนาจกันในกลุ่มของตนกันอย่างยาวนาน แบบมีสมบัติผลัดกันชม ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี ดูตัวอย่างในประเทศเม็กซิโก

หลังจากการปฏิวัติใหญ่ของเม็กซิโก (Mexico Revolution) คาลเลซ (Calles) ในปี ค.ศ. 1929 ได้ก่อตั้งพรรคปฏิวัติแห่งชาติ ชื่อ National Revolutionary Party (PNR) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น National Revolutionary Party (PNR) และอีกครั้งหนึ่งเป็น Institutional Revolutionary Party (PRI) และเริ่มยุคที่เรียกว่า “แมกซิมาโต” (Maximato)


ภาพ พลูตาโค เอเลียซ คาลเลซ (Plutarco Elías Calles) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เฮเฟ แมกซิโม” (Jefe Máximoในช่วงปฏิวัติเม็กซิโก (Mexican Revolution)


“แมกซิมาโต” (Maximato) เป็นช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์และการพัฒนาการทางการเมืองของเม็กซิโก ช่วงปี ค.ศ. 1928 ถึง ค.ศ. 1934 เป็นช่วงที่ “พลูตาโค เอเลียซ คาลเลซ (Plutarco Elías Calles) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เฮเฟ แมกซิโม” (Jefe Máximo) ในช่วงปฏิวัติเม็กซิโก (Mexican Revolution)

คาลเลซเป็นประธานาธิบดีของเม็กซิโกในช่วงปี ค.ศ. 1928 ถึง 1928 แต่ในช่วงต่อมา แม้เขาไม่ได้เป็นประธานาธิบดีโดยตรง แต่ประธานาธิบดี 3 คนต่อมาทุกคนอยู่ใต้อาณัติของเขา

1.    เอมิลิโอ พอร์เตซ กิล (Emilio Portes Gil, 1928–1930), กำหนดโดยรัฐสภา เพื่อแทนประธานาธิบดีผู้ได้รับเลือกตั้ง อัลวาโร โอเบรฮอน (Álvaro Obregón) ผู้ได้รับเลือกตั้งแต่ถูกลอบสังหารก่อนเข้ารับตำแหน่ง

2.    ปาคาล โอร์ติซ รูบิโอ (Pascual Ortiz Rubio, 1930–1932), ได้รับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่ให้ครบวาระ แต่ลาออกเสียก่อน

3.    อัลเบลาร์โด เอล โรดริเกซ (Abelardo L. Rodríguez, 1932–1934), ได้รับการกำหนดโดยรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งแทนโอร์ติซ รูบิโอ (Ortiz Rubio)

อิทธิพลของคาลเลซจบลงเมื่อ ลาซาโร คาร์ดีนาซ เดล ริโอ (Lázaro Cárdenas del Río) ขับเขาออกนอกประเทศในปี ค.ศ. 1936

เม็กซิโกในช่วงปี ค.ศ. 1940 ถึง ค.ศ. 1980 ยาวนานถึง 40 ปี เป็นการสืบอำนาจต่อๆกันโดยกลุ่มคนระดับนำของพรรค เม็กซิโกเองยังคงเป็นประเทศยากจน แม้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ปาฏิหาริย์เม็กซิกัน” (Mexican miracle) แต่แม้จะเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับชาติ แต่กลับเกิดความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นฐาน ฝ่ายรัฐบาลพรรค PRI เองก็กลายเป็นฝ่ายบริหารบ้านเมืองอย่างเผด็จการ ใช้อำนาจในการข่มขู่ฝ่ายที่เห็นต่าง ดังในปี ค.ศ. 1968 เกิดการสังหารหมู่ผู้ประท้วงมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 30-800 คน

หลังจากการบริหารอย่างผิดพลาดของลูอิส เอคิวาเรีย (Luis Echeverría) ทำให้ประเทศเกิดเงินเฟ้อที่รุนแรงที่สุดจนเป็นวิกฤติในปี ค.ศ. 1982 ในปีนั้นราคาน้ำมันตกต่ำ อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นสูง รัฐบาลของประธานาธิบดิมิเกล เดลา แมดรด (Miguel de la Madrid) ต้องประกาศลดค่าเงิน ซึ่งนำไปสู่วงจรของเงินเฟ้อ หลังจากนั้นการครองอำนาจของพรรคฝ่ายรัฐบาลก็ค่อยๆเสื่อมถอย และเปิดทางสู่ระบบหลายๆพรรค

วัฒนธรรมยาเสพติด (Narcoculture)

เมื่อระบบการปกครองอ่อนแอ ยาเสพติดก็สามารถแพร่หลายอย่างกว้างขวางในประเทศ
เม็กซิโกมีพรมแดนทางตอนเหนือติดกับประเทศสหรัฐอเมริกายาวถึง 3,141 กิโลเมตร และสหรัฐอเมริกาประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคนนี้ คือประเทศผู้ซื้อยาเสพติดรายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อเส้นทางยาเสพติดทางด้านอื่นดังเช่นโคลัมเบีย ถูกลดทอนลง เม๊กซิโกจึงกลายเป็นแหล่งป้อนยาเสพติดเข้าสู่สหรัฐรายใหญ่ที่สุด


ภาพ แผนที่ประเทศเม๊กซิโก มีพรมแดนติดกับสหรัฐอเมริกาทางตอนเหนือ

อีกสิ่งหนึ่งที่เม็กซิโกได้จากระบอบประชาธิปไตยแบบฉ้อฉล คือวัฒนธรรมยาเสพติด (Narcoculture) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยนักการเมืองที่ซื้อได้ด้วยเงิน เจ้าหน้าที่ด้านรักษาความสงบกลับมามีสายสัมพันธ์กับพวกพ่อค้ายาเสพติด ตำรวจทหารอ่อนแอลง และพ่อค้ายาเสพติดแข็งแรงขึ้น ฉลาดขึ้น และค้าขายอย่างไร้พรมแดน คุมได้ทั้งรัฐบาลและสื่อ

นักวิเคราะห์ประมาณการว่าการค้าส่งยาเสพติดมีมูลค่าระหว่าง USD 13,600 ล้าน (448,800 ล้านบาท) ถึง USD 49,400 ล้าน (1,630,200 ล้านบาท) ประมาณว่าโคเคนร้อยละ 90 ที่ผ่านเข้ามาในสหรัฐมาจากเม็กซิโก


ภาพ ประธานาธิบดี เฟลิเป คาลเดรอน (Felipe Calderon, 2006-12) 


ในด้านความรุนแรง เมื่อสิ้นสมัยของเฟลิเป คาลเดรอน (Felipe Calderon, 2006-12) ที่มีการทำสงครามกับพ่อค้ายาเสพติด ทางการเม็กซิโกประกาศว่ามีผู้เสียชีวิตจากการทำสงครามปราบยาเสพติด 60,000 คน และเมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2013 ประมาณว่าจำนวนคนถูกสังหารอันเกี่ยวกับยาเสพติดมีสูงถึง 120,000 คน ซึ่งยังไม่นับรวม 27,000 คนที่สูญหายไป


ภาพ อาวุธปืนที่จับได้ในการทำสงครามกับยาเสพติดในเม๊กซิโก


ภาพ ความรุนแรงและการสังหารหมู่อันเกี่ยวกับวงการค้ายาเสพติดในเม็กซิโก


ภาพ ความรุนแรงในระดับการสังหารหมู่คนที่ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเม็กซิโก ประมาณว่าจำนวนคนถูกสังหารอันเกี่ยวกับยาเสพติดมีสูงถึง 120,000 คน ซึ่งยังไม่นับรวม 27,000 คนที่สูญหายไป

No comments:

Post a Comment