การอุดมศึกษากับการมีงานทำ ตัวอย่างวิกฤติตะวันออกกลาง
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การศึกษา, การอุดมศึกษา, การมีงานทำ, การเรียนการสอนออนไลน์
ผมได้ติดตามข่าวการต่อต้านรัฐบาล และการนำไปสู่การปฏิวัติประชาธิปไตยในหลายประเทศในตะวันออกกลาง เริ่มตั้งแต่ที่ตูนิเซีย (Tunisia) อียิปต์(Egypt) และตามมาด้วยอัลจีเรีย (Algeria) บาห์เรน (Bahrain) ลิเบีย (Libya) อิหร่าน (Iran) การประท้วงเป็นดังคลื่นที่ถาโถมมาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยเริ่มจากการสื่อสารใหม่ที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้จำกัดตัวเองเพียงกับสื่อที่รัฐเป็นฝ่ายผูกขาด อันได้แก่วิทยุและโทรทัศน์ของทางการ แต่สื่อใหม่ คือสื่อผ่านอินเตอร์เน็ต สื่อที่ประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้จากทั่วโลก ระบบอินเตอร์เน็ตทำให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง กลุ่มคนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อย่างที่เรียกว่า Social Media ดังเช่น Facebook, Twitter, และการที่ประชาชนสามารถเข้าไปสร้างบลอค (Blogs) เพื่อการแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเสรี ยากที่จะปิดกัน
อีกประการหนึ่งที่พบในประเทศต่างๆในตะวันออกกลางและรวมถึงในอิหร่าน คือ แรงผลักดันเพื่อการปฏิวัติมาจากคนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา และคนที่ทำงานแล้วหรือจบมหาวิทยาลัยแล้วกำลังหางาน ในประเทศย่านตะวันออกกลาง หากโดยรวมแล้วเป็นแหล่งน้ำมัน เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดี ราคาน้ำมันแพงขึ้นทุกวันน
แต่ผลประโยชน์จากกทรัพยากรเหล่านี้กลับไปตกอยู่กับกลุ่มคนระดับนำอย่างจำกัด คนส่วนใหญ่ของประเทศยังต้องอยู่อย่างยากจน การมีสถาบันอุดมศึกษาเปิดมากขึ้น คนจบการศึกษาก็มีมากขึ้น แต่โอกาสที่คนมีการศึกษามีงานทำกลับลดลง ระบบรัฐและเอกชนไม่สามารถสร้างงานรองรับที่เหมาะสมกับคนมีการศึกษาได้ จึงทำให้บัณฑิตจบใหม่ตกงานในอัตราสูงตั้งแต่กว่าร้อยละ 20 จนถึงระดับร้อยละ 40 เมื่อประกอบกับปัญหาความยากจน การคอรัปชั่นในระบบราชการ การไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน การแบ่งแยกทางชนชั้น เพศ เชื้อชาติ ดังนี้นับเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะโหมพัดใส่กระบวนการปฏิวัติทางสังคมในกลุ่มประเทศเหล่านี้ การที่คนมีการศึกษาแล้วไม่พอใจในสังคมและรัฐบาลของเขานับเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข
ความจริงปัญหาบัณฑิตตกงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศกลุ่มอาหรับ หรืออิสลามตะวันออกกลางเท่านั้น นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า ประเทศในเอเชียอื่นๆ ก็มีโอกาสเกิดความขัดแย้งรุนแรงได้ในอีกหลายๆประเทศ ด้วยทั้งปัจจัยภายนอก และจากภายใน ประเทศดังกรณีของพม่า เกาหลีเหนือ และอันที่จริง รวมถึงประเทศอย่างไทยด้วย แม้เราจะมีประชาธิปไตย มีระบบการเลือกตั้ง แต่กระนั้นก็มีเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งที่ทำให้ปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมืองมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานอยู่กับระบบการศึกษา จึงเห็นว่าคนในวงการศึกษาต้องหันมาใส่ใจ พัฒนาระบบการศึกษา โดยเฉพาะอุดมศึกษา ให้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา เพื่อการพัฒนาประเทศ มากกว่าจะมาเป็นปัญหาซ้ำเติมกับปัญหาสังคมอื่นๆที่มีอยู่แล้ว
ทำอย่างไรเราจึงจะไม่มีปัญหาบัณฑิตจบแล้วไม่มีงานทำ
1. อย่าผลิตบัณฑิตอย่างไม่มีคุณภาพ จบแล้วทำงานไม่ได้ สถาบันอุดมศึกษาต้องจริงจังในการกำหนดมาตรฐานความสามารถขั้นต่ำของบัณฑิตที่จะต้องจบออกไปสู่ตลาดด หากเขาไม่มีความสามารถจริงก็ต้องไม่ให้จบไปสู่ตลาดภายนอกอย่างไม่รับผิดชอบ สถาบันอุดมศึกษาต้องมีกลไกควบคุมมาตรฐาน (Quality Assurance) ที่เข้มงวดและจริงจัง ให้ความมั่นใจต่อตลาดแรงงานที่จะต้องรับบัณฑิตเหล่านี้ได้
2. ผลิตบัณฑิตในแบบที่เขาเป็นผู้สร้างงานได้เอง นั่นคือทำให้เขามีทักษะและแนวคิดในการสร้างงานเองในแบบผู้ประกอบการรายย่อยได้ (SMEs) มหาวิทยาลัยอาจมีหน้าที่ผลิตคนจบไปแล้วไปเป็นลูกจ้างหรือพนักงานขององค์กรขนาดใหญ่ เป็นนักวิชาชีพ แล้วเป็นพวกมนุษย์เงินเดือน (Salary man) แต่อีกส่วนที่ทำได้ คือผลิตให้เขาจบไปเป็นผู้ประกอบการ แม้มีเงินทุนเพียงเล็กน้อยก็สามารถเริ่มงานเองในฐานะเป็นผู้ประกอบการได้ โดยธรรมชาติของการสร้างนักธุรกิจนั้นก็มักจะต้องสร้างจากการให้เขาทำในสิ่งเล็กๆ แล้วเปลี่ยนความสำเร็จจากงานเล็กๆเหล่านี้ ไปสู่การขยายงานให้ใหญ่ และด้วยเงินลงทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยอาจร่วมกับหน่วยงานภาคธุรกิจ ที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับคนที่จะประกอบอาชีพต่างๆเอง มีเป็นอันมากในปัจจุบันที่บัณฑิตไม่เคยได้มีงานทำ หรือได้ฝึกงานเลย จนกระทั้งจบการศึกษาออกไป แล้วเผชิญกับทุกอย่างด้วยตนเอง สิ่งที่เรียนที่สอนกันในมหาวิทยาลัย ก็ล้วนเป็นเรื่องตามทฤษฎีและตามตำรา ไม่เคยได้มีการฝึกใช้งาน มีประสบการณ์งานจริง
3. ปรับรูปแบบมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับคนทำงานแล้ว ทำให้มหาวิทยาลับบางส่วน เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนักศึกษาใหม่ (Emerging students) ที่หากเขาไม่มีงานรองรับแล้ว เขาจะไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระดับปริญญาได้ การปรับรูปแบบการเรียนที่จะรองรับคนทำงานแล้วนี้ ก็คืออย่าไปกำกับเรื่องเวลาเรียนเป็นหลัก แต่ให้เน้นการควบคุมวัดคุณภาพการเรียน การสอบผ่าน (Evaluation system) ระบบมหาวิทยาลัยเปิดที่มีอยู่แล้ว 2 แห่งเป็นตัวอย่างของระบบการศึกษาที่ให้โอกาสแก่ผู้เรียนที่ทำงานแล้ว และสำหรับคนที่เขามีงานทำแล้ว แต่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเพื่อเสริมความก้าวหน้าในอาชีพการงานของเขา นอกจากนี้ การที่มหาวิทยาลัยมีสถานที่เรียนใกล้บ้าน จัดเปิดศูนย์การเรียนขนาดเล็กและกลาง (Learning Centers) กระจายตัวเองไปตามภูมิภาคต่างๆ ทำให้ผู้เรียนไม่ต้องเดินทางมาเรียน ณ วิทยาเขตใหญ่ของมหาวิทยาลัย ดังนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ระบบการเรียน แทนที่จะต้องเดินทางไปฟังบรรยายในชั้นเรียน ก็ให้สามารถใช้รูปแบบการเรียนออนไลน์ มีชุดวิชาเรียนที่จะสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งมีแบบฝึกหัดออนไลน์ให้ผู้เรียนทำ วิธีการเรียนในแบบใหม่นี้กระทำได้ไม่ยาก เพราะระบบสื่อสารใหม่ทั้งที่เป็นระบบใช้สาย (Wired) และรบบไร้สาย ดังเช่น ระบบ 3G ก็สามารถทำให้เกิดเครือข่ายการสื่อสารที่ครอบคลุมบริการได้ทั่วประเทศอย่างไม่ยากนักอยู่แล้ว
ในสุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากสรุป เสนอให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนไปตามความเหมาะสม และอย่างมียุทธศาสตร์ แต่ทั้งหมดนี้ต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ต้องเน้นการทำให้คนมีงานทำ บัณฑิตส่วนหนึ่ง ต้องมีความสามารถที่จะสร้างงานเองได้ หรือได้เรียนรู้ควบคู่การทำงานจากภายในครอบครัวและชุมชน ได้ทำงานไปในระหว่างการศึกษาเล่าเรียน ลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา กับสามารถสร้างศักยภาพใหม่ในการทำงานไปด้วยในตัว
มหาวิทยาลัยต้องเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาส และแก้ปัญหาของสังคม มากกว่าจะเป็นตัวไปสร้างปัญหาที่อาจสะสมและกลายเป็นระเบิดเวลาของสังคมไปในด้วยตัวเอง