Friday, September 5, 2014

การเมืองเปลี่ยนทิศในกัมพูชา (Cambodia)

การเมืองเปลี่ยนทิศในกัมพูชา (Cambodia)

ประกอบ คุปรัตน์ 
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การต่างประเทศ, foreign relations, อาเซียน, ASEAN, กัมพูชา, Cambodia, ประเทศไทย, Thailand, คสช.

เรียบเรียงจากข้อมูลบางส่วนในบทความเรื่อง “Cambodia opposition leader Sam Rainsy endorsed by parliament, ends year-long stalemate.” โดย PRAK CHAN THUL, PHNOM PENH Mon Jul 28, 2014 3:35am EDT


ภาพ นายสม รังสี ประธานของพรรคกัมพูชากู้ชาติ (CNRP) กล่าวกับสมาชิกสื่อมวลชนที่รัฐสภาแห่งชาติของกัมพูชาที่เมืองพนมเปญ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2014

ทำไมการเมืองในกัมพูชาจึงเปลี่ยนแปลงและให้ความร่วมมือกับฝ่ายคสช. คณะนายทหารที่ทำรัฐประหารในประเทศไทยอย่างมาก ตั้งแต่การปล่อยตัวในวีระ สมความคิด การประกาศจะไม่ให้กัมพูชาเป็นฐานของฝ่ายที่ถูกโค่นอำนาจ ได้ก่อการต่อต้านรัฐบาลไทย ตลอดจนการส่งรัฐมนตรีกลาโหมและตัวแทนฝ่ายทหารเข้าเยี่ยมคสช.ในประเทศไทย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ฮุนเซนให้สัมภาษณ์ตลอดจนแสดงความใกล้ชิดกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรและฝ่ายพรรคเพื่อไทยอย่างออกนอกหน้าในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เหตุผลของสัมพันธภาพกับประเทศไทยที่เปลี่ยนไป เพราะฮุนเซนที่เป็นนักการเมืองคร่ำหวอดครองอำนาจมากว่า 30 ปีเอง ก็เริ่มไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเอง เพราะมีสัญญาณหลายๆประการที่ส่อให้เห็นว่า อำนาจและฐานอำนาจของเขาอ่อนกำลังลง เขาต้องจัดการกับการเมืองภายในประเทศอย่างประนีประนอมและต้องเจรจากันกับฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา รัฐสภากัมพูชาได้ยอมรับนายสม รังสี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมในรัฐสภา ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดความขัดแย้งที่เนิ่นนานและเป็นวิกฤติของประเทศมา 1 ปี
รัฐสภากัมพูชาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เมื่อนายสม รังสี หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue – CNRP) ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรัฐสภา โดยกล่าวหาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นเต็มไปด้วยการโกง และวิกฤติการเมืองของกัมพูชาที่ทำให้คนออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน ตามมาด้วยการกวาดล้างผู้ประท้วง และคนงานสิ่งทอนัดหยุดงาน ซึ่งมีผลต่อบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าชั้นนำ ดังเช่น Nike, Gap และ Adidas

ฮุนเซน ผู้นำในสไตล์รวบอำนาจ (Strongman) ของกัมพูชา ต้องออกมาจับมือพร้อมกับยิ้มแย้มกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านแล้วถ่ายภาพ เพื่อเป็นการแสดงถึงข้อตกลงที่จะปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Commission) และระบบรัฐสภา ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของพรรคฝ่ายค้าน

นายสม รังสีในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ถูกห้ามเล่นการเมือง เพราะเขาเป็นคนเปิดโปงปัญหาการปักเขตพรมแดนกัมพูชากับประเทศเวียดนาม ที่ทำให้เขาถูกตัดสินลับหลังให้ถูกจำคุก 12 ปี

นายสม รังสีได้รับการอภัยโทษเมื่อปีที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง และเขาสมัครเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ว่างลงของผู้แทนที่ลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้เข้ามานั่งในสภา

นายสม รังสีกล่าวว่า “ผมถือเป็นเกียรติและมีความสุขที่จะแจ้งแก่พี่น้องร่วมชาติว่า วิกฤติการเมืองของกัมพูชาได้สิ้นสุดลงแล้ว” เขากล่าวผ่านรัฐสภาที่ได้ให้การรับรองเขาเข้าเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ นายสม รังสีได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง ที่เขาจำเป็นต้องเปิดเจรจากับรัฐบาลฮุนเซน และลดความรุนแรงทางการเมืองแบบเอาเป็นเอาตายและแตกหัก

พรรค CNRP ได้บรรลุข้อตกลงกับฮุนเซนหัวหน้าพรรคแห่งชาติกัมพูชา (Cambodian People’s Party – CPP) ในวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ทำให้ยุติข้อขัดแย้งที่เป็นผลมาจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2013 ตามข้อตกลงพรรค CNRP จะได้รับใบอนุญาตมีสถานีโทรทัศน์ของตนเอง 1 ช่อง ได้ 4 จากทั้งหมด 9 ที่นั่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง และตำแหน่งรองประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง

ฮุนเซนกล่าวว่า “ นับเป็นกระบวนการที่ดี ประชาชนของเราทั่วประเทศเข้าใจการประนีประนอม บรรยากาศทั่วไปในวันนี้ถือว่าดี”

ในอีกด้านหนึ่ง การมองเหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องยุติความขัดแย้ง ก็เพราะสำหรับฝ่ายค้านเองก็เริ่มสูญเสียพลัง เพราะคนกลัวความรุนแรงและเบื่อรัฐสภาที่ไม่สามารถเดินหน้าทำหน้าที่ได้ ส่วนฝ่ายรัฐบาลเองก็หวั่นว่าจะเสียตลาดและรายได้จากธุรกิจสิ่งทอและเสื้อผ้ามูลค่า 5,000 ล้านเหรียญ หรือ 160,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนัดหยุดงาน

การเมืองของกัมพูชายังเปราะบาง สถานภาพของรัฐบาลฮุนเซนยังอ่อนไหว ด้วยเหตุดังกล่าว กัมพูชาจึงไม่สามารถมีศัตรูจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเพิ่มขึ้นมาอีกในช่วงนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลฮุนเซนจึงให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารของไทยอย่างมาก โดยลืมสัมพันธภาพกับรัฐบาลที่ผ่านมาและกับพันตำรวจเอกทักษิณ ชินวัตรอย่างสิ้นเชิง

พื้นฐานข้อมูล

ข้อมูลจาก “Wikipedia” - ประเทศกัมพูชามีประชากร 14.8 ล้านคน มีพรมแดนติดกับไทยยาว 443 กิโลเมตร ซึ่งบางส่วนยังมีข้อขัดแย้งกับประเทศไทย

กัมพูชายังจัดเป็นประเทศยากจนแห่งหนึ่งของโลก โดยรายได้พื้นฐานมาจากการเกษตร ภาคบริการและอุตสาหกรรม ตามการจัดอันดับของ Global Hunger Index กัมพูชายังจัดเป็นประเทศยากจนหิวโหยมากอันดับที่ 32 ของโลก จากทั้งหมด 56 ประเทศ กัมพูชาจัดเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตต่ำสุดในจำนวน 10 ประเทศของอาเซียน (ASEAN)


ในอีกด้านหนึ่งกัมพูชาเป็นประเทศที่มีพัฒนาการเศรษฐกิจที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6 เฉลี่ยตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีความเข้มแข็งทางด้านการเกษตร งานก่อสร้าง สิ่งทอและเสื้อผ้า และการท่องเที่ยว เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากค่าแรงยังต่ำอยู่

No comments:

Post a Comment